ไปสัมผัสป่าเมฆที่ ‘เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา’ - Urban Creature

ช่วงปลายปีแบบนี้ ‘เชียงใหม่’ คือปลายทางยอดฮิตสำหรับคนที่กำลังอยากเอาตัวเองไปปะทะกับอากาศหนาวสักครั้งให้ฉ่ำปอด คงไม่มีที่ไหนเย็นถึงใจได้เท่าจุดสูงสุดแดนสยามหรือดอยอินทนนท์อีกแล้ว แต่ก่อนจะไปถึงยอดดอย เราอยากแนะนำให้รู้จัก ‘เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา’ ห้องเรียนธรรมชาติที่ซ่อนตัวอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่อยู่ใกล้ๆ ยอดดอยแค่ในระยะเดินถึง แต่เข้าไปแล้วเหมือนหลุดเข้าไปในอ้อมกอดของธรรมชาติ ได้ฟังเสียงนกร้อง เสียงใบไม้ เสียงน้ำไหล และได้หายใจเอาอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด

อ่างกา
อ่างกา

เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ มีลักษณะเป็นป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศไทย เพราะมีความสูงถึง 2,550 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้อ่างกาเป็นป่าเมฆที่มีความชุ่มชื้น และอากาศหนาวเย็นตลอดปี เป็น ‘ป่าฝน’ หรือ ‘ป่าเมฆ’ (Cloud Forest) ซึ่งเป็นป่าดิบเขาเขตร้อนชนิดที่มีเมฆหมอกปกคลุมอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเดินอยู่ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาจึงรู้สึกเหมือนปุยเมฆโอบกอดเราอยู่ตลอดเวลา มีบรรยากาศครึ้มๆ แดดร่ม ลมหนาว เหมาะกับการเดินศึกษาธรรมชาติแบบง่ายๆ และเหมาะกับคนทุกวัย 

อ่างกา

จุดเริ่มต้นของ ‘อ่างกา’ 

เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาถูกสำรวจวางแนวและออกแบบทางเดินครั้งแรกในปี 2534 – 2536 โดยคุณไมเคิล แมคมิลแลน วอลซ์ นักสัตววิทยาและอาสาสมัครชาวแคนาดาประจำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งได้มีการพัฒนางานสื่อความหมายธรรมชาติในเส้นทางพร้อมกันไปด้วย แต่เดิมที่นี่เป็นเพียงเส้นทางธรรมชาติที่ยังไม่มีการออกแบบให้แข็งแรงและปลอดภัยสำหรับผู้ที่เข้ามาใช้งาน มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป จึงร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เข้ามาศึกษาธรรมชาติอย่างปลอดภัย และมีระบบสื่อความหมายแบบใหม่ที่ร่วมกับนักนิเวศวิทยาหลายสาขา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ทั้งชื่นชมความสวยงามของป่าไม้และได้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน 

อ่างกา

การกลับมาของ ‘อ่างกา’ หลังการปิดปรับปรุงครั้งใหญ่

ช่วงการระบาดของโควิด-19 คือช่วงเวลาที่ธรรมชาติได้พักฟื้นและเป็นช่วงเวลาการปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาเช่นกัน ตอนนี้อ่างกาฉบับปรับปรุงใหม่ เพิ่งเปิดให้ใช้งานในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา และกลับมาพร้อมกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 320 เมตร ที่ถึงแม้จะเป็นระยะทางสั้นๆ แต่เป็นเส้นทางที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตบริเวณนี้ที่มีการปรับตัวให้เข้ากับระบบนิเวศเฉพาะถิ่น เป็นแหล่งพันธุ์พืชและสัตว์ป่าหายากหลายชนิด ซึ่งบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ

เส้นทางศึกษาธรรมชาติถูกออกแบบให้เดินเป็นวงกลม และปรับปรุงป้ายสื่อความหมายธรรมชาติใหม่ทั้งหมด เมื่อเข้าไปข้างในจะพบกับ 11 จุดไฮไลต์ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ความหลากหลายของธรรมชาติได้ตลอดเส้นทาง และสัมผัสกับบรรยากาศของป่าเมฆกันได้อย่างปลอดภัยโดยที่ไม่รบกวนธรรมชาติ 

อ่างกา
อ่างกา

นอกจากความสวยงามของป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์แล้ว สะพานไม้ที่เห็นอยู่นี้ก็เป็นสะพานที่ออกแบบและปรับปรุงใหม่ทั้งหมดโดยเป็นเส้นทางเดินไม้ยกระดับที่มีความแข็งแรง ปลอดภัย มีมาตรฐาน เป็นมิตรและกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติในปัจจุบัน และรองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม 

การออกแบบสะพานได้มีการคำนึงถึงผลกระทบและปรับปรุงพื้นที่ป่าให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่ออนุรักษ์ป่าแห่งนี้เอาไว้ให้เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ที่สุด บริเวณไหนที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นตรงกลางสะพาน จึงถูกเว้นพื้นที่ไว้ให้ต้นไม้ได้เติบโตต่อไป เพราะการทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นการเข้าไปเรียนรู้จากพื้นที่จริงเพื่อให้คนรู้สึกรักและหวงแหนธรรมชาติ จากภาพความสวยงามและประสบการณ์ที่พวกเขาได้สัมผัส

นอกจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่สวยงามแล้ว เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกายังออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่มในรูปแบบของอารยสถาปัตย์ (Universal Design) มีทางลาดที่ช่วยให้ผู้ใช้วีลแชร์ได้ใกล้ชิดธรรมชาติได้ง่ายขึ้น ซึ่งในขณะนี้สามารถใช้งานได้ถึงบริเวณศาลาทางเข้าเท่านั้น และยังอยู่ในระหว่างศึกษาผลกระทบทางธรรมชาติและความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เนื่องจากเส้นทางมีความลาดชันสูง เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาจึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุหรือผู้พิการสามารถเข้าถึงกิจกรรมทางธรรมชาติได้ง่ายขึ้น

อ่างกา

ความหลากหลายที่งดงามของ ‘อ่างกา’

อ่างกาเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทางสั้นๆ แต่รวบรวมความหลากหลายของธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่มีเรื่องราวมากมายรอให้เราได้ไปค้นหา นอกจากอากาศที่สดชื่นฉ่ำปอดตลอดทาง เราจะได้ยินเสียงนก เสียงน้ำ เสียงใบไม้ไหวเป็นพักๆ ราวกับธรรมชาติได้จัดนิทรรศการให้เราได้ชม ซึ่งไฮไลต์ทั้ง 11 จุดล้วนเป็นความหลากหลายและความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้ ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเส้นทาง 320 เมตรอัดแน่นไปด้วยความสมบูรณ์ขนาดนี้ได้อย่างไร และอยากพาไปดูว่าที่อ่างกามีอะไรซ่อนอยู่บ้าง

อ่างกา
อ่างกา
  • ข้าวตอกฤษี 

พืชต้นเล็กๆ หน้าตาคล้ายหญ้าที่ปกคลุมดินที่เห็นอยู่นี้คือข้าวตอกฤๅษี พืชไร้ดอกจำพวกมอสส์ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นเพียงชนิดเดียวที่มีชื่อภาษาไทย เติบโตได้ดีในที่ชื้นและหนาวเย็น และเป็นดัชนีชี้วัดความชื้นของผืนป่าแห่งนี้ ใบของข้าวตอกฤๅษีมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ สามารถขยายเซลล์เพื่อรองรับน้ำได้ปริมาณมากถึง 8 เท่า แถมซากที่ตายแล้วของข้าวตอกฤๅษียังสามารถดูดซับน้ำได้ราว 20 เท่า จึงเปรียบเสมือนแหล่งเก็บน้ำที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้ป่า และเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศป่าพรุ 

อ่างกา
  • กุหลาบพันปี 

ต้นกุหลาบพันปีมีหลายชนิดในโลก แต่ในประเทศไทยพบเพียง 9 ชนิด และ 4 ชนิดพบได้ที่ดอยอินทนนท์ เป็นพันธุ์ดอกสีขาว 3 และดอกสีแดง 1 ซึ่งเป็นพันธุ์หายาก มักจะพบที่ความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล กุหลาบพันปีที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาเป็นสายพันธุ์สีแดงที่มีดอกโดดเด่น รูปทรงของดอกเหมาะกับปากโค้งมนของนกกินปลี กุหลาบพันปีจึงมักเป็นจุดชุมนุมของนกกินปลีหางยาวเขียว ชนิดย่อยอ่างกาเอนเซิส ซึ่งเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ที่เดียวในโลก และอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกับต้นกุหลาบพันปีมาโดยตลอด หากเดินผ่านต้นกุหลาบพันปีอาจจะพบนกกินปลีหางยาวเขียวที่แวะมาหากินอยู่ตรงบริเวณนี้ 

อ่างกา
  • ป่าพรุภูเขา

กลางผืนป่าอ่างกามีแอ่งน้ำซับลักษณะเป็นป่าพรุขนาด 30 ไร่ มีสภาพรก ปกคลุมด้วยหญ้า ไม้พุ่ม และข้าวตอกฤๅษี แม้จะเป็นมุมที่ดูไม่ได้สวยงามเหมือนป่าด้านในที่เขียวขจี แต่ป่าพรุภูเขาเป็นระบบนิเวศที่หาได้ยากรูปแบบหนึ่งของไทย และยังเป็นป่าที่อยู่บนยอดดอยที่สูงที่สุดของประเทศ ป่าพรุน้ำจืดเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่มีคุณภาพ และเป็นต้นกำเนิดสายน้ำส่วนหนึ่งที่ไหลรวมเป็นแม่น้ำปิง

อ่างกา
  • วิถีพืชอิงอาศัย 

พืชอิงอาศัยที่ปกคลุมหนาแน่นตามลำต้นและกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่ มองดูคล้ายกับต้นไม้ใส่เสื้อ คือเอกลักษณ์อันสวยงามของป่าเมฆ เป็นการปรับตัวของพืชจากสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงและหนาวเย็น มอสส์และเฟิร์นจัดเป็นพืชดัชนีที่บ่งบอกความชื้นในป่า พืชเหล่านี้จะคอยซับน้ำฝนไม่ให้ไหลลงสู่พื้นดินเร็วเกินไป แถมยังช่วยกักเก็บน้ำและความชื้นให้ต้นไม้และผืนป่า อ่างกาเป็นป่าที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี ทำให้ตลอดทางเราจะเห็นต้นไม้ใหญ่อย่าง ทะโล้ หรือหว้าอ่างกา ถูกปกคลุมด้วยมอสส์และเฟิร์นทุกต้น

อ่างกา
อ่างกา
  • นกชอบหนาว

ตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติเราจะได้ยินเสียงนกนานาชนิด เพราะดอยอินทนนท์เป็นบ้านหลังใหญ่ของนกมากกว่า 490 ชนิดจาก 1,071 ชนิดที่พบในประเทศไทย นกในบริเวณอ่างกาเป็นนกที่พบได้ในป่าดิบเขาระดับสูง เช่น นกกระจิ๊ดคอเทา ที่สามารถพบได้ที่เดียวในประเทศไทย นกกินปลีหางยาวสีเขียวสายพันธุ์อ่างกา ซึ่งเป็นนกเฉพาะถิ่นที่พบได้ที่เดียวในโลก รวมทั้งสามารถพบนกเดินดงอกเทา นกพิราบป่าเขาสูง และนกจู๋เต้นจิ๋วได้ที่นี่ เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของคนชอบดูนกควรมาก่อนที่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะทำให้ถิ่นที่อยู่ของนกเหล่านี้เปลี่ยนไป

  • ต้นกำเนิดน้ำ

เป้าหมายของมูลนิธิไทยรักษ์ป่าคือการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิต ด้วยความสูงกว่า 2,550 เมตรจากระดับน้ำทะเลของที่นี่ เรือนยอดของต้นไม้แตะระดับการก่อตัวของเมฆ รับความชุ่มชื้นจากเมฆโดยตรง ผืนป่าอ่างกาจึงชุ่มชื้นอยู่เสมอ ขณะเดียวกันต้นไม้ก็คายน้ำไปในอากาศ ก่อตัวเป็นเมฆ กลายเป็นฝนตกลงบนผืนป่าอีกครั้ง โดยมีเรือนยอดของต้นไม้ช่วยชะลอความแรงของฝน แล้วค่อยๆ ไหลลงสู่ผิวดิน รวมกันเป็นลำธารเล็กๆ ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำสายใหญ่ ผืนป่าอ่างกาจึงเป็นผืนป่าดิบเขาที่กำหนดฝนผ่านการคายน้ำ ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกว่า ‘ป่าเมฆ’ หรือ ‘ป่าฝน’ นั่นเอง

อ่างกา
  • ป่าซ่อมป่า

ป่าซ่อมป่า คือความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ซ่อมแซมตัวเองได้ เป็นรูปแบบหนึ่งของการทดแทนทางนิเวศวิทยา (Ecological Succession) ถึงแม้ลมพายุจะสร้างความเสียหายจนเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของป่า หรือป่าจะถูกทำลายด้วยวิธีใดก็ตาม แต่หากปล่อยไว้โดยไม่มีการรบกวน ป่าดั้งเดิมจะกลับมาอีกครั้ง เพราะธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพจะจัดสรรทุกสรรพชีวิตเพื่อคืนความสมดุลของระบบนิเวศให้กลับมาเสมอ 

ป่าบริเวณนี้เคยมีต้นไม้ใหญ่โค่นล้มถึง 2 ครั้ง เมื่อต้นไม้ล้ม เกิดพื้นที่ช่องว่างในป่า แสงส่องถึงพื้นได้โดยตรง ก็ทำให้ต้นไม้ที่อยู่ข้างล่างเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เมื่อสิ่งหนึ่งหายไปก็มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมาทดแทน เป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตามวัฏจักรของธรรมชาติอยู่เสมอ 

อ่างกา

นอกจากการปรับปรุงเส้นทางแล้ว มูลนิธิไทยรักษ์ป่ายังพัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน “อ่างกา Virtual 360 องศา” เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเข้าถึงธรรมชาติในรูปแบบ 360 องศา ผ่านระบบออนไลน์ได้จากที่บ้าน เพื่อขยายขอบเขตความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมให้กว้างไกลยิ่งขึ้น ช่วยให้ผู้ชมที่อยู่ห่างไกลได้เข้าถึงความรู้และรับชมความงามของธรรมชาติที่ดอยอินทนนท์ได้ในมุมมองใหม่ เพราะทั้งเว็บแอปพลิเคชัน อ่างกา Virtual 360 องศา และวิดีโอเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ล้วนเป็นมุมมองที่แม้จะเดินทางไปถึงที่ก็อาจจะไม่ได้เห็นทุกภาพด้วยตาตัวเอง 

เข้าชมเว็บแอปพลิเคชัน อ่างกา Virtual 360 องศา https://thairakpa.org/angkha/index.htm

อ่างกา

หรือรับชมคลิปวิดีโอเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนผืนป่าเมฆ 3 แห่ง ได้แก่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยอินทนนท์ และเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ได้ที่นี่ https://youtu.be/0H4MOVOL6Q

เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา 
ที่อยู่ : ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
แผนที่ : https://goo.gl/maps/nN74ERpUtd11hh7ZA
ระยะทาง : 320 เมตร

Writer

Photographer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.