คนกรุงเทพฯ ย่อมรู้ว่า ‘อารีย์’ เป็นย่านแห่งไลฟ์สไตล์ที่มีชื่อมากที่สุดในเมือง มีความเป็นชุมชนกึ่งเก่ากึ่งใหม่ ที่หากเดินเข้าไปจะพบว่าอาคารที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ถูกพัฒนาให้กลายเป็นร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านค้าประเภทมัลติแบรนด์ ที่สร้างสีสันและความมีชีวิตชีวาให้ตัวพื้นที่ จนกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวและทำเลทองของนักธุรกิจยุคใหม่
แต่ในอีกมุมหนึ่ง อารีย์ก็เป็นแหล่งรวมอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ โคเวิร์กกิงสเปซ ไปจนถึงออฟฟิศให้เช่าชั่วคราว ซึ่งส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยเหตุนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จึงเลือกพัฒนาย่านนี้ให้เป็นย่านนวัตกรรมที่จะนำไปสู่การอยู่อาศัยที่ดีขึ้น
การพัฒนาครั้งนี้ได้นำเทคโนโลยีเชิงลึกด้านอารีเทค (ARITech) ได้แก่ AI, Robotics, Immersive และ IoTs มาผลักดันย่านสู่เมืองฉลาดรู้ และยกระดับให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่เพื่อรองรับธุรกิจนวัตกรรม การลงทุนจากภาครัฐ-เอกชน กลุ่มธุรกิจเทคจากต่างประเทศ และนำร่องให้ย่านอารีย์ได้เป็นพื้นที่ทดสอบทดลองนวัตกรรม
ส่วนองค์ประกอบสำคัญของย่านอารีย์ที่หากเชื่อมโยงกันแล้วจะทำให้ย่านเกิดความก้าวหน้ามากขึ้น ประกอบด้วย
1) สินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ จากการเป็นที่ตั้งของบริษัท หน่วยวิจัย และสตาร์ทอัพ ARITech ที่กระจายตัวภายในย่าน ครอบคลุมบริษัทชั้นนำระดับนานาชาติ
2) สินทรัพย์ทางกายภาพ จากการเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง มีการเข้าถึงด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีความสะดวก และการใช้งานพื้นที่แบบผสมผสาน
3) สินทรัพย์ทางเครือข่าย จากการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และกลุ่มองค์กรทางสังคม ที่มีความสนใจในการร่วมพัฒนาย่าน
4) สินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีลักษณะเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งฐานข้อมูลและการจัดการระบบเครือข่ายที่มีผู้ให้บริการในพื้นที่อย่างแพร่หลาย
สำหรับการนำร่องแผนการนี้ NIA ได้จัดกิจกรรมประกวดออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาย่านอารีย์ให้น่าอยู่ (ARID Hackathon 2023 : Innovation for Well-being) และได้ผู้ชนะเลิศคือทีม PARK 😀 ที่นำเสนอไอเดียด้านการเชื่อมต่อการสัญจรผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มเปิดพื้นที่ให้เกิดการใช้ที่จอดรถในรูปแบบ ‘Parking Lot-Sharing’ โดยจะต่อยอดเป็นนวัตกรรมต้นแบบเพื่อทดสอบทดลองในพื้นที่ย่านอารีย์ต่อไป