จากสถานการณ์ปะการังทั่วโลกกำลังถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากจะรอให้ธรรมชาติกลับมาฟื้นฟูด้วยตัวเองคงต้องใช้เวลาพอสมควร และไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่
แนวคิดช่วยชีวิตฟื้นฟูระบบนิเวศใต้น้ำ
ดังนั้น ถึงเวลามนุษย์อย่างเราจึงต้องออกมาร่วมด้วยช่วยกันฟื้นฟู ‘บ้าน’ ของเหล่าสัตว์น้ำใต้ทะเลกันได้แล้ว โปรเจกต์ ‘Coral Carbonate’ ปะการัง 3 มิติจึงเกิดขึ้น จากแนวคิดของทีม ‘Objects and Ideograms’ โดยเป้าหมายคือหลังจากที่วางลงไปในทะเลแล้ว สัตว์น้ำต่างๆ ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนกับบ้านเดิมหรือปะการังจริงได้อย่างปกติ ทั้งยังช่วยฟื้นฟูบริเวณแนวปะการังซึ่งถือเป็นระบบนิเวศที่เปราะบางที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
สร้างปะการังบ้านใหม่ด้วย ‘Coral Carbonate’
จากแนวคิดสู่การลงมือทำจริงของนักออกแบบโดยเลือกนำเอาวัสดุที่ชื่อว่า ‘แคลเซียมคาร์บอเนต’ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาจำลองเป็นปะการังในรูปทรงกระบอก 3 มิติ ที่เต็มไปด้วยรูพรุนและมีพื้นผิวคล้ายคลึงกับปะการัง ซึ่งมีต้นแบบมาจากปะการังธรรมชาติโดยเขียนแบบจากคอมพิวเตอร์แล้วนำมาพิมพ์ขึ้นรูปจริง มัดเข้าด้วยกันด้วยเชือกในแนวตั้งซึ่งรายละเอียดรูพรุนที่สร้างขึ้นที่ตัวปะการัง 3 มิติ จะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตและพืชใต้ทะเลที่เกิดขึ้นแล้วหรือกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ซึ่งการเลือกนำแคลเซียมคาร์บอเนตมาใช้เพราะเป็นวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมทางทะเลอยู่แล้ว จึงไม่เป็นปัญหากับหรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แถมการใช้งาน Coral Carbonate ยังถูกสร้างเลียนแบบ ‘biofouling’ หรือการสะสมของสิ่งมีชีวิตและพืชต่างๆ อยู่บนวัตถุที่จมอยู่ใต้น้ำ ถือเป็นศูนย์รวมของระบบนิเวศที่หลากหลายมาก
ต่อลมหายใจให้ธรรมชาติไม่สูญเสียไปมากกว่านี้
หลังจากผ่านการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ‘Coral Carbonate’ ชุดแรกก็ถูกนำมาใช้จริงและวางลงไปที่ฐานของสถานีวิจัยลอยน้ำ (Float Lab) ในบริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก ซึ่งจับร่วมกับ California College of the Arts เพื่อสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำที่เกิดขึ้น รวมถึงวิเคราะห์ถึงการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตเทียบระหว่างปะการังแบบ 3 มิติ กับปะการังของจริง เพื่อประเมินผลประสิทธิภาพของ Coral Carbonate ซึ่งสามารถนำเอาไปพัฒนาต่อในอนาคต ทั้งขนาดและรูปแบบเพื่อเป็นบ้านหลังใหม่ของทั้งสิ่งมีชีวิตไปจนถึงพืชใต้น้ำ
Sources: www.dezeen.com