โครงการไทยเด็ด ของ พีทีที สเตชั่น เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจที่ดีแก่ชุมชน เติมเต็มความสุขให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชนภายใต้แนวความคิด “การเป็นศูนย์กลางที่จะร่วมเติมเต็มความสุขและเติบโตไปพร้อมกับชุมชน (Living Community)”
จากความเชื่อในพลังของธุรกิจท้องถิ่น ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งไม่มีใครลอกเลียนแบบได้ โครงการไทยเด็ดจึงอยากเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนที่ช่วยให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นฝ่ามรสุมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาด้วยการเชิญชวนธุรกิจท้องถิ่นทั่วประเทศไทยร่วมส่งเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ โดยทำการคัดเลือกแบรนด์ที่มีทั้งวิธีคิดที่น่าสนใจ และมีปณิธานในการทำงานกับชุมชน มาเปิดห้องเรียนไทยเด็ด Mentor เพื่อช่วยพัฒนาแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้น โดยยังคงเอกลักษณ์ของแบรนด์ไว้ดั้งเดิมและสามารถต่อยอดแบรนด์ให้ไปได้ไกลขึ้น
เราตื่นขึ้นมาตั้งแต่ตะวันยังไม่ออกมาทักทาย และเดินทางจากกรุงเทพมหานครตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อตรงดิ่งไปยังใจกลางของภาคอีสาน พอถึงช่วงบ่ายแก่ คณะของเราก็เดินทางมาถึงอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม พื้นที่ที่ได้รับการระบุว่าเป็นทุ่งกุลาร้องไห้ ที่อดีตเคยแห้งแล้ง แต่ปัจจุบันกลับมีท้องนาที่รวงข้าวเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองคอยต้อนรับฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่กำลังจะมาถึง
เราเดินทางมาที่นี่เพราะมีนัดหมายกับข้าวบุญบันดาล ข้าวสารจากเกษตรกรสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเก่าน้อย ในเขต GI (Geographical Indications) แหล่งภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ต้องการจะรักษาระบบนิเวศของที่ดิน เป็นผลิตภัณฑ์ที่คนปลูกข้าวตั้งใจจะรักษาสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมกับชุมชน ที่มีความตั้งใจอยากชวนคนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิด และยกระดับข้าวอินทรีย์ให้ไปสู่สากล
ความมุ่งมั่นและเรื่องราวของข้าวบุญบันดาล ได้เอาชนะใจคณะกรรมการจากโครงการไทยเด็ด พีทีที สเตชั่น จนได้รับเลือกไปเข้าห้องเรียน ไทยเด็ด Mentor เพื่อพัฒนาแบรนด์ โดยรักษาจิตวิญญาณดั้งเดิมไว้ หลังผ่านการโค้ชทั้งในเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ แพ็กเกจจิ้ง รวมทั้งต่อยอดในเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง ทีม Urban Creature จึงออกเดินทางมายังชุมชนบ้านเก่าน้อย เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์นี้ผ่านการพูดคุยกับ บุญทอม บุญยรัตน์ ผู้ริเริ่มทำนาอินทรีย์เป็นรายแรกในพื้นที่นี้ และอาทิตยา บุญยรัตน์ ลูกสาวเกษตรกรที่อยากปลุกปั้นข้าวไทยให้ดีขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
เกษตรอินทรีย์รายแรกในพยัคฆภูมิพิสัย
หลังจากทักทายและกระชับความสัมพันธ์ผ่านมื้อเที่ยงที่คนนอกอย่างเราพอจะเรียกได้ว่าเป็นสำรับอีสานขนานแท้ คุณพ่อบุญทอม ขอตัวออกไปสะสางภารกิจที่แน่นขนัด ทำให้เราได้ใช้เวลาช่วงบ่ายในการออกไปสำรวจนาข้าวและเก็บภาพประกอบบทความ ก่อนจะใช้เวลาช่วงเย็นไปกับการปิ้งปลานิลจากบ่อในสวนหลังบ้าน ที่มาจากฝีมือการหว่านแหของพ่อบุญทอมที่เพิ่งกลับมาจากธุระนั่นแหละ
ใช้เวลาไม่นานกับข้าวก็ขึ้นโต๊ะพร้อมรับประทาน ข้าวขาวหอมมะลิที่เพิ่งดีดจากหม้อถูกยกมาพร้อมกับกระติ๊บขนาดใหญ่ที่อัดแน่น ด้วยข้าวเหนียวดำหรือที่คนแถวนี้เรียกกันว่าข้าวก่ำ ให้เลือกกินได้ตามใจชอบ และมื้ออาหารก็เริ่มต้นพร้อมกับบทสนทนา และบทเรียนจากชาวนาผู้บุกเบิกการทำข้าวอินทรีย์ในบ้านเก่าน้อยมาตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว
“ก่อนหน้านี้พื้นที่ตรงนี้มันแล้งมาก ตอนเราเด็กๆ ไม่เคยมีคนทำนาเลย” พี่ต่ายเท้าความให้ฟังถึงภูมิหลังของชุมชนเก่าน้อยซึ่งเป็นพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งต่อการปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งต่อมาก็มีคนสนใจปลูกแต่ก็เหมือนกับชาวนาทุกที่ คือเจอปัญหาราคาข้าวตกต่ำ จนเป็นที่มาให้คุณพ่อบุญทอมอยากพัฒนาข้าวให้มีมูลค่ามากขึ้นด้วยการทำนาแบบอินทรีย์
สำหรับพ่อบุญทอมได้นิยามศัพท์คำว่าอินทรีย์ ว่าหมายถึงการผลิตอาหารที่ปลอดสารเคมี โดยมีจุดมุ่งหมายในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ให้ทั้งตัวเอง ครอบครัว และเพื่อนฝูง โดยลงแรงกับข้าวอินทรีย์อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2548 ตั้งแต่สมัยประกอบอาชีพรับราชการครู ก่อนจะมาประสบความสำเร็จในอีก 4 ปีให้หลัง
“ตอนนั้นคนทำนาใช้สารเคมีกันเยอะ แต่เราอยากทำข้าวปลอดภัยเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเห็น ยังเป็นครูอยู่แต่ก็ทำเกษตรไปด้วย ทีนี้ก็ต้องศึกษาตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ข้าว ศึกษาวิธีการใช้ปุ๋ยธรรมชาติ สำคัญคือการใช้น้ำ ที่นี่ไม่ได้อยู่ในเขตชลประทาน ต้องใช้น้ำฝน ปีหนึ่งทำนาได้ครั้งเดียว จะทำข้าวทั้งทีก็ต้องทำให้ดีให้ปลอดภัย”
พ่อบุญทอมพักช่วงเล็กน้อยด้วยการปั้นข้าวเหนียวให้แน่นอย่างคุ้นเคย ก่อนจะเอื้อมเล็กน้อยไปที่ปลานิลขนาดกำลังพอเหมาะที่เผามาพร้อมกับเกลือและใบเตย ก่อนจะเล่าต่อไปว่านาที่ไม่ใช้เคมีเป็นอย่างไร
“สิ่งที่ตามมาก็คือปลาจากธรรมชาติมีมากขึ้น สภาพแวดล้อมในนาก็เต็มไปด้วยการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ผลผลิตที่ได้ก็ไม่มากไม่น้อย ไม่มากถ้าเทียบกับการใช้ปุ๋ยเคมี แต่ถามว่าน้อยไปไหม ก็ไม่ได้น้อยเกินไป เพราะเราใส่ใจกับการทำนามาก เราทำนาในฐานะชาวนามืออาชีพ เราทำข้าวอินทรีย์เพราะต้องการลดผลผลิตต่อนาไม่ให้มากเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผลิตผลมีคุณค่ามากขึ้น”
ผลลัพธ์ของการทำนาแบบมืออาชีพรู้ลึกรู้จริงก็ออกดอกออกผลอย่างงดงาม จากราคาข้าวปกติที่วนเวียนอยู่ราวกิโลกรัมละ 9 – 12 บาทมาตลอดหลายปี ตอนนี้พ่อบุญทอมแห่งบ้านเก่าน้อยขายได้ถึงกิโลกรัมละ 30 – 45 บาท เพราะมีสินค้าเป็นข้าวหอมมะลิ 105 ที่ได้ขึ้นทะเบียน GI และผ่านมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) เม็ดขาว เรียวยาว กลิ่นหอม เคี้ยวนุ่ม ที่ใครได้กลิ่นหรือได้ชิมก็ติดใจ
ซึ่งคุณภาพที่แตกต่างกับข้าวในตลาดอย่างชัดเจนนี่แหละที่พี่ต่ายบอกว่าทำให้ข้าวมีราคาที่น่าพอใจขึ้น และที่สำคัญยังดึงดูดเกษตรกรที่ไม่เชื่อในการทำนาแบบไร้สารเคมี ให้มาสนใจอินทรีย์ได้
ขยายพื้นที่ข้าวอินทรีย์ ด้วยการขายแนวคิด
สำหรับข้าวบุญบันดาล บันไดก้าวแรกที่ต้องขึ้นคือผลิตข้าวอินทรีย์ให้ได้ดีมีคุณภาพ บันไดขั้นที่สองคือต้องชวนเกษตรกรในบ้านเก่าน้อย ให้หันมาทำนาอินทรีย์ เพราะอยากพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชุมชนบ้านเก่าน้อยที่แต่เดิมไม่มีใครเหลียวแล
“มหาสารคามเป็นพื้นที่ตาย ไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยว งบประมาณก็เข้ามาน้อย สิ่งที่พ่อทำคือต้องการที่จะดึงงบประมาณส่วนกลาง มาพัฒนาพื้นที่ผ่านข้าวอินทรีย์ แต่ถ้าถามว่าทำไมเกษตรกรถึงเชื่อเรื่องการทำนาจากคนที่เป็นครูมาตลอดชีวิต ก็เพราะพ่อเป็นคนที่ใกล้ชิดกับชุมชน ทำงานกับชาวบ้าน วัด โรงเรียนมาตลอด” พี่ต่ายเล่า
แต่ทีนี้พอเป็นข้าวอินทรีย์จะรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้วเดินหน้าทำงานทันทีเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องปลูกข้าวให้ปลอดภัย ตามมาตรฐาน GAP ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของพ่อบุญทอมอย่างมากที่ตอนนั้นเกษตรกรในพื้นที่ทั้งหมด 38 ราย ผ่านการรับรองทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์
“เรื่องนี้เป็นอะไรที่ดังมากในมหาสารคามและเป็นสิ่งที่เราภูมิใจมาก ตอนนั้นเราไม่มีอะไรเลย มีแค่กลุ่ม สถานที่ทำการก็ยังไม่มีเป็นของตัวเอง ก็ใช้บ้านคุณต่ายนี่แหละเป็นที่ทำการชั่วคราว พอเราผ่านมาตรฐาน GAP ก็อยากมีโรงสีเป็นของตัวเอง ก็อาศัยรวบรวมเงินแล้วก็เช่าที่จากสมาชิกก่อนนี่แหละ แล้วก็ไปขอขึ้นทะเบียน GI เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวด้วย”
การขอขึ้นทะเบียนข้าว GI กลายเป็นเรื่องที่คนบ้านเก่าน้อยจำได้ขึ้นใจเช่นกัน เพราะหนนั้นอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาถึงกับลงมาตรวจสอบด้วยตัวเอง ตำนานเล่าว่าพ่อบุญทอมได้หิ้วข้าวจากนาไปฝากเป็นมื้อเที่ยง ซึ่งอธิบดีฯ ที่กำลังคุยงานกับพาณิชย์จังหวัดได้กลิ่นข้าวที่ลอยไปถึงห้องประชุม และหอมจนต้องพักคุยเรื่องงานมาทานมื้อกลางวันก่อนเลยทีเดียว
“การที่อธิบดีฯ เดินทางมาถึงที่นี่แล้วมากินข้าวที่พ่อทำ มันทำให้ชาวบ้านรู้ว่าตัวเองก็มีของดีอยู่ในมือ สิ่งที่พ่อทำดึงดูดให้หน่วยงานอื่นเข้ามาสนใจ และยินดีที่จะให้ความร่วมมือมากขึ้น ทีนี้สิ่งที่เราทำก็คือพยายามพัฒนาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของข้าว พัฒนาพันธุ์ข้าวและทุกกระบวนการผลิต เพื่อจะให้ข้าวหนึ่งเมล็ดที่เราดูแลมาตลอดปีสามารถไปถึงปากของผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์และมีคุณภาพมากที่สุด”
แม้จะผ่านมาตรฐานกันยกกลุ่ม แต่ยิ่งคนเยอะแน่นอนว่าเรื่องก็แยะตามไปด้วย แต่วิสาหกิจชุมชนที่นี่ก็มีการทำงานอย่างเป็นระบบไว้ช่วยเหลือ เพราะมีกระบวนการตรวจสอบตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นสมาชิก การควบคุมกำกับดูแลชัดเจน มีฝ่ายผู้ตรวจแปลง ผู้รับรอง มีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง มีการสอนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทีนี้พอผ่านการขึ้นทะเบียนมีมาตรฐานรับรองชัดเจน จากพื้นที่นอกสายตาที่มีประชากรไม่ถึงร้อยหลังคาเรือน ก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากขึ้น เมื่องบส่วนกลางประกอบกับการลงแรงลงเงินของสมาชิกวิสาหกิจ ชุมชนบ้านเก่าน้อยก็มีโรงสีเป็นของตัวเองขึ้นมาได้
“การทำนาที่นี่ไม่ได้แยกย้ายกันไปทำนา แต่ทุกคนจะมีการกลับมาเวิร์กช็อป จบงานก็มีการประชุมร่วมกัน มีการเรียนรู้เพื่อสร้างมาตรฐานในการทำนา ถามว่าทำไมเราต้องมีโรงสีเป็นของตัวเอง ก็เพราะว่าจะต้องควบคุมคุณภาพข้าวให้ได้เหมือนกันหมดนี่แหละ”
เพราะการทำนาเป็นการทำงานร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งดินฟ้าอากาศเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ปัจจัยอะไรที่ควบคุมได้จึงต้องเต็มที่ให้มากที่สุด
ข้าวบุญบันดาล
พอขายข้าวได้ราคาดีขึ้น นอกจากขายข้าวหน้าโรงสีตามปกติแล้ว พี่ต่ายที่ชอบขายของเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงมีความคิดอยากทำแบรนด์ข้าวขึ้นมาเป็นของตัวเอง เพราะคิดว่าข้าวอินทรีย์ไม่ใช่คำตอบเดียวในการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของชาวนา เธอคิดว่าหากสามารถเพิ่มบทบาทจากเกษตรกรมาเสริมความเป็นผู้ประกอบการเข้าไปด้วย ชาวนาไทยก็จะมีที่มีทางมีตลาดและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
“ข้าวบุญบันดาลเกิดขึ้นประมาณห้าปีที่แล้ว เราเริ่มจากคุยกันในครอบครัวว่าถ้าจะทำข้าวออกสู่ตลาดจะตั้งชื่อแบรนด์ว่าอย่างไรให้มีความสัมพันธ์กันทั้งหมด ทั้งครอบครัว ทั้งกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์ บุญบันดาล ก็มาจากชื่อพ่อของเรานี่แหละ พ่อชื่อบุญทอม นามสกุลบุญยรัตน์ แล้วอย่างที่บอกว่าพื้นที่ตรงนี้มันเหมือนที่ตาย แต่สิ่งที่พ่อลงมือมันทำให้เกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ก็ได้ชื่อที่มีความเป็นไทยและสอดคล้องกับพื้นที่ตรงนี้ดี”
พี่ต่ายเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่เด็กพ่อแม่ไม่เคยบังคับให้ทำอะไรเลยสักครั้งเดียว และการที่ตนเองลุกขึ้นมาทำแบรนด์ข้าวบุญบันดาลก็เป็นเพราะเห็นความตั้งใจ และรู้ว่าสิ่งนี้มีค่าและก็มีความหมายกับพ่อบุญทอมแค่ไหน จึงอยากส่งต่อสิ่งนี้ให้คนอื่นด้วย อยากให้ตลาดมีข้าวที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมแบบนี้
“เรามองเห็นศักยภาพในการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชน ตอนนี้เกษตรกรนาอินทรีย์ไม่ได้มีแค่ในหมู่บ้านเราเท่านั้น เพราะหมู่บ้านข้างเคียงที่เห็นผลงานก็เข้ามาขอเป็นสมาชิกด้วย หลังจากนี้ปริมาณการผลิตของเราก็จะเพิ่มขึ้น ถ้าคนแถวนี้ไม่มีตลาด บุญบันดาลก็จะเป็นช่องทางในการหาตลาดให้”
นอกจากจะบอกว่าข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ดีและหอมแค่ไหน พี่ต่ายบอกว่าข้าวบุญบันดาลจะเป็นแบรนด์ที่พูดเรื่องของชาวนาด้วย
“ต้นทุนการผลิตข้าวมันสูงอยู่แล้ว พ่อบอกเสมอว่าการทำนาสอนให้คนอดทน เราว่ามันหมายถึงการทำงานร่วมกับธรรมชาติต้องดูแลทุกอย่าง และทั้งหมดคือต้นทุนทั้งนั้น สิ่งที่เราทำคือเพิ่มมูลค่าของข้าวให้สมเหตุสมผลกับต้นทุน เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เกษตรกรก็จะไม่ต้องขายข้าวที่กิโลกรัมละเก้าบาทอีกต่อไปแล้ว จะได้ค่าตอบแทนที่มีมูลค่าสมกับความตั้งใจมากขึ้น”
ผู้บุกเบิกข้าวอินทรีย์แห่งบ้านเก่าน้อยสำทับว่าตนเองเติบโตมาในครอบครัวเกษตรกรและคลุกคลีอยู่กับชาวนามาตลอดชีวิต ปัญหาคลาสสิกที่ยังแก้ไม่ได้ของชาวนาก็คือการหาตลาด ในการทำนาอินทรีย์เต็มไปด้วยข้อกำหนดมากมาย ชาวนาทำได้หมดทุกอย่าง แต่พอผลิตออกมาปุ๊บ จะเอาไปขายที่ไหนยังไม่มีใครให้คำตอบ
“เรามองว่าชาวนาสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ เหมือนกับที่เกษตรกรรายเล็กในต่างประเทศเป็นได้ เราแค่อยากให้ทุกคนเห็นปัญหาตรงนี้ อย่ามองเราเป็นเพียงกระดูกสันหลังของชาติ”
วิชาเกษตรอินทรีย์ของครูบุญทอม
ย่ำค่ำในจังหวัดมหาสารคามรอบข้างเต็มไปด้วยความเงียบสงบ ในคืนที่เมฆเบาบาง ดวงดาวก็พร่างพราวแทบจะเต็มท้องฟ้า หนาวแรกของปีเริ่มลอยละล่องเข้ามาให้สัมผัส หลายคนบนโต๊ะอาหารเริ่มเปลี่ยนจากอาหารคาวมาตบท้องด้วยผลไม้ ครูบุญทอมปลิดกล้วยน้ำว้าออกจากหวี และเริ่มต้นเล่าบทเรียนแห่งท้องนาที่อยากจะส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป
“ตอนนี้มีเด็กรุ่นใหม่พูดเองแล้วว่าอยากจะเป็นชาวนา ถึงจะเป็นส่วนน้อยแต่ก็ทำให้เราภูมิใจในเด็กที่เรียนจบปริญญาตรีแต่ก็ไม่ได้รังเกียจนา สมัยก่อนเราเป็นครู เป็นผู้บริหารโรงเรียนสามารถกำหนดนโยบายได้ ก็ลองให้เด็กได้มาเรียนรู้วิชาการทำนา สอนให้รู้ว่าวิชาเกษตรทำให้คนมีคุณค่ามากขึ้น อดทนต่อความเหนื่อยล้า อดทนรอให้งานออกดอกออกผล อดทนต่อการรอคอยและความยากลำบาก สิ่งเหล่านี้แหละเป็นเครื่องมือที่หล่อหลอมให้คนมีคุณค่ามากขึ้น
“ตอนแรกครูในโรงเรียนก็ไม่เห็นด้วย เขาบอกว่าตัวเองทำไม่เป็นเพราะไม่ได้เป็นเกษตรกร ถึงจะเป็นลูกชาวนาแต่ก็ไม่เคยทำนามาก่อน ผอ.สอนเองได้ไหม ผมบอกได้ ทำให้ดูหมดทุกอย่างเลยแล้วให้เด็กทำตาม ตอนนี้ภูมิใจมากที่มีเด็กรุ่นหลังกลายเป็นครูคืนถิ่น ที่ทำเด็กรุ่นปัจจุบันไปเข้าห้องเรียนในแปลงนาได้ทุกวิชา”
ตัดภาพสลับมาที่พี่ต่ายที่ได้ย้อนให้ฟังถึงตอนที่สมัครเข้าโครงการไทยเด็ด Mentor ได้เขียนอธิบายแทนความในใจออกไปทั้งหมดว่าสิ่งที่ข้าวบุญบันดาลมีคืออะไร และสิ่งที่อยากให้ช่วยเข้ามาเติมเต็มคืออะไร การเข้าห้องเรียนในครั้งนี้ก็เหมือนกับการเติมพลังให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น
“คลาสของไทยเด็ดช่วยเติมเต็มสิ่งที่เราขาดไป แนวความคิดของคุณแนน-วราภรณ์ มงคลแพทย์ เจ้าของกิจการบ้านหมากม่วง ซึ่งครั้งนี้ได้รับบทบาทเป็นเมนเทอร์ ได้ทำให้เห็นว่าควรจะพัฒนาให้แบรนด์เป็นที่รู้จักให้ได้มากขึ้นอย่างไร คุณเมริน-นุชนาถ จันทราวุฒิกร ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายการนักศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมนเทอร์ผู้โยนคำถามเรื่องแบรนดิ้งมาให้ พร้อมคำแนะนำในตอนท้าย รวมทั้งในเรื่องของแพ็กเกจจิ้ง คุณแชมป์-สมชนะ กังวาลจิต ก็ได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่าข้าวศรีแสงดาวจากจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นข้าวจากทุ่งกุลาร้องไห้เช่นเดียวกับข้าวบุญบันดาล สามารถไปคว้ารางวัลเรื่องการออกแบบแพ็กเกจจิ้งระดับโลกได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าตอนนี้เราไม่ได้มีทุนขนาดนั้น แต่ก็อยากให้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยเริ่มต้นจากการมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้ดีมากขึ้น”
เธอบอกว่ารู้สึกได้ชัดเจนเลยว่าเมนเทอร์แต่ละคนทำการบ้านกันมาอย่างเต็มที่ มีการศึกษาและเรียนรู้ก่อนว่าข้าวบุญบันดาลมีจุดเด่นตรงไหนที่ควรหยิบยกมาพูดถึง และจะพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจได้อย่างไร ตอนนี้พี่ต่ายที่วางแผนนำความรู้จากคลาสไทยเด็ด Mentor ของโครงการไทยเด็ด จากพีทีที สเตชั่น มาพัฒนาต่อยอดให้ข้าวบุญบันดาลในทุกด้าน โดยวางเป้าหมายระยะสั้นไว้ว่าอยากเปลี่ยนวิธีการขายข้าวผ่านระบบสมาชิก เพื่อให้ชาวนาผลิตข้าวอินทรีย์คุณภาพดีได้อย่างไร้กังวล
“สิ่งที่เราตั้งใจจะทำในปีนี้ก็คือระบบสมาชิกข้าว ให้ทุกคนมา Subscribe ข้าวอินทรีย์จากนาโดยตรง นั่นหมายความว่ามันจะไม่ได้ช่วยเราแค่ครอบครัวเดียว แต่เป็นการหาตลาดให้กับชาวนาในกลุ่มของเราด้วย สิ่งนี้จะทำให้พวกเราสามารถทำนาตามวิถีที่ตั้งใจไว้ได้ ข้าวก็มีมูลค่า ขายข้าวได้กำไร”
นาฬิกาหมุนไป อุณหภูมิลดต่ำ เสื้อยืดเพียงตัวเดียวเริ่มไม่เพียงพอสำหรับความหนาวที่กำลังเพิ่มขึ้น พ่อบุญทอมพยักหน้าระหว่างฟังแผนการสำหรับข้าวบุญบันดาลจากลูกสาวคนโต พร้อมเอ่ยปากฝากความหวังในการสานต่อนาอินทรีย์ไว้กับคนรุ่นใหม่
“อย่าลืมว่าการทำนาคือเสี้ยวหนึ่งของเกษตรกรรม เราต้องไม่ลืมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อินทรีย์คือสิ่งที่จะทำให้ทุกอย่างอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ถ้าไม่เอื้อซึ่งกันและกันป่านนี้โลกมันก็คงจะวุ่นวาย เพราะฉะนั้นคนรุ่นต่อไปก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรโลกถึงจะน่าอยู่ได้มากกว่านี้”
พ่อบุญทอมกล่าวก่อนจะขอตัวออกไปเตรียมเครื่องเสียงที่จะใช้ในการประชุมกับสมาชิกข้าวอินทรีย์ในวันพรุ่งนี้ ส่วนพี่ต่ายหันมาบอกกับเราว่าตอนนี้ตัวเองกำลังสนุกมากกับการทำงาน เพราะทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบของตัวเอง และไม่เคยมีปัญหาในธุรกิจครอบครัวเลย
“เรารู้สึกภูมิใจในการเป็นลูกสาวของเกษตรกร พูดได้เต็มปากว่าสิ่งที่พ่อเราทำเป็นของที่ดีมีคุณภาพ แต่ถึงพ่อจะเป็นคนเริ่มต้นแต่ถ้าอยากให้ข้าวอินทรีย์เติบโตก็เข้าใจว่าต้องมีคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยทำ ต้องให้คนในอนาคตเข้ามาทำงาน และสืบสานสิ่งนี้ให้ยั่งยืนต่อไป”