กราฟิตีหัวขบถ สู่สตรีทอาร์ท สาด(เสียด)สีสังคม - Urban Creature

จากเหตุการณ์เสือดำทุ่งใหญ่ฯ ถูกปลิดชีวิตเป็นข่าวน่าสลด แต่นั่นก็ไม่เท่ากระบวนการทางกฏหมาย ที่หลายคนรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม และการไม่มีสิทธิมีเสียง คนทำงานศิลปะจึงลุกขึ้นมาพ่นกำแพง เพื่อเรียกร้องแทนเจ้าเสือดำที่ไม่มีแม้แต่โอกาสจะสู้เพื่อชีวิต ผ่านงานสตรีทอาร์ทที่ต่อให้โดนลบสักกี่ครั้งก็ยืนยันจะเดินหน้าต่อ เป็นที่มาให้เราอยากจะรู้จักงานสตรีทอาร์ทที่แต่ก่อนเราอาจแค่มองผ่านๆ ให้ลึกถึงแก่นมากกว่านี้

| Born Underground

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของกราฟิตี มีแหล่งกำเนิดมาจากอันเดอร์กราวน์โดยแท้ บนรถไฟใต้ดินในนิวยอร์ก ช่วงปลายปี 1960 ถือเป็นครั้งแรกที่ชาวเมืองนิวยอร์กสังเกตเห็นลายเซ็น “Julio204” โผล่อยู่ทั่วรัฐวอชิงตัน หลังจากนั้นไม่นาน ในหน้าร้อนปี 1969 ก็มีตัวอักร “Taki183” นามปากกาของเด็กหนุ่มชาวกรีซจากเกาะแมนฮัตตัน ที่ยอมเปิดเผยเพียงชื่อ Demitrius ตระเวนพ่นชื่อตัวเองทั่วมหานครนิวยอร์ก จะว่าเขาทำตาม Julio204 ก็คงไม่ผิด แต่ Taki183 ริเริ่มพ่นมันลงบนสถานีรถไฟใต้ดิน เพื่อให้ชื่อของตัวเองอยู่ในจุดที่คนเห็นมากที่สุด ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนได้รู้จักกับวัฒนธรรมใต้ดิน จนพัฒนามาเป็นรูปแบบของการ “Tag”

(Richard Sandler / hyperallergic.com)

กราฟิตีหล่อหลอมมาจากวัฒนธรรมฮิปฮอป เริ่มจากการขีดเขียนตามที่สาธารณะของชาวผิวสีในอเมริกา ในยุคที่การเมืองมีความไม่เสมอภาค เกิดช่องว่างทางสังคม ทั้งเรื่องความยากจน, คนตกงาน, คนไร้บ้าน, ปัญหาความรุนแรง, ระบบการศึกษาที่ย่ำแย่ ไปจนถึงการขาดความช่วยเหลือทางสวัสดิการสังคม คนเหล่านี้จึงแสดงออกถึงความคับแค้นใจและต้องการอิสรภาพ

| The Real Graffiti

การหอบกระป๋องสเปรย์คอยหลบๆ ซ่อนๆ บวกกับความไวที่ต้องเล่นไล่จับกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเรื่องท้าทายกฏหมาย เหล่ากราฟิตีไรเตอร์จึงต้องปกปิดหน้าตาและตัวตน เพื่อโลดแล่นในวงการกราฟิตีได้รอดพ้น พวกเขาจะเดินหาทุกซอกทุกมุมของเมือง ติดแท็กตัวเองในที่ที่คนผ่านไปผ่านมา ยิ่งมีชื่อกระจายไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งสะท้อนความมีชื่อเสียง หรือเข้าถึงพื้นที่ยากๆ ที่กลุ่มอื่นไม่กล้าเสี่ยง จึงจะถือเป็นความเท่ในแบบกราฟิตี

(graffitilib.com)

ความสำเร็จของกราฟิตีวัดกันที่เทคนิคและสไตล์เฉพาะตัว มันจึงเกิดการบลัฟกันที่เรียกว่า “Bombing” หรือการพ่นทับงานของกลุ่มอื่นแล้วก็มีการตามไปพ่นกลับ ทับกันไปทับกันมาเพื่อแสดงถึงอำนาจ นอกเหนือจากนี้ยังมีการตั้งกลุ่มหรือ “Crew”เพื่อมาร่วมอุดมการณ์และขยายอิทธิพลของกลุ่ม ซึ่งเมื่อมีคนมากก็สร้างผลงานได้มากขึ้น

| People Called It Street Art

สตรีทอาร์ทเป็นวัฒนธรรมแยกย่อยที่ต่อยอดมาจากกราฟิตี ในตอนแรกคนทั่วไปมักมองกราฟิตี้เป็นสัญลักษณ์ของความเสื่อมโทรม หรือเป็นผลงานของพวกมือบอน แต่พัฒนาการของมันนี่สิที่น่าสนใจ รูปแบบของกราฟิตีค่อยๆ กลายร่างจากตัวอักษร มาเป็นงานอิลลัสเตรเตอร์ หรือมีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวที่เป็นเหมือนลายเซ็นของศิลปิน รวมถึงมีเทคนิคใหม่ๆ เช่น โปสเตอร์ การตัดสติ๊กเกอร์ สเตนซิล สีอะคริลิค และแอร์บรัช โดยยุคนี้จะเรียกว่า Post-Graffiti หรือที่เราคุ้นเคยกันว่า “สตรีทอาร์ท”

(beacharts.ca)

สตรีทอาร์ทไม่ได้จำกัดอยู่บนผนังหรือสีสเปรย์เท่าน้ัน แต่ยังหมายรวมถึงศิลปะทุกประเภทบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรม, โมเสก, การถักนิตติ้งห่อหุ้ม, 3D อาร์ท และศิลปะจัดวาง ที่เข้ามาเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเสื่อมโทรม หรือคอนกรีตทึมเทาน่าเบื่อให้มีสีสัน นำเสนอความสร้างสรรค์ตามมุมตึกที่เปรียบเป็นแคนวาส หรือนิทรรศการศิลปะขนาดใหญ่ให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและชื่นชมศิลปะได้ตลอดเวลา

| Sneaky ‘Banksy’

สตรีทอาร์ทสามารถแฝงนัยยะทางสังคม หรือความคิดเห็นทางการเมือง “Banksy” ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่แสดงทัศนะอย่างไม่ไว้หน้าใคร แต่ก็ถ่ายทอดด้วยอารมณ์ขัน ประชดประชัน จนมีทั้งคนรักและคนเกลียด นอกจากเทคนิคสเตนซิลสีขาว-ดำ ที่เป็นภาพของหนู ลิง เด็ก ผู้หญิง ตำรวจ และทหาร จะเป็นจุดโดดเด่นของเขา แมสเสจเสียดสีสังคม การเมือง ต่อต้านทุนนิยม บริโภคนิยม และสงคราม ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขาเป็นศิลปินที่ถูกล่าหัว และหาตัวจับได้ยาก ถึงขั้นมีการรื้อถอนงานของเขามาไว้ในพิพิธภัณฑ์ หรือแม้แต่นำไปประมูลขายบนเว็บไซต์ให้แก่นักสะสม

(businessinsider.com)

| Thai Hip Hop New Wave

หากพูดถึงกราฟิตีในแง่การประกาศศักดาในประเทศไทย เราก็คงนึกภาพการพ่นกำแพงของเด็กช่างที่ต่างก็โอ้อวดว่าเป็น “พ่อทุกสถาบัน” ซึ่งมีวิธีการและจุดประสงค์สอดคล้องกับงานกราฟิตี ต่างกันแค่รูปแบบ เราจึงอาจเรียกมันว่ากราฟิตีแบบไทยๆ แต่ถ้าพูดถึงกราฟิตีจริงๆ ในไทยก็มีมาประมาณ 10 กว่าปีแล้ว จากการหลั่งไหลเข้ามาของดนตรีฮิปฮอป ศิลปะ และกีฬาเอ็กซ์ตรีม ผ่านทีวี นิตยสาร ลายเสื้อ หรือมิวสิควิดีโอ

(bkkgraff.com)

| From Street to Gallery

วงการสตรีทอาร์ทเป็นที่รู้จักในไทยมากขึ้น โดย “P7” และ “Cider” กราฟิตีไทยในยุคบุกเบิก และการชักชวนของศิลปินหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นกราฟิกดีไซน์ ศิลปินไฟน์อาร์ต มาร่วมทำงานสตรีทอาร์ตในชื่อกลุ่ม FOR และจัดนิทรรศการขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

(goplaymagazine.com)

งานสตรีทอาร์ตไทยเปิดกว้างให้ศิลปินทุกแขนง ไม่เฉพาะแค่คนที่เติบโตมาจากวัฒนธรรมฮิปฮอป มันจึงมีความหลากหลายด้านรูปแบบ และมุมมองที่ตกผลึกจากการทำงานในวงการศิลปะมานาน เพียงแต่ย้ายแพลตฟอร์มมาอยู่บนพื้นที่สาธารณะที่ใหญ่กว่า เป็นอิสระกว่า ทำให้งานสตรีทอาร์ทไทยเจ๋งขึ้นเรื่อยๆ ศิลปินแต่ละคนก็มีจุดยืนที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเพื่อสะท้อนสังคม หรือแม้แต่เปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่ขึ้น นอกจากนี้ยังมีการทาบทามศิลปิน มาร่วมสร้างผลงานกับแบรนด์ดังๆ อย่างที่มีการ Collaborate ออกมาให้เห็นมากมาย

| Bomb Attack

แม้สตรีทอาร์ตไทยบางส่วนจะกลายเป็นงานแมส แต่ก็ยังเหลือความขบถฝังอยู่ในวิญญาณของศิลปินบางกลุ่ม ในสังคมที่ถูกหล่อหลอมให้ไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นกับบางเรื่องได้อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างผลงานกราฟฟิตี้รูปเสือดำ ของ Headache Stencil ซึ่งถูกลบไปแล้ว ก็มีจุดประสงค์เพื่อสะท้อนความยุติธรรม และปฏิเสธอภิสิทธิ์ชนที่อยู่เหนือกฎหมาย แต่การถูกอำนาจมืดลบภาพเสือดำเพียงภาพเดียว ก็ก่อให้เกิดเอฟเฟ็คท์เป็นกระแส “เสือดำต้องไม่ตายฟรี” ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ศิลปินทั่วประเทศออกมาสร้างผลงานเพื่อตอบโต้เรื่องนี้

(www.facebook.com/headachestencil/)

Mauy เจ้าของภาพขาวดำบนกำแพงที่ จ.เชียงใหม่ ได้บอกไว้ว่า “ภาพนี้เป็นผลงานของเขา ต้องการสื่อถึงสิทธิของสิ่งมีชีวิตกับระบบความยุติธรรม หากภาพถูกใครมาลบทำลายทิ้งก็ไม่เสียดาย เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่ภาพที่กำแพง แต่เป็นตัวงานที่ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว ทุกคนแสดงแนวคิด ฉะนั้นต่อให้งานอยู่หรือไม่อยู่ไม่สำคัญ งานนี้เป็นวิถีของมันอยู่แล้วที่มีการทับซ้อนกันไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามาลบจริงๆ แสดงว่าบ้านเรายังไม่เปิดกว้างในเรื่องการรับความคิดเห็นของประชาชนเท่าที่ควร เพราะนี่เป็นแค่การแสดงความคิดเห็นของศิลปะ ไม่ได้หยิบปืนไปฆ่าใคร”

(www.facebook.com/MauycolA)

เสียงจากกำแพงที่กำลังบอกอะไรบางอย่างกับสังคม ไม่ว่าเสียงนั้นจะสื่อสารออกไปได้มากหรือน้อย เพียงแค่มีใครสักคนเดินผ่านแล้วหยุดมอง เท่านี้ก็มีค่าพอที่ศิลปินคนหนึ่งจะทำมันต่อไปแล้ว หากเหตุผลในการลบภาพกราฟิตีมันเป็นการเลือกปฏิบัติของคนที่ยกหางอำนาจ เราคงต้องหวังพึ่งสตรีทอาร์ทที่อยู่ในโลกสีเทาๆ แต่กลับทำหน้าที่เรียกร้องความยุติธรรมของกฏหมายบ้านเมืองให้กับเราอยู่


References :

  • วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปมหาบัณฑิต สาขาทฤษฎีศิลป์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2558 เรื่อง พัฒนาการทางรูปแบบของสตรีทอาร์ตในประเทศไทย โดย แมนฤทธิ์ เต็งยะ
  •  https://themomentum.co/happy-art-saving-banksy
  • http://www.komchadluek.net/news/scoop/315780

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.