ขยะทางการเกษตรถือเป็นปัญหาใหญ่ที่รบกวนสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน เพราะกระบวนการกำจัดล้วนก่อให้เกิดมลพิษที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าขยะเหล่านี้จะกลายเป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณค่าแทนที่จะเผาทิ้งไปเปล่าๆ
Takachar สตาร์ทอัปสู้สภาพภูมิอากาศจากเมืองบอสตัน ใช้เทคโนโลยี Torrefaction (กระบวนการทางเคมีสำหรับผลิตเชื้อเพลิง) แบบไม่ใช้ออกซิเจน ผ่านเครื่องจักรที่มีขนาดเล็กและต้นทุนต่ำ ในการเปลี่ยนของเสียเหล่านี้ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงและปุ๋ย
นอกจากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะลดการเกิดควันได้มากถึง 98 เปอร์เซ็นต์ของการเผาไหม้แบบปกติ กระบวนการนี้ยังสร้างรายได้ให้เกษตรกรด้วย เพราะขยะการเกษตรที่เต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์และเหมาะกับการนำมาแปลงเป็นเชื้อเพลิงเหล่านี้จากทั่วโลกถูกประเมินว่ามีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านเหรียญ
“อุปกรณ์ของเรามีต้นกำเนิดมาจากการคั่วเมล็ดกาแฟสไตล์ฝรั่งเศส ที่ใช้วิธีการควบคุมอากาศในการอบ วิธีการนี้จะดึงโมเลกุลที่มีพลังงานต่ำออกมา และเหลือไว้แต่วัตถุดิบที่อุดมด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งสามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงหรือปุ๋ยได้” Vidyut Mohan ผู้ร่วมก่อตั้งของ Takachar กล่าว
อันที่จริงเทคโนโลยี Torrefaction ถูกใช้อย่างแพร่หลายมาแล้วกว่าศตวรรษ ซึ่ง Takachar หวังว่าจะทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวเข้าถึงเกษตรกรทั่วไปได้มากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล และเมื่อไม่นานมานี้ก็เพิ่งประสบความสำเร็จในโครงการนำร่องที่เคนยา ที่นำข้าวสารตกค้างมาเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงและจำหน่ายให้กับเกษตรกรกว่า 5,000 ราย และกำลังมองหาความเป็นไปได้สำหรับการขยายบริการในเชิงพาณิชย์
และเมื่อเดือนที่ผ่านมา สตาร์ทอัปจากบอสตันก็เพิ่งคว้ารางวัล Earthshot งานประกวดด้านสิ่งแวดล้อมที่จัดขึ้นโดยเจ้าชายวิลเลียม และเคต มิดเดิลตัน ดยุกและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เพราะเวทีนี้มองว่า Takachar แสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ ในการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง Freethink ก็ได้ยกย่องความสำคัญของการประกวดเวทีนี้ว่าเปรียบเสมือนออสการ์ของวงการสิ่งแวดล้อมเลยทีเดียว
ด้าน Mohan บอกว่ารางวัลนี้มีความหมายกับพวกเขามากๆ เพราะเปิดโอกาสในการยกระดับ Takachar ให้เป็นโครงการระดับโลก และยังทำให้เข้าถึงการสนับสนุนและแหล่งเงินทุนที่สำคัญ ซึ่งจำเป็นมากสำหรับภารกิจเปลี่ยนโลกในครั้งนี้