มองไม่เห็นใช้ชีวิตในเมืองอย่างไร ? ฟังจากปากคนตาบอด ‘พี่แก๊ป NECTEC’ - Urban Creature

การใช้ชีวิตในเมืองที่แสนชุลมุน ทั้งต้องเผชิญกับการเดินทางหลากหลายรูปแบบ และต่อสู้กับระบบอำนวยความสะดวกที่อาจไม่ได้สะดวกสำหรับทุกคนจริงๆ มาลองฟังความคิดเห็นและประสบการณ์จากปากคนตาบอด ‘พี่แก๊ป – เทอดเกียรติ บุญเที่ยง’ ผู้พิการทางสายตาตั้งแต่กำเนิดวัย 29 ปี กับตำแหน่งผู้ช่วยวิจัยที่ NECTEC หรือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กับมุมมองที่คนตาดีทั่วไปอาจไม่เคยรู้มาก่อน

เข้ามาทำงานที่ NECTEC ได้อย่างไร ทำเกี่ยวกับอะไร แล้วบรรยากาศการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ?

พี่แก๊ป : หลังจากที่เรียนจบมหาวิทยาลัยได้ 3 เดือน ก็ลองไปสมัครงานหลายที่แต่สุดท้ายก็เลือกที่ NECTEC เพราะเราคุ้นเคยกับธรรมศาสตร์ และ NECTEC ก็เปิดโอกาสให้ผู้พิการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิจัยด้านเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ พี่ก็หวังว่าการมาทำงานตรงนี้จะสามารถช่วยเหลือคนพิการด้วยกันได้อีกทาง อย่างตอนนี้ก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับผู้พิการทางการมองเห็นอยู่ ส่วนบรรยากาศการทำงานของที่นี่ก็เป็นกันเอง และไม่ได้มีแค่คนตาดีหรือคนตาบอด แต่มีผู้พิการคนอื่นๆ สามารถทำงานที่นี่ได้ด้วย ที่สำคัญยังมีเพื่อนๆ ที่อยู่ในโครงการทุนสำหรับคนตาบอดทำงานด้วยกัน ก็ทำให้การทำงานสนุกขึ้นด้วย

ชีวิตวัยเรียนเป็นอย่างไร การเรียนโรงเรียนคนตาบอดต้องเรียนอะไรบ้าง แล้วสามารถต่อยอดการใช้ชีวิตอย่างไร ?

พี่แก๊ป : ตอนเด็กๆ พ่อแม่ส่งให้ไปเรียนโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เป็นโรงเรียนประจำตั้งแต่ 5 ขวบ ซึ่งในการเรียนการสอนก็เป็นหลักสูตรปกติ แต่จะมีสื่อที่เป็นอักษรเบรลล์ควบคู่ไปด้วย ตอน ป.2 ป.3 ก็ได้เรียนทำอาหาร เรียนรีดผ้า ซึ่งพี่รู้จักการใช้ชีวิตพื้นฐานได้จากการเรียนที่นี่ พอกลับไปที่บ้านก็ได้ลองทำอาหารกินเองบ้าง เวลาจะทำการบ้านก็จะมีอาสาสมัครมาช่วยเขียนการบ้านให้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกไปเรียนมัธยม แต่น่าเสียดายที่โรงเรียนสอนคนตาบอดนี้ มีถึงแค่ชั้น ป.6 แล้วจะถูกส่งตัวให้เข้าไปเรียนกับคนทั่วไปตอนชั้น ม.1

พอเริ่มเข้าโรงเรียนมัธยมจนถึงช่วงมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างไร ?

พี่แก๊ป : ก่อนออกไปเรียนต่อก็รู้สึกกลัวอยู่บ้าง กลัวว่าจะเรียนไม่รู้เรื่อง แต่พอก้าวออกไปจริงๆ ก็ไม่แย่อย่างที่คิดเพราะด้วยความที่ตอนนั้นยังเด็กอยู่ด้วย ซึ่งข้อแตกต่างของการเรียนร่วมกับคนปกติทั่วไป คือเวลามีเอกสารประกอบการเรียนก็ไม่สามารถอ่านได้ ซึ่งก็จะมีอาจารย์มาช่วยแปลช่วยอ่านให้ แต่ก็จะช้ากว่าเด็กคนอื่นๆ ส่วนตัวช่วยอีกวิธีหนึ่งคือการอัดเสียงคุณครูเวลาสอนเอาไว้ แล้วก็เขียนอักษรเบรลล์ควบคู่ไปด้วย แต่นั่นก็พอจะช่วยได้บ้าง ปัญหาที่หนักที่สุดของการเรียนคือการมองรูปภาพที่เราไม่สามารถดูได้ ซึ่งอาจารย์ก็จะทำเป็นภาพนูนให้เราสามารถจินตนาการได้ แต่ก็ไม่สามารถสื่อสารได้ทั้งหมด ต้องอาศัยเพื่อนๆ ช่วยดูภาพแล้วอธิบายให้ฟัง

หลังจากที่ได้เรียนต่อชั้น ม.1 จนถึง ม.3 ก็ได้รับทุนการศึกษาจากสมเด็จพระเทพฯ จนได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยที่ NECTEC ได้จัดค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับคนตาบอด ผ่านการคัดเลือกให้เหลือ 15 คน ด้วยการเขียนเรียงความเข้ามาสมัคร ซึ่งถือว่ายากมากสำหรับคนตาบอดในการศึกษาต่อ เพราะไม่ใช่ทุกสถาบันที่จะรับคนตาบอดเข้าเรียนสายวิทย์

ทุกวันนี้สังคมให้โอกาสผู้พิการด้านต่างๆ ในการทำงานมากน้อยแค่ไหน ?

พี่แก๊ป : พูดกันตามความเป็นจริงก็คือไม่มาก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีกฏหมายออกมาว่าถ้าในหน่วยงานหรือบริษัทมีพนักงานกี่คน จะต้องรับคนพิการเข้าทำงานกี่คนก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถโทษคนในสังคมได้ ถ้าผู้พิการเองไม่แสดงศักยภาพให้เห็นว่าสามารถทำงานได้ แต่จะไปโทษคนพิการเหล่านั้นก็ไม่ได้อีก เพราะด้วยค่าครองชีพหรือรายได้ขั้นต่ำทำให้คนเหล่านั้นต้องเลือกประกอบอาชีพอย่างการร้องเพลง ซึ่งปัญหามันก็พันกันไปหมด

ถ้าพูดถึงคนตาบอดตามชนบท โอกาสของคนตาบอดทุกคนมีเท่ากัน ซึ่งก็มีกฏหมายให้คนตาบอดสามารถเรียนฟรีได้จนถึงระดับชั้นมหาวิทยาลัย ขึ้นอยู่กับว่าเขาเลือกที่จะเรียนหรือเปล่า หลายคนมักมองว่าคนตาบอดไม่ได้รับโอกาสแต่ความจริงก็มีนะ อยู่ที่จะคว้าเอาไว้หรือเปล่า

คุณจะเลือกจ้างคนขับรถที่ขับแต่รถได้อย่างเดียว
หรือจะจ้างคนที่ทั้งขับรถได้และทำอย่างอื่นได้ในอัตราจ้างที่เท่ากัน ?”

ซึ่งถ้าย้อนมามองเรื่องโอกาสในการทำงาน คุณจะเลือกจ้างคนขับรถที่ขับแต่รถได้อย่างเดียว หรือจะจ้างคนที่ทั้งขับรถได้และทำอย่างอื่นได้ในอัตราจ้างที่เท่ากัน ? ยกเว้นแต่ว่าคุณจะมีความสามารถที่เก่งกาจมากๆ ระดับมือโปร ซึ่งเจ้าของธุรกิจก็ไม่ผิดเพราะทุกคนต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองอยู่แล้ว

การเดินทางในกรุงเทพฯ เป็นอย่างไรบ้าง ?

พี่แก๊ป : ถ้าให้คะแนนเต็ม 100 ขอให้สัก 50 แล้วกัน เพราะการเดินทางหลายๆ ประเภทก็ไม่สามารถเอื้อให้คนพิการช่วยเหลือตัวเองได้ทั้งหมด และยังต้องพึ่งคนอื่นเยอะมากๆ เหมือนกัน

“ถ้าให้จ่ายเงินขึ้นรถไฟฟ้า กับการมีสิทธิในการช่วยเหลือตัวเอง
พี่ก็ยอมที่จะจ่าย”

ยกตัวอย่างการขึ้นรถไฟฟ้า เวลาคนตาบอดขึ้นรถไฟฟ้าจะไม่มีสิทธิช่วยเหลือตัวเองเลย ต้องยืนรอรปภ. มารอรับ เพื่อที่จะได้อำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันพี่ก็เคยยืนรอรปภ. มารับเป็นชั่วโมง หรือ 50 นาทีเหมือนกัน ซึ่งบางครั้งในมุมของคนตาบอดที่ต้องเดินทางเป็นประจำ เขาสามารถดูแลตัวเองได้ ทำอะไรได้ด้วยตัวเองแต่ว่าเขาก็ไม่ยอมให้ทำ “ถ้าให้จ่ายเงินขึ้นรถไฟฟ้ากับการมีสิทธิในการช่วยเหลือตัวเอง พี่ก็ยอมที่จะจ่าย” บางครั้งคนอื่นๆ ก็พยายามคิดแทนว่าคนพิการทำอะไรได้บ้าง แต่ว่าไม่ได้ศึกษาทำความเข้าใจคนพิการมากพอ

ส่วนการเดินทางในกรุงเทพฯ ส่วนตัวคิดว่าก็ยังสะดวกกว่าต่างจังหวัด เพราะในกรุงเทพฯ เองก็มีการขนส่งหลายประเภท ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน แท็กซี่ ฯลฯ ไว้คอยบริการและที่สำคัญยังมีคนจำนวนมากให้ความช่วยเหลือ มีน้ำใจ ซึ่งถ้าเป็นต่างจังหวัดหลายๆ ครั้งเวลาจะเดินทางไปไหนต้องอาศัยการเหมาอย่างเดียว และราคาสูงด้วย แต่การเดินทางในกรุงเทพฯ บางครั้งถ้าขึ้นบ่อยๆ คนขับรถจำได้ก็จะเรียกเราขึ้นไปด้วย แม้กระทั่งทางเท้าอย่างเบรลล์บล็อก บางทีก็มุ่งหน้าเข้าหาเสาไฟฟ้าเดินไปก็ชน หรือบางทีก็มีคนมาตั้งขายของบนเบรลล์บล็อก ซึ่งสุดท้ายเบรลล์บล็อกนี้ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์มากเท่าที่ควร

มีเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้คนตาบอดไหม ?

พี่แก๊ป : จริงๆ เทคโนโลยีช่วยได้เยอะนะ ยกตัวอย่างเช่นการทำธุรกรรมด้วยตัวเอง ที่ปัจจุบันสามารถทำธุรกรรม ผ่านแอปพลิเคชันได้ด้วยตัวเองเกือบทั้งหมด โดยไม่ต้องไปถึงธนาคาร แต่ก็ไม่ใช่ทุกแอปฯ ที่เขียนขึ้นมาให้คนตาบอดใช้งานได้เสมอไป

“เป็นคนตาบอดจะใช้โทรศัพท์ได้ยังไง
เปิดบัญชีไปเดี๋ยวก็โดนขโมยโทรศัพท์แล้วเงินก็หายอีก”

จากประสบการณ์ที่เคยไปทำธุรกรรมทางการเงินแห่งหนึ่งแต่ถูกปฏิเสธไม่ให้เปิด Internet Banking ด้วยเหตุผลว่า “เป็นคนตาบอดจะใช้โทรศัพท์ได้ยังไง เปิดบัญชีไปเดี๋ยวก็โดนขโมยโทรศัพท์แล้วเงินก็หายอีก” นี่คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าต่อให้มีเทคโนโลยีอะไรขึ้นมาให้คนตาบอดสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ต้องมาเจอกับคนที่มีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้คนตาบอดได้ 100% อยู่ดี

ถ้าลองไปถามคนตาบอด 90% ก็มักจะพูดถึงเรื่องธุรกรรมการเงินเป็นส่วนใหญ่ ที่มองว่าเป็นปัญหาของการใช้ชีวิต “คนบางคนก็มีข้ออ้างที่ดีเสมอ เพียงแค่แลกกับการไม่ต้องรับผิดชอบแค่นั้นเอง” เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีที่ดีคือการออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าใช้งานได้จริงๆ ทุกคนในที่นี้คือไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ ตาดี ตาบอด ก็ต้องสามารถใช้งานได้เหมือนกัน

กิจกรรมยามว่างชอบทำอะไรบ้าง คิดว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่สาธารณะที่คนพิการเข้าถึงได้เพียงพอไหม ?

พี่แก๊ป : ปกติก็ใช้เวลาว่างเหมือนคนทั่วไปเลย ดูหนัง ฟังเพลง เล่มเกม สังสรรค์ ฯลฯ แต่ทุกอย่างก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน อย่างการอ่านหนังสือที่เป็นอักษรเบรลล์ก็มีจำนวนจำกัด หรือต้องให้คนอื่นช่วยอ่านแล้วอัดเสียงเอาไว้ฟัง หรือถ้าจะอ่าน Online อย่าง E-book ที่เป็นไฟล์ .PDF จอภาพก็ไม่สามารถอ่านไฟล์ได้ การออกกำลังกายถ้าวิ่งบนลู่วิ่งทั่วไปก็วิ่งด้วยตัวเองได้ แต่ถ้าอยากไปสวนสาธารณะก็ต้องหาคนพาไปวิ่ง

เวลาว่างๆ ก็ไปดื่มตามร้านนั่งชิลบ้าง แต่ก็เคยโดนพนักงานเดินมาบอกว่า “ขอโทษที ที่นี่ไม่มีบริการสำหรับคนตาบอด” สิ่งที่เราทำได้ก็คือไม่ต้องไปร้านนั้น หรือซื้อมาดื่มที่ห้องแทน ซึ่งการที่เราไม่คุ้นชินกับสถานที่หรือไม่มีคนพาไป เท่ากับเราต้องไปขอความช่วยเหลือจากเขา และถ้าเขามองว่าเป็นภาระเราก็เปลี่ยนร้าน แต่เคยไปกินหมูกระทะร้านหนึ่ง พอบอกว่าเป็นคนตาบอดเค้าก็ช่วยย่างให้ มาคอยถามคอยดูแล แล้วเราก็ได้รับบริการที่ดี

ซึ่งพื้นที่สาธารณะเอาจริงๆ ก็มีเยอะ แต่สำหรับคนพิการที่อยากช่วยเหลือตัวเอง ก็อาจจะใช้ได้จริงไม่เยอะเท่าที่ควร เพราะยังต้องอาศัยคนอื่นในการช่วยเหลืออยู่ แต่ปัจจุบันคอมมูนิตีของคนไทยก็เยอะมากขึ้น อย่างกลุ่ม ‘ช่วยอ่านหน่อยนะ’ ในเฟซบุ๊กที่มีคนคอยช่วยอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเอกสารหรือรูปภาพ กับ ‘วิ่งด้วยกัน’ ที่ถ้าเราโพสต์เรื่องวิ่งก็จะมีคนมาช่วยพาไปวิ่ง

เมืองที่ดีสำหรับผู้พิการควรเป็นอย่างไร ?

พี่แก๊ป : ไม่อยากให้ใช้คำว่า ‘สำหรับคนพิการ’ เพราะในยุคนี้มันเลยจุดนั้นมาแล้ว มันไม่ใช่เมืองสำหรับใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มคนไหน แต่มันคือเมืองสำหรับทุกคน อย่างที่ต่างประเทศมีการออกแบบรถเมล์ชานต่ำ ไม่ใช่แค่คนพิการใช้ได้เพียงอย่างเดียว แต่ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ต้องการใช้รถเมล์ก็สามารถใช้ได้ด้วย ถ้าทุกอย่างเป็น Universal Design มันก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเมืองสำหรับใคร เพราะทุกคนสามารถใช้งานได้จริงๆ หรือการมีเสียงคอยบอกบนรถเมล์ว่าป้ายหน้าคือป้ายอะไร แม้กระทั่งคนปกติทั่วไป ที่อาจจะก้มหน้าอ่านหนังสืออยู่ก็มีสิทธินั่งเลยป้ายได้เหมือนกัน

“ไม่มีเมืองสำหรับคนพิการ แต่คือเมืองสำหรับทุกคน”

ถ้าอยากให้มีจริงๆ ก็คงจะเป็นการเดินทางพื้นฐาน อย่างถ้าเป็นรถไฟฟ้าก็อยากให้มีเบรลล์บล็อกนำทางไปจนถึงชานชาลาได้ เพื่อให้คนตาบอดสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือของใช้ทั่วไปในร้านค้า ถ้าออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยนึกถึงคนทุกคนก็จะดีกว่านี้ หรืออย่างการดูหนังของคนตาบอดปกติจะใช้แอปพลิเคชัน ‘Pannana’ (พรรณนา) ที่เป็น Audio description ก็สามารถช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังถือว่าไม่ได้อรรถรสเท่าไหร่ ทั้งหมดนี้จริงๆ คือทำให้คนตาบอดสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็คงจะดีกว่าถ้าลดการขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้มากขึ้น ไม่นานมานี้เพิ่งจดจำการกดเงินที่ตู้กดเงินได้ ด้วยการจำว่าต้องกดกี่ปุ่ม แต่อาทิตย์ต่อมาเค้าเปลี่ยนตู้เป็นแบบสัมผัสก็ทำเอาไปไม่ถูกเลยเหมือนกัน

พูดถึงโปรเจกต์ Universal Website ที่เป็นรูปแบบเว็บไซต์สำหรับการใช้งานของคนทุกประเภท

พี่แก๊ป : ปัญหามันมาจากเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงคนได้ทุกคนจริงๆ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังทำเครื่องมือตรวจวัดว่า เว็บไซต์นั้นๆ คนพิการสามารถใช้งานได้จริงหรือเปล่า ซึ่งอีกไม่นานตัวโปรเจกต์นี้ก็อาจจะโลดแล่นอยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างแน่นอน

บางครั้งอะไรที่เราคิดว่าเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้คนในเมือง แต่พอได้ฟังมุมมองจากพี่แก๊ปทำให้รู้ว่า หลายอย่างก็ไม่ได้สะดวกสบายสำหรับคนพิการหรือคนตาบอดเท่าที่ควร เราหวังว่าการคุยกันครั้งนี้จะทำให้ใครหลายๆ คน มองคนตาบอดเปลี่ยนไป และฉุกคิดว่าการจะออกแบบสิ่งต่างๆ ควรคำนึงถึงการใช้งานของคนทุกคนหรือที่เรียกว่า Universal design ให้มากขึ้นนั่นเอง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.