แฟชันมักตกเป็นผู้ร้ายที่มีส่วนเอี่ยวกับการทำลายโลก เพราะอุตสาหกรรมแฟชันสร้างมลพิษเป็นอันดับต้นๆ ไม่ว่าจะย้อมหรือฟอก สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตก็มักหลุดรอดไปปะปนกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสูบทรัพยากรธรรมชาติไปใช้มหาศาล แถมยิ่งผลิตก็ยิ่งสร้างขยะแฟน เพราะเทรนด์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เสื้อผ้าที่ไม่เคยถูกใส่กลายเป็นขยะที่ถูกโยนทิ้ง
| รองเท้าบู๊ทย่อยสลายได้ 100 %
แบรนด์ไฮเอนด์สัญชาติอิตาลีอย่าง Bottega Veneta ส่งเจ้ารองเท้าบู๊ทหน้าตาเทอะทะ สไตล์ ‘chunky boots’ ลูกครึ่ง ‘clogs’ ขึ้นแคทวอร์ค Autumn Winter 2020 เมื่อช่วง Milan Fashion Week ที่ผ่านมา ความพิเศษนอกเหนือจากดีไซน์สุดน่ารักก็คือ วัสดุที่ทำจาก ‘กาแฟและอ้อย’ ซึ่งย่อยสลายได้ 100 % ภายในหนึ่งปี เมื่ออยู่ใต้ดินหรือในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมแสงและความชื้น รวมถึงปริมาณของจุลินทรีย์ ทดแทนการใช้ขนสัตว์สังเคราะห์และวัสดุทดแทนหนัง ซึ่งทำจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างโพลียูรีเทนและพีวีซี
| เปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์เครื่องหนัง
Bottega Veneta ได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์เครื่องหนัง ซึ่งการผลิตหนังจะต้องมีการเลี้ยงปศุสัตว์จำนวนมาก นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การตัดไม้ทำลายป่า และการเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดมลพิษในกระบวนการฟอกหนัง กลุ่ม Kering ยักษ์ใหญ่เบื้องหลังแบรนด์ลักชัวรีอย่าง Gucci, Balenciaga และ Bottega Veneta จึงได้เปิดตัวการฟอกหนังปลอดโลหะ กว่า 24 % ของคอลเลกชัน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนในแหล่งน้ำท้องถิ่น
| เป้าหมายสีเขียวของยักษ์ใหญ่วงการแฟชั่น
Bottega Veneta ถือเป็นแบรนด์แรกที่สำนักงานใหญ่ ได้ใบประกาศ ‘LEED (Leadership in Energy & Environmental Design)’ หรือ มาตรฐานอาคารสีเขียว นอกจากนี้ กลุ่ม Kering ยังประกาศนโยบาย ‘การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)’ เมื่อปีที่แล้ว และให้คำมั่นว่าทุกแฟชันเฮ้าส์ในเครือจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี ค.ศ. 2025 รวมถึงชดเชยการปล่อยมลพิษ ด้วยการลงทุนในโครงการอนุรักษ์ป่าและความหลากหลายทางระบบนิเวศ
| คำถามคือ ‘พลาสติกชีวภาพจากอ้อย’ ยั่งยืนจริงไหม ?
แม้รองเท้าบู๊ทย่อยสลายได้จะกลายเป็นดาวดวงใหม่ แต่คอลเลคชันล่าสุดของ Bottega Veneta ก็ยังคงมีไอเท็มเครื่องหนัง อย่างรองเท้าบู๊ทสไตล์ตะวันตก และกระเป๋าหนังสานมีพู่ซิกเนเจอร์ของแบรนด์ แถมมีการถกเถียงในแวดวงนักออกแบบว่า “พลาสติกชีวภาพอย่างอ้อยนั้นเป็นทางเลือกที่ดีจริงหรือไม่” เพราะส่วนใหญ่แล้วจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งเปลืองคาร์บอนมาก ทั้งยังไปเพิ่มการขาดแคลนทรัพยากรจากการบริโภคของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม หลายๆ แบรนด์ก็เริ่มตื่นตัวและพยายามงัดไม้เด็ดมาช่วยโลก ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่สายแฟจะหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน
Source : Dezeen | https://bit.ly/2TKHbTr