นอกจากวัด วัง แม่น้ำเจ้าพระยาที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา และสตรีทฟู้ดอันยั่วน้ำลาย อีกสิ่งอย่างที่คนนึกถึงเมื่อพูดถึงกรุงเทพฯ ก็คือ ท้องถนนที่หนาแน่นแออัดไปด้วยรถยนต์แบบสุดลูกหูลูกตา
เนื่องจากกรุงเทพฯ ขาดการพัฒนาเมืองอย่างเป็นแบบแผน เมืองเต็มไปด้วยซอยตันลึกแคบ ซึ่งกว่าจะเดินด้วยเท้าไปถึงขนส่งมวลชนสาธารณะได้ก็แสนจะยากเย็น แถมเมืองไม่ได้ออกแบบให้เป็นมิตรกับคนเดินเท้าอีก ผู้คนเลยกรูไปใช้รถยนต์ในการเดินทางกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ใน พ.ศ. 2565 เว็บไซต์ INRIX วิเคราะห์ว่า คนกรุงเทพฯ หนึ่งคนเสียเวลาเดินทางบนท้องถนนเฉลี่ยมากถึง 67 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งมากเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย
น่าสนใจเหมือนกันว่า จริงๆ แล้วกรุงเทพฯ มีรถเยอะจริงไหม แล้วบรรดารถยนต์ที่เบียดเสียดในกรุงเทพฯ เป็นรถยนต์แบบไหนบ้าง คอลัมน์ City by Numbers ครั้งนี้เลยขอเอาข้อมูลรถยนต์จดทะเบียนสะสมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2566 จากกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก มากางให้หายสงสัย
กรุงเทพฯ รถเยอะกว่าคน
จากสถิติจำนวนรถจดทะเบียนสะสมในกรุงเทพมหานคร วันที่ 31 ธันวาคม ปี 2566 พบว่า กรุงเทพฯ มีจำนวนรถจดทะเบียนทั้งหมด 11,791,220 คันด้วยกัน เมื่อนำตัวเลขนี้มาเทียบกับตัวเลขประชากรกรุงเทพฯ ปี 2566 จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่มีอยู่ 5,471,588 คน ก็เห็นได้เลยว่า จำนวนรถมีมากกว่าจำนวนคนแบบเท่าตัวเลยทีเดียว
ในบรรดารถยนต์ในกรุงเทพฯ จำนวน 11,791,220 คัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (Sedan) เกือบครึ่งหนึ่ง โดยรถประเภทนี้มีจำนวนทั้งหมด 5,529,699 คัน หรือประมาณ 45.897 เปอร์เซ็นต์ของรถทั้งหมด ส่วนรถที่นิยมรองลงมาอีกสองอันดับคือ รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (Motorcycle) ซึ่งมีจำนวน 4,241,120 คัน คิดเป็น 35.968 เปอร์เซ็นต์ และรถบรรทุกส่วนบุคคล (Van & Pick Up) จำนวน 1,494,749 คัน คิดเป็น 12.677 เปอร์เซ็นต์
แม้ว่าในการจัดอันดับจะควบรวมรถประเภทอื่นเข้ามาด้วย เช่น รถรับจ้างและให้บริการ หรือรถที่ใช้ในการขนส่ง ก่อสร้าง และเกษตรกรรม แต่จากสถิติจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า รถที่อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นรถส่วนบุคคลเสียส่วนใหญ่
รถส่วนบุคคล เยอะทั้งจำนวนและการใช้งาน
นอกจากในกรุงเทพฯ จะมีรถยนต์ส่วนบุคคลเยอะที่สุดแล้ว คนกรุงเทพฯ ยังใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทางไปไหนต่อไหนมากที่สุดด้วย ในสถิติสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ พ.ศ. 2565 ของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร กลุ่มพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ พบว่า มีการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเดินทางเป็นสัดส่วนมากที่สุดถึง 90.21 เปอร์เซ็นต์ สองอันดับที่รองลงมาคือรถประจำทาง 6.51 เปอร์เซ็นต์ และรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) 1.32 เปอร์เซ็นต์
แม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีโครงข่ายขนส่งมวลชนมากมาย เช่น รถไฟฟ้า BTS MRT หรือ Airport Rail Link แล้วยังมีรถโดยสารประจำทางรวมมากกว่า 214 เส้นทาง แต่ก็ไม่ครอบคลุมทั่วถึงกรุงเทพฯ เพราะขนส่งมวลชนเหล่านี้มักตั้งอยู่บนถนนสายหลักหรือสายรอง แต่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยซอยลึกและตัน ผู้คนที่อาศัยอยู่ในซอยจึงต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางเป็นหลัก ซึ่งจากการศึกษาของทีม UddC Urban Insights ใน พ.ศ. 2363 พบว่า กรุงเทพฯ มีซอยตันมากถึง 45 เปอร์เซ็นต์ จากความยาวถนนทั้งหมด 18,355 กิโลเมตร ซึ่งซอยตันส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชานเมืองหรือกรุงเทพฯ ชั้นนอก
นอกจากนั้นแล้ว การใช้รถส่วนตัวเดินทางยังสะดวกสบายกว่าสำหรับหลายคน เพราะไม่ต้องใช้ขนส่งมวลชนหลายต่อกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง แถมเมื่อคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายระหว่างการใช้รถส่วนตัวกับขนส่งสาธารณะ การใช้รถส่วนตัวก็ดูจะคุ้มค่ากว่ามากโข
กรุงเทพฯ วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่า
แต่ใช่ว่าเมืองเทพสร้างแห่งนี้จะหมดหวัง เพราะที่ผ่านมามีนโยบายจากหลายภาคส่วนที่คิดค้นมาเพื่อให้คนกรุงหันมาใช้งานขนส่งสาธารณะหรือเดินทางด้วยวิธีอื่นแทนรถส่วนตัว อย่างเช่น กระทรวงคมนาคมที่เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลัก
การใช้ชีวิตในเมืองที่รถล้นและต้องพึ่งพารถส่วนตัวในการเดินทางเป็นหลักไม่ใช่เรื่องที่ดีอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะเจอกับปัญหารถติด ยังมีปัญหาอื่นๆ พ่วงตามมาเป็นแถว เช่น ปัญหาที่จอดรถ ปัญหาคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ หวังว่าในอนาคตเราจะได้เห็นกรุงเทพฯ ที่เป็นมิตรกับคนเดินเท้าและมีระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงง่าย สะดวก และประหยัด เพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนกรุงดีขึ้นกว่าที่เคย
Sources :
INRIX | bit.ly/4ae9D5i
Posttoday | bit.ly/4bwHDeR
The Urbanis | bit.ly/3WFgaTi
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย | bit.ly/4aixn8n
กลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก | bit.ly/4ashtIQ
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร | bit.ly/3wqcvyj