CHOOSEBASE SHIBUYA ช็อปทางเลือกที่ชิบุยะ - Urban Creature

เพิ่งเปิดตัวไปหมาดๆ สำหรับ CHOOSEBASE SHIBUYA ร้านค้าปลีกสไตล์ OMO (Online Merges with Offline) ภายใต้เครือ SOGO & SEIBU ที่ปรับพื้นที่ 700 ตร.ม. ของอดีตร้านหนังสือ Kinokuniya เป็นสเปซ สวยเท่ มีความวัยรุ่นถ่ายรูปขึ้นมาเต็มทุกตารางเมตร แค่มาเดินเล่นก็เพลิน (อย่าเพิ่งโมโหว่าห้างฯ มาไล่ที่ร้านหนังสือ! เพราะคิโนะย้ายไปอยู่ชั้น 7 บนตึก A ของห้าง SEIBU SHIBUYA แทน)

ตอนแรกที่ได้ยินคอนเซปต์ของที่นี่ก็แอบไม่ตื่นเต้นเท่าไหร่ เพราะ 2 – 3 ปีก่อน GU ก็เปิดร้านคอนเซปต์คล้ายๆ กันชื่อ GU STYLE STUDIO ที่ฮาราจุกุ ซึ่งเป็นโชว์รูมเก๋ไก๋ ให้คนมาลองใส่เล่นก่อนเลือกซื้อแล้วจ่ายเงินผ่านแอปฯ ก่อนจะส่งสินค้าไปให้ที่บ้านในภายหลัง เก๋และสะดวกก็จริงแต่บางทีมาถึงที่แล้วก็อยากได้ของกลับบ้านเลย หรือไม่ได้ช้อปหนักพอที่จะส่งฟรี ทำให้ต้องเสียค่าส่งเพิ่มอีกทั้งๆ ที่ตัวฉันก็อยู่ที่ร้านแล้ว 

แต่ CHOOSEBASE SHIBUYA เหมือนจะเข้าใจความเจ็บปวดนี้ เพราะเขาทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์เลือนรางขึ้นอีกหน่อย จางแค่ไหนยังไง ไปดูกัน

ค้นพบความหมาย เลือกซื้อความตั้งใจ

ค้นพบความหมาย เลือกซื้อความตั้งใจ คือประโยคแรกที่ปรากฏขึ้นมาเมื่อเราเข้าไปอ่านเรื่องราวของ CHOOSEBASE SHIBUYA

คอนเซปต์ที่ฟังดูลึกซึ้งเกินกว่าการช้อปปิงเพื่อความเพลิดเพลินนี้มาจากการที่ไดเรกเตอร์ของที่นี่มองว่าตอนนี้สังคมของเราอยู่บนทางแยก อนาคตในภายหน้าจะก้าวไปทางไหนเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการเลือกของพวกเราเอง ร้านค้าแห่งนี้จึงนำเสนอ ‘ทางเลือก’ ที่เชื่อมโยงกับอนาคต เพราะการตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ความสัมพันธ์กับผู้คนและของที่เลือกใช้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับอนาคตทั้งนั้น ชื่อร้านที่เขียนไขว้กันเป็นสี่แยกก็มาจากแนวคิดนี้ แถมจะมีอะไรเป็นตัวแทนชิบุยะได้ดีไปกว่าสี่แยกล่ะ จริงไหม?

ในเชิงปฏิบัติ CHOOSEBASE SHIBUYA นำสินค้าจากแบรนด์ต่างๆ กว่า 50 แบรนด์ มาจัดเรียงไว้ตามโซนที่แบ่งไว้อย่างเรียบง่ายทั้ง 4 ได้แก่ A B C D วิธีการช้อปคือ ใช้สมาร์ตโฟนอ่าน QR Code ของสินค้าที่ต้องการซื้อแล้วกดเพิ่มสินค้าลงตะกร้าในเว็บ เลือกจนพอใจแล้วก็เดินไปจ่ายเงิน จะรับสินค้าเลยก็ได้หรือจะให้ส่งไปที่บ้านก็ได้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่เรารู้สึกขอบคุณมาก เดินออฟไลน์ หยิบของใส่ตะกร้าทางออนไลน์หรือจะซื้อของออนไลน์ที่ไหนก็ได้แล้วแวะมารับที่ร้าน ความยืดหยุ่นนี้สะท้อนความตั้งใจจะเป็น ‘ร้านค้าปลีกแห่งอนาคต’ ที่ทำให้โลกทั้งสองทับซ้อนกันมากขึ้นได้ดีเลย แถมในร้านยังมีคาเฟ่ให้นั่งชิลด้วย

เวลาของเราทุกคนมีจำกัด

อีกหนึ่งความน่าสนใจของ CHOOSEBASE SHIBUYA คือการเปลี่ยนธีมทุก 6 เดือน 

นั่นหมายความว่าถ้าชอบอะไร ต้องซื้อภายใน 6 เดือนนี้เท่านั้นนะจ๊ะ อีกครึ่งปีได้ธีมใหม่ สินค้าและแบรนด์ที่เข้าร่วมก็ยกเครื่องใหม่ด้วย ของที่เราเคยเล็งไว้อาจจะไม่ได้กลับมาอีกครั้ง ปกติแบรนด์จะออกสินค้า Limited Edition คราวนี้ห้างฯ ขอขายแบบลิมิเต็ดบ้าง แต่จำกัดเวลาแทน

การเปลี่ยนธีมและการแบ่งพื้นที่แสดงสินค้าพิเศษแบบนี้ช่วยเปิดโอกาสให้แบรนด์เล็กๆ ที่ปกติอาจจะแข่งขันในห้างสรรพสินค้าลำบากได้พื้นที่แจ้งเกิดมากขึ้น อย่าง 50 แบรนด์ที่วางขายอยู่ในปัจจุบันก็เป็นแบรนด์ที่ไม่เคยขึ้นห้างสรรพสินค้ามาก่อนเกือบทั้งหมด

ธีมแรกเอาฤกษ์เอาชัยคือ Sustainability โดยมีคีย์เวิร์ดคือ Time Limit เพราะเขามองว่าทางเลือกของเราในวันนี้นำไปสู่อนาคต แต่เราทุกคนต่างมีเวลาจำกัดซึ่งไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ คำถามคือเราจะใช้เวลาที่มีจำกัดนี้อย่างไร นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมก็มีเวลาจำกัดเช่นกัน ทั้งปัญหาโลกร้อนและวิชาชีพที่สูญหายไปพร้อมช่างฝีมือ สินค้าที่เลือกมาจึงเน้นของที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมงานคราฟต์ในท้องถิ่นต่างๆ ที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก เช่น แบรนด์สกินแคร์ที่เป็นวีแกน แก้วพลาสติกพับได้ ทำจากวัสดุรีไซเคิลช่วยลดการใช้พลาสติก แก้วที่ผลิตจากขยะเศษแก้วที่มีมากถึงปีละ 200 ตัน ไอโฟนรุ่นเก่ามือสอง เช่น iPhone 8, iPhone SE รุ่นแรก งานคราฟต์ท้องถิ่น น้ำผึ้งธรรมชาติ เนยสตรอว์เบอร์รี อาหารสำเร็จรูปที่ทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่นและไม่ผสมสารเคมีใดๆ

ตัวอาคารและการจัดการเองก็พยายามเป็นมิตรเท่าที่จะทำได้ เช่น กระจกโต๊ะดิสเพลย์สินค้าก็ใช้ของรีไซเคิล 100% เก้าอี้บางส่วนทำจากอะลูมิเนียมรีไซเคิล เปิดแอร์/ฮีตเตอร์ด้วยอุณหภูมิที่ช่วยประหยัดไฟ ลดทอนความอลังการในการห่อของขวัญและพยายามสร้างขยะให้น้อยที่สุด

นอกจากเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่นี่ยังแอบชูป้ายไฟให้ผู้หญิงทำงานซึ่งเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้นในญี่ปุ่น จากค่านิยมเดิมๆ ที่ผู้หญิงต้องลาออกจากงานหลังแต่งงานไปเป็นแม่บ้านเต็มตัว ตอนนี้สาวๆ เริ่มทวงคืนพื้นที่แสดงศักยภาพในที่ทำงานมากยิ่งขึ้นอย่าง FABRIC TOKYO แบรนด์ตัดชุดสูทแบบเมดทูออเดอร์ชื่อดังก็เปิดร้าน INCEIN ซึ่งทำชุดทำงานแบบคัสตอมเมดสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ คอนเซปต์ Every choice, always proud ก็ Empowering กันตั้งแต่ได้ลองทาบเสื้อส่องกระจกทีเดียว

ร้านค้าปลีกแห่งอนาคต

อย่างที่บอกไปว่า CHOOSEBASE SHIBUYA พยายามตีความการเป็นร้านค้าปลีกแห่งอนาคต ซึ่งอนาคตที่ว่านี้อาจจะไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานในการสร้างประสบการณ์การจับจ่ายแบบใหม่ที่เข้ากับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย มันอาจหมายถึงทิศทางทางธุรกิจของห้างสรรพสินค้าด้วยเช่นกัน

CHOOSEBASE SHIBUYA เป็นครั้งแรกที่ห้างสรรพสินค้าจัดหน้าที่การต้อนรับลูกค้า อธิบายสินค้าและราคาให้กับสมาร์ตโฟนแต่เพียงผู้เดียว เครือ SOGO & SEIBU ยกให้ที่นี่เป็นโปรเจกต์นำร่อง ถ้าไปได้สวยก็อาจจะนำระบบนี้ไปใช้ที่อื่นด้วย เพราะสังคมผู้สูงอายุทำให้ญี่ปุ่นประสบปัญหาจำนวนพนักงานไม่พอมาหลายปี (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มงานที่ใช้แรงเป็นหลัก) แรงงานหนุ่มสาวน้อยลงมากเมื่อเทียบกับเมื่อก่อนและไม่อยากทำงานประเภทนี้ รวมไปถึงไม่อยากเป็นพนักงานประจำด้วย จากผลสำรวจของปีล่าสุดมีบริษัทที่พนักงานประจำไม่พอถึง 40.7% ทำให้หลายๆ ธุรกิจเริ่มแก้ไขปัญหาด้วยการใช้เครื่องจักรแทน เช่น ร้านสะดวกซื้อที่ไม่มีคนขาย และเครื่องคิดเงินด้วยตนเอง กลายเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในร้านค้า ร้านอาหาร 

ยิ่งตอนนี้มีโรคระบาด เศรษฐกิจไม่ดี หลายกิจการต้องหาทางเอาตัวรอด การลดจำนวนคนยิ่งถูกบีบให้พัฒนาไปไวขึ้น อีกหน่อยเราอาจจะไม่ได้ยินคำว่า Irasshaimase เวลาไปเดินเข้าร้านที่ญี่ปุ่นแล้วก็ได้ ในขณะเดียวกันก็ช้อปผ่านแอปฯ ให้ของไปนอนรอที่โรงแรมเก๋ๆ แทน อนาคตการช้อปปิงที่ญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรก็อาจจะเป็นผลมาจากการเลือกของพวกเรานักท่องเที่ยวเหมือนกัน

Sources :

CHOOSEBASE SHIBUYA | https://choosebase.jp/

FASHIONSNAP | https://www.fashionsnap.com/article/2021-09-02/choosebase-shibuya-open/

PR TIMES | https://prtimes.jp/main/html/rd/p/000000024.000028958.htmlTDB | https://www.tdb.co.jp/index.html

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.