ตลาด la perse โคลอมเบีย โบโกตา - Urban Creature

ตั้งแต่ COVID-19 เริ่มแพร่ระบาด หลายเมืองทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับเมืองหลวงของประเทศโคลอมเบียอย่าง ‘โบโกตา’ เพราะแค่ในเมืองนี้เมืองเดียวมีรายงานผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในโคลอมเบีย เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ใช้มาตรการบังคับกักกัน (Forced Quarantine) นานที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ร้านอาหารกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ถูกบังคับให้ปิดตัวลง ส่งผลให้แรงงานนับพันต้องตกงาน

ในช่วงเวลานี้เองที่ Alejandro Saldarriaga และ German Bahamon สองสถาปนิกชาวโคลอมเบียได้จับมือกันหาทางออกที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจของเมือง ด้วยการคิดหาวิธีการรักษาระยะห่างใหม่ๆ ผ่านการออกแบบ ให้คนออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างปลอดภัยขึ้นเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ชื่อทีม Colab-19

ไอเดียจากการใช้ ‘นั่งร้าน’ เพิ่มระยะห่างใน ‘แนวดิ่ง’


มาตรการรักษาระยะห่างทำให้จำนวนที่นั่งในร้านอาหารลดลงกว่าครึ่ง เช่น บริเวณหน้าตลาด La perse ที่ก่อนการแพร่ระบาดเคยนั่งได้ 16 โต๊ะ กลับเหลือเพียงแค่ 7 โต๊ะเท่านั้น ทีม Colab-19 จึงแก้ปัญหาด้วยแนวคิดว่ามาตรการรักษาระยะห่างในร้านอาหารไม่จำเป็นต้องทำในแนวระนาบอย่างเดียว ผุดไอเดียใช้ ‘นั่งร้าน’ หรือโครงสร้างชั่วคราวสำหรับใช้ในงานก่อสร้าง

โดยการออกแบบนั่งร้านช่วยเพิ่มระยะห่างในแนวดิ่ง ทำให้ร้านอาหารเปิดให้บริการด้วยจำนวนโต๊ะเท่าเดิมแต่ยังรักษาระยะห่างได้อยู่ นอกจากนั้น นั่งร้านยังเป็นวัสดุที่ราคาถูก ใช้เวลาประกอบเร็ว และรื้อถอนนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้อีกมาก

การรักษาระยะห่างรูปแบบใหม่ เป็นได้มากกว่าร้านอาหาร


หลังจากไอเดียที่ตลาด La perse ประสบความสำเร็จ นักออกแบบทั้งสองคนไม่ได้หยุดแค่นั้น ทั้งคู่มองว่าแนวคิดการใช้นั่งร้านทำได้มากกว่าร้านอาหาร เป็นที่มาของโปรเจกต์ La Concordia นั่งร้านที่ถูกออกแบบเป็นรูปตัวยู ใจกลางเมืองโบโกตา ทำให้พื้นที่ตรงกลางใช้ประโยชน์ทำกิจกรรมอื่นได้ เช่น การแสดงดนตรีสด การฉายภาพยนตร์ และฟลอร์เต้นรำ

ชั้นบนสุดยังเปิดโล่งเป็นพื้นที่สาธารณะให้ขึ้นไปชมวิวเมืองได้อีกด้วย นอกจากนั่งร้านที่เป็นโครงสร้างหลักแล้ว Colab-19 ยังใช้ผ้าปอกระเจาหรือผ้ากระสอบที่เราคุ้นเคย สัญลักษณ์ของโคลอมเบีย เป็นม่านกั้นแต่ละโต๊ะให้มีความเป็นสัดส่วนยิ่งขึ้น

Colab-19 ยังมีไอเดียใหม่ๆ สำหรับการทำกิจกรรมในช่วง Post-pandemic อื่นๆ อีก เช่น โปรเจกต์ Cloud Parks ที่ใช้วิธีการตัดหญ้าธรรมดาๆ เป็นตัวกำหนดสัดส่วนพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งของคนในเมือง ให้ออกมาทำกิจกรรมบนพื้นที่สาธารณะได้อย่างปลอดภัย

บทบาทของงานออกแบบในอนาคตของโบโกตา


สถาปนิกทั้งสองเปิดเผยกับนิตยสาร Dezeen ว่า ปกติแล้วเมืองโบโกตาไม่ใช่เมืองที่สนใจเรื่องการออกแบบเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับที่อื่นบนโลก แต่การแพร่ระบาดในปีนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่างานออกแบบสร้างสรรค์อะไรดีๆ ให้โบโกตาได้ อย่างการช่วยธุรกิจในพื้นที่ให้กลับมาเปิดตัวอีกครั้ง

หากเป็นที่ไทยก็คงดูแปลกตาไม่น้อย ถ้าวัสดุอย่างนั่งร้านที่เราเห็นกันเป็นปกติในงานก่อสร้างแถวบ้าน จะถูกนำมาสร้างเป็นสถานที่ให้คนได้เข้าไปใช้ประโยชน์จริงๆ แล้วคุณล่ะ คิดว่านั่งร้านนำไปสร้างเป็นอะไรได้อีกบ้าง


Sources :
Colab-19| https://www.colab19.co
Reuters | https://reut.rs/3qafpyH
Dezeen | https://bit.ly/2Z5njxh

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.