บ้านครัวไหมไทย ผู้สืบทอดผ้าไหมของกรุงเทพฯ - Urban Creature

ผืนผ้าไหมฝีมือช่างไทยเป็นมรดกตกทอดที่เชิดหน้าชูตาคนไทย โดยเฉพาะแถบภาคอีสานที่การทอผ้าในแต่ละท้องถิ่น มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ในกรุงเทพฯ เราคงไม่เห็นคนทอผ้าไหมกันเท่าไรนัก แต่ย่านใจกลางเมืองอย่างราชเทวี กลับซุกซ่อนชุมชน ‘บ้านครัว’ ที่ในอดีตเคยย้อมไหมทอผ้ากันแทบทุกบ้าน เป็นจุดเริ่มต้นของผ้าไหม ‘จิม ทอมป์สัน’ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง ‘ลุงอู๊ด’ เท่านั้นที่ยังคงสืบทอดภูมิปัญญาผ้าไหมของกรุงเทพฯ

รุ่งโรจน์ – โรยรา ‘ริมคลองแสนแสบ’

เราลงเรือที่สะพานหัวช้าง ตรงข้ามคลองแสนแสบเยื้องกับพิพิธภัณฑ์จิม ทอมป์สัน คือชุมชนบ้านครัวที่ในอดีตเป็นชุมชน ‘แขกจาม’ ซึ่งอพยพมาจากเขมรตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 มัสยิดในละแวกนี้มีมากถึง 3 แห่ง สมัยก่อนคนในชุมชนย้อมไหมด้วยสีธรรมชาติ ทอผ้าขาวม้า และผ้าโสร่ง ส่งขายต่างจังหวัด สมัยก่อนน้ำประปายังเข้าไม่ถึงก็ใช้น้ำคลองย้อมผ้า หลังจาก จิม ทอมป์สัน มาเห็นก็เกิดความสนใจ จ้างทำผ้าไหมส่งบริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย ตอนนั้นเองที่ชาวบ้านเปลี่ยนมาใช้สีเคมี 

แต่ละบ้านย้อมไหมทอผ้ากันคึกคัก บางบ้านร่ำรวยจนส่งลูกเรียนเมืองนอก แต่หลังจากนั้น ชุมชนบ้านครัวต้องเงียบเหงาลงอีกครั้ง เมื่อจิม ทอมป์สัน เดินทางไปมาเลเซียแล้วไม่กลับมาอีกเลย ทายาทจิม ทอมป์สัน ได้รับมรดกก็ไปตั้งโรงงานทอผ้าไหมของตัวเอง ชาวบ้านจึงทยอยเลิกรากันไปเพราะไม่มีผู้รับซื้อ

วัย 13 หัดย้อมไหม

ตามเสียงกี่ทอผ้ามาหยุดหน้าบ้านที่มีป้ายเขียนว่า ‘ลุงอู๊ด บ้านครัวไหมไทย’ เราเดินดุ่มเข้าไปถามหาลุงอู๊ด รูปถ่ายสีซีเปียบนเสาบ้าน เก็บความหล่อเหลาของลุงอู๊ดสมัยหนุ่มไว้ มองเลยขึ้นไปเป็นรูปจิม ทอมป์สัน ถ่ายที่ริมคลองแสนแสบ ในรูปมีหนุ่มนั่งอยู่ด้านหลัง…นั่นล่ะ ลุงอู๊ด

ลุงอู๊ดเกิดและเติบโตที่บ้านครัวมาจนอายุ 80 ปี ย้อนความถึงจุดเริ่มต้นในอาชีพย้อมไหม สมัยก่อนโรงเรียนเทศบาลจะให้ลาออกเมื่ออายุครบ 15 ปี พ่อแม่ลุงอู๊ดส่งเรียนตอนอายุ 11 พอย่างเข้า 13 ยังไม่ทันขึ้น ป.4 ก็คิดว่าน่าจะเรียนไม่ทันเพื่อน ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงไปวิ่งเล่นบ้านลูกพี่จนได้วิชาย้อมผ้ามาติดตัว

“เราถามเขาว่าย้อมผ้าไหมได้กิโลละเท่าไหร่ เขาบอกโลละ 7 บาท ลองนับดูวันหนึ่งย้อมยี่สิบกว่าโลได้ร้อยกว่าบาท ก็คิดว่าคงเลี้ยงตัวได้เนอะ เราก็ไปคลุกคลีอยู่กับลูกพี่ เขาทำไงก็ทำตาม เขานั่งยังไงก็นั่งอย่างงั้น ลูกพี่อายุมากแล้วห้าสิบหกสิบ ยืนกลับผ้าเหนื่อยก็ลงมานั่ง เราก็ขึ้นไปกลับผ้าแทน ลองผิดลองถูก อาศัยลักจำเอาเพราะเราหัวดี”

ฝึกฝนอยู่สองปีลุงอู๊ดก็ไปทำงานที่โรงย้อมไหม ฝีมือลุงอู๊ดเก่งเข้าขั้น สีอะไรที่ว่ายากก็ย้อมได้หมด จนกระทั่งตั้งตัวได้ตอนอายุ 28 จึงแต่งงานและซื้อที่ทำโรงย้อมและทอผ้าไหมเป็นของตัวเอง

บทที่หนึ่ง : ย้อมไหม

โชคดีที่เรามาทันเห็นขั้นตอนการย้อมไหม เพราะบ้านลุงอู๊ดไม่ได้ย้อมไหมทุกวัน การย้อมไหมหนึ่งกิโล ต้องใช้ไหมดิบหนึ่งกิโลสี่ขีด เพราะต้องเอากาวออกก่อน ขั้นแรกตั้งน้ำให้เดือดใส่โซดาแอชและสบู่ลงไป แล้วเอาไหมลงไปฟอกสักครึ่งชั่วโมง ก็เอาขึ้นไปล้าง ปั่นแห้ง และกระทบให้เรียบ เสร็จก็ช่างสีตามสูตร ละลายในถังแล้วเร่งไฟ พอน้ำเดือดก็เอาไหมลงไปกลับหนึ่งชั่วโมงจึงยกขึ้นมาพัก เราชะเง้อดูเห็นเส้นไหมสีม่วงวางพาดอยู่ จากนั้นใส่กรดเกลือแล้วเอาลงไปกลับอีกครึ่งชั่วโมงถึงจะยกขึ้น ดูเป็นงานที่ใช้แรงไม่ใช่น้อย

ลุงอู๊ดเล่าให้ฟังว่า คนโบราณใช้กาบกล้วยตานีคล้องไหมเวลากลับเส้นไหม แต่คนก็เลิกใช้ไปเพราะมันขาดง่าย เส้นไหมมักร่วงไปยุ่งอยู่ในปี๊บ ต้องเสียเวลานั่งสาง ต่อมาร้านเอาหวายมาขาย แต่พอใช้ไปนานๆ หวายก็ขาดอีกแถมยังราคาแพง ลุงอู๊ดเลยทดลองใช้เหล็กแต่นานไปก็ผุ สุดท้ายจึงเปลี่ยนมาใช้แท่งอะลูมิเนียมอย่างที่เห็น

บทที่สอง : ทอกี่

มุมหนึ่งของบ้าน ป้ากำลังนั่งทอผ้าด้วยกี่กระตุก ซึ่งเร็วกว่ากี่กระทบที่เดือนหนึ่งทอได้เพียงหลาเดียว แต่กี่กระตุกชั่วโมงหนึ่งทอได้ 8 หลา วันหนึ่งก็ทอได้ 7-8 หลา เพราะมีแกนม้วนด้ายยืนยาวหลายสิบเมตร ไม่ต้องสืบด้ายยืนบ่อยๆ และด้ายยืนจะตึงเรียบเสมอกัน ไม่ต้องหวีเหมือนกี่ทอมือ

คนทอก็ไม่ต้องสอดกระสวย แต่จะใช้มือกระตุกเชือกที่ติดกับกระสวย กระสวยจะวิ่งผ่านด้ายยืนที่แยกออกเรียกว่าไหมพุ่ง โดยใช้เท้าเหยียบไม้ที่ดึงตะกอให้เส้นไหมสอดขึ้นลง ทำเช่นนี้เป็นจังหวะสม่ำเสมอด้วยความชำนาญ ผ้าไหมบ้านลุงอู๊ดต่างจากผ้าทอยกดอกที่ต้องมีตะกอเป็นสิบอัน ซึ่งบ้านลุงอู๊ดมีแค่สองตะกอเท่านั้น จึงทอได้ลายผ้าริ้ว ผ้าตา และผ้าสายฝน

ความภูมิใจของลุงอู๊ด

แม้ลุงอู๊ดจะไม่ได้ส่งผ้าไหมให้จิม ทอมป์สัน อีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังย้อมและทอผ้าไหมไปขายที่ห้างนารายณ์ภัณฑ์ ชาวต่างชาติก็มาซื้อถึงที่บ้าน สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผ้าไหมลุงอู๊ดอยู่ได้ เพราะฝรั่งมาถ่ายทำสารคดีจนลุงอู๊ดโด่งดังไปถึงต่างประเทศ น่าเสียดายที่คนไทยกลับไม่ค่อยรู้ว่าเรามีของดีแบบนี้อยู่ใจกลางเมือง ลุงอู๊ดให้เหตุผลที่ยังไม่หยุดทำงาน เพราะเป็นอาชีพที่รักและภูมิใจ แม้ความรู้น้อยก็สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้

“เตี่ยเป็นอัมพาทตั้งสิบกว่าปี ตอนนั้นเตี่ยอายุ 50 เศษๆ มาเสียตอนอายุ 63 เตี่ยตายไม่ทันไรแม่ก็มานอนอีก ลุงก็ดูแลมาคนเดียว ถ้าจะเล่าชีวิตมันก็ภูมิใจนะ ลุงเป็นคนขยัน ไม่ขี้เกียจ แต่งงานก็ไม่ได้เอาเงินพ่อแม่ ช่วงนั้นเตี่ยก็หาเงินไม่ได้แล้ว กับข้าวกับปลาก็ต้องเราทั้งนั้น ลุงถึงได้คิดตั้งตัว ถ้าไม่งั้นครอบครัวก็อยู่ไม่ได้”

มรดกที่สูญหาย

เมื่อความเจริญเข้ามา เทคโนโลยีถูกนำมาใช้แทนที่คนมากขึ้น สมัยก่อนเส้นไหมต้องใช้คนกรอ คนหนึ่งกรอได้แค่ระวิงเดียว ลุงอู๊ดจึงหันมาใช้เครื่องจักร กรอทีหนึ่งได้ 10 ระวิง ถ่ายมาใส่หลอดเล็กได้อีก 20 หลอด ลุงอู๊ดบอกว่ายุคนี้เครื่องทอผ้าไหมก็มีแต่ราคาเป็นแสน และฝรั่งไม่นิยมเพราะเขาชอบงานแฮนด์เมด

“อีกอย่างคนทอหายาก เชื่อไหมเมื่อก่อนนี้ บ้านลุงมีคนงาน 20-30 คน เด็กก็มี หนุ่มก็มี สาวก็มี นอนกันเป็นปลาทู แต่ที่อีสานบ้านเขาก็มีงานทำ พอทอหมดกี่เขาขอกลับบ้านได้อยู่กับครอบครัวก็ไม่มาแล้ว รื้อกี่ออก”

ฉากสุดท้าย

ผ้าไหมมีเอกลักษณ์ในตัวเอง ทอขึ้นด้วยจิตวิญญาณ สะท้อนผ่านความละเอียดปราณีต แต่ภูมิปัญญาเหล่านี้ยังไม่มีผู้สานต่อ ลุงอู๊ดในวัย 80 ปียังคงทำงานทุกวัน อีกไม่นานผ้าไหมบ้านครัวคงต้องสูญหายไป จะหาเด็กสมัยใหม่มาทำคงยาก เพราะเป็นงานเหนื่อยต้องใช้ทั้งสองมือสองเท้า ทอได้ชั่วโมงละหลา หลานึงได้แค่ 30 บาท

“ผ้าไหมไม่มีหมดไปหรอก ตามต่างจังหวัดยังมีและสมัยนี้โรงงานเยอะแยะ แต่ผ้าไหมที่บ้านครัว ถ้าลุงเลิกเมื่อไหร่ก็คงหมด สำคัญที่คนทอ ถ้าไม่มีคนทอ คนย้อมก็อยู่ไม่ได้”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.