ออกเดินทางไปกับ 6 สะพานแห่งปี - Urban Creature


หากมองออกไปรอบๆ ตัว เราอาจจะพบเห็นสะพานแฝงตัวอยู่ตามมุมต่างๆ ของเมือง แต่รู้หรือไม่ว่า สะพานคือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของเมืองเลยทีเดียว เพราะสะพานคือเครื่องหมายแสดงถึงการพัฒนาของเมืองว่ามีเรื่องราวอย่างไร ทั้งยังมีความหมายในเชิงสังคมและผู้คนไปจนถึงการเป็นสัญลักษณ์และภาพจำของเมืองได้อีกด้วย


คอลัมน์ Urban City จึงหยิบยกสะพานที่น่าสนใจจากหลายพื้นที่ทั่วโลกมาบอกเล่าส่งท้ายปีเพื่อส่งต่อแนวคิดและการแก้ปัญหาที่น่าสนใจของพื้นที่และเมืองในรูปแบบต่างๆ ให้ได้อ่านกัน

01 สะพานข้ามถนนเลี่ยงรถติด | The Technion Entrance Gate


เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอสถานการณ์การข้ามถนนในเมืองอันแสนยากลำบาก เราเลยพาออกเดินทางไป ณ ประเทศอิสราเอล เพื่อพบการแก้ปัญหารถพลุกพล่านด้วยการสร้างสะพานสำหรับข้ามถนน ‘The Technion Entrance Gate’ ที่ตัวสะพานเชื่อมต่อระหว่างสถาบันเทคโนโลยี Technion Israel กับทางเดินเล่นในเมือง


แนวคิดนี้มาจากทีมสตูดิโอ ‘Schwartz Besnosoff Architects’ เปลี่ยนการตีความหมายของประตูทางเข้าในรูปแบบใหม่ โดยมองว่าประตูอาจไม่ใช่สิ่งกีดขวางแต่เป็นสะพาน แพลตฟอร์มสาธารณะที่เชื่อมระหว่างเมืองกับตัวสถาบัน ซึ่งตอบโจทย์ทั้งคนเดินเท้าและนักปั่นจักรยาน ทั้งยังลดปัญหาการเผชิญหน้ากับการจราจรที่วุ่นวายและความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับอุบัติเหตุอันไม่คาดคิด

02 สะพานข้ามแม่นำ้เพื่อคนเดิน-นักปั่น | Providence River Pedestrian and Bicycle Bridge


ทอดน่องไปกับ ‘Providence River Pedestrian Bridge’ สะพานที่สร้างขึ้นมาเพื่อข้ามแม่น้ำพรอวิเดนซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในการเชื่อมต่อผู้คนกับพื้นที่ให้เข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น เพราะบริเวณรอบข้างนั้นมีทั้งถนน พื้นที่สีเขียว ศูนย์การค้า ท่าเรือ ไปจนถึงย่านนวัตกรรมและการออกแบบ


สะพานแห่งนี้ถูกออกแบบมาให้มีโครงสร้างพิเศษ ด้วยความสูงของสะพานที่ไม่มากจนเกินไป เพื่อให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาได้ใกล้ชิดแม่น้ำมากขึ้น และมีจุดนั่งพักกระจายอยู่ทั่ว ทำให้ประชาชนที่เข้ามาใช้งานทั้งคนเดินเท้า บรรดานักปั่น รู้สึกใกล้ชิดและเป็นส่วนหนึ่งของเมือง

03 สะพานที่เชื่อมโยงขนส่งและพื้นที่สาธารณะ | Chiswick Park Footbridge


ปัจจัยหนึ่งในการเป็นเมืองที่ดีนั้น พื้นที่สำหรับการเดินเท้าคือสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ เช่นกันกับที่กรุงลอนดอนก็มีการสร้างสะพานคนเดินที่ชื่อว่า ‘Chiswick Park Footbridge’ สะพานแห่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้การเชื่อมต่อของเมืองราบรื่นยิ่งขึ้น ทั้งยังมอบการเดินทางที่สนุกสนานและปลอดภัยระหว่างพื้นที่สาธารณะ ย่านธุรกิจ และสถานีรถไฟใต้ดิน


สำหรับการออกแบบและสร้างสะพาน ‘Chiswick Park Footbridge’ มีจุดเริ่มต้นจากซุ้มเหล็กโค้งที่เชื่อมต่อกันด้วยเหล็กเส้นเสริม เกิดเป็นโครงสร้างที่มั่นคงและแข็งแรง ทำให้ขณะที่เดินน้ำหนักของคนไม่มีผลให้สะพานแกว่งหรือสะเทือนแม้แต่นิดเดียว

04 สะพานเชื่อมศูนย์รวมหลักของเมือง | Wuchazi Bridge


กลับมาที่ประเทศฝั่งเอเชียกันบ้างกับ ‘Wuchazi Bridge’ อีกหนึ่งสะพานของเมืองจีนที่นักออกแบบสร้างมาเพื่อเชื่อมสถานที่สำคัญของเมืองกับจุดหมายปลายทางของการพักผ่อนหย่อนใจของผู้คนในเมือง ตลอดความยาวสะพานประมาณ 240 เมตร ประกอบด้วยเส้นทางที่หลากหลายสำหรับคนเดินเท้าและคนขี่จักรยานเพื่อข้ามแม่น้ำ


โดยเส้นทางเหล่านี้ถูกออกแบบเพื่อการใช้งานหลายรูปแบบ เช่น เป็นเส้นทางจักรยานที่ไม่มีสิ่งกีดขวางใดๆ ทำให้ใช้เวลาน้อย เส้นทางชมวิวจากมุมสูง และเส้นทางสำหรับคนเดินเท้า ซึ่งเส้นทางทั้งหมด ประชาชนเลือกใช้งานได้ตามใจชอบ ไม่ว่าในช่วงเวลาเร่งรีบ อยากหลบมาเดินเล่นและพักผ่อนสักพัก หรือพบปะพูดคุยและใช้เวลากับเพื่อนๆ ก็ยังได้

05 สะพานที่ตอบโจทย์การจราจรทางเรือ | Lille Langebro


เยือนถิ่นโคเปนเฮเกน เมืองในฝันที่ใครหลายคนคิดว่าครั้งหนึ่งต้องไปให้ได้ โดยสะพานแห่งโคเปนเฮเกนที่เรากำลังพูดถึงนั้นเป็นไอเดียของสตูดิโอสถาปัตยกรรม Wilkinson Eyre และ Urban Agency ในโคเปนเฮเกนที่ร่วมกันออกแบบ ‘Lille Langebro’ ซึ่งนอกจากสร้างมาเพื่อนักปั่นจักรยานและคนเดินเท้าแล้ว ส่วนตัวสะพานยังเปิดเพื่อให้เรือขนาดใหญ่แล่นผ่านไปได้ด้วย


สะพาน ‘Lille Langebro’ จึงกลายเป็นจุดนัดพบยอดนิยมของชาวโคเปนเฮเกนที่ผลัดเปลี่ยนหมุนกันมาใช้งานและสร้างประสบการณ์ร่วมกันกับพื้นที่ คล้ายกับการออกไปพักผ่อนตามสวนสาธารณะเลยล่ะ

06 สะพานข้ามรางรถไฟ | Passerelle Angers


มาถึงสถานที่สุดท้าย เราจะพาเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อพบสะพานไม้คลาสสิกที่ชื่อว่า ‘Passerelle Angers’ ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อข้ามรางรถไฟ นอกจากไม้จะเป็นส่วนประกอบหลักของการออกแบบเเล้ว ยังมีโครงเหล็กช่วยเสริมคานให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ด้านข้างสะพานมีที่นั่งเรียงรายไปตลอดทางเดิน แถมยังปลอดภัยด้วยระบบช่วยจดจำใบหน้าผู้คนที่ใช้งานหากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นในอนาคต


นอกจากตัวสะพานที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานแล้ว สถาปนิกยังมองไปถึงการระบายน้ำบนพื้นผิวของสะพาน ยิ่งไปกว่านั้นโครงสร้างของสะพานยังสามารถเก็บน้ำฝนและระบายไปยังปลายสะพานแต่ละด้านเพื่อป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่ราง จากการจัดการนี้ทำให้เห็นว่า การสร้างสิ่งก่อสร้างในเมืองแต่ละอย่างนั้นต้องสอดคล้องและสร้างประโยชน์ไปพร้อมๆ กันด้วย


source: https://www.dezeen.com

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.