ถ้าเข้า Café Amazon ช่วงนี้ คุณอาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นกับเครื่องดื่มที่โปรดปราน
เปล่าหรอก ไม่ใช่รสชาติ หรือหน้าตาที่เปลี่ยนไป แต่เป็นลวดลายใหม่ของแก้ว Café Amazon ที่ใช้บรรจุเครื่องดื่มของคุณต่างหาก
นอกจากความสวยงามน่าเก็บสะสมของลายแก้วที่ออกแบบโดย เพียว โลกุตรา นักวาดภาพประกอบไทยที่น่าจับตามองแล้ว ภาพวาดของเกษตรกรที่มอบเมล็ดกาแฟสู่บาริสต้าบนแก้วเครื่องดื่มเย็น และภาพบาริสต้าผู้สูงวัยที่มอบเครื่องดื่มให้ลูกค้าบนแก้วเครื่องดื่มร้อนยังบอกเล่าถึงแนวคิดการร่วมสร้างโอกาสของ โออาร์ ได้เป็นอย่างดี
เพราะด้วยวิสัยทัศน์ ‘Empowering All toward Inclusive Growth โออาร์ เติมเต็มโอกาสทุกการเติบโต ร่วมกัน’ ทำให้ โออาร์ ยึดมั่นในการเป็นองค์กรที่เกื้อกูลสังคม โดยอาศัยการประสานพลังแห่งความร่วมมือเพื่อสร้างคุณค่าอย่างเท่าเทียม มุ่งพัฒนาคนให้มีศักยภาพ ลดทอนช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อจะต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพสังคมในอีกระดับ จนไปถึงการพัฒนาประเทศไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืน
ทำให้ที่ผ่านมา Café Amazon ไม่ได้พัฒนาในแง่ของธุรกิจร้านกาแฟไทยเท่านั้น ทว่ายังต้องการพาสังคมไทยให้เดินหน้าไปด้วยกัน ผ่านการสนับสนุนเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก รวมทั้งรับซื้อเมล็ดกาแฟมาใช้ภายในร้าน Café Amazon ไปจนถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม
ว่าแต่โปรเจกต์แก้ว Café Amazon ลายใหม่ที่เป็นการร่วมงานของ โออาร์ กับศิลปินนักวาดไทยจะมีเบื้องหลังเป็นยังไง มีเรื่องราวใดบ้างที่ซ่อนอยู่ข้างหลังแก้วหน้าตาน่าใช้นี้ ไปติดตามกัน
ขับเคลื่อนสังคมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
แน่นอนว่าความตั้งใจในการส่งต่อเครื่องดื่มอร่อย ๆ และดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันคือหลักการสำคัญของ Café Amazon ที่เราสัมผัสได้ ทว่านอกเหนือจากนั้นตัวแบรนด์ยังพยายามขับเคลื่อนสังคม ส่งต่อโอกาสให้ผู้คนหลากหลายกลุ่ม ดังที่ปรากฏเป็นเรื่องราวผ่านลวดลายบนแก้วใบใหม่
เพราะหากย้อนไปดูโปรเจกต์เพื่อสังคมของ โออาร์ จะเห็นว่าทั้งหมดล้วนคิดมาเพื่อจุดหมายในการแบ่งปันและส่งต่อโอกาสให้คนในสังคม อย่างโครงการ Café Amazon for Chance ที่เราประทับใจมาก เพราะเป็นการสนับสนุนการจ้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้ขาดโอกาสทางสังคม เช่น กลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน ผู้สูงวัย เป็นต้น ทั้งนี้ตัวโครงการเองไม่ได้แค่รับคนเข้ามาทำงานแล้วจบ แต่เริ่มตั้งแต่ออกแบบกระบวนการภายในร้านใหม่ และฝึกอบรมทักษะพนักงานในระยะเวลาที่มากกว่าปกติ เพื่อสอดรับกับการทำงานของบาริสต้าผู้ขาดโอกาส
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ได้เป็นอีกหนึ่งพลังในการร่วมสร้างโอกาสให้กับสังคม ผ่านโครงการ Café Amazon for Chance ที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 16 สาขา ทั้งในประเทศ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี เชียงใหม่ และในต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา โดยแต่ละร้านจะมีการบริหารจัดการที่ผสมผสานทั้งพนักงานทั่วไปและพนักงานกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์ของ โออาร์ ที่ร่วมเติมเต็ม “โอกาส” ในการเติบโตร่วมกันให้กับทุกชีวิตทั้งในวันนี้และในอนาคต
อีกมูฟเมนต์ที่สำคัญคือแนวคิด กาแฟทุกแก้วของ Café Amazon มาจากรอยยิ้มเกษตรกร ผ่านโครงการจัดหาเมล็ดกาแฟจากชุมชน (Community Coffee Sourcing: CCS) เพื่อเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกไปถึงการรับซื้อเมล็ดกาแฟในราคาที่เป็นธรรม ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น
ที่ผ่านมา Café Amazon เปลี่ยนลายแก้วกาแฟนับครั้งได้ ครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษที่ได้จับมือกับศิลปินไทย เพียว โลกุตรา ในการนำเรื่องราวของมูฟเมนต์เหล่านี้มาออกแบบลวดลายแก้ว เพื่อเล่าเรื่องการสร้างโอกาสต่าง ๆ ที่ โออาร์ มุ่งมั่นทำมาตลอด ทั้งยังเป็นการขยายพื้นที่การส่งต่อโอกาสให้คนทำงานสร้างสรรค์ในไทยด้วย
ถ่ายทอดการส่งต่อโอกาสผ่านลายแก้ว
“ภาพจำของผมคือ Café Amazon เป็น Must-stop ที่ผมต้องแวะเติมพลังระหว่างเดินทางไป-กลับบ้านหัวหินและกรุงเทพฯ ทุกสัปดาห์”
เพียว โลกุตรา ศิลปินนักวาดภาพประกอบไทยที่ได้ร่วมงานกับ โออาร์ ในการออกแบบแก้วลายใหม่เล่าถึงภาพจำที่มีต่อ Café Amazon ให้เราฟัง
และด้วยความรู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานโปรเจกต์นี้ เขาจึงหยิบไอเดียการร่วมให้โอกาสที่เป็นพันธกิจของ โออาร์ มาใช้เป็นไอเดียในการออกแบบ “ผมมองว่าทุกคนสามารถเป็นผู้ให้ได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะอะไร การให้โอกาสดียิ่งกว่าการให้วัตถุสิ่งของ เพราะโอกาสจะเปิดทางไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น แม้คนตัวเล็ก ๆ อย่างเราก็ทำได้”
เพียวมองว่าหลายโครงการที่ โออาร์ ทำต่างมุ่งเน้นการสร้างสังคมและชุมชนที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งยังเห็นคุณค่าในทุก ๆ จุดที่ทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นคนปลูกกาแฟ บาริสต้า ไปจนถึงลูกค้า นั่นเลยทำให้เขาอยากเล่าเรื่องการสร้างโอกาสผ่านประตูของ โออาร์
“ลายแก้วมีฉากหลังเป็น Café Amazon กับทิวเขาทางภาคเหนือ และ Café Amazon กับสังคมเมือง เพื่อเล่าเรื่องการส่งมอบโอกาสระหว่างเกษตรกรกับบาริสต้า และระหว่างบาริสต้าสูงวัยกับลูกค้า ถ้าหมุนแก้วดูจะเหมือนอ่านหนังสือเด็กสนุก ๆ” เขาอธิบายคอนเซปต์
เมื่อแก้วลายใหม่ที่เพียวออกแบบได้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เขาในฐานะศิลปินก็รู้สึกดีใจที่ได้เห็นผลงานของตัวเองในร้านกาแฟ Café Amazon ทั่วประเทศ
“ โออาร์ ได้มอบโอกาสพิเศษให้ผมได้สร้างผลงานและกระจายไปทั่วประเทศอย่างที่ไม่เคยคาดหวังมาก่อน ผมดีใจที่ทุกคนจะได้เห็นแก้วที่ผมวาด เห็นลายเส้นที่ผมออกแบบ เป็นประสบการณ์ที่พิเศษมาก ๆ สำหรับคนทำงานสร้างสรรค์แบบผม”
จากโปรเจกต์แก้ว โออาร์ ร่วมสร้างโอกาส ทำให้เห็นถึงความตั้งใจในการส่งต่อโอกาสและสนับสนุนสังคมของ โออาร์ อย่างชัดเจนขึ้น เพราะนี่ไม่ใช่แค่การส่งเสริมคนทำงานที่อยู่ในสายธารธุรกิจร้านกาแฟ Café Amazon เท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่คนทำงานส่วนอื่น ๆ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งในอนาคตโปรเจกต์ดี ๆ แบบนี้จะเกิดขึ้นอีกแน่นอน
สำหรับใครที่อยากเป็นเจ้าของแก้วลายใหม่ที่เป็นชุด Limited Edition ของ Café Amazon ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ซื้อเครื่องดื่มใน Café Amazon ทุกสาขาตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2565
เพียงเท่านี้ คุณจะได้ทั้งเอร็ดอร่อย ซัปพอร์ตเกษตรกรและคนทำงาน และส่งต่อเรื่องราวการส่งต่อโอกาสผ่านลวดลายบนแก้วกาแฟได้ทุกวัน