มองวิกฤตการณ์ความสัมพันธ์กับบทบาทความเป็นแม่ผ่าน ‘ห่วงโซ่งานดูแลระดับโลก’
ในบรรดาคนดูแลที่ผลัดเวียนกันเข้ามาดูแลยายเราก่อนเสียชีวิต คนที่เราจำได้ดีที่สุดคือ ‘ป้าตู่’ ป้าแกอายุอานามค่อนข้างมากแล้ว แต่ยังคุยเก่ง นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เข้ากับยายเราได้ดี ภาพที่เห็นจนคุ้นเคยคือป้าตู่เฝ้ายายกินข้าวไม่ให้ข้าวติดคอบ้าง บีบนวดแขนขาบ้าง บางวันก็ถือสมุดเล่มบางๆ ให้ยายฝึกออกเสียง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากยายได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อเสียการประสานงานจากสมองน้อยและไขสันหลัง (Spinocerebellar Degeneration — โรคเดียวกับนางเอกในซีรีส์ญี่ปุ่นบ่อน้ำตาแตก One Litre of Tears) ป้าตู่อยู่กับยายเราเป็นปี ฟังดูไม่ได้นานมาก แต่ก็ถือว่านานแล้วถ้าเทียบกับคนดูแลคนอื่นตามแต่จะหาได้ที่หมุนเวียนกันเข้ามาช่วยเฝ้าดูอาการยาย งานดูแลคนแก่ไม่มีอะไรซับซ้อน ออกจะน่าเบื่อด้วยซ้ำ แต่รายละเอียดยิบย่อยของมันและการต้องอยู่โยงเฝ้าคนแก่หนึ่งคนเป็นเวลาทั้งวัน ซ้ำๆ ทุกวัน ก็ไม่ใช่เรื่องสนุกสนานน่ายินดีปรีดาอะไร บ้านเราแบกรับค่าใช้จ่ายพยาบาลอาชีพที่มาจากศูนย์หรือโรงพยาบาลไม่ไหว ที่ผ่านมาเลยได้แต่ถามไถ่แม่บ้านในละแวกว่าพอมีใครว่างหางานอยู่บ้าง ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลที่พอเข้ามาจับงานได้สักพัก หลายคนก็ขอลาออกและกลับไปทำงานแม่บ้านที่ตัวเองถนัดมากกว่า ที่ยกมาเล่าสู่กันฟัง เพราะวันแม่ปีนี้ชวนให้เราหวนกลับไปนึกถึงคลิปวิดีโอชิ้นหนึ่งที่มีชื่อว่า Who Knows Kids Better? Mums VS Maids ที่เป็นการสัมภาษณ์พี่เลี้ยงเด็กในประเทศสิงคโปร์ด้วยการถามคำถามสั้นๆ เกี่ยวกับเด็ก จากนั้นก็เอาคำถามเดียวกันไปถามคนเป็นแม่ ก่อนปิดท้ายด้วยการให้ลูกๆ มาเฉลยคำตอบ คำถามในคลิปล้วนเป็นคำถามง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ยกตัวอย่าง ‘อนาคตเด็กอยากโตไปเป็นอะไร’, ‘เพื่อนสนิทที่โรงเรียนชื่ออะไร’, ‘ชอบเรียนวิชาอะไรที่สุด’ แต่ที่น่าสนใจคือ กลายเป็นว่าคนเป็นพี่เลี้ยงเด็กตอบคำถามได้ถูกต้องกว่าคนเป็นแม่ โดยในคลิปสรุปเป็นตัวเลขให้เลยว่า […]