ศิลปินชาวเคนย่า “CYRUS KABIRU” ผู้เสกขยะไร้ค่าให้กลายเป็นผลงานศิลปะ - Urban Creature

ศิลปะที่แท้จริงย่อมไม่มีเส้นแบ่งขอบเขต หรือคำจำกัดความใดๆ

“Cyrus Kabiru (ไซรัส คาบิรุ)” ศิลปินชาวเคนย่าผู้เสกขยะที่ถูกทิ้งขว้าง สร้างเป็นงานศิลปะ ที่ไม่เหมือนใคร และเขากำลังเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการแก้ปัญหาขยะที่ปัจจุบันกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่กำลังจะทำลายโลกใบนี้

| ปัญหาขยะในทวีปแอฟริกา ประเทศเคนย่า เกิดในแหล่งเสื่อมโทรมเจอแต่ขยะ

ปัจจุบันประเทศเคนย่า และอีกหลายประเทศในทวีปแอฟริกา กำลังประสบปัญหาขยะล้นเมือง โดยข้อมูลจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ พบว่า มีการพบถุงพลาสติกโพลีเอธิลีน รวมไปถึงขยะประเภทอื่นๆ ในระบบทางเดินอาหารของวัวที่ถูกส่งไปโรงฆ่าสัตว์ในกรุงไนโรบี วัวบางตัวมีถุงพลาสติกอยู่ในท้องถึง 20 ใบ จนทำให้เกิดเหตุการณ์พลาสติกปนเปื้อนในเนื้อวัว ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

หน่วยงานจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเคนย่า จึงออกมาตรการสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ โดยใครที่มีถุงพลาสติกจากร้านปลอดภาษีติดมาด้วยนั้น จะต้องทิ้งถุงพลาสติกไว้ที่สนามบิน ไม่อนุญาตให้นำเข้าประเทศ ซึ่งจากปัญหาเหล่านี้ทำให้ประชากรเด็กที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ต้องเผชิญหน้ากับขยะกันถึงหน้าบ้าน หรือแม้กระทั่งในบ้านเลยทีเดียว

| จุดเริ่มต้นของศิลปะจากขยะ เรียนจบม.ปลายไม่เรียนต่อ อยากทำงานศิลปะ ชอบแว่น โดนไล่ออกจากบ้าน

เด็กชายไซรัส คาบิรุ ในวัย 7 ขวบ เริ่มต้นความสนใจด้านศิลปะ เพราะแว่นตาที่พ่อเขาสร้างขึ้นมาเอง ซึ่งตอนนั้นเขาอยากได้นาฬิกาเรือนนั้นมาก แต่พ่อกลับบอกกับเขาว่า ถ้าอยากได้ก็สร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเองสิ และนั่นจึงเป็นก้าวแรกของความมุ่งมั่นที่จะสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง และสิ่งที่เขามองเห็นรอบข้างตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมานั่นคือ “ขยะ” สิ่งไร้ค่าที่ใครๆ ก็มองข้าม เขาเริ่มเก็บสะสมขยะที่มาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จำพวกโลหะ และขยะชนิดอื่น ตามท้องถนน หรือในทุกที่ที่เดินผ่าน และเริ่มนำมาสร้างงานศิลปะต่างๆ

จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ไซรัสเลือกที่จะไม่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่เลือกที่จะออกมาทำงานศิลปะอย่างจริงจัง ซึ่งจากเหตุการณ์นั้นทำให้เขาทะเลาะกับครอบครัวอย่างรุนแรง  ถึงแม้ว่าพ่อของเขาจะยื่นข้อเสนอให้เขาเรียนในมหาวิทยาลัยทางด้านศิลปะก็ตาม เพราะไซรัสมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า

‘เขามีเส้นทางของตัวเอง มีงานศิลปะเป็นของตัวเอง และมีวิธีเป็นของตัวเอง’

และนับตั้งแต่วันนั้นที่ได้พูดคำนี้ออกไป เขาก็เลือกที่จะเดินออกจากบ้านแล้วไปเริ่มต้นชีวิตของตัวเอง

| แว่น วงล้อจักรยาน และการได้ยอมรับในระดับนานาชาติ

จากวันที่ไซรัสเริ่มออกเดินทางบนเส้นทางศิลปะด้วยขาของตัวเอง ท่ามกลางแรงกดดันจากครอบครัว และเสียงก่นด่าของสังคมที่ไม่ยอมรับในตัวตนของเขา แต่ทั้งหมดนั้น ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เกิดผลงานขึ้นมากมาย และผลงานชิ้นแรกที่เริ่มสร้างชื่อเสียงให้กับเขานั้น ได้รับแรงบรรดาลใจจากในวัยเด็กอย่าง ‘แว่นตาของพ่อ’ จนกลายมาเป็นคอลเลคชั่น “C-STUNNERS” ซึ่งชื่อนี้มีที่มาจาก ‘C’ มีความหมายมาจาก ‘Cyrus’ และ ‘Stunners’ เป็นแว่นตาที่ทำจากเศษขยะโลหะ และอุปกรณ์จากเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น เมนบอร์ด และชิ้นส่วนของลำโพง ซึ่งเหตุผลที่ไซรัสเลือกนำวัสดุอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เพราะอยากให้โอกาสขยะพวกนี้เป็นครั้งที่สอง

ไซรัสมองเห็นว่าในปัจจุบันมนุษย์เราพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้โลกเกิดวัฏจักรขยะเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

และอีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นไม่แพ้กันมีชื่อว่า “Future Vision, Frozen Past” วงล้อแห่งอนาคต ที่ถูกเชื่อมต่อด้วยความเป็นมาของเรื่องราวในอดีตและปัจจุบัน โดยวัสดุส่วนใหญ่มาจากสิ่งของใกล้ตัว และเรื่องราวในผลงานแต่ละชิ้นนั้นก็มาจากเรื่องราวในวัยเด็กของเขาด้วย ซึ่งรูปร่างของผลงานชิ้นนี้จะคล้ายกับวงล้อของจักรยานเพราะวงล้อก็เปรียบกับการหมุนวนเปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆ คล้ายกับเวลาที่เราไม่มีทางจะหยุดเอาไว้ได้ โดยผลงานของไซรัสกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นทั้งในแวดวงของศิลปิน และวงการแฟชั่น

หลังจากนั้น ไซรัสก็ประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดในระดับนานาชาติ กับการอุทิศตนให้เส้นทางสายศิลปะสายนี้ ทั้งการได้รับเชิญไปแสดงงานในต่างประเทศ และการได้รับการสัมภาษณ์จากสื่อชื่อดังอย่าง CNN และ Milan Fashion Week ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน ด้วยการได้รับเชิญให้ขึ้นไปบนเวที TED 2013 และล่าสุดกับสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง The Guardian ที่มาสัมภาษณ์ และเผยแพร่ผลงานของเขาทั้งในเว็บไซต์ และนี่คือหนึ่งในบทพิสูจน์ของความพยายามสู้เพื่อสิ่งที่รัก อย่างแน่วแน่และเข้มแข็ง

 

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.