Celine เครื่องสำอางฮาลาลจากปัตตานี - Urban Creature

Urban Creature x UN Women

คนจะงาม งามที่ใจใช่ใบหน้า ทำไมสุภาษิตไทยช่างไม่เข้าใจแล้วก็ใจร้ายใจดำกับพวกเราได้ขนาดนี้ ยิ่งในยุคปัจจุบันก็ต้องบอกว่าเราเชื่อเหลือเกินว่า ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงหรือใครคนใดก็ตาม ย่อมมีสิทธิ์ที่จะดูดีในแบบของตัวเองทั้งนั้น และสำหรับญาญ่า-สุไรยา แวอุเซ็ง เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางฮาลาล Celine และบรรดาสาวงามทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ถ้าได้ความสวยงามที่มาพร้อมความสบายใจ ก็คงไม่ได้ขออะไรไปมากกว่านี้อีกแล้ว

Celine คือเครื่องสำอางที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนสามจังหวัดโดยแท้จริง อย่างแรกคือผลิตมาแบบหลักศาสนาจะได้ใช้งานกันอย่างสบายใจ อย่างที่สองคือตอบโจทย์ด้านสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดในเวลากลางวัน และหนาวเย็นในเวลากลางคืน ทำให้เหมาะกับพื้นที่มากกว่าเครื่องสำอางยี่ห้ออื่นตามท้องตลาด

“เราปิดหน้าแต่ก็ยังปัดแก้ม ทาปาก แต่งหน้าอยู่นะ” ญาญ่าเล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี และบอกว่าสำหรับเธอสิ่งสำคัญที่สุดของ Celine อาจจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงมุสลิมลุกขึ้นมาดูแลตัวเองมากกว่าเรื่องของธุรกิจเสียอีก

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าธุรกิจของ Celine เป็นเรื่องธรรมดา ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง Celine มีตำราธุรกิจที่เข้ากับพื้นที่อย่างมาก เพราะมีวิธีการขายแบบสามจังหวัดชายแดนใต้ แบบฉบับที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและใกล้ชิด แถมธุรกิจนี้ยังช่วยสร้างอาชีพให้กับเหล่าแม่บ้านมุสลิม และส่งออกไปยังประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามอีกมากมาย 

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะกำลังสงสัยว่า เครื่องสำอางก็มีมาตรฐานฮาลาลเหมือนอาหารด้วยหรือ หรือว่าทำไมผู้หญิงที่ใส่ฮิญาบต้องแต่งหน้าด้วย เราชวนมาทำความเข้าใจบริบทนี้ไปพร้อมกัน ด้วยเนื้อหาข้างล่างนี้เลย 


สาวงามสามจังหวัด

หญิงสาวในผ้าคลุมฮิญาบเล่าให้พวกเราฟังว่า ย้อนกลับไปราว 10 ปีที่แล้ว เครื่องสำอางที่มีตราฮาลาลยังไม่มีวางขายตามท้องตลาด มีแต่สินค้าประเภทเคาน์เตอร์แบรนด์ ซึ่งไม่ทราบว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง และไม่มั่นใจว่าจะถูกต้องตามหลักศาสนาหรือเปล่า ทำให้ชาวมุสลิมบางคนไม่ใช้เครื่องสำอางเลย ไม่กล้าใช้ครีมกันแดดเวลาออกจากบ้าน หรือเวลาล้างหน้าก็ต้องใช้สบู่แทน 

ในขณะเดียวกัน ชาวมุสลิมคนไหนที่มีเครื่องประทินผิวแต่งแต้มอยู่ พอถึงเวลาละหมาดก็ต้องล้างออก เพราะเธอบอกว่าเวลาละหมาดเป็นช่วงเวลาที่มุสลิมต้องบริสุทธิ์มากที่สุด

“ต้องล้างให้สะอาดเกลี้ยง เพราะเราไม่รู้ว่าเครื่องสำอางที่อยู่บนหน้าเราสะอาดตามหลักศาสนา ถูกต้องตามหลักศาสนาหรือเปล่า การเข้าละหมาดก็เหมือนเราเข้าหาพระเจ้า ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า จะต้องสะอาดทั้งหมด 

“ในหนึ่งวันเราต้องละหมาดห้ารอบ แต่ระหว่างวันที่ต้องแต่งหน้าใหม่อีกครั้งก็มีถึงสามรอบ ทำให้มุสลิมบางคนเลือกที่จะไม่แต่งหน้าไปเลย ไม่ได้ใช้บำรุงอะไรเลย ก็อาจทำให้เป็นสิวเป็นฝ้า มีริ้วรอยเกิดขึ้นได้” 

ไม่ว่าจะเป็นการแต่งหรือการบำรุงผิวหน้า หากต้องล้างแล้วแต่งหน้าใหม่ตลอดทั้งวันเป็นความยุ่งยากที่ญาญ่าไม่อยากให้เกิดขึ้น ก็เลยอยากหาอะไรที่มาแก้ปัญหาให้หญิงชาวมุสลิมแบบเธอ ใช้ชีวิตประจำวันได้แบบคล่องตัวกว่าเดิม

“มุสลิมเราก็บำรุงผิวหน้านะ เราก็แต่งหน้าเหมือนกัน เราไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมก่อนหน้านี้ทุกคนถึงไม่เห็นปัญหาตรงนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าไม่ใช่อาหาร ไม่ใช่การกิน เครื่องสำอางบางคนก็อาจจะมองว่าไม่ต้องเป็นฮาลาลก็ได้ ล้างหน้าแล้วก็แต่งหน้าใหม่บำรุงใหม่เอาก็ได้ แต่ญ่าเห็นปัญหาตรงนี้ จะทาหน้า บำรุงหน้า เราอยากทำให้เสร็จตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนบ่าย เราไม่อยากยุ่งกับใบหน้าอีกแล้ว ก็เลยต้องแก้ปัญหาตรงนี้เพื่อความสบายใจชีวิตของเราด้วย” เธอเสริม 


ดอกไม้สีขาวในสรวงสวรรค์

ในภาษาอาหรับ Celine มีความหมายว่า ดอกไม้สีขาวในสรวงสวรรค์ ที่มาของชื่อแบรนด์เครื่องสำอางฮาลาลที่มีความหมายไพเราะเพราะพริ้งมาจากลูกสาวคนแรกของญาญ่า เธอบอกว่าความรักที่ตนเองมีให้กับลูกนั้นสูงมาก ถ้าจะทำแบรนด์ทั้งทีก็อยากรักและเอาใจใส่ในระดับนั้น ก็เลยหยิบชื่อลูกสาวคนแรกมาเป็นชื่อแบรนด์ซะเลย 

ก่อนหน้าที่จะมาลุยธุรกิจเต็มตัว คุณแม่เล่าให้เราฟังว่า เคยประกอบอาชีพเป็นข้าราชการที่อำเภอเมืองปัตตานีมาก่อน แต่เป็นคนที่อยากทำธุรกิจอยู่แล้ว เพราะชอบการออกไปพบปะสร้างสัมพันธ์กับผู้คน ทีนี้พอแต่งงานก็เลยได้ลาออกมาเป็นแม่บ้านเพื่อดูแลลูกสาว

คุณแม่ของเราจึงเริ่มจากช่วยเพื่อนขายของออนไลน์ก่อน มีการขายเครื่องสำอางบ้าง พอทำไปทำมาก็ยิ่งรู้สึกว่าเข้าทางตัวเองมากขึ้นทุกที เพราะพื้นฐานเป็นคนชอบของสวยๆ งามๆ ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าเครื่องสำอางฮาลาลก็มีวางขายในบ้านเราบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ค่อยแพร่หลาย ในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็ไม่มีให้เห็น 

“เริ่มศึกษาจากเพื่อนที่ขายเครื่องสำอางมาก่อน มีการปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสินค้า ศึกษาเรื่องธุรกิจด้วย ต้องบอกว่าเราศึกษาเยอะมาก เพราะทีแรกไม่รู้ว่าจะไปทางไหนเหมือนกัน จากนั้นก็วิ่งเข้าหาโรงงานเพื่อปรึกษาเรื่องฮาลาล อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ เป็นความโชคดีที่พระเจ้ากำหนดมาให้เราได้ไปเจอกับคนที่สามารถสอนเราได้ เราเรียนรู้และนำมาใช้ได้ทันที ธุรกิจเลยเดินหน้าไปได้เร็วมาก ไม่ได้มีอะไรติดขัด”

ฮาลาลในเครื่องสำอางก็มีข้อกำหนดไม่ต่างอะไรกับที่เราคุ้นเคยกับเรื่องของอาหาร ก็คือในตัวสินค้าต้องไม่มีส่วนผสมที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา เช่นไม่มีส่วนประกอบจากสุกร หรือแอลกอฮอล์ โดยจะเน้นไปที่วัสดุที่มาจากธรรมชาติ ซึ่ง Celine ก็มีสารสกัดจากดอกไม้ด้วย เพราะอยากให้คล้องไปกับความหมายของชื่อแบรนด์ 

โฟมล้างหน้า ครีมกันแดด ครีมบำรุงตอนเช้า ครีมบำรุงก่อนนอน เซรั่ม แป้งพัฟ รองพื้น ลิปสติก ยารักษาสิว เรียกว่าคิดถึงเครื่องสำอางประเภทไหน Celine มีครบแทบทุกความต้องการ 

“พยายามทำให้ครบที่สุดเท่าที่จะทำได้ เหมือนกับว่าเราจะออกจากบ้านแต่ละทีก็สามารถใช้ของ Celine ได้ทั้งหมดเลย ลูกค้าก็จะชอบถามญาญ่าว่ามีแป้งพัฟ มีลิปสติกไหม มีรองพื้นหรือเปล่า เราก็ทำตามที่ลูกค้าอยากได้ด้วยเหมือนกัน” ญาญ่าเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส พร้อมกับรอยยิ้มที่เห็นได้ชัดจากดวงตา

นอกจากทำเครื่องสำอางให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม Celine ก็ยังออกแบบเครื่องสำอางให้ถูกต้องตามสภาพภูมิอากาศด้วยเหมือนกัน 

“ภูมิประเทศของเราคืออยู่ติดทะเล อากาศก็จะร้อนมากกก แต่เวลากลางคืนจะหนาว ญ่าผลิตสินค้าที่เหมาะกับจังหวัดปัตตานี ยะลา แล้วก็นราธิวาส ถ้าเราใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศก็อาจจะเกิดผื่นขึ้น เรามองปัญหาตรงนี้เป็นหลักเหมือนกัน อย่างครีมกันแดดก็จะผลิตให้มีค่า SPF สูงที่สุด แล้วกันแดดของเราก็จะป้องกันแสงทุกแสงได้ยี่สิบสี่ชั่วโมงเลย 

“หรือปกติเวลาละหมาดเราจะต้องเอาน้ำมาล้างที่หน้าใช่ไหม ครีมก็อาจจะหลุดออกมาบ้าง แต่เราก็ทำกันแดดให้ทาแล้วสามารถซึมสู่ผิว ก็ป้องกันแสงได้ทั้งวันเลย ไม่ต้องทาเพิ่มขึ้นอีกแล้ว”

สำหรับญาญ่าเธอมองว่า เครื่องสำอางที่ผ่านมาตรฐานฮาลาล เหมือนกับกุญแจที่ช่วยเปิดใจให้ผู้หญิงมุสลิมกล้าที่จะลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง เรียกว่าพอหน้าสวยก็มีความมั่นใจมากขึ้น จะอยู่บ้านกับสามีก็มีความมั่นใจ จะก้าวออกไปนอกบ้านก็มีความมั่นใจเหมือนกัน

“คนก็คิดว่าใส่ฮิญาบอาจจะไม่ได้แต่งหน้าหรือเปล่า ความจริงก็แต่งนะ ปากแดงอยู่เลย (หัวเราะ)

“เรามั่นใจในเรื่องคุณภาพและความสะอาดมากเพราะมันลงที่หน้าตัวเอง ทดลองเองก่อนนำออกมาขาย อีกอย่างเราไม่มีการยิงโฆษณา ไม่ได้เรียนรู้อะไรพวกนี้เลย ตอนนี้มีฐานลูกค้าเก่าอุดหนุนตลอด ทำแบรนด์มาเก้าปียังไม่ได้เน้นช่องทางออนไลน์เลย ลูกสาวก็บอกว่าแม่ต้องขายใน TikTok ได้แล้ว ก็คิดว่าเดี๋ยวจะต้องเรียนรู้ต้องศึกษาเพิ่ม เพราะไม่ได้อยากหยุดอยู่ที่ตรงนี้” 

สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แม่บ้านมุสลิม

ถ้าใครมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนปลายด้ามขวานของประเทศไทยก็น่าจะทราบกันดีถึงความเป็นพื้นที่ที่อบอุ่นและมีความผูกพันกันสูงมาก มีร้านน้ำชาเป็นแหล่งรวมพล เวลาไปไหนมาไหนก็มักจะเห็นผู้คนทักทายกันเหมือนเป็นคนรู้จักกันเสมอ 

ญาญ่าเล่าให้ฟังว่าเริ่มต้นจากการวิ่งเข้าหาลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ในปัตตานีก่อน พอลูกค้ามีโอกาสได้ทดลองใช้แล้วเห็นผลจึงขอให้ช่วยแนะนำต่อให้คนรู้จัก แล้วเธอจะเป็นคนเข้าไปหาด้วยตัวเองเสมอ 

“ตอนนั้นเราจะวิ่งหาลูกค้าเพราะคนยังไม่ซื้อของทางออนไลน์ ที่ปัตตานีก็ถือว่ามีคนรู้จักเร็วเหมือนกันเพราะว่าแนะนำกันแบบปากต่อปาก เมืองเราไม่ได้ใหญ่มากจะไปหาใครก็ง่าย หลังจากนั้นญ่าก็หาทั้งตัวแทนยะลาแล้วก็นราธิวาส ใช้วิธีเจอกันแบบตัวต่อตัวอีกนั่นแหละ นัดเจอนัดคุยแนะนำสินค้ากัน อยากเจอตรงๆ คุยกันตรงๆ เซอร์วิสกันตรงๆ การที่สินค้ามีฮาลาลทำให้คนเปิดใจ ตัวที่เคยใช้มันไม่มีนะ เราก็เหมือนเป็นตัวเปิดใจทำให้ง่ายในการซื้อ กล้าแนะนำให้คนอื่นด้วย”

ตอนนี้ตัวแทนของ Celine มีอยู่ราว 40 คน และส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงมุสลิมที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ญาญ่าเล่าให้ฟังว่า ปกติแล้วผู้หญิงมุสลิมในสามจังหวัดจะมีอาชีพหลักเป็นแม่บ้าน ไม่ค่อยได้ออกไปทำอย่างอื่น แต่จะดูแลครอบครัวเป็นหลัก ถึงชีวิตประจำวันจะไม่ได้ใช้เงินมากเท่าไหร่ แต่พอเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายก็เป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง 

“จากเดิมที่ตัวแทนของเราเป็นแม่บ้านไม่ได้มีรายได้อะไร ก็มีทั้งรายได้เอาไว้ใช้จ่ายส่วนตัวและก็ช่วยในเรื่องครอบครัวด้วย เราก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างรายได้ให้กับเขา ตัวแทนซึ่งจากที่อยู่บ้านหรือมีอาชีพหลักก็มีรายได้เสริมเข้ามาช่วยด้วย เหมือนกับที่ญาญ่าอยากหาเงินมาช่วยครอบครัวตอนแรกนี่แหละ”

รายได้ที่ได้จากการขายเครื่องสำอางส่วนหนึ่งญาญ่าจะนำไปสมทบทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้าทุกเดือน “การให้มันทำให้เราได้รับริสกีกลับมามากกว่าเดิมอยู่แล้ว” เธอเล่าให้ฟังว่า ตามหลักศาสนาอิสลามถ้ามุสลิมคนไหนมีรายได้สูง ก็ต้องให้เงินช่วยเหลือเด็กกำพร้าทุกปี แต่เธอเลือกที่จะทำเป็นรายเดือนเพื่อความต่อเนื่อง 

นอกจากนั้น ญาญ่ายังบอกว่าเป้าหมายต่อไปของเธอคือต้องเดินหน้าต่อ พัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น และจะไม่หยุดทำงานเด็ดขาด

“อย่างแรกคือเป็นความชอบของตัวเอง แล้วเราก็หยุดไม่ได้เพราะงานของเรามันเป็นรายได้ให้กับตัวแทน เป็นรายได้ให้กับพนักงาน และลูกค้าก็ได้ใช้ประโยชน์จากสินค้าของเราจริงๆ เพราะฉะนั้นเราคงไม่ได้หยุดแน่นอน” 

เครื่องสำอางฮาลาลที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้หญิง

นอกจากเป็นตัวช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้หญิงสามจังหวัดชายแดนใต้ Celine เริ่มส่งออกไปที่ต่างประเทศ ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ จอร์แดน หรือบรูไน เพราะรู้จักผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งการมีตราสินค้าฮาลาลก็เป็นตัวช่วยเปิดใจในการใช้เครื่องสำอางกับผู้หญิงมุสลิมของประเทศอื่นเหมือนกัน 

“เวลาใช้มันสบายใจกว่า การตัดสินใจซื้อก็เหมือนไทยมุสลิมเลยก็คือเห็นตราฮาลาลนี่แหละ แต่พอใช้แล้วเห็นผลก็เลยกลับมาซื้อซ้ำ ที่นครเมกกะก็มีลูกค้าสั่งไปใช้เหมือนกันเพราะอากาศร้อนแห้งเหมือนกัน พอเอาไปใช้เขาก็ชอบ เราก็ได้ส่งไปต่างประเทศด้วย”

สำหรับญาญ่าเธอเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าผู้หญิงทุกคนมีสิทธิ์ที่จะสวย การทำเครื่องสำอาง Celine จึงมีความหมายกับเธอมากกว่ามองมันเป็นแค่ธุรกิจ แต่เป็นสิ่งที่เธอภูมิใจและตื้นตันทุกครั้ง ที่ได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้า

“เราได้รับฟังสิ่งดีๆ ได้รู้เรื่องราวจากคนที่เคยมีปัญหาเรื่องผิวหน้าแต่กลับมาดีขึ้นจนทุกคนหันมาชมว่าสวยขึ้น ผู้หญิงทุกคนถ้าโดนชมว่าสวยขึ้นก็จะมีความมั่นใจ แล้วรู้สึกดีอยู่แล้ว ตอนเขามาเล่าให้ฟังก็เห็นเลยว่าสีหน้ามีความสุขจริงๆ เราก็มีความสุขตามไปด้วย ที่ได้ทำให้ผู้หญิงสวยขึ้น

“รู้สึกดีใจที่เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาได้ดูแลตัวเอง เพราะการที่ผู้หญิงจะลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง สวยขึ้น เขามั่นใจมากขึ้น เราก็ดีใจมาก อยู่บ้านก็ต้องดูแลตัวเองค่ะ” 

UN Women ร่วมกับ Urban Creature นำเสนอธุรกิจประจำจังหวัดที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้หญิง และความเสมอภาคทางเพศในภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ

Celine คือเครื่องสำอางฮาลาลที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้หญิงมุสลิมมีความมั่นใจมากขึ้น ออกแบบเครื่องสำอางให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ และช่วยสร้างอาชีพให้กับแม่บ้านมุสลิมและส่งออกไปยังประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามอีกมากมาย

WeEmpowerAsia คือโครงการที่องค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (European Union) ให้ร่วมหาโอกาสเพื่อให้ผู้หญิงในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำและมีส่วนร่วมในภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น โครงการนี้มุ่งเน้นกระตุ้นให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงคนทุกเพศ (gender-responsive) โดยเริ่มจากการปฏิบัติตามหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี (Women’s Empowerment Principles/WEPs) รวมทั้งกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างตลาดในภูมิภาคเอเชียและยุโรปผ่านการค้า และห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) ที่สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้ทุกเพศ 

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.