กรุงเทพฯ ติด 5 อันดับท้ายของโลก เมืองสุขภาพผิวดี - Urban Creature

ทุกคนเคยเป็นไหม เวลาเจอแดดเปรี้ยงแล้วรู้สึกแสบผิว หรือมลพิษฝุ่นควันทำให้หน้าหมองคล้ำ (ปาดสำลีเช็ดหน้าเป็นสีเทา) แถมสิวยังบุกซ้ำจนผิวทรุดโทรม เหล่านี้เป็นเรื่องปกติของสภาพแวดล้อมเมืองที่มีกันทุกที่หรือเปล่านะ

ความคิดดังกล่าวต้องหยุดชะงัก เมื่อเจอผลวิจัยสภาพแวดล้อมเมืองส่งผลต่อสุขภาพผิวของ Covalo บริษัทผลิตภัณฑ์ความงามในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เผยแพร่ปี 2020 จัดอันดับกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อสุขภาพผิวอันดับที่ 76 จากทั้งหมด 80 ประเทศทั่วโลก โดยเมืองฟีนิกซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้อันดับที่ 1 และเมืองมุมไบ ประเทศอินเดียได้อันดับสุดท้าย

เกณฑ์การประเมินมี 9 ข้อหลักๆ คือเรื่องสภาพอากาศ การจราจร และความเครียดของคนเมือง ซึ่งแต่ละข้อเต็ม 10 คะแนนไล่เรียงตั้งแต่อุณหภูมิอากาศเฉลี่ยทั้งปี 0 คะแนน จำนวนวันที่มีแสงแดดส่องถึงเฉลี่ย 3 คะแนน ดัชนีรังสี UV 0.7 คะแนน มลพิษทางอากาศ 9 คะแนน ความเร็วลมเฉลี่ย 7 คะแนน ความชื้นอากาศเฉลี่ย/ปี 2 คะแนน เวลาการทำงาน/คน 5 คะแนน ความแออัดของการจราจร 3 คะแนน และการสูบบุหรี่/วัน/คน 8 คะแนน โดยคะแนนรวมทั้งหมดประมาณ 1.34 คะแนน สรุปได้ว่าเป็นเมืองที่ไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพผิวมากทีเดียว

กรุงเทพฯ ติด 5 อันดับโลก (จากสุดท้าย) เมืองสุขภาพผิวดี

กรุงเทพฯ UV สูง ผิวเสีย (ก็สูง)

สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมอุณหภูมิอากาศไทยได้ 0 คะแนน และดัชนีรังสี UV 0.7 คะแนน จากผลวิจัยพบว่า อุณหภูมิของอากาศมีส่วนทำให้เกิดสิว ยิ่งฤดูร้อนน้องสิวยิ่งโผล่มากกว่าเดิม เพราะรังสี UV สามารถทำลายผิวหนังชั้นนอกเสื่อมสภาพ รวมทั้งอากาศร้อนทำให้ผิวต้องสูญเสียน้ำเพื่อขับเหงื่อออกมา จึงทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันส่วนเกิน เพราะต้องการสร้างความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง แถมยังหน้ามันเสี่ยงเป็นสิวอุดตัน สิวผด หรือสิวอักเสบง่ายกว่าฤดูอื่นๆ

กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า อุณหภูมิไทยเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 28 – 30 องศาเซลเซียส (สูงสุด 40 องศาเซลเซียส) และดัชนีรังสี UV ความแรงของแดดไทยมีค่าประมาณ 11 – 12 ถือว่าอยู่ระดับรุนแรงสูงสุด ดังนั้น แสงแดดไทยเป็นภัยต่อผิวหนังมาก เพราะสามารถทำให้ผิวไหม้ อักเสบ หรือหนักถึงขั้นเป็นมะเร็งผิวหนัง ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อผิวมากที่สุดคือ 22 องศาเซลเซียส หรืออุณหภูมิห้องทั่วไป

เมืองสะสมความร้อน คนก็หัวร้อน

ต้นตอความร้อนระอุของกรุงเทพฯ ส่วนสำคัญมาจากปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban Heat Island) หรือโดมความร้อน คือพื้นที่เมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบ เนื่องจากการก่อสร้างอาคารจำนวนมากที่เป็นคอนกรีตมากกว่าสัดส่วนพื้นที่สีเขียว ซึ่งมีหน้าที่ดูดซับมลพิษและความร้อนจากแสงอาทิตย์ แถมยังช่วยลดอุณหภูมิความร้อนจากการระเหยคายน้ำของต้นไม้ มากไปกว่านั้น ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองเพิ่มการสะสมพลังงานความร้อน เช่น เปิดเครื่องปรับอากาศหรือขับรถยนต์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่งผลให้ความร้อนเพิ่มขึ้นทวีคูณ

วิจัยของ Covalo ยังทำให้เห็นอีกว่า ความแออัดของจราจร หรือการขับรถยนต์ในกรุงเทพฯ สุดติดขัด ไม่เพียงปล่อยความร้อนให้อุณหภูมิสูง แต่เสียงของจราจรยังเพิ่มความเครียดให้กับคนในเมืองอีกด้วย เพราะผลการวิจัยพบว่า เสียงจราจรรอบตัว เช่น เสียงรถยนต์ เสียงบีบแตร หรือเสียงก่อสร้าง ทำให้สารคอร์ติซอล ฮอร์โมนแห่งความเครียดปล่อยออกมามากขึ้นและทำให้เกิดสิวตามมา ซึ่งแน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อผิวหนังและสุขภาพจิตอีกด้วย

ร้อนแรงสู้ด้วยพลังใบ (ไม้)

การลดอุณหภูมิความร้อนในระดับคนทั่วไปก็ทำได้ คือการปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่นในบ้านตนเอง และไม่ลืมทาครีมกันแดดทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน หากกระเถิบมาแก้ปัญหาในสเกลใหญ่ เมืองต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากกว่าเดิม เช่น บริเวณทางเท้าหรือทางระหว่างอาคาร ยิ่งต้นไม้เติบโตขนาดใหญ่ยิ่งดูดซับความร้อนจากแสงแดดได้ดี และอุณหภูมิใต้ร่มไม้ช่วยลดความร้อนจากปกติถึง 2 – 3 องศาฯ

การสร้างอาคารรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ หากทำตามเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียว คือการสร้างอาคารประหยัดพลังงานและลดการปลดปล่อยความร้อน โดยจูงใจนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยการให้ FAR Bonus รางวัลการพัฒนาพื้นที่หรืออาคารที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งพวกเขาจะได้เพิ่มพื้นที่สร้างอาคารมากยิ่งขึ้นหากทำตามเงื่อนไขที่กำหนด

นอกจากการเพิ่มพื้นที่ต้นไม้ เรื่องระบบการเดินทางก็มีความสำคัญในระยะยาว เช่น การจูงใจให้คนใช้ขนส่งสาธารณะหรือเดินบนทางเท้า รวมถึงการใช้รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ก็จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าเดิม ซึ่งมันคงจะดีกว่าถ้าเมืองกรุงมีอุณหภูมิอากาศน้อยลงมากกว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเชื่อว่าใครๆ ก็อยากเดินเล่นนอกบ้านอย่างสบายใจ ทั้งสุขภาพกายและจิตใจ โดยไม่ต้องปวดหัวกับสภาพแวดล้อมที่ทำให้หมดสนุกไม่อยากออกไปไหน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.