ความเหลื่อมล้ำคือหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่เรื้อรังของประเทศไทยมาตลอด แน่นอนว่าการจะลดความรุนแรงของปัญหานี้หรือกระทั่งจัดการปัญหาให้หมดไป ต้องมาจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ลดช่องว่างที่ห่างกันระหว่างคนรวย-คนจน ให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน
แต่อย่างที่รู้กันโดยทั่วไปว่าความเหลื่อมล้ำเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ไม่ใช่แค่ใครหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสังคมจะทำให้สำเร็จได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องอาศัยความร่วมมือของภาคเอกชนและสังคม ภายใต้การมีจุดร่วมบางอย่างที่เชื่อมโยงและเห็นตรงกัน เพื่อเดินหน้าไปด้วยกันอย่างเข้าใจ
‘เซ็นทรัล ทำ’ (CENTRAL Tham) โดยกลุ่มเซ็นทรัล คือหนึ่งในตัวอย่างของภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจและขับเคลื่อนเรื่องชุมชน คน และสิ่งแวดล้อม กับความเชื่อมั่นในแนวคิด ‘การสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values)’ ระหว่างธุรกิจและสังคมให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
จากพื้นฐานความเชื่อที่ว่า สังคมจะดีขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงจากการร่วมลงมือทำของทุกคน ทำให้ปี 2022 นี้ ‘เซ็นทรัล ทำ’ เลือกใช้แท็กไลน์ ‘ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ’ มาตอกย้ำความมุ่งมั่นตั้งใจ รวมถึงใช้เป็นสารตั้งต้นในการคิดและทำโครงการเพื่อชุมชน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมความยั่งยืนจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ครอบคลุมทั้งการพัฒนาด้านการศึกษา คุณภาพชีวิตที่ดี การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การสร้างอาชีพให้คนพิการ การลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการพัฒนาสินค้าชุมชนในหลากหลายแนวทาง
นอกจากนี้ ‘เซ็นทรัล ทำ’ ยังมีความตั้งใจอยากชวนทุกคนมาร่วมกันทำให้มากขึ้นและแข็งแรงขึ้น เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงเลือกสื่อสารออกมาผ่านภาพยนตร์โฆษณาชื่อ ‘วงจรชีวิตของการทำ’ รวมถึงสื่อต่างๆ
ด้วยเหตุนี้ เราเลยชวน พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล และ ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีและผู้เขียนบทภาพยนตร์ ที่กำกับภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ มาพูดคุยถึงแนวคิดการลงมือทำ และความตั้งใจที่ต้องการสื่อสารถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกคนในการทำเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม
‘เซ็นทรัล ทำ’ ทำอย่างจริงจังมาตลอด
หากไปย้อนดูโครงการของ ‘เซ็นทรัล ทำ’ จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่ามีความหลากหลาย ยกตัวอย่าง โครงการพื้นที่วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา ที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ โครงการจริงใจ Farmers’ Market ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรนำผลผลิตมาวางจำหน่าย โครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ที่มุ่งเน้นการพัฒนาวัฒนธรรมให้ร่วมสมัย โครงการตะกร้าสานคนพิการ ที่ช่วยเหลือผู้พิการให้มีอาชีพมีรายได้ โครงการ Journey to Zero – สมุยโมเดล ที่ทำเรื่องจัดการขยะและรีไซเคิล เป็นต้น
เพราะมีความมุ่งมั่นที่จะลดความเหลื่อมล้ำในประเทศให้ได้มากที่สุด การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่พนักงานและสังคมอย่างยั่งยืน จึงเป็นวิธีการที่ ‘เซ็นทรัล ทำ’ เลือกมุ่งหน้าไป
แต่ไม่ใช่แค่ ‘เซ็นทรัล ทำ’ ที่ลงมือทำสิ่งนี้เท่านั้น องค์กรยังชักชวนพาร์ตเนอร์ที่มีความสนใจและเป้าหมายร่วมกันมาช่วยกันลงมือทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ทรงพลังขึ้น ภายใต้กรอบการทำงานของ ‘เซ็นทรัล ทำ’ ที่มี 4 ด้านหลัก ได้แก่ Better Life (ทำเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี) Better Work (ทำเพื่ออาชีพที่มั่นคง) Better Society (ทำเพื่อสังคมที่ดี) และ Better World (ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี)
“เราไม่สามารถทำคนเดียวได้อยู่แล้ว มันไม่มีทางสำเร็จได้เลย อย่างโครงการพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่ เราก็ชวนพาร์ตเนอร์อย่างเบทาโกร ที่มีความรู้เรื่องนี้มาสอนชาวบ้านเลี้ยงไก่อย่างถูกวิธี ได้ผลตอบแทนมากที่สุด เนื่องจากเราไม่ได้รู้หมดทุกอย่าง มันเลยกลายเป็นที่มาของแท็กไลน์ ‘ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ’ อีกอย่างถ้าเราให้องค์ความรู้ชาวบ้านจนเป็นโค้ชไปสอนต่อได้ เราก็จะได้คนมาช่วยกันทำมากขึ้น” พิชัยอธิบาย
แม้ ‘เซ็นทรัล ทำ’ จะทำโครงการมาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยโครงการ แต่ทุกโครงการล้วนผ่านการคัดเลือกและมีการวัดผลความสำเร็จอย่างเข้มข้น โดยจะมีการพูดคุยทำงานกับคนในชุมชนจริงๆ ว่าพวกเขาต้องการอะไร มีส่วนไหนที่ ‘เซ็นทรัล ทำ’ สามารถทำให้คุณภาพชีวิตชุมชนดีขึ้นได้ โดยไม่ผูกมัดแค่การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น
“ทุกครั้งที่เราจะทำโครงการใด ไม่ว่ามีคนเสนอมาหรืออยากทำเองก็ตาม ทีมงานต้องลงพื้นที่ไปศึกษาและสำรวจว่าชุมชนแข็งแรงจริงไหม มีอะไรที่เป็นของดีแล้วเราทำให้ดีขึ้นได้บ้าง สอดคล้องกับหลักการของเราหรือเปล่า ซึ่งหลังจากเลือกโครงการได้แล้วต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนที่ชัดเจน จดเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อความโปร่งใส มี KPI ชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
“อย่างโครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง ตอนลงพื้นที่ได้รู้ว่าผ้าทอลายนี้จะหายไป เพราะไม่มีคนทอแล้ว เราก็ช่วยพัฒนาดีไซน์ของผ้าทอให้มีสีสันสวยงาม ร่วมสมัยขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี ให้เป็นต้นแบบของศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์เชิงวัฒนธรรมกับเป็นแหล่งท่องเที่ยว ยอดนักท่องเที่ยวกับรายได้ของชุมชนก็เพิ่มขึ้นทุกปี นี่คือหลักการทำงานคร่าวๆ ของ ‘เซ็นทรัล ทำ’”
จากความต้องการให้เกิดการ ‘ทำ’ อย่างมีประสิทธิภาพและกระจายไปทั่วพื้นที่ ปีนี้องค์กรจึงตั้งใจเชิญชวนทุกคนมาร่วมลงมือทำในรูปแบบของตัวเอง รวมถึงสร้างการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมที่ทุกคนมีร่วมกันผ่านภาพยนตร์โฆษณา ‘วงจรชีวิตของการทำ’ ที่กำกับโดย ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับแนวสารคดีชื่อดังด้วย
ชวนทุกคนมาช่วยกันทำผ่านภาพยนตร์โฆษณา ‘วงจรชีวิตของการทำ’
“การออกแบบโครงสร้างของหนังเรื่องนี้มีแกนกลางอยู่ที่คำว่า ทำ” ณฐพลเริ่มต้นเล่าถึงไอเดียการทำภาพยนตร์โฆษณา ‘วงจรชีวิตของการทำ’ ให้เราฟัง ซึ่งนี่นับเป็นครั้งแรกของเขาที่ได้ร่วมงานกับเซ็นทรัล
“ความท้าทายใหญ่ๆ ของการทำงานคือคำว่า ‘ทำ’ มันกว้างมาก แทบจะเป็นไปในทิศทางไหนก็ได้เลย เราจึงค่อยๆ เอาโครงการต่างๆ ของ ‘เซ็นทรัล ทำ’ มาเป็นตัวตั้งว่าจะเลือกพูดถึงโครงการไหน ในแง่มุมใดบ้าง โดยเนื้อเรื่องจะร้อยเรียงจากการทำที่ไม่เป็นแก่นสาร ไม่เป็นสาระ ค่อยๆ กลายเป็นการทำที่จริงจังมากขึ้น แล้วนำไปสู่การลงมือทำ และทำเพื่อคนอื่น”
นอกจากสารเรื่องการทำที่ชัดเจน เข้มแข็งแล้ว อีกความพิเศษของภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ที่หลายคนอาจไม่ทราบ คือ บุคคลทุกคนที่ปรากฏในภาพยนตร์โฆษณาล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลและชุมชนที่ร่วมลงมือทำโครงการกับ เซ็นทรัล ทำ ทั้งสิ้น ประกอบด้วยคนในโครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง โครงการพื้นที่วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ และ โครงการศูนย์คอลเซ็นเตอร์คนพิการ จังหวัดชลบุรี
“เหตุผลที่นักแสดงในภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้เป็นคนทำงานจริงทั้งหมด เพราะมันเป็นหัวใจหลักของ ‘เซ็นทรัล ทำ’ แก่นของหนังจึงเป็นการทำให้คนดูได้รับรู้ถึงพลังงานที่เกิดขึ้นจริงๆ ดังนั้น เราคิดไว้เลยว่าไม่ว่าจะยากลำบากแค่ไหน เราต้องลงพื้นที่หาคนในโครงการที่จะมาอยู่ในหนังให้ได้ และต้องถ่ายทอดสิ่งที่พวกเขาเป็นให้ได้มากที่สุด มันเลยออกมาเป็นแบบที่เห็นในหนัง”
และเมื่อถามถึงสิ่งที่ได้รับจากการทำงานชิ้นนี้ ณฐพลก็บอกกับเราด้วยรอยยิ้มว่าบรรยากาศการถ่ายทำเต็มไปด้วยความสนุกและพลังงานที่ดี งานชิ้นนี้มอบประสบการณ์ที่มีค่าให้เขาไม่น้อย
“เราประทับใจกับการได้ลงพื้นที่ไปสัมผัสคนทำงานในโครงการของ ‘เซ็นทรัล ทำ’ มากเลย เพราะที่ผ่านมาเราเคยได้ยินบ่อยๆ ว่ามีหลายองค์กรที่เข้าไปสนับสนุนชุมชน แต่สุดท้ายมันไม่ได้แมตช์กับความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง อย่างพวกศูนย์ชุมชนที่ทิ้งร้างหรือโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน แต่คนในโครงการของ ‘เซ็นทรัล ทำ’ ที่เราไปเจอเขาแอ็กทีฟกันมาก เรารับรู้ได้ถึงพลังงานบางอย่างที่มันจริง ไม่ใช่การสร้างภาพ ซึ่งทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าการจะสร้างสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ง่ายแบบแค่เอาเงินไปทำให้เกิด แต่ต้องมีความเข้าใจในระดับลึกระหว่างชาวบ้านกับองค์กรที่ไปสนับสนุน ถึงจะเกิดเรื่องราวแบบที่ชาวบ้านเล่าและแสดงออกมา
“ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้พูดแค่ว่า ‘เซ็นทรัล ทำ’ ทำอะไร แต่พูดอะไรที่ใหญ่กว่านั้น ด้วยความที่หัวใจของหนังเป็นเรื่องการทำ มันเลยพูดสิ่งที่ลึกลงไปอย่างการลงมือทำของทุกคนในทุกๆ วัน โดยอาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม จากการมีคนในโครงการ ‘เซ็นทรัล ทำ’ ทำเป็นตัวอย่าง คนดูอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือคนในโครงการ ‘เซ็นทรัล ทำ’ แต่สุดท้ายถ้าคนดูรีเลตกับคำเหล่านี้แล้วลงมือทำหรือมองย้อนกลับไปถึงการได้เคยลงมือทำอะไรบางอย่างในชีวิตเขา ผมคิดว่านั่นบรรลุจุดประสงค์ของภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้และความตั้งใจของ ‘เซ็นทรัล ทำ’ แล้ว”
ทำทุกโครงการด้วยความเชื่อ และจะทำต่อไป
จากเรื่องราวในภาพยนตร์โฆษณา พิชัยเล่าให้เราฟังถึงเบื้องหลังของทุกโครงการที่เกิดขึ้นของ ‘เซ็นทรัล ทำ’ ล้วนแล้วแต่มาจากความเชื่อมั่นว่าแต่ละชุมชนมีดีอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดองค์ความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์ หรือเงินทุน เพื่อพัฒนาต่อยอดเท่านั้น ถ้าได้รับการสนับสนุนส่วนที่ขาด คนในชุมชนก็สามารถสร้างผลผลิต ผลิตภัณฑ์ หรือบริการให้มีคุณภาพ นำไปสู่การยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น
“เราอยากลดความเหลื่อมล้ำ อยากให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าใครก็ตาม อย่างโครงการตะกร้าสานคนพิการ เราก็จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนให้คนพิการมีงานทำ มีรายได้ และภาคภูมิใจในตัวเอง
“เราคาดหวังอยากให้องค์กรอื่นๆ เห็นคุณค่าตรงนี้ร่วมกัน จะได้ช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำให้สังคม อาจจะทำโครงการของตัวเองหรือมาช่วยเราทำในแง่ของการร่วมมือกัน บริจาคอุปกรณ์สิ่งของ หรือแบ่งปันองค์ความรู้ก็ได้”
ในปีนี้ ‘เซ็นทรัล ทำ’ ได้กำหนดทิศทางของโครงการต่างๆ ทั้งที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและโครงการใหม่ในอนาคตบนรากฐานของ 6 แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืน ได้แก่
– ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ และบรรเทาสาธารณภัย (Community & Social Contribution) ประกอบด้วย โครงการส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชนด้วยการยกระดับชุมชนผ่านการพัฒนาสินค้าชุมชน, การออกแบบบรรจุภัณฑ์, การเปิดช่องทางการสื่อสาร ขนส่ง และจัดจำหน่าย, การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนควบคู่กับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ
– ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม (Inclusion) การดำเนินงานด้านการศึกษา พัฒนาทักษะความรู้ เติมเต็มโอกาสในการทำงาน และส่งเสริมด้านการกีฬาและสุขอนามัย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเด็ก เยาวชน คนพิการ และกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม
– พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital Development) การพัฒนาบุคลากร ตลอดจนส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรมีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการปฏิบัติงานบนฐานความรู้ใหม่ได้ดียิ่งขึ้น เพื่อยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการทำงานและการแข่งขัน
– ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการบริหารจัดการขยะมูลฝอย (Circular Economy & Waste Management) การดำเนินธุรกิจบนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีสำนึกความรับผิดชอบ ส่งเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณขยะมูลฝอย และการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
– ลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิตและลดปริมาณขยะอาหาร (Food Loss & Food Waste Reduction) การจัดการอาหารส่วนเกินเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การใช้วัตถุดิบ การจัดการอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย การแปรรูปอาหารที่ไม่สามารถรับประทานได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์และก๊าซชีวภาพ
– ฟื้นฟูสภาพอากาศ ลดมลภาวะ และผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน (Climate Action) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและให้บริการแก่ลูกค้า
นอกจากนี้ ‘เซ็นทรัล ทำ’ ยังมีแพลนปลุกปั้นทำ ‘ทำ-ดี’ (Tham-dee.com) แพลตฟอร์มระดมทุนรูปแบบใหม่ที่สร้างโอกาสแจ้งเกิดให้โครงการเพื่อสังคมและเป็นช่องทางในการลงมือทำของทุกคน โดยแพลตฟอร์มนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งมอบเงินของทุกคนให้ถึงมือผู้รับแบบตรวจสอบได้ ไม่มีการหักค่าดำเนินการและค่าใช้จ่าย รวมถึงนำยอดบริจาคไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
“ผมไม่ได้คาดหวังว่า ‘เซ็นทรัล ทำ’ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่อะไร ผมแค่อยากเห็นโครงการที่เราทำสามารถเป็นโค้ชที่แข็งแรงและสอนคนอื่นๆ ต่อไปได้ ผมอยากเห็นผู้ประกอบการธุรกิจและทุกคนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกับสังคม เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราทำมันส่งผลกระทบกับทุกคน” พิชัยกล่าวด้วยรอยยิ้ม