“เวลาอยู่กับคุณ ผมโคตรมีความสุขเลย
-กวนมึนโฮ-
อย่างนี้เขาเรียกว่ารักหรือเปล่า”
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักหนังไทยอย่าง ‘กวนมึนโฮ’ เรื่องราวของชายหนุ่มและหญิงสาวที่ต่างคนต่างไม่รู้จักกันและได้ไปเจอกันที่ประเทศเกาหลี จนเกิดความรู้สึกดีๆ ระหว่างทาง หากมองให้ลึกถึงเนื้อหาของหนังเรื่องนี้ กวนมึนโฮยังแอบเล่าถึงวัฒนธรรม ผู้คน และบ้านเมืองเกาหลีใต้ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่เชื้อเชิญให้คนดูอยากก้าวเท้าออกไปตามรอยหนัง จนเกิดเป็นกระแสเกาหลีฟีเวอร์ที่ใครๆ ต้องไปเยือน
แต่ทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนังไทยไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน ด้วยเหตุผลส่วนใหญ่ที่ว่า ‘น่าเบื่อ’ จากพลอตหนังที่ไม่หลากหลาย วนลูปแต่แนวความรัก ตลก หรือสยองขวัญ จนทำให้คนดูรู้สึกไม่ตื่นเต้นและผันใจไปให้หนังต่างประเทศ จนทำให้อุตสาหกรรมหนังและธุรกิจโรงหนังไทยซบเซา
ด้วยความชอบหนังไทยมาตั้งแต่เด็ก จึงเกิดคำถามสงสัยว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้หนังไทยมีภาพจำแบบนั้น จึงทำให้บทสนทนาครั้งนี้ได้มาพูดคุยกับ ‘คุณมิ้ว-ศริญญา มานะมุติ’ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Bangkok Screening Room คนทำโรงหนังอิสระที่อยากเป็นพื้นที่ส่งเสริมศิลปะหนังให้คนกรุงเทพฯ
‘โรงหนัง’ พื้นที่เชื่อมคนและเมือง
พูดถึง ‘หนัง’ ก็ต้องนึกถึง ‘โรงหนัง’ เป็นของคู่กัน เรายังจำโมเมนต์ได้ดีเวลานัดเพื่อนไปดูหนังในวันหยุด มันเป็นหนึ่งวันที่ทำให้เรากับเพื่อนได้สนิทกัน เพราะออกจากโรงหนังก็มาเมาท์มอยกันว่าฉากไหนที่ประทับใจ และเดินเที่ยวเล่นต่อในพื้นที่เที่ยวรอบข้าง เช่น มิวเซียมหรือสวนสาธารณะจนหมดวัน หากมองอีกมุมหนึ่ง โรงหนังก็เป็นตัวกลางที่เชื่อมคนและเมืองให้ออกมาเจอกันได้อย่างแนบเนียน
เหมือนกับโรงหนังเดี่ยวเล็กๆ อย่าง ‘Bangkok Screening Room’ ที่ตั้งอยู่ปากซอยศาลาแดง 1 ในย่านสีลม โดยพี่มิ้วหนึ่งในผู้ก่อตั้งเล่าให้ฟังว่า อยากสร้างให้เป็น ‘Art House Cinema’ โรงหนังอิสระที่ไม่จำกัดแนวตายตัว เหมือนกับแกลเลอรีศิลปะที่อยากเปิดมุมมองหนังให้กว้าง และช่วยต่อยอดวงการหนังให้คนสนใจ เพราะทุกวันนี้โรงหนังอิสระมีจำนวนน้อยลงไปทุกที
เขาเล่าว่าโรงหนังมีความสำคัญกับเมืองมาก อย่างสาเหตุที่สร้าง Bangkok Screening Room ในย่านศาลาแดง เพราะว่าเป็นทำเลที่มีกิจกรรมมากมาย ใกล้กับสวนสาธารณะ มิวเซียม หรือคาเฟ่ต่างๆ แถมยังเดินทางได้สะดวก หากคนมาแวะเวียนก็สามารถเที่ยวในย่านนี้ได้เรื่อยๆ ทั้งวัน
“โรงหนังมันเป็นเหมือนแพลตฟอร์มหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และช่วยขับเคลื่อนศิลปะและเศรษฐกิจได้ เช่น คนไปเที่ยวพัฒน์พงษ์ก็จะเที่ยวได้ระดับหนึ่งแล้วก็ไม่รู้จะไปไหนต่อ ต่างจากเวลาเราไปนิวยอร์กที่สามารถเดินได้เรื่อยๆ ไปมิวเซียม ห้องสมุด โรงละคร หรืออีเวนต์เทศกาลหนัง คือมันมีอะไรให้ทำในเมืองมากมายมากกว่าไปจบแค่ที่ที่เดียว”
โรงหนัง ‘ไท’ ที่ไร้การควบคุม
พี่มิ้วเล่าว่า เมื่อ 40 ปีที่แล้วเป็นยุคบูมของหนังไทย วัดได้จากโรงหนังอิสระที่ผุดขึ้นมาเรียงรายตามหัวเมือง ซึ่งสมัยนั้นเรียกได้ว่า เป็นแหล่งพบปะที่นัดคนออกมาเจอกัน หรือหากอยากไปเดตกับใครสักคนก็ต้องมีชวนไปดูหนังสักเรื่องทำให้บรรยากาศในย่านมีความคึกคัก เกิดร้านค้า ดนตรีหรือจัดงานรื่นเริงต่างๆ
แต่ปัจจุบันบรรยากาศเหล่านั้นคงเป็นได้เพียงแค่วันวาน เหลือเพียงซากปรักหักพังไว้ดูต่างหน้า เพราะต้นตอมาจาก ‘การผูกขาด’ ของโรงหนังเจ้าใหญ่ที่สามารถเหมาซื้อลิขสิทธิ์หนังไปฉายได้แค่คนเดียวโดยไม่มีกฎหมายควบคุม
“สิ่งที่น่ากลัวสำหรับหนังไทย คือ
ความอิสระที่ไม่มีกฎหมายควบคุม”
“สาเหตุที่โรงหนังไทยค่อยๆ ตายจากไปคือ การมีกฎหมายที่ไม่ได้ควบคุมว่า ห้างฯ สามารถเปิดโรงหนังได้กี่ห้อง ถ้ากฎหมายควบคุมห้างฯ ให้มีได้แค่หนึ่งโรงหนังปัญหาก็คงจบ โรงหนังอิสระอยู่ได้แน่นอน แต่นี่คือไม่เป็นไร มีได้เลยยี่สิบห้องแล้วขยายเพิ่มได้อีกนะ และฉายหนังชนกันไปอีก มันคือการปล่อยอิสระทั้งโรงหนังและตัวลิขสิทธิ์หนังว่าจะทำอย่างไรก็ได้ แต่เมืองนอกต้องควบคุมทั้งสองอย่างเลย
“อย่างอเมริกาเขาจะมี American Film Institute หรือสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน ซึ่งเป็นคนควบคุมว่าหนังทุกเรื่อง โรงหนังทุกที่ต้องเข้าถึงคนได้และไม่มีการผูกขาดว่าต้องฉายได้ที่เดียว แม้กระทั่งโรงหนังแค่ห้าสิบที่นั่งก็สามารถฉายสไปเดอร์แมนได้ แต่ที่ไทยหากโรงหนังเล็กๆ อยากขอลิขสิทธิ์สไปเดอร์แมนมาฉายก็ทำไม่ได้เพราะมีคนซื้อไปแล้ว และได้อำนาจที่จะฉายไว้แค่เจ้าเดียวอีกด้วย”
โอกาส ‘คนทำหนัง’ ที่มีข้อจำกัด
อีกหนึ่งปัญหาคือ ‘หนังไทยมีไม่พอ’ ซึ่งที่มาของคำว่า ‘ไม่พอ’ ต้องย้อนกลับไปต้นตอที่ว่าไม่มีใครสนับสนุนและเปิดโอกาสพื้นที่ให้คนทำหนังได้ฉายแวว อย่างเรื่องการขอทุนในไทยที่มีอยู่น้อยนิด และข้อจำกัดมากมาย ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วที่พร้อมยื่นมือช่วยเหลือ
“ถ้าเทียบกับต่างประเทศมันต่างราวฟ้ากับดิน พี่อยู่ที่ออสเตรเลียการขอทุนหาได้หลายที่มากๆ ซึ่งในแต่ละเมือง เราสามารถขอทุนได้จากรัฐบาลในเรื่องของศิลปะและวัฒนธรรม ไม่พอแค่นั้น มันก็จะมีองค์กรอิสระหรือ Creative Victoria หน่วยงานของรัฐที่สนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เล็กลงไปหน่อยก็จะมีช่องทางหาเงินทุนเล็กๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านเพลง หนัง และศิลปะในระดับเขต ลงไปอีกก็จะมีระดับตำบลที่สามารถขอทุนได้อีกด้วย แต่ถ้าเป็นที่ไทยก็จะเป็นกระทรวงวัฒนธรรมที่เดียวเลย
“หนังไทยโฟกัสผิดจุด
เพราะกลัวว่าจะไปกระทบใครไหม
มากกว่าเป้าหมายที่เอาไปต่อยอด“
“สิ่งที่เห็นชัดอีกอย่างคือ ใบสมัคร ถ้าของต่างประเทศจะมองการทำหนังเป็นธุรกิจ แค่อยากรู้ว่าคุณได้เงินไปแล้วจะเอาหนังไปต่อยอดทำอะไรได้บ้าง แตกต่างจากไทยที่โฟกัสเรื่องบทหนังมากกว่าเป้าหมาย เช่น เรื่องเกี่ยวกับอะไร ใครเป็นดารา ตอนจบเป็นอย่างไร กระทบใครไหม ซึ่งคนทำหนังยังไม่ได้สร้างหนังเลยแล้วเขาจะเอาบทมาจากไหนล่ะ มันก็เลยทำให้คนรุ่นใหม่ไม่กล้าทำอะไรเลย เพราะกลัวว่าต้องไม่ผ่านแน่เลย ทำแล้วก็ต้องลบใหม่เพื่อให้ถูกใจ ซึ่งมันเป็นการจำกัดอิสระทางความคิดสร้างสรรค์ของคนคนหนึ่งให้หายไปได้เลย”
วงการหนังไม่มี ‘บันไดก้าวแรก’
ระหว่างพูดถึงเรื่องหนัง พี่มิ้วเล่าให้ฟังว่าสาเหตุที่หนังต่างประเทศมีรูปแบบหลากหลายและเกิดผู้กำกับหน้าใหม่ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ เพราะบ้านเขามีช่องทางในการไต่เต้าความสำเร็จ ตั้งแต่บันไดขั้นเล็กๆ จากแกลเลอรีที่สามารถสร้างผลงานให้กับตัวเองให้น่าเชื่อถือ เพื่อเขยิบไปอีกขั้นเป็นนิทรรศการ มิวเซียม หรือเวทีในการแข่งขันระดับใหญ่ เพื่อเกิดแรงผลักดันในการพัฒนาวงการหนังให้ก้าวหน้า แต่ของไทยมีอยู่น้อยที่มากๆ ในการโชว์ฝีมือของคนทำหนังสู่สายตาคนภายนอก
“ปัญหาในวงการหนังบ้านเราคือ ไม่มีพื้นที่สนับสนุนให้คนทำหนังได้โชว์ความสามารถ ไม่มีแม้กระทั่งบันไดก้าวเล็กๆ ได้เหยียบขึ้นไป อย่างโรงหนังอิสระที่มันกำลังจะตายไปเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อก่อนฉายหนังแต่ละรอบใช้เวลาเป็นเดือน ปัจจุบันถ้าไม่ได้รับความนิยมก็จะถูกคัดออกไป รวมไปถึงคนทำหนังไทยที่ได้รับรางวัลก็ไม่มีโอกาสได้ฉายในโรงหนัง ก็ทำให้คนดูทั่วไปเข้าถึงยากและไม่อิน มันก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่เอาไปต่อยอด จนเกิดเป็นความเพิกเฉยต่อหนังไทยในที่สุด”
หนังไทยต้องการ ‘ทุน’
เมื่อรู้ถึงปัญหาของวงการหนังไทยที่มีตั้งแต่ภาพใหญ่ไปจนถึงระดับเล็ก คิดว่าในสถานการณ์ตอนนี้สิ่งสำคัญที่หนังไทยต้องรีบแก้ไขคืออะไร
“หนังไทยต้องการเงินทุนมากกว่ารางวัล”
พี่มิ้วตอบอย่างมั่นใจว่า “การกระจายทุน ถ้าสมมติเป็นผู้ว่าฯ กทม. เราอยากขอทุนทำหนัง มันต้องมีงบสนับสนุนให้เขาได้เปิดโอกาสสร้างโปรเจกต์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่รางวัลหรือคำปลอบใจ แต่ต้องให้เงินค่ะ เชื่อสิ! ถ้ามีผู้ใหญ่สนับสนุนคนทำหนัง ยี่สิบทุน มันจะเกิดเทศกาลหนังขึ้นมา คนจะเริ่มให้ความสนใจและเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจต่อในหลายๆ ด้าน ซึ่งมันเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย”
หากมองถึงคนอยากเริ่มต้นทำหนังแต่ไม่มีเงินทุนจะทำอย่างไร
“เราสามารถขอทุนได้จากองค์กรอิสระอย่างสถาบันด้านวัฒนธรรมของต่างประเทศ เช่น Goethe-Institut ของประเทศเยอรมนี Alliance Française Bangkok ของประเทศฝรั่งเศส หรือ Japan Foundation ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแต่ละองค์กรจะมีงบแต่ละปีเพื่อต้องการสานสัมพันธ์กับคนไทย ซึ่งอาจจะเป็นงบก้อนเล็กๆ แต่เป็นบันไดก้าวแรกพอให้เริ่มต้นได้ หรือจะขอทุนจากบริษัทเอกชนก็จะมีเงื่อนไขอีกแบบหนึ่ง”
ส่วนเรื่องอุปกรณ์การทำหนังที่มีค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว อาจจะทำให้คนทำหนังมือใหม่ต้องถอดใจ ซึ่งพี่มิ้วบอกว่าอาจจะเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวอย่างสมาร์ตโฟนก็ทำได้ เหมือนเรื่อง ‘Tangerine’ ของผู้กำกับ Sean Baker ที่เล่าชีวิตของสองกะเทยออกตามล่าหาแฟนเพราะจับได้ว่ามีกิ๊ก ผ่านการทำหนังด้วย iPhone 5S แค่สามเครื่องก็คว้ารางวัลมาได้มากมาย
สำหรับจุดสูงสุดของหนังคือรางวัลออสการ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นหนังฮอลลีวูดในอเมริกา และล่าสุดก็มีหนังเอเชียที่ได้ไปแจ้งเกิดมาแล้วอย่างเรื่อง ‘Parasite’ ของประเทศเกาหลีใต้ มองกลับมาที่ไทยพอจะมีโอกาสทำหนังชิงรางวัลใหญ่เหมือนกับเขาได้บ้างไหม
“จริงๆ มีคนไทยเคยได้รางวัลนะnคือ ‘พี่สอง-สยมภู มุกดีพร้อม’ ผู้กำกับภาพเรื่อง ‘Call Me by Your Name’ และได้รับรางวัลจาก Independent Spirit Award มาแล้ว แต่นั่นมันเป็นโปรดักชันฝรั่ง มันก็เหมือนกับคราฟต์เบียร์ไทยที่ต้องไปใส่ขวดเวียดนาม พอได้รับรางวัลก็กลายเป็นของเขาไปแล้ว ทั้งที่เป็นของคนไทยคิด”
“ถ้าถามว่าคนไทยทำได้ไหม
ทำได้ คนไทยเก่งนะ”
หนังไทยปังได้ด้วย ‘ความคิด’
คิดว่าหนังไทยควรเอาดีด้านไหน “ส่วนตัวคิดว่าเอกลักษณ์ของไทย คือความแปลกใหม่ในการใช้ชีวิต อย่างการหยิบปัญหาใต้พรมให้ขึ้นมาเป็นที่รู้จัก เช่น ลองทำสารคดีเกี่ยวกับพัฒน์พงศ์ ปิงปองโชว์ หรือสองสถาบันที่ชอบมีปัญหากันสิ เหมือนหนัง The Beach ถ่ายทำที่ทะเลภาคใต้ ซึ่งเล่าเรื่องดาร์กไปเลย และตอนนั้นดังมากใครๆ ก็มาเที่ยวบ้านเรา
“ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องนำเสนอเกี่ยวกับวัฒนธรรม ชุดไทย รำไทยเลยก็ได้ จริงๆ แล้วไทยมีจุดขายเยอะมาก แต่ขาดอิสระในการเผยแพร่ออกมา อย่างต่างประเทศเขาทำเซ็กซ์มิวเซียม หรือศิลปะจากอึ มันช็อกโลกมากและรัฐบาลไม่ได้ปิดกั้น เพราะมันเกิดการถกเถียงและพัฒนาต่อยอด
“ปัญหาของไทยที่มันอยู่ใต้พรม มันไม่ใช่สิ่งไม่ดีที่ควรเก็บซ่อนไว้เงียบๆ แต่ถ้าเราทำให้มันเป็นศิลปะ ให้ความรู้ในมุมมองต่างๆ เพื่อเปิดกว้างความคิดของแต่ละด้าน ที่จะชวนคนดูให้เข้าใจถึงที่มาและเหตุผลของการกระทำนั้นๆ มันก็จะเกิดความสนใจ การรับฟังเหตุผลจนเกิดการแก้ไขไปในทางที่ดีขึ้นได้”
ตลอดชีวิตที่พี่มิ้วเติบโตมาในประเทศออสเตรเลีย ทำงานเกี่ยวกับวงการสื่อศิลปะมากกว่าสิบปี ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่ไทยมาเปิดโรงหนัง Bangkok Screening Room
เขาเล่าถึงความแตกต่างให้เห็นภาพว่า ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างความคิดอย่างอิสระ มีสื่อทางเลือกให้เลือกดูมากมาย มันก็ช่วยให้คนมีความอดทนในการลองเปิดใจ และยอมรับฟังมุมมองต่างๆ ทั้งหนัง เพลง หรือศิลปะ ซึ่งทำให้เกิดการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ได้ไม่สิ้นสุด
หากเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาแล้ว ที่ได้เสพสื่อเพียงด้านเดียว ทั้งจำกัดสื่อ งบประมาณ และรูปแบบ มันก็เหมือนถูกตีกรอบความคิดไม่ให้ก้าวหน้าไปไหนได้เลย
ปัจจุบัน Bangkok Screening Room ได้ปิดกิจการไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2021 และตัวพื้นที่ได้กลายมาเป็น Doc Club & Pub