ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันนี้ Content Creator กลายเป็นอาชีพใหม่ที่ไม่ว่าใครก็ศึกษาและลงมือทำเองได้ตลอดเวลา จึงไม่น่าแปลกถ้าเราจะได้เห็นผลงานสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่กันอยู่บ่อยๆ แต่ที่น่าเสียดายคือ ยังมีเหล่าครีเอเตอร์จำนวนมากที่ขาดโอกาสในการต่อยอดไอเดียหรืออุปกรณ์ในการผลิตผลงาน รวมไปถึงขาดพื้นที่ในการหาแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
เพราะเห็นช่องว่างนี้ และต้องการผลักดันครีเอเตอร์ไทยให้ไปไกลกว่าเดิม MQDC บริษัทธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร จึงเปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ ‘Cloud 11’ ฮับของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เพื่อสนับสนุนเหล่าครีเอเตอร์ด้วยการสร้างศูนย์รวมระบบนิเวศการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด ในการช่วยส่งเสริมศักยภาพให้กับเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของประเทศไทยให้ไปได้ไกลถึงระดับโลก โดยโครงการนี้ตั้งอยู่ในย่านสุขุมวิทใต้ ซึ่งเป็นย่านที่กำลังได้รับการผลักดันจากหลายภาคส่วนให้กลายเป็นย่านนวัตกรรมแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ
นอกจากไอเดียการเป็นศูนย์รวมครบวงจรสำหรับเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์แล้ว Cloud 11 ยังได้ความร่วมมือจากสองบริษัททางสถาปัตยกรรมไทยชื่อดังอย่าง A49 และ Snøhetta จากประเทศนอร์เวย์ ในฐานะ Design Consultant ที่ช่วยกันสร้างสรรค์และเปลี่ยนที่ดินขนาด 27 ไร่ในย่านสุขุมวิทใต้ให้กลายเป็น Cloud 11 พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์คอนเทนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียอีกด้วย
ศูนย์กลางสำหรับ Content Creator
จากปรากฏการณ์เทรนด์อาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ Cloud 11 เล็งเห็นว่าอุตสาหกรรม Entertainment ของประเทศไทยมีศักยภาพที่สูง อีกทั้งวัฒนธรรมไทยก็โดดเด่นมีเอกลักษณ์ จึงคาดหวังว่าโครงการ Cloud 11 จะเป็นสารตั้งต้นในการผลักดันครีเอเตอร์เพื่อสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ได้ ซึ่งหากผลักดันคอนเทนต์ไปได้สำเร็จแล้ว ซอฟต์พาวเวอร์จะตามมาแน่นอน หลังจากนั้นอุตสาหกรรมข้างเคียงไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวหรืออาหารการกินก็จะเติบโตตามไปด้วย
“สิ่งที่เรามองเห็นคือประเทศไทยมีจุดแข็งด้านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมอันโดดเด่นซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน ในขณะที่ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาทำให้อุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น การใช้ AI ในการผลิตคอนเทนต์ หรือแพลตฟอร์มต่างๆที่ช่วยให้สามารถกระจายคอนเทนต์ไปทั่วทุกมุมโลกได้ ซึ่งส่งผลให้กลไกในการขับเคลื่อนกำลังขยับจากคนกลางไปสู่ครีเอเตอร์ Cloud 11 จึงตั้งเป้าที่จะเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยสนับสนุนครีเอเตอร์ไทยและขับเคลื่อนวงการนี้ให้เติบโตไปสู่ระดับโลก ด้วยการสร้างระบบนิเวศการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่สมบูรณ์ พร้อมด้วยสตูดิโอ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมไปถึงเงินทุนสนับสนุนด้วย”
‘องศา จรรยาประเสริฐ’ ผู้อำนวยการโครงการ Cloud 11 เล่าถึงเหตุผลเบื้องหลังการสร้าง Cloud 11 ให้เป็นมากกว่าโครงการอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางสำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ทั้งสนับสนุนทางด้านความคิด พื้นที่สร้างสรรค์ รวมไปถึงการลงมือทำ เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพ ผลักดัน และยกระดับอุตสาหกรรมบันเทิงไทยให้ไปได้ไกลระดับโลกผ่านเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า
โดยโจทย์ของการออกแบบและสร้าง Cloud 11 ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
1) การสร้าง Content Creation Ecosystem ที่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสนับสนุนครีเอเตอร์รุ่นใหม่ การฝึกสอนการสร้างคอนเทนต์ พื้นที่สตูดิโอ อุปกรณ์ให้ใช้สำหรับสร้างคอนเทนต์โดยไม่ต้องลงทุนซื้อด้วยตัวเอง เพื่อเป็นพื้นที่ที่ตอบโจทย์ครีเอเตอร์ทุกๆ สาขาอย่างครอบคลุม
2) เทคโนโลยีอย่างโลก Metaverse และ Blockchain จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อผู้ผลิตคอนเทนต์ พื้นที่ใน Cloud 11 ต้องรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่จะผสานโลกเสมือนและโลกความจริงเข้าด้วยกันได้
3) การเติบโตไปพร้อมกับชุมชนโดยรอบเป็นอีกหนึ่งแนวทางการดำเนินงาน Cloud 11 จึงให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะเป็นอย่างมาก โดยการสร้างสวนลอยฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ รวมทั้งมีพื้นที่ Pocket Park ที่รองรับกิจกรรมของเหล่าครีเอเตอร์และผู้คนในชุมชนโดยรอบได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่แสดงออกให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยโอบกอดความแตกต่างอย่างเท่าเทียม พร้อมสร้างประโยชน์เติบโตควบคู่ชุมชน
โดดเด่นด้านการออกแบบ
สิ่งที่น่าสนใจของ Cloud 11 ไม่ใช่แค่ภารกิจผลักดันคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทยให้ไปได้ไกลเท่านั้น เพราะโจทย์สำคัญของการสร้างที่นี่คือ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้ครอบคลุมและรองรับการสร้างประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ดังนั้น Cloud 11 จึงมีความโดดเด่นในด้านการออกแบบโครงการไม่แพ้กัน จากการร่วมมือระหว่างบริษัทออกแบบชั้นนำระดับประเทศอย่าง A49 และสตูดิโอระดับโลกอย่าง Snøhetta เพื่อพัฒนาโครงการให้ตอบโจทย์ทุกๆ ด้านสำหรับการผลิตคอนเทนต์
ภาพของ Cloud 11 เมื่อเสร็จสิ้นนั้นจะเป็นตัวอาคารที่เชื่อมต่อกันและล้อมรอบสวนสาธารณะขนาดใหญ่ตรงกลาง เป็นไปตามที่ ‘Mr.Kjetil Thorsen’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Snøhetta มองว่าโครงการนี้ต้องไม่ได้มีดีแค่การดีไซน์ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของอนาคตจริงๆ ด้วยการออกแบบให้สวนเป็นเหมือนส่วนเชื่อมต่อระหว่างโลกจริงและโลกแห่งดิจิทัล และอาคารที่เชื่อมโยงทุกส่วนของโครงการนี้เข้าไว้ด้วยกัน พร้อม 7 องค์ประกอบที่พร้อมอำนวยความสะดวก ตอบโจทย์เหล่าครีเอเตอร์ และครบคลุมทุกความต้องการในชีวิตประจำวัน
1) Office & Studio Space ออกแบบเป็นพื้นที่สำนักงานเกรดเอพร้อมสตูดิโอที่ตอบโจทย์การทำงานของครีเอเตอร์ด้วยการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง พร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ส่งเสริมการทำงานแบบไฮบริดด้วย ครอบคลุมการสร้างสรรค์คอนเทนต์หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น เพลง พอดแคสต์ ภาพยนตร์ วิดีโอสั้น แอนิเมชั่น เกม และงานศิลปะหรือการดีไซน์ต่างๆ
2) Hybrid Retail ศูนย์การค้าคอนเซปต์ใหม่ ที่ตอบโจทย์การเริ่มต้นทำธุรกิจแบรนด์เป็นของตัวเอง และร้านค้าของครีเอเตอร์ โดยมีทั้งระบบ Fulfillment Center และ Cloud Kitchen
3) Lifestyle Hotel โรงแรมห้าดาวตอบโจทย์กลุ่มนักธุรกิจระดับสูงและกลุ่มนักลงทุน
4) Smart Hotel โรงแรมที่ล้ำสมัย ตอบโจทย์บริษัทสตาร์ทอัป กลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ และครีเอเตอร์ที่ต้องการความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีต่างๆ ที่คอยให้บริการ
5) Education ศูนย์รวมความรู้เพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงของไทย
6) Cultural ประกอบไปด้วยพื้นที่ไลฟ์เฮาส์ ฮอลล์คอนเสิร์ต พื้นที่จัดงาน E-Sports และพื้นที่อื่นๆ สำหรับครีเอเตอร์และศิลปินรุ่นใหม่
7) Public Park สวนสาธารณะที่เปิดโอกาสให้ทั้งชุมชน ครีเอเตอร์ และทุกคนเข้ามาใช้พื้นที่ได้ รองรับกิจกรรมที่หลากหลาย และเป็นสวนลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ
ต้นแบบของวงการออกแบบ และการพัฒนาประเทศ
“การออกแบบพื้นที่ Cloud 11 ที่สามารถตอบโจทย์ทุกๆ แง่มุม อาจเรียกว่าเป็นต้นแบบของวงการออกแบบอสังหาริมทรัพย์ได้”
‘นิธิศ สถาปิตานนท์’ กรรมการบริหาร A49 แสดงความเห็นว่า ไม่ใช่เพียงวงการออกแบบเท่านั้น แต่ Cloud 11 ยังสามารถเป็นต้นแบบให้กับวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จากการเป็นผู้นำโครงการที่นำเสนอสิ่งดีๆ ให้สังคม อย่างพื้นที่สีเขียวท่ามกลางอาคารที่ยังไม่เคยมีผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เจ้าไหนกล้าลงมือทำ รวมไปถึงโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อซัปพอร์ตครีเอเตอร์หรือคนทำงานสร้างสรรค์ ซึ่งยังไม่เคยมีใครเล็งเห็นถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้อย่างเต็มที่ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งต้นแบบที่ช่วยพัฒนาประเทศสู่อนาคต
พื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน
อีกหนึ่งในองค์ประกอบการออกแบบที่ไม่พูดถึงไม่ได้ของ Cloud 11 คือการเป็นอาคารที่มีพื้นที่สีเขียวจำนวนมาก ประกอบด้วยสวนลอยฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ รวมถึง Pocket Parks ที่กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่โครงการ และการมีพื้นที่แบบนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการใช้ความคิดสร้างสรรค์และมันสมองของครีเอเตอร์ ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในย่าน จากการเปิดสวนเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่ว่าใครก็เข้ามาพักผ่อน ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้
ซึ่งการมีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่อยู่ในโครงการนี้ไม่ใช่เพียงเพราะแค่ความสวยงามและการทำกิจกรรมเท่านั้น แต่ทาง Snøhetta ยังคงเล็งเห็นถึงประโยชน์อื่นๆ ด้วย จึงได้ออกแบบเพื่อเน้นช่องเปิดขนาดใหญ่หลายๆ ช่องผ่านโครงสร้าง ทำให้มีพื้นที่เปิดโล่ง และอากาศจะไหลผ่านธรรมชาติ ช่วยลดมลพิษ ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนในย่านได้
ไม่เพียงแต่พื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ทาง MQDC ยังมีแผนการร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาและทำความสะอาดคลองด้านข้างด้วยการบำบัดน้ำ เพื่อเปลี่ยนให้เป็น Canal Walk หรือถนนคนเดินริมคลองที่จะเปิดให้ร้านค้าเข้ามาค้าขายได้ กลายเป็นอีกหนึ่งสาธารณะประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับย่าน นอกเหนือจากสวนขนาดใหญ่ในโครงการ
สนับสนุนชุมชนและคนในท้องถิ่น
ไม่เพียงแต่สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และการเติบโตของเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์เท่านั้น แต่ Cloud 11 ยังนำแนวคิด ‘For all well-being’ ของ MQDC ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนโดยรอบมาปรับใช้ในการพัฒนาทั้งพื้นที่โครงการและพื้นที่รอบด้าน โดยเชื่อว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนและฟื้นฟูเศรษฐกิจย่านสุขุมวิทใต้ได้
Kjetil Thorsen เสริมว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดีคือการที่ทำออกมาแล้วตอบโจทย์สังคมมากที่สุด อย่าง Cloud 11 เมื่อเปิดใช้บริการแล้ว นอกจากจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการและร้านอาหารต่างๆ บริเวณนี้ อีกทางหนึ่งจะช่วยดึงคนจากพื้นที่อื่นให้เข้ามาในย่านนี้เยอะขึ้น เพราะพื้นที่โครงการสามารถรองรับคนได้ในจำนวนมาก นั่นหมายความว่าธุรกิจ สังคม และคนในย่านจะได้รับผลประโยชน์ทั้งหมด โดยเฉพาะการมีพื้นที่สีเขียวที่เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะที่ดึงดูดให้คนมาใช้สังคมร่วมกัน จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจในย่านดีขึ้นด้วย
สำหรับใครที่อยากรู้ว่าในไทยจะมีโครงการที่มีแนวทางยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เหมือนอย่างต่างประเทศบ้างไหม ก็ไม่ต้องไปมองหาที่ไหนไกล เพราะ Cloud 11 ได้รวมทั้งสามอย่างนี้ไว้ในโครงการหมดแล้ว
ตอนนี้ Cloud 11 กำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง และคาดว่าจะเปิดใช้งานในไตรมาสที่ 4 ปี 2567