ตั๊ก ฉันทนา ทำหนังแบบเลิกพรีเซนต์ว่าคนอีสานโง่ - Urban Creature

“โง่ จน เจ็บ” คงเป็นวาทกรรมที่หลายคนจดจำ ‘คนอีสาน’ แบบแช่แข็งความคิด ประหนึ่งว่าสังคมอีสานด้อยพัฒนากว่าภูมิภาคอื่น ซึ่งบ่อยครั้งที่ภาพจำอีสานในเชิงลบมักปรากฏให้เห็นผ่านละคร ภาพยนตร์ วรรณกรรม ฯลฯ ผลิตซ้ำความยากจน การศึกษาต่ำ ผู้หญิงต้องเป็นเมียฝรั่ง หรือรับอาชีพกรรมกร-คนใช้ จนโดนเหมารวมว่าคนอีสานเป็นแบบนั้น 

ปัจจุบันกระแส ‘อีสานฟีเวอร์’ มีบทบาทมากขึ้น ทั้งในแง่ของอุตสาหกรรมบันเทิง งานศิลปะ และการออกแบบ ที่เกิดจากการรวมพลังลูกอีสาน หยิบเอาของเก่ามาเล่าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Foundisan ที่หยิบงานคราฟต์ในอีสานมาพัฒนาให้ร่วมสมัยมากขึ้น เช่น กระติ๊บข้าวเหนียวทรงเลขแปด เสื่อ On souls ที่ทอเป็นคำอีสานทับศัพท์ภาษาอังกฤษ หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ที่ส่งเสริมให้นำความครีเอทีฟมาต่อยอดเอกลักษณ์อีสาน เพื่อให้วัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ร่วมสมัยได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นใบเบิกทางให้คนเห็นว่าอีสานไปไกลมากกว่าวาทกรรมคร่ำครึ

รวมไปถึงภาพยนตร์จากฝีมือกำกับของ ตั๊ก-ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ซึ่งทำให้เห็นชีวิต ‘อีสานร่วมสมัย’ ที่ไม่ได้ขายเส้นทางปากกัดตีนถีบ หรือสู้ชีวิตเพื่อเอาชนะความยากจน แต่ฉายความสนุกสุดเหวี่ยงของอีสานผ่านป็อปคัลเจอร์มันๆ ในช่วงวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นการออกสเต็ปลวดลายหน้าเวทีหมอลำ ชีวิตรักวัยรุ่น และการหาที่ทางของเด็กในระบบการศึกษา ตั๊กประกอบสร้างให้คนดูเห็นมิติอันหลากหลายของคัลเจอร์อีสานที่ไม่ใช่ภาพจำในสื่ออีกต่อไป

การหยิบวัฒนธรรมย่อย (Subculture) มาปรุงรสชาติใหม่ให้เคี้ยวง่ายของตั๊ก ฉันทนา ทำเอาคนจำนวนนับไม่ถ้วนต่างพูดถึง และยกเป็นหนึ่งในผู้กำกับน้ำดีที่ต่อให้ใครไม่เคยรู้จักวัฒนธรรมอีสานหรือไม่ใช่ลูกอีสานแท้ ก็ม่วนได้!

โลกภาพยนตร์ที่ไม่เคยเข้าถึง

ตั๊กเปิดบทสนทนาระหว่างเราสองคนด้วยภาพของตัวเองนับตั้งแต่ปี 2534 ว่า ชีวิตภาพยนตร์ของเธอไม่ได้เริ่มตั้งแต่วัยละอ่อน ไม่ได้นั่งดูภาพยนตร์เป็นพันๆ เรื่อง หรือใช้ชีวิตวันหยุดสุดสัปดาห์ไปกับการเข้าโรงหนัง แต่เป็นเพียงเด็กธรรมดาคนหนึ่งจากอำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่เที่ยวเล่นตามประสาเด็ก 

“ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยดูหนังในโรงเลย เพราะทั้งจังหวัดมีโรงหนังอยู่แห่งเดียวในตัวเมือง แล้วอำเภอที่เราอยู่ห่างจากตัวเมืองเกือบร้อยกิโลฯ เลยอาศัยการดูหนังผ่านบิ๊กซีนีม่า แต่ก็ไม่ค่อยได้ดู เพราะบิ๊กซีนีม่ามาช่วงดึก ซึ่งเราเข้านอนกันตั้งแต่ทุ่มสองทุ่ม บางทีเข้ามาอยู่กับญาติในเมืองช่วงปิดเทอมก็หาเช่าดีวีดีบ้างแต่ก็ไม่บ่อย ทำให้เรารู้จักหนังน้อยมาก

“มันมีไม่กี่อาชีพที่เด็กบ้านนอกอย่างเราเห็น ไม่รู้จักว่าอาชีพนักแสดงคืออะไร ผู้กำกับคืออะไร มีช่วงหนึ่งอยากเป็นวิศวกรไฟฟ้า เพราะรุ่นพี่ที่โรงเรียนได้ทุนหนึ่งอำเภอหนึ่งทุนเลยอยากได้บ้าง ตอนนั้นเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวิศวะเรียนอะไร เรียนยากแค่ไหน เรียนจบไปทำอะไร รู้แค่ว่ามีฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ แทบจะบอกไม่ได้ว่าจริงๆ เราชอบหรือเปล่า”

Echo chamber คือคำที่ตั๊กพูดถึงตัวเองในช่วงนั้น คิดว่าตัวเองเก่งเพราะอยู่ในเฉพาะที่ทางของตัวเอง จนได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนไปแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิกในกรุงเทพฯ ทำให้ความรู้สึกที่ว่า ‘เราแม่งโคตรอีโง่เลย’ ผุดขึ้นมา เพราะว่าทำไม่ได้เลยสักข้อ

ถึงแม้ความฝันก่อนเข้ามหาวิทยาลัยดูเหมือนจะเบนเข็มไปที่นักข่าว แต่ปัจจุบันเธอกลับเป็นผู้กำกับที่ฝากลายเซ็นการเล่าซับคัลเจอร์ม่วนๆ บนม้วนฟิล์ม 

จุดเปลี่ยนครั้งแรกของตั๊กคงเป็นการรู้จักโลกของภาพยนตร์สมัยปี 1 ตอนที่เรียนวิชาภาพยนตร์เบื้องต้น (Introduction to Film) เป็นแรงดึงดูดที่ทำให้ตั๊กรู้ตัวเองว่าหลงใหลในศาสตร์แห่งการทำหนัง และอยากเรียนรู้จนถึงขั้นเซียน ซึ่งความตลกร้ายในเวลานั้นคือไม่มีเอกภาพยนตร์ให้เลือก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความตั้งใจว่าอยากทำหนังตกหล่นไป ระหว่างเรียนตั๊กควักเอเนอร์จีอันล้นเหลือมาผลิตหนังสั้นหลายต่อหลายเรื่อง แต่ก็ยังไม่ได้อยากพูดถึงอีสานเหมือนตอนนี้

“ความรู้สึกอยากทำหนังเกี่ยวกับบ้านเกิดมันมาตอนเราได้ทำงานกิจการเพื่อสังคมหลังเรียนจบ และเห็นแง่มุมการโดนผลักไสให้เป็นคนนอกสังคมของคนบางกลุ่ม ทำให้กลับมาคิดถึงตัวเองว่าเราโดนผลักเป็นคนนอกเพียงแค่เป็นคนอีสาน

“เราไปหาประวัติศาสตร์มาอ่านเยอะมาก ปะติดปะต่อความเป็นมา และสิ่งที่เราคิดดันไปตรงกับเอกสาร หนังสือ ทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่ารากของตัวเองมาจากไหน ซึ่งเมื่อก่อนเคยคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของรัฐนี้มาโดยตลอด เป็นประชาชนที่ถูกให้ความสำคัญ พอเข้ามาเห็นกรุงเทพฯ หรือมาเรียนมหาวิทยาลัยจึงได้เห็นความแตกต่างของพื้นที่และผู้คนอย่างชัดเจน”

นั่นกลายเป็นชนวนให้ตั๊กอยากทำภาพยนตร์เล่าเรื่องบ้านเกิด ให้คนมาสนใจ จนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้พื้นที่อีสาน 

วัฒนธรรมอีสานในม้วนฟิล์ม

ความยากจนแร้นแค้น ถูกผลักให้เป็นตัวตลก คนบ้านนอกคอกนา ไร้เทคโนโลยี หรือนำเสนอว่าอีสานมีดีแค่อาหาร อาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจสังคมอย่างลึกซึ้งหรือรู้จักอีสานแบบผิดๆ เลยทำให้สภาพความเป็นจริงบางอย่างของคนอีสานพร่าเลือนไป 

ก่อนจะลงมือเขียนบทเรื่องหน่าฮ่าน ตั๊กศึกษาพื้นที่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ไปจนถึงภาพยนตร์หรือละครเก่า ว่าอีสานถูกมองด้วยสายตาแบบไหน และค้นพบว่ามายาคติเรื่องคนอีสานในสื่อกระแสหลัก ยังไม่พูดถึงความหลากหลายในแง่ของผู้คนและวัฒนธรรม แถมบ่อยครั้งยังถูกตีขลุมมากเกินไป 

“ละครเก่าๆ ที่เราเคยดูจะฉายภาพอีสานที่แห้งแล้งกันดาร มีเสียงพิณกับเสียงแคนลอยมาแต่ไกล ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในความจำของคนไทยว่าเมื่อไหร่ที่ได้เห็นหรือได้ยินสิ่งนี้คือ Identity ของภูมิภาคอีสานไปแล้ว”

ฉันถามต่อว่า การผลิตภาพซ้ำของคนอีสานเป็นเรื่องผิดหรือเปล่า ตั๊กส่ายหัวปฏิเสธ เธอมองว่าสิ่งที่สื่อกระแสหลักนำเสนอไม่ได้ผิดไปเสียหมด แต่เมื่อพูดด้วยน้ำเสียงของคนที่มีพลัง มันจึงกลายเป็นการเหมารวม ทั้งที่อีสานมีหลายเฉดกว่านั้น

“เราว่าคนไทยส่วนใหญ่รับรู้กลิ่นอายของอีสานได้ทุกคนแหละ แต่ทุกพื้นที่มีแง่มุมที่รอคนไปเห็นและรอให้คนรู้จักตัวตนอย่างลึกซึ้งขึ้นอยู่เหมือนกัน แม้กระทั่งตัวเราเป็นคนอีสาน บางเรื่องเราก็ไม่รู้นะ อย่างเช่นอีสานมีเหนือ-ใต้-กลาง หรือแต่ละพื้นที่พูดสำเนียงไม่เหมือนกัน ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้มันกำลังบ่งบอกถึงวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และตัวตนของคนอีสาน” 

ไทบ้านเดอะซีรีส์ โดย ศัก-สุรศักดิ์ ป้องศร หรือ ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้ ของ บอย-อุเทน ศรีริวิ ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวอีสานสไตล์แบบของแท้ ไม่มีใคร ‘เทียม’ พรีเซนต์กลุ่มคนที่เคยถูกมองข้าม ใช้ภาษาในชีวิตจริง “มาสิแม่มึง” “ห่ากินหัวมึงเอ้ย” หรือคุยเรื่องทะลึ่งตึงตังโดยไม่เคอะเขินอะไร แถมเล่าชีวิตธรรมดาๆ ไม่ใช่ภาพอีสานที่ไกลปืนเที่ยงได้อย่างน่าสนใจ ได้กระแสตอบรับดีเกินคาด และสร้างปรากฏการณ์ ‘ป่าล้อมเมือง’ จนทำรายได้ไปมากกว่าร้อยล้าน

รวมถึงตั๊ก ฉันทนา ลูกอีสานที่เอา Subculture ที่ตัวเองเห็นตั้งแต่เด็กมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่ชื่อว่า ‘หน่าฮ่าน’ พูดถึงความรักหนุ่มสาว โดยเล่าผ่านมหรสพสุดบันเทิงอย่าง ‘หน่าฮ่าน’ ที่วัยรุ่นอีสานมักออกสเต็ปหน้าเวทีหมอลำสุดม่วน ซึ่งความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการเซตให้ตัวละครเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่พระเอกหรือนางเอกแสนดีที่อยู่ในทำนองคลองธรรม แต่มีชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วไป ทั้งคำพูดคำจาและความคิดความอ่านที่ไม่ได้บอกว่าอีสานไร้การศึกษาหรือด้อยพัฒนาแต่อย่างใด

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวัตถุดิบแสนธรรมดา แต่สร้างรสชาติใหม่ให้กับภาพยนตร์ที่ทลายภาพจำต่อคนอีสานได้อย่างดี จึงไม่แปลกใจที่ ‘อีสานฟีเวอร์’ จะกลายมาเป็นคลื่นลูกใหม่ของอุตสาหกรรมบันเทิงที่ใครๆ ก็อยากรู้จักอีสานมากขึ้น

แม้ หน่าฮ่าน จะเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ตั๊กหยิบมาเล่า แต่ในพื้นที่อีสานยังคงมีซับคัลเจอร์อีกนับไม่ถ้วนที่เธอพบเจอ ซึ่งวัฒนธรรมย่อยที่เธอจำได้อย่างแม่นยำที่สุดและคิดว่าภูมิภาคอื่นคงไม่มีใครเหมือนคือ การใช้เสื่อมาทำเป็นผนังห้องเรียน

“ตอนเรา ป.1 เขาสร้างโรงเรียนประจำอำเภอ เป็นอาคารชั้นเดียวยาวๆ ไม่มีผนัง แต่มีเสากับหลังคาให้ เพราะว่างบประมาณไม่พอ ตอนนั้นนักเรียนทุกคนต้องพกเสื่อไปคนละผืน ไม่ได้เอาไปรองนั่งนะ แต่เอาไปกั้นผนังเพื่อแบ่งห้องเรียน แล้วต้องเปลี่ยนเสื่อทุกเดือนด้วย ทำจนเป็นวัฒนธรรมว่าขึ้นวันที่ 1 เมื่อไหร่ นักเรียนต้องเอาเสื่อผืนใหม่มากั้นห้องกัน (หัวเราะ) จนเรา ป.3 ถึงจะมีอาคารใหม่และทำอาคารนั้นเป็นโรงอาหารไป เรียกว่าเป็นซับคัลเจอร์ของชุมชนเราเหมือนกันนะ

“พอมองย้อนกลับไป ตอนนั้นมันเอาเปรียบกูสัตว์ๆ เลย (หัวเราะ) คือตอนเด็กเราก็มองว่าเป็นการร่วมมือร่วมใจ ถ้าวันนั้นเราไม่ยอมก็คงได้ผนังดีๆ มาตั้งแต่ ป.1 ซึ่งการทอเสื่อก็เป็นซับคัลเจอร์แบบหนึ่งที่คนในชุมชนต้องทำเป็น ชาวบ้านต้องปลูกไหลปลูกกกเกือบหนึ่งไร่ แล้วขั้นตอนตัดกกตัดไหลที่ซอยเป็นเส้น เอาไปตากแดด พอแห้งก็ต้องตื่นเช้ามานั่งทอ ทำอยู่หนึ่งอาทิตย์ถึงจะได้หนึ่งผืน 

“เสื่อเลยเปรียบเสมือนเป็นสมบัติ เวลาลูกบ้านไหนแต่งงานเขาจะให้สินสอดเป็นเสื่อ หรือเวลามีงานบุญก็จะบริจาคเป็นเสื่อหรือผ้าห่มเอาไปเข้ากองทุนหรือบริจาควัด ถ้าผืนไหนสวยหน่อยเขาก็เก็บไว้ใช้กันเอง พอเขาให้ทำแบบนั้นเหมือนมาขอเงินจากชาวบ้านนะ เปลี่ยนเสื่อทุกเดือนไปกันลมกันฝนแทนที่ได้มาปูนั่ง (หัวเราะ)”

ให้คนนอกรู้จักเฉดใหม่อีสานและคนในมีคุณภาพชีวิตที่ดี

หลายครั้งที่นักเล่าเรื่องหลายคนไม่กล้านำเสนอวิถีชีวิตของคนอีสาน เพราะกลัวว่าการเล่าหรือการส่งเสียงของตัวเองอาจทำให้พวกเขาโดนเหยียดหรือดูถูกอย่างไม่ตั้งใจ ถึงแม้ข้อได้เปรียบของตั๊กคือการเป็นลูกอีสานแท้ที่มีความเข้าใจพื้นฐานในพื้นที่นั้นๆ เป็นทุนเดิม และเล่าออกมาได้เร็วกว่าคนอื่นสักหน่อย แต่เธอมองว่าการเล่าเรื่องอีสานออกมาได้อย่างลึกซึ้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ‘ความเข้าใจ’ ‘ความจริงใจ’ และ ‘ไม่ให้ข้อมูลด้านเดียว’ เป็นสิ่งสำคัญ พร้อมทั้งให้เหตุผลว่าทำไมถึงอยากเล่าสิ่งนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนดู

นอกจากนี้ ตั๊กยังฝากการสร้างอิมแพกต์และผลักดันพื้นที่นั้นๆ ให้เจริญขึ้นด้วย Soft Power ที่มีอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นการฉายภาพสภาพความเป็นอยู่ ระบบการศึกษา สาธารณูปโภคและบริโภคขั้นพื้นฐาน หรือพื้นที่ทำกินบนภาพยนตร์ แม้ว่าจะไม่ได้เล่าออกมาโต้งๆ แต่ตั๊กกำลังสื่อสารกับสังคมว่าเพราะอะไรอีสานและภูมิภาคอื่นๆ ยังไม่ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีเสียที

“เรามี Soft Power อยู่ในมือ เลยอยากนำเสนอสิ่งที่ไม่เคยถูกนำเสนอและมองข้ามตลอดของวัฒนธรรมอีสานสู่สายตาสาธารณะ อยากให้คนเห็นแวดล้อมที่อาศัยอยู่จริงๆ เพื่อให้ถูกเปลี่ยนแปลงและเจริญได้แล้ว” นี่คือหัวใจหลักของการทำหนังฉบับตั๊ก ฉันทนา

หากถามถึงอนาคตว่าตั๊ก ฉันทนา อยากทำหนังเกี่ยวกับชีวิตคนอีสานอยู่ไหม เธอพยักหน้าแล้วตอบว่า ‘ทำ’ อย่างไม่ลังเล ซึ่งตอนนี้เธอมีเรื่องในใจหลายพันชุดข้อมูลที่อยากเล่า แต่คงต้องเรียงลำดับว่าอะไรมาก่อน-หลัง นอกจากบทบาทผู้กำกับ เธอยังเป็นวิทยากรที่เล่าวิถีชีวิตอีสานมุมมองใหม่ให้คนทั่วไปฟังอยู่เรื่อยๆ ฉะนั้นไม่ต้องห่วงว่าความม่วนของอีสานจะหายไป

เพราะฉันทนาคนนี้จะ “พูดจนกว่าจะเสียงดัง และพื้นที่ที่เราพูดถึงถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลง” 

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.