“ต้นกำเนิดมิชลินสตาร์​” ผู้เฟ้นหาร้านอาหารทั่วโลกมากว่าร้อยปี - Urban Creature

| มิชลิน แบรนด์อายุเยอะที่มีเรื่องราวไม่ธรรมดา 

“มิชลิน” บริษัทสายเลือดฝรั่งเศสที่ใหญ่โตเป็นอันดับ 2 ของโลก รองลงมาจาก Bridgestone ของญี่ปุ่น โดยจุดเริ่มต้นเกิดจาก 2 พี่น้อง ตระกูลมิชลินคือ ‘อองเดร’ และ ‘เอดูอาร์’ ร่วมมือกันสร้างสรรค์บริษัทด้านนวัตกรรม และให้กำเนิด “ยางรถยนต์” ถอดได้ เพื่อให้มนุษย์สามารถเค ลื่อนที่ไปไหนมาได้อย่างอิสระมากขึ้น

ไม่ใช่แค่ยางรถยนต์เท่านั้นที่พี่น้องสองคนนี้ทำ แต่ยังมีสิ่งใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น การทำถนนหนทาง รองเท้าบูท หน่วยดูแลรักษายาง การเดินทางของรถบรรทุก รวมถึงการ ‘ทำแผนที่’ และที่เห็นว่าจะเป็นจุดขายและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ คู่มือการท่องเที่ยวและร้านอาหารที่เรียกกันว่า “มิชลินไกด์”

| กำเนิดมิชลินไกด์ และมิชลินสตาร์คลอดเดินตามๆ กันมา

เหตุผลที่สองพี่น้องทำ มิชลินไกด์ ออกมานั้น เพื่อดึงดูดและกระตุ้นการอยากออกเดินทางไปตามถนนหนทางของคนในสมัยก่อนให้มากยิ่งขึ้น โดยใช้หนังสือสีแดงเล่มเล็กแจกฟรี ชื่อว่า ‘กีดรูฌ’ เป็นตัวนำทางไปได้ทุกแห่ง ซึ่งในหนังสือจะให้ข้อมูลหลายอย่างที่จำเป็นต่อการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ปั๊มน้ำมัน การดูแลยางระหว่างทาง ชื่อโรงแรมทั่วประเทศ รวมไปถึงแนะนำร้านอาหาร ราวกับกูเกิ้ลเแมพในสมัยนี้เลยก็ว่าได้ เมื่อหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น เห็นว่ารถที่วิ่งอยู่บนท้องถนนช่างคับคลั่งเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยางรถยนต์ของมิชลินก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ล้วนแต่เป็นการตลาดที่ถูกคิดไว้แล้ว แต่การแจกฟรีมีแค่ 20 ปีเท่านั้น เพราะมีคนบางกลุ่มเอากระดาษไปทำที่รองแก้วน้ำ ทางบริษัทจึงจัดจำหน่ายซะเลย

เมื่อมิชลินไกด์เป็นที่ยอมรับ จึงเกิดมิชลินสตาร์ตามกันมาในปี พ.ศ. 2469 เริ่มต้นการแจกดาวมิชลินให้กับร้านอาหารที่มีเลิศรส ในช่วงแรกมีเพียง 1 ดาวเท่านั้น จากนั้น 5 ปีต่อมา ก็จัดอับดับเรื่องดาวให้เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น โดยมีถึง 3 ดาว ซึ่งเลเวลของดาวจะเป็นไปตามนี้

หนึ่งดาว : ร้านอาหารที่ดีมากที่สุดในกลุ่มร้านอาหารประเภทเดียวกัน 

สองดาว : อาหารอร่อยเลิศ คุ้มค่าแก่การขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม

สามดาว : หนึ่งในบรรดาร้านอาหารยอดเยี่ยม ควรค่าแก่การเดินทางไปกิน

สำหรับการแจกดาวที่ผ่านมา ประเทศที่ได้รับสามดาวมากที่สุดคือ ประเทศญึ่ปุ่น 32 ร้าน ตามมาด้วย ฝรั่งเศส 26 ร้าน ขณะเดียวกันก็มีร้านมากมายถูกแยกออกมาอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ‘Bib Gourmand’ สำหรับร้านอาหารที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดเล่มแดงหรือมิชลินไกด์เท่านั้น แต่ยังไม่ได้รับดาวแต่อย่างใด ซึ่งจะเป็นร้านที่มีสถานที่ประกอบการเยี่ยม ให้บริการอาหารที่ดี รวมถึงพ่อครัวใช้วัตถุดิบมีคุณภาพ ทำให้อาหารมีรสชาติอร่อย

| ยิ่งกว่าสายลับในองค์กรคือ ‘นักชิมแจกดาวของมิชลิน’

ดาวมิชลินอันทรงเกียรติเป็นความฝันของร้านอาหารหลายที่ ในหลายประเทศ แต่กว่าจะได้มาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จะเรียกว่าได้มาโดยไม่เคยรู้ตัวมาก่อนก็ว่าได้ เพราะเมื่อมิชลินไกด์ มีอิธิพลเป็นวงกว้าง สองพี่น้องจึงจัดตั้งทีม “นักชิมสายลับ” ขึ้นมาเป็นผู้ตรวจสอบที่ไม่ประสงค์ออกนามและห้ามพูดคุยกับนักข่าว หรือแม้กระทั้งคนในครอบครัวของตัวเอง พอๆ กับ The Mask Singer อย่างใดอย่างนั้นเลย แค่ไม่ได้ใส่หน้ากากเท่านั้นเอง

เหล่าสายลับนักชิมล้วนมีเบื้องหลังที่กว้างขวางในวงการศิลปะการทำอาหาร หรือหลายคนยังเป็นถึงอดีตเชฟ โดยพวกเขาต้องผ่านการฝึกอบรมคู่มือมิชลินอย่างเป็นทางการในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะแตกต่างจากนักวิจารณ์อาหาร คือพวกเขาจะไม่จดบันทึกขณะรับประทานอาหารเลย แต่มักจะไปร้านเดิมๆ หลายครั้ง โดยไม่มีผู้ดูแลแต่อย่างใด ประหนึ่งว่าเป็นลูกค้าทั่วไป เพื่อดูการให้บริการตามปกติเท่าเทียมกับคนอื่น 

ด้านของเกณฑ์การตัดสิน หากวัดในเรื่องของความอร่อยคงเป็นปัญหาระดับโลก ลิ้นใครลิ้นมันรับรู้เรื่องรสชาติคนละอย่างกันเลยทีเดียว ดังนั้นพี่น้องทั้งสองจึงไม่ใช้ความอร่อยเข้ามาเป็นที่ตั้ง แต่จะใช้หลักการที่สามารถจับต้อง และรับรู้ได้ 5 ข้อต่อไปนี้ คือ 

1.คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ เมื่อปกปิดตัวตนการขอเข้าไปดูหลังครัวช่างเป็นเรื่องที่ยากนัก ดังนั้นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญถึงจะบอกและตอบโจทย์ข้อนี้ได้ 

2.รสชาติต้องมีความโดดเด่น ด้วยเทคนิกการทำอาหารอย่างมีชั้นเชิง 

3.คาแรกเตอร์ของเชฟเองต้องสะท้อนออกมาบนจานอาหาร ที่บ่งบอกได้ถึงประสบการณ์ที่สะสมรสมือมาอย่างยาวนาน 

4.ความคุ้มค่า คุ้มราคา

5.ความคงเส้นคงวาของคุณภาพ และรสชาติอาหาร 

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ร้านจำเป็นต้องทำให้ได้ถึงจะ เข้าตากรรมการ ส่วนการเดินทางไปชิมไม่ใช่จะชิมแค่ 1-2 ครั้ง บางร้านต้องเก็บรายละเอียดกันเป็นปีๆ เลยทีเดียว

| ‘มาสคอตบีเบนดัม’ ผู้อยู่คู่มิชลินยามออกชิม

เจ้าตัวสีขาวอ้วนกลม แขนเป็นปล้อง ยืนหนึ่งเป็นตัวแทนของแบรนด์มิชลินมาทุกสมัย อีกทั้งยังได้รางวัลว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งศตวรรษอีกด้วย ซึ่งแต่เดิมทีเจ้าอ้วนอยู่ในโฆษณาร้านเบียร์แห่งหนึ่ง ในมิวนิค และมีวลีเด็ดประจำตัวคือ ‘Nunc est Bibendum’ เป็นภาษละตินที่แปลว่า ‘เอ้าดื่มให้หมด !’ หรือ ‘ถึงเวลาฉลองแล้ว !’ ซึ่งกลายเป็นชื่อของเจ้าอ้วนห่วงยางในภายหลัง 

เมื่อสองพี่น้องไปเห็นถึงกับถูกชะตา เพราะเจ้าบีเบนดีมีลักษณะเหมือนที่ตัวเองคิด จินตนาการเสมอมา เพราะห่วงยาง เวลาที่วางซ้อนกันก็จะคล้ายกับเจ้าตัวนี้ จึงบอกว่าให้ใครก็ได้ลองเติมขาให้มันที กลายเป็นมาสคอตบีเบนดัมที่เราเห็นทุกวันนี้นั่นเอง หากมองในมุมของประเทศไทย หลายคนชอบเอาตัวตุ๊กตาบีเบนดัมไปติดหน้ารถ เพื่อให้รู้สึกถึงความปลอดภัย ซึ่งมันก็ถูกปรับลุคมาเรื่อยๆ ถึง 8 ครั้ง เพื่อให้เหมาะกับยุคสมัย เอาเป็นว่า ยิ่งรู้จักมิชลินไกด์มากเท่าไหร่ เราก็จะได้เห็นบีเบนดัมมากขึ้นเท่านั้น !

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.