‘บุญ-แชร์’ เก้าอี้จากเมืองแพร่เพื่อผู้สูงวัย - Urban Creature

หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม

เพียงแค่วรรคแรกของคำขวัญประจำ ‘จังหวัดแพร่’ ก็รู้ทันทีว่าดินแดนแห่งนี้อุดมไปด้วยต้นสัก ซึ่งมักแปลงร่างเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นงามที่ต้องมีติดบ้านไว้สักชิ้นสองชิ้น

ส่วนภาคเหนือของบ้านเรา เป็นภาคแรกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย แถมยังครองแชมป์พื้นที่ที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากที่สุด เราเลยเห็นเหล่าแบรนด์ต่างๆ หยิบเอาประเด็นนี้มาออกแบบสินค้าและบริการเพื่อรองรับคุณปู่คุณย่าที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นในทุกวัน ว่าแต่จังหวัดแพร่ เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก และสังคมสูงวัยมันเกี่ยวกันอย่างไรนะ

เราเดินทางมายังจังหวัดแพร่ผ่านสายโทรศัพท์ เพื่อพูดคุยกับ อาจารย์บั๊ม–พงศธร กันทะวงค์ อาจารย์วิทยาลัยชุมชนแพร่ และ พี่อัน–วิยะฉัตร กรรณิกา ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไม้สักในจังหวัดแพร่ ถึงโปรเจกต์หนึ่งซึ่งเป็นความร่วมมือกันของชาวแพร่ นั่นคือ ‘บุญ-แชร์ COLLECTION’ เก้าอี้สำหรับผู้สูงวัยเพื่อชีวิตที่ง่ายขึ้น

คิดถึงไม้สัก คิดถึงเมืองแพร่

อาจารย์บั๊มเริ่มเล่าให้เราฟังว่า โปรเจกต์ บุญ-แชร์ COLLECTION เกิดขึ้นโดยเริ่มจากการที่ CEA หรือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) จังหวัดเชียงใหม่ ที่เรียกได้ว่าเป็นฮับของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของภาคเหนือ เห็นว่าแพร่มีไม้สักเป็นของดีประจำจังหวัด จึงเข้ามาสนับสนุนจนกลายเป็นความร่วมมือกันของชาวแพร่และหน่วยงานภาครัฐ

อาจารย์บั๊ม: อาชีพหลักและวิถีชีวิตของคนจังหวัดแพร่ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับไม้สัก ซึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2014 จังหวัดแพร่ประกาศยุทธศาสตร์เป็น ‘Furniture City’ ทำให้หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับงานไม้ทั้งรัฐและเอกชนมาร่วมภารกิจนี้ด้วยกัน คือต้องการให้เฟอร์นิเจอร์ของแพร่ถูกยกระดับ เป็นที่ยอมรับ และสร้างงานให้กับคนแพร่

หลังจากที่ประกาศเป็นเมืองแห่งเฟอร์นิเจอร์ อาจารย์บั๊มเล่าว่า การทำงานนั้นต้องร่วมมือกันหลายส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชน จนเมื่อปี ค.ศ. 2015 ชาวแพร่ได้รู้จักกับ TCDC ที่ภายหลังเปลี่ยนเป็น CEA เชียงใหม่ จากนั้นก็เริ่มผุดโปรเจกต์สร้างสรรค์ออกมา โดยเริ่มจากการทำเฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็ก เพื่อนำไปจัดแสดงที่ Chiang Mai Design Week 2016 ก่อน จนมาในช่วงปี ค.ศ. 2017 ทีมงานเริ่มสนใจในประเด็น ‘สังคมสูงวัย’ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเก้าอี้บุญ-แชร์

พี่อัน: ตัวพี่เป็นคนแพร่อยู่แล้ว และเป็นผู้ประกอบการร้านทวีศักดิ์เฟอร์นิเจอร์ที่จังหวัดแพร่ วันหนึ่งทีมงานตกลงกันว่าจะทำเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงวัย ตัวพี่เองจะทำหน้าที่พูดคุยและประสานงานระหว่างทีมงานจากภาครัฐ ความต้องการของนักออกแบบ ความเป็นไปได้ในการผลิต และทีมของช่างไม้ ซึ่งปกติเก้าอี้เพื่อผู้สูงวัยมันจะไม่เหมือนที่เราเคยทำทั่วไป เพราะจะมีการมองเรื่องขององศา มุม และการหยิบจับ ถึงขั้นต้องดูความละเอียดกันเป็นมิลลิเมตรเลย

ในฐานะผู้ประกอบรุ่นใหม่อย่างพี่อันผู้รับช่วงต่อจากทางบ้านมา เธอเล่าว่าการสื่อสารและความต้องการของทีมงานและช่างไม้ท้องถิ่นให้เห็นภาพตรงกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าจะออกมาเป็นงานวิจัยเรื่องเฟอร์นิเจอร์เพื่อผู้สูงวัยต้องผ่านการศึกษาซ้ำแล้วซ้ำเล่า อีกทั้งความต้องการบางอย่างของนักออกแบบ กับความเป็นจริงในมุมมองของช่างไม้ก็อาจจะไม่ตรงกัน จึงต้องใช้เวลาในการหาจุดตรงกลางอยู่พอสมควรเลยทีเดียว

บุญ-แชร์ COLLECTION

เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ‘ประเด็นผู้สูงวัย’ คือโจทย์ที่ดีที่สุดสำหรับการทำเฟอร์นิเจอร์ในเวลานี้ ทีมงานไม่รอช้า ทำการศึกษาถึงปัญหาจนพบว่าปัญหาด้านสรีระและการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย อย่างการที่เฟอร์นิเจอร์ไม่รองรับน้ำหนักตัว ลุกนั่งลำบาก และมีน้ำหนักมาก คืออุปสรรคที่ผู้สูงวัยมักจะเจอบ่อยที่สุด

อาจารย์บั๊ม: เราสอบถามคนที่เคยเจอปัญหา ให้เขามาแชร์ให้ฟัง เช่น แม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ปัจจุบันใช้ชุดเฟอร์นิเจอร์สแตนเลสราคาแพง ซึ่งเขาอยากได้เก้าอี้ที่มีหลากหลายกว่านี้ หรือบางคนอายุมากจะลุกนั่งก็เจ็บเข่า เราก็เอามาตีความว่า เฟอร์นิเจอร์นั้นควรมีการถ่ายส่งน้ำหนักได้ดีกว่านี้ไหม หรือเก้าอี้ควรจะโยกตัวตามแรงที่ส่งเพื่อการลุกนั่งที่ง่ายขึ้นหรือเปล่า

จากการลงแรงศึกษาของทีมงานทุกชีวิต ร่วมกับการออกแบบที่คิดแล้วคิดอีกจากคุณสมพร ดวงสมคิด, คุณกัญจน์ แย้มสวัสดิ์ และคุณรพี ยินดีผล เกิดเป็นบุญ-แชร์ COLLECTION ซึ่งที่มาของชื่อก็แสนเรียบง่าย นั่นคือทีมงานต้องการให้ลูกหลานที่มาซื้อสินค้าให้ผู้สูงวัยในครอบครัว ได้รู้สึกเหมือนเป็นการทำบุญและแชร์ความสุขผ่าน 3 ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงวัย ได้แก่ บุญเย็น บุญส่ง และบุญค้ำ

บุญเย็น เริ่มจากการที่ทีมงานเห็นว่า ผู้สูงวัยที่ต้องพกไม้เท้า เวลาจะเคลื่อนไหว หรือทำอะไรก็จะเกิดปัญหาว่าไม่รู้จะเอาไปวางหรือเก็บไม้เท้าไว้ตรงไหนดี เก้าอี้ตัวนี้จึงดีไซน์ออกมาเป็นเก้าอี้ที่มีที่เก็บไม้เท้า บวกกับที่นั่งและพนักพิงแบบโค้งเข้ากับสรีระของก้น ไม่ดันหลัง ซึ่งทำให้เวลานั่งจะรู้สึกสบาย

บุญส่ง หรือเก้าอี้ลุกง่ายคล้ายกับเก้าอี้โยก มีองศาที่ลุกได้โดยไม่ล้ม บวกกับแรงส่งของตัวคน ทำให้ลุกได้สะดวก มีน้ำหนักที่ส่งให้ไปข้างหน้า ซึ่งเห็นได้เลยว่าแต่ละตัวสร้างจากปัญหาการใช้งานของผู้สูงวัย

บุญค้ำ วอร์คเกอร์ช่วยเดินและพักพิง โดยตัวนี้สามารถนั่งพักได้ หย่อนก้นได้ สะดวกเวลาผู้สูงวัยเดินไปไหนมาไหนแล้วต้องการหยุดพักสักครู่ ตัวนี้ก็จะช่วยให้ผู้ใช้ได้พักผ่อนชั่วคราวแล้วสามารถเดินต่อได้

สินค้าทั้ง 3 ตัวไม่ได้ผลิตที่โรงงานเดียว แต่ถูกกระจายไปตามโรงงานไม้สักที่เข้าร่วมโปรเจกต์ในจังหวัดแพร่ นั่นหมายความว่ารายได้จากเก้าอี้ทุกตัวจะกลับเข้าสู่ชุมชนในจังหวัดแพร่ ซึ่งกว่าจะได้เป็นเก้าอี้ที่เราเห็นกัน รู้ไหมว่าที่จริงมีแบบมากกว่า 20 แบบเลยทีเดียว โดยทีมงานได้ทำการคัดเลือกจนได้เป็น 3 โปรดักต์นี้นั่นเอง

น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

อาจารย์บั๊ม: เรามีคนรุ่นใหม่ เช่น น้องอัน รวมถึงผู้ประกอบการจากโรงงานต่างๆ ที่มีมุมมองด้านการตลาด เข้ามาแจม ระหว่างนั้นมีทีมแพทย์จากศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อการทดสอบที่แม่นยำ รวมถึงทดลองกับกลุ่มผู้สูงอายุทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดจนคุณภาพคงที่

พี่อัน: เรามองว่ามันช่วยยกระดับแบรนด์ด้วยนะ ปกติเราขายสินค้าทั่วไปสไตล์แพร่ แต่มันไม่มีจุดเด่นให้จำ คือเราเห็นแบรนด์อื่นๆ เราจะรู้ว่าเขาทำเพื่ออะไร ดีไซน์เขาโดดเด่นอย่างไรในตลาด แต่ถ้าพูดถึงสินค้าจังหวัดแพร่ก็จะคิดถึงสินค้าราคาถูก คุณภาพใช้ได้ แต่เราไม่ได้ถูกพูดเรื่องดีไซน์หรือไอเดีย แต่บุญแชร์ทำให้เราได้คิดว่าเราเป็นใคร ลูกค้าเป็นใคร ทำไมต้องผลิตสินค้านี้ขึ้นมา ซึ่งมันก็ต่อยอดได้ว่าวันหนึ่งถ้าเราจะมีแบรนด์เป็นของตัวเอง เราก็จะเริ่มคิดจากมอง pain point ก่อน

สำหรับบุญ-แชร์ นี่คืองานทดลองสุดจริงจัง ที่ทีมงานมีแผนลุยโปรเจกต์นี้เป็นเวลา 5 ปี (สิ้นสุดในปี 2021) ซึ่งหลังจากที่ลองผิดลองถูกกันมานาน เก้าอี้เพื่อผู้สูงวัยได้ถูกวางขายครั้งแรกช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2019 ที่ศูนย์เวชศาสตร์เชียงใหม่ จากนั้นเดือนธันวาคมในปีเดียวกันก็ได้โชว์ที่ Chiang Mai Design Week และต้นปี 2020 ก็ได้เดินทางมาอวดโฉมที่ Bangkok Design Week

ทั้งนี้อาจารย์บั๊มเสริมว่า หลังจากโปรเจกต์นี้สิ้นสุดลง ทีมงานจะมีความเข้าในเรื่องงานไม้สูงขึ้น และการที่ชาวแพร่ได้ปลุกปั้นโปรเจกต์นี้ขึ้นมา จะเป็นสกิลที่ติดตัวช่างไม้ ผู้ประกอบการ และทีมงานทุกคนไปในระยะยาว ซึ่งเราอาจได้เห็นการแบ่งปันโมเดลการผลิตเฟอร์นิเจอร์แนวนี้ และการส่งต่อความรู้ไปสู่จังหวัดอื่นๆ เช่น ทางภาคใต้ที่มีต้นยางเยอะ ถ้าลองเอาโมเดลนี้ไปปรับตามบริบทของภูมิภาคนั้น อาจจะมีบุญแชร์เกิดขึ้นอีกมากมายก็ได้

เรียนรู้จากผู้สูงวัย

หากมองเผินๆ บุญ-แชร์ อาจเป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ได้พิเศษไปกว่าใคร แต่เมื่อเราได้รู้ถึงเบื้องหลังการสร้างสรรค์ที่กว่าจะออกมาเป็นเก้าอี้แต่ละตัว ก็รู้ทันทีว่าสินค้าและบริการหลายอย่างตามท้องตลาดยังตอบโจทย์ผู้สูงวัยไม่เพียงพอ

พี่อัน: ในทุกสายการผลิตยังทำเพื่อผู้สูงวัยได้มากกว่านี้ ด้วยความที่เรามีผู้สูงอายุในบ้าน ก็จะรู้ว่าพ่อแม่เราขาดอะไร ซึ่งก็พบว่าขาดสิ่งอำนวยความสะดวกอีกเยอะเลย พี่มองว่าเราสามารถเข้ามาตอบโจทย์ให้ผู้สูงวัยได้ทุกมิติเลยถ้าจะทำ

“ยูทูบมี YouTube Kids ทำไมมีสำหรับเด็ก แต่ไม่มีสำหรับคนแก่ หรืออย่างในห้างมีมุมของเด็ก แต่ทำไมไม่มีมุมคนแก่”

ไม่เพียงเท่านั้น Universal Design หรือการออกแบบเพื่อทุกคนเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก อาจารย์บั๊มและพี่อันบอกกับเราว่า มันคือพื้นฐานของการออกแบบที่ทุกคนจะสามารถใช้งานได้ แต่ถ้ามองในเรื่องของการตลาด ผู้ประกอบการอาจออกแบบมาเพื่อคนหมู่มากไว้ก่อน หรือถ้ามองให้ลึกลงไปก็เป็นเรื่องยากที่จะออกแบบให้ตอบโจทย์ทุกคน ซึ่งสังคมต้องการนักพัฒนาไม่ว่าจะเรื่องไหนก็ตาม เพื่อให้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่มจริงๆ

การได้พูดคุยกับอาจารย์บั๊มและพี่อัน นอกจากจะได้รู้ลึกถึงเบื้องหลังของโปรเจกต์เก้าอี้ บุญ-แชร์ COLLECTION จากฝีมือชาวแพร่แล้ว ก่อนจบบทสนทนา อาจารย์บั๊มเสริมว่า การเปิดใจและพร้อมที่จะเข้าใจผู้สูงวัยเป็นสิ่งสำคัญ ลองแปรคำบ่นของคนเฒ่าคนแก่ให้เป็นพลังงานเชิงบวกดู แล้วจะรู้เลยว่าเขาไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากความใส่ใจจากคนใกล้ตัว อย่างน้อยเราอาจได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากผู้สูงวัยก็ได้


บุญ-แชร์ COLLECTION จัดแสดงที่ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุเชียงใหม่ (GMC Chiang Mai) หากสนใจสินค้าสามารถติดต่อได้ที่ ร้านทวีศักดิ์เฟอร์นิเจอร์ จ.แพร่

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.