เวลาเห็น ‘โชห่วย’ อยู่รอดในวงการค้าปลีกแล้วเราชื่นใจ เพราะคุณไม่ได้แค่ของที่ถูกใจกลับไป หรือสัมผัสน้ำจิตน้ำใจของคนขายเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้ยืนหยัดท่ามกลางกระแสผูกขาดของร้านยักษ์ใหญ่
ในมุมเล็กๆ ของประเทศรังสิต บริเวณถนนเชียงราก ดินแดนของเหล่าเด็กธรรมศาสตร์ รังสิต ชาวหอพัก และคนหาเช้ากินค่ำหลายชีวิต มีโชห่วยเจ้าหนึ่งที่ครองใจผู้คนมากว่า 5 ปี นั่นคือ ‘ร้านบิ๊กเต้’ โดย เต้-ศตวัสส์ ฝ่ายรีย์ เจ้าของร้านบิ๊กเต้ผู้ล้มลุกคลุกคลานเรียนรู้วงการโชห่วยจนมองเห็นภาพว่า เขาจะทำอย่างไรให้โชห่วยอยู่รอด คนในย่านอยู่ได้ และทั้งคนทั้งโชห่วยต้องอยู่ร่วมกันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
แม้จะรู้ว่าการเปิดโชห่วยนั้นไม่ง่าย แต่ เต้-ศตวัสส์ ฝ่ายรีย์ ก็ยอมที่จะล้มลุกคลุกคลานด้วยการลาออกจากงานประจำมาเปิดร้านเล็กๆ เป็นของตัวเอง เพราะนั่นคือความตั้งใจอันดับต้นๆ ในชีวิตของเขา เต้เริ่มเท้าความชีวิตก่อนจะมาเป็น ‘ร้านบิ๊กเต้’ โชห่วยคู่ประเทศรังสิตอย่างทุกวันนี้
“ตอนเป็นพนักงานออฟฟิศตัดสินใจอะไรเองไม่ได้ หลายครั้งก็อยากพิสูจน์ความคิดตัวเองว่าถูกไหม วิธีที่ดีสุดคงเป็นการออกมาทำอะไรเป็นของตัวเอง นั่นคือความตั้งใจเลย พอพี่เห็นโอกาสเข้ามาก็คว้าไว้ทันที จุดเริ่มต้นมาจากแม่ยายของพี่มาบอกว่า เต้ ตรงแถวรังสิตมีพื้นที่ทำร้าน สนใจไหม พอพี่เข้าไปดูก็เริ่มสนใจ เป็นทำเลใต้หอพักด้วย” ความตั้งใจของเต้ทำเราผุดคำถามขึ้นมาว่า ในเมื่อรู้อยู่ว่าโชห่วยในยุคนี้อยู่ยาก แต่ทำไมเขาถึงยังอยากทำมัน
“อนาคตไม่มีใครรู้หรอกว่ามันจะเป็นอย่างไร แต่ก่อนที่จะทำอะไร เราต้องมาดู เก็บข้อมูลก่อน อย่างเช่นมาดูตรงนี้ ก็รู้ทันทีว่าลูกค้าเป็นใคร เราจะขายอะไรได้บ้าง แล้วคนแถวนี้หรือข้างๆ เขาขายอะไรกัน โจทย์แรกคือต้องขายอะไรที่จะไม่ทำให้คนแถวนี้เดือดร้อน อะไรที่มันจะบริการคนได้ และตัวเราก็มีกำไรเลี้ยงชีพตัวเองด้วย” นั่นทำให้ ‘โชห่วย’ คือคำตอบแรกของพี่เต้แบบไม่ต้องคิดหลายชั้น และเขามองว่า ‘โชห่วยอาจจะไม่ได้กำไรเยอะ แต่มันเป็นร้านที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต’
“พอเข้ามาทำจริงๆ แล้ว มันมีอะไรอีกเยอะมากที่เราต้องเรียนรู้ ช่วงแรกขลุกขลักพอสมควร เปิดมา 3 – 4 เดือนไม่มีคนจนจะเจ๊งอยู่แล้ว (หัวเราะ) ระหว่างนั้นพี่คุยกับลูกค้าไปเรื่อยๆ แล้วพบว่า เวลาจะขายอะไรต้องคุยกับคนให้เยอะเพื่อให้ได้ข้อมูล เช่น การเปิด-ปิดร้าน ตอนแรกพี่ปิดเร็วมาก แต่ในความเป็นจริงคือน้องๆ นักศึกษานอนกันดึก บางคนเลิกปาร์ตี้มาเขาก็อยากแวะร้านเรา เราก็ต้องค่อยๆ ปรับ” ช่วงตั้งไข่ของร้านบิ๊กเต้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เต้ต้องคุย คุย และคุยกับลูกค้าให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอกจากเรื่องเวลาการเปิด-ปิดที่ทำให้เต้ฉุกคิด เรื่องสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องปรับปรุง เต้บอกว่า ช่วงแรกก็เดาเอาเองว่าร้านจะวางขายอะไร ปรากฏว่าเฟลไปหลายครั้ง อย่างนักศึกษาจะชอบกินอะไรที่มีปริมาณต่อครั้งไม่เยอะ กินให้หมดในครั้งเดียว ซึ่งช่วงแรกเขาลงสินค้าที่เป็นแพ็กใหญ่เยอะมากก็ขายไม่ได้ เพราะว่าลูกค้าที่นี่เขาไม่ได้ต้องการของแพ็กใหญ่ๆ เยอะๆ
“สิ่งที่พี่ให้ได้คือความรวดเร็วเพื่อสนองความต้องการของลูกค้า สมมติว่าตอนเช้ามีคนลงมาบอกว่าอยากได้นั่นได้นี่ ก็พยายามหามาให้ ถ้าถามว่ามีแค่คนเดียวที่ต้องการ มันจะคุ้มไหมถ้าเราเอามาขาย แต่ถ้ามองในระยะยาวเราขายเขาครั้งเดียวก็จริง แต่พอเขาจำเราได้ และเรามีความตั้งใจ มันก็จะทำให้เขาประทับใจ และอยากกลับมาอีก นี่คือสิ่งที่พยายามทำ”
การซื้อใจลูกค้าต้องไม่พร่อง เทคนิคสร้างการจดจำก็ต้องมี เต้ปิ๊งไอเดียเรื่องการเขียนป้ายแนะนำลูกค้าธรรมดาๆ แต่พิเศษ เต้แบไต๋ว่า ช่วงแรกก็เริ่มจากเขียนแนะนำสินค้าธรรมดาๆ ว่าชิ้นนี้มีสรรพคุณอะไร ใช้อย่างไร ราคาเท่าไหร่ แต่ด้วยความเป็นคนเสพสื่อโซเชียลเกือบทุกแพลตฟอร์ม และอัปเดตเทรนด์ต่างๆ อยู่ตลอด นี่จึงเป็นที่มาของการเขียนป้ายแนะนำสินค้าจนกลายเป็นไวรัล
คารมคมคายเหมือนป้ายที่เขียน
เจ้าของโชห่วยแห่งเชียงรากออกตัวว่า เขาไม่ได้มีคารมคมคายตรงเป๊ะเหมือนป้ายแนะนำสินค้าในร้าน แต่วิธีสื่อสารแบบนี้คือความตั้งใจที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายร้านบิ๊กเต้ ซึ่งเวลาทำให้คนมีอารมณ์ขัน หรือยิ้มตามเวลาเห็นประโยคต่างๆ ในร้าน ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สร้างการจดจำได้ดีมาก
“จุดที่คิดแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองอยู่รอด คือจุดที่เริ่มทำป้ายแนะนำ พอทำไปทำมามันก็สนุก พี่เริ่มใส่มุกตลก บางอันก็อิงเหตุการณ์ปัจจุบัน ให้ลูกค้าในหออยากมาซื้อของ และคนที่ไม่ได้อยู่ที่หอก็อยากมาซื้อของที่ร้านเราด้วย จนพี่เริ่มทำเพจของร้านจากนั้นคนที่ชอบเขาก็แชร์กัน” เต้ทำให้ตัวเองเป็นที่รู้จักไม่ใช่แค่ชาวรังสิต แต่รวมไปถึงชาวเน็ตทั้งประเทศ
เขาเล่าติดตลกว่า ตอนแรกไม่รู้จักวง BLACKPINK เลย แต่ตอนนี้จำได้แล้วว่าใครชื่ออะไร จำได้เกือบทุกเพลง และรู้ด้วยว่าบลิงค์ (กลุ่มแฟนคลับของ BLACKPINK) จะเรียกชื่อสมาชิกไม่เหมือนกับที่เราเรียก เช่น จีซู จะเรียกว่า “พิซู” โรเซ่ จะเรียกว่า “แชง”
คนทำโชห่วยมักจะดูเด็กลงไปนิดหนึ่ง
นอกจากจุดขายที่ทำให้ทั้งลูกค้าขาประจำ และชาวเน็ตจดจำร้านบิ๊กเต้ย่านรังสิตได้ อย่างก๊อบปี้น่ารักๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายที่แปะอยู่บนชั้นวางสินค้า ซึ่งถ่ายทอดออกมาจากความคิดของเต้และภรรยา เต้บอกว่า สิ่งที่เขาตั้งใจพัฒนาโชห่วยให้ไม่ห่วย มันทำให้เขาได้พลังบวกมากขึ้น
“พี่ก็อายุเยอะแล้ว (หัวเราะ) การได้คุยกับวัยรุ่นเยอะๆ ก็ทำให้ชีวิตมันสนุกขึ้น ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นลูกค้า แต่เป็นน้องที่เข้ามาซื้อของ และเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเรา พี่ทำงานในองค์กรใหญ่ๆ มาก่อน ก็จะเจอแต่ผู้ใหญ่ หรือคนที่อายุเยอะกว่าเรา แต่พอมาทำร้านก็จะเจอคนที่อายุน้อยกว่าเรามาก ทำให้เวลามาทำงานแล้วรู้สึกว่าตัวเองเหมือนมีพลัง”
“มีน้องคนหนึ่งมาปรึกษาว่า หน้าตาไม่แย่นะ แต่ทำไมถึงไม่มีแฟนสักที พี่ก็แนะนำเขาไปหลายอย่าง ก็ไม่รู้แนะนำผิดหรือถูกแต่จนป่านนี้เขาก็ไม่มีแฟนนะ (หัวเราะ) พี่บอกเขาว่า ถ้าเขาลองหยุดหาแฟนดู แล้วเป็นตัวของตัวเอง สักวันหนึ่งเขาอาจจะมีแฟนก็ได้
“จริงๆ แล้วแก่นของเรื่องนี้ความประทับใจ พี่รู้สึกว่าเวลามาทำร้านโชห่วย เราไม่ได้เป็นแค่คนขายอย่างเดียว แต่เราเหมือนเป็นคนในชีวิตเขา หรือเป็นคนในคอมมูนิตี้เขาด้วย พี่ก็รู้สึกดีใจที่เขาไม่ได้มองเราเป็นแค่คนขายของ แต่มองเราเป็นคนสำคัญที่สามารถขอคำปรึกษาได้” เต้เล่าโมเมนต์น่ารักๆ ที่เป็นนัยว่า โชห่วยย่านรังสิตแห่งนี้ ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ร้านชำ แต่ยังบียอนด์ไปถึงการรับบทที่ปรึกษาชีวิตประหนึ่งรายการ Club Friday
รังสิตโชห่วย
“พอทำร้านแล้วทำให้รู้จักคนแถวนี้มากขึ้น มันกลายเป็นอัตโนมัติของพี่เลยว่า ต้องทำความรู้จักกับคนในพื้นที่เยอะๆ ทำให้รู้สึกว่าอย่างไรก็ตาม ‘คนกับร้านโชห่วยก็ยังต้องอยู่คู่กัน และมีความสัมพันธ์กันภายในชุมชน’ เราอยากเป็นคนหนึ่งที่มีความสำคัญกับคนในชุมชนนี้”
ร้านบิ๊กเต้เริ่มจากสังเกตการณ์ว่า บริเวณรอบๆ เหล่าพ่อค้าแม่ค้าขายอะไร ทำมาหากินอะไร เขาก็จะไม่ขายสิ่งนั้นซ้ำ แถมเต้เปิดให้นักศึกษาธรรมศาสตร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานในร้าน ทั้งดูแลร้าน และในส่วนของแคชเชียร์ เพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่
ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านบิ๊กเต้จะเป็นนักศึกษา หากเป็นชาวบ้านก็จะทำอาชีพหาเช้ากินค่ำเสียส่วนใหญ่ อย่างร้านบิ๊กเต้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต้นเดือนก็จะเจอคนแถวนี้เอาบัตรมารูดกันเยอะมาก แต่สิ่งที่โชห่วยแห่งนี้ให้กลับไปยังผู้คนในย่าน แม้ว่าบางคนจะไม่ได้มาใช้บัตรของรัฐ แต่ก็มักจะแวะมาทักทาย และมาสั่งข้าวของเพราะรู้ว่าร้านบิ๊กเต้จะหาให้ได้ เหมือนมาพูดคุยกับลูกกับหลาน
“ก่อนหน้านี้ที่ร้านปรับตัวในการเข้าหาลูกค้ามากขึ้น พี่ก็ทำเป็นเดลิเวอรี่ให้คนในชุมชนใกล้ๆ ที่พี่พอจะไปส่งของได้ พอทำไปทำมาก็เห็นว่า เฮ้ย มันมีนักศึกษาที่รับหิ้วของจากร้านเราด้วยนะ น้องๆ ธรรมศาสตร์ทำกันเยอะมาก
“พี่เลยคิดว่าแทนที่เราจะทำเดลิเวอรี่ได้เงินอยู่คนเดียว น่าจะเปลี่ยนให้นักศึกษารับหิ้วจากร้านเราดีกว่าไหม พี่ก็เลยยกเลิกทำเดลิเวอรี่ เปิดเป็นกรุ๊ปไลน์ รับหิ้วของจากบิ๊กเต้ เขาก็จะได้ค่าหิ้วของเขาไป ซึ่งมันจะเวิร์กมากถ้าเรามีสินค้าที่ที่อื่นไม่มี เราก็ต้องหาอะไรใหม่ๆ มาไว้ในร้านอยู่เสมอ
“นอกจากนี้ ยังรับสินค้าฝากขายจากนักศึกษา หรือจากร้านค้าเจ้าเล็กๆ ด้วยนะ อย่างช่วงนี้ที่คนต้องการหารายได้ในช่วงที่โควิดเล่นงาน คนก็จะทำสินค้าแล้วหาร้านฝากขายเราก็ให้เขามาฝากขายที่ร้านได้ด้วย”
‘ร้านบิ๊กเต้’ ลบภาพโชห่วยแบบเดิมๆ ของเราไปจนหมดสิ้น แล้วแสดงให้เห็นว่าโชห่วยยุคนี้ยังพอไปต่อได้ แต่ต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลง และคอยพัฒนาตัวเอง อย่างน้อยความตั้งใจของพี่เต้ ก็ทำให้เราจดจำ ‘ร้านบิ๊กเต้’ ในฐานะโชห่วยสุดน่ารัก ที่คอยปล่อยก๊อบปี้โดนใจออกมาเรียกแขกอยู่เสมอ แถมไม่ลืมที่จะคิดถึงชุมชน ผู้คน และย่านที่ตัวเองอาศัยอยู่ อย่างน้อยย่านและผู้คนในละแวกนี้ก็ได้พึ่งพากัน และมีลมหายใจต่อไปพร้อมกัน
ร้านบิ๊กเต้ – Big Te Shop
เวลาเปิดปิด : ทุกวัน เวลา 08.00 – 02.00 น.
ที่ตั้ง : หอพักซันต้า และ 2B CASA