หากพูดถึงการชมงานศิลปะในไทย ภาพแรกที่ผุดขึ้นอาจเป็นภาพแกลเลอรีในห้องแอร์ เงียบสงัด ผนังสีขาวโล่งขับชิ้นงานให้เด่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เต็มไปด้วยชิ้นงานหลายยุคสมัยพร้อมป้ายอธิบายยาวเหยียด หรือห้องโถงที่มีประติมากรรมตั้งอยู่ตรงกลางให้เราคอยเดินเพ่งพิจารณา
แต่ที่ประเทศเกาหลีใต้เขาไม่ทำกันแค่นั้น
การติดตั้งผลงานศิลปะในประเทศนี้เกิดขึ้นได้ตามท้องถนน จากการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงการจัดโครงการเพื่อจ้างศิลปิน หรือจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนให้ผู้ขอรับการส่งเสริมเท่านั้น แต่ยังมีการออกกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารการออกแบบเมือง ที่สนับสนุนผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมได้อีกด้วย
ในทริปเมืองโซลที่ผ่านมา เราพักอยู่ในย่านกังนัม ถนนซัมซอง ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ (CBD : Central Business District) ของเมืองหลวงประเทศเกาหลีใต้ ทำให้ริมถนนใหญ่ย่านนี้เต็มไปด้วยอาคารใหม่ๆ ทั้งสำนักงานใหญ่ ธนาคาร โรงพยาบาล โรงแรม ศูนย์การค้า รวมไปถึงศูนย์ประชุมและนิทรรศการขนาดใหญ่อย่าง COEX Convention & Exhibition Center โดยย่านนี้อยู่ติดกับถนนเทเฮรัน (Teheran-ro, 테헤란로) ซึ่งเป็นย่านที่เทียบได้กับ Silicon Valley และบริเวณถนนโอลิมปิก ที่เชื่อมต่อไปสู่ โซล โอลิมปิก ปาร์ก (Seoul Olympic Park)
เมื่อมองปราดแรกไปตามข้างถนน จะเห็นแค่ระนาบอาคารที่ร่นระยะเปิดทางเท้ากว้างจนตั้งแถวเดินเป็นบอยแบนด์ยุค 80 ได้ แต่พอสังเกตดีๆ จะเห็นประติมากรรมน้อยใหญ่ตั้งอยู่หน้าอาคารเหล่านี้ โดยแต่ละชิ้นมีความแตกต่างกันไปตามสไตล์ของตนเอง
ตั้งแต่สวนศิลปะ ลูกบาศก์อะลูมิเนียมขนาดใหญ่ คาแรกเตอร์หมีโผล่จากท่อ ไปจนถึงเชอร์รีลูกยักษ์ ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันไปนี้ นอกจากจะสร้างสีสันให้กับพื้นที่สาธารณะแล้ว ส่วนหนึ่งยังมีแนวคิดส่งเสริมความเป็นอาคารองค์กรแต่ละแห่งอีกด้วย
ยกตัวอย่าง อาคารสำนักงานองค์กรรักษาความปลอดภัย ที่มีการตั้งประติมากรรมของมนุษย์ที่โอบกอด เป็นลักษณะของการป้องกันภัยและคุ้มครอง อาคารธุรกรรมที่ตั้งหุ่นหนุ่มนักธุรกิจในสูทสีเขียวกำลังเดินไปทำงานด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม หรือจะเป็นอาคารบริษัทผลิตเหล็กกล้า กับการแสดงวิสัยทัศน์องค์กรด้วยการตั้งประติมากรรมทรงเหลี่ยมที่ใช้วัสดุสะท้อนภาพ หมายความถึงการมีโครงสร้างหลักอันแข็งแรงทนทาน แต่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงปรับสภาพตามสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่สูญเสียแก่นของตนเองไป
งานศิลปะในพื้นที่สาธารณะที่เราพูดถึง ยังรวมไปถึงสิ่งที่สามารถใช้งานได้จริง เช่น ม้านั่งหน้าอาคาร ที่มีลูกเล่นอย่างการหมุนหรือเลื่อนตำแหน่งไปตามรางได้ เก้าอี้รูปไข่ต้ม หรือรูปริมฝีปากก็ยังมี
สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากกฎหมายส่งเสริมวัฒนธรรมและศิลปวัฒนธรรม (문화예술진흥법, มุนฮวาเยซุลจินฮึงบอม) ของประเทศเกาหลีใต้ ในบทบัญญัติข้อที่ 9 ว่าด้วยเรื่องศิลปะจัดวาง เช่น ศิลปะ ณ อาคารสำนักงาน กล่าวโดยสรุปว่า บุคคลที่ต้องการก่อสร้างอาคารในประเภทหรือขนาดไม่น้อยกว่าที่กำหนด ต้องใช้จำนวนเงินสำหรับติดตั้งงานศิลปะ หรือสมทบกองทุนสนับสนุนวัฒนธรรมและศิลปะไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนการก่อสร้างอาคาร จึงเป็นเรื่องปกติของการพบเจองานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ หรือในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางหน้าอาคารขนาดใหญ่ในย่านเศรษฐกิจใหม่ของเมือง
แน่นอนว่าการสนับสนุนทางกฎหมายจากภาครัฐเป็นเรื่องดี แต่ความเป็นกฎหมายก็ต้องยืดหยุ่น มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ที่ตามมาด้วย
ในช่วงแรกเริ่ม ศิลปะโมเดิร์นเป็นกระแสหลักของงานประติมากรรม ทำให้ลักษณะงานศิลปะที่อาคารใหม่หลายแห่งเลือกใช้มีความซ้ำซาก จำเจ อีกทั้งยังทำหน้าที่ได้เพียงประดับตกแต่งในพื้นที่สาธารณะ ไม่สามารถสื่อสารกับบุคคลทั่วไปตามท้องถนนได้ นอกจากนี้ยังมีศิลปินเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการว่าจ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมไปถึงการใช้งานโรงหล่อเดิมๆ ทำให้เป็นปัญหาของการผลิตงานศิลปะสำหรับพื้นที่สาธารณะ
จากปัญหาเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการจัดตั้ง ‘Artworks Deliberative Committee’ หรือคณะกรรมการพิจารณางานศิลปะ ที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมความหลากหลายของงานศิลปะ ทั้งด้านประเภท ราคา ความงาม ความเชื่อมโยงของชิ้นงาน อาคาร และความเป็นย่าน
ถึงแม้เจ้าของชิ้นงานศิลปะสำหรับอาคารนี้จะเป็นเจ้าของอาคาร และมีสิทธิทางจริยธรรมของศิลปิน แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการผลักดันให้ชิ้นงานเหล่านี้มีความเป็นสาธารณะ ด้วยการให้อำนาจแก่คณะกรรมการในการพิจารณาความง่ายในการเข้าถึงงานศิลปะ เพื่อให้พลเมืองสามารถเข้าถึงชิ้นงานได้มากที่สุด และรัฐยังสนับสนุนการดูแลงานศิลปะเหล่านี้ด้วย
นโยบายสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 1972 (พ.ศ. 2515) โดยเริ่มต้นด้วยการเปิดรับความคิดเห็นด้านศิลปะและวัฒนธรรมจากโรงเรียนและองค์กรในด้านนี้ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมและโครงการต่างๆ ของบุคคลทั่วไป ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งกองทุนสนับสนุน การจัดตั้ง ‘กรรมการสนับสนุนงานศิลปะ’ ในแต่ละเมืองหรือจังหวัด การสร้างพื้นที่หรือศูนย์วัฒนธรรม รวมถึงคอยสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญทางศิลป์และองค์กรทางศิลปะ
มากไปกว่านั้น นโยบายนี้ยังถูกผลักดันให้มีผลต่อพื้นที่สาธารณะมากขึ้น เพื่อการปรับปรุงทัศนียภาพของเมืองครั้งใหญ่ในช่วงปี 1982 (พ.ศ. 2525) สำหรับการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกในปี 1988 (พ.ศ. 2531) ซึ่งเกิดการรื้อเมืองเพื่อปรับให้บ้านเมืองดูมีความทันสมัยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับพื้นที่ริมแม่น้ำฮัน สร้างรถไฟสายใหม่ รวมไปถึงการสร้างสนามกีฬาแห่งชาติและบ้านพักนักกีฬาโอลิมปิก
การรื้อเมืองเพื่อความ ‘แลดู’ เฟื่องฟูในยุคนั้น มาพร้อมกับข้อดีและข้อเสีย เพราะการได้สร้างทัศนียภาพงดงาม มีความเป็นนานาชาติให้เมืองหลวงนั้น ต้องแลกมากับการล้างย่านเก่าแก่ออกไปบางส่วน ย้ายพื้นที่อยู่อาศัยเกือบห้าหมื่นครัวเรือนออกจากพื้นที่ และเกณฑ์แรงงานกับทรัพยากรมนุษย์จากเมืองอื่นๆ เข้ามากระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงเพียงเมืองเดียว ถึงแม้เกาหลีใต้ยังมีเมืองอื่นๆ อย่างปูซาน อินชอน หรือกวางจู ที่มีความเจริญด้านเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม แต่ก็ไม่สามารถเทียบเท่าได้กับเมืองหลวงอย่างโซลได้เลย
ปัจจุบันกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารและศิลปะสำหรับอาคารนั้น ยังมีการบังคับใช้เพียงอาคารในประเภทสาธารณะ ได้แก่ อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล ศูนย์การค้า ฯลฯ ทำให้มีอาคารอีกหลายประเภทที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนกับการวางงานศิลปะสำหรับสาธารณชน เช่น อาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารส่วนบุคคล และบางพื้นที่มีการกำหนดเวลาเปิด-ปิดในการเดินเข้าไปชมชิ้นงานใกล้ๆ เพราะผลงานเหล่านี้ไม่ได้มีความเป็นสาธารณะเต็มตัว
นอกจากกฎหมายเหล่านี้แล้ว กรุงโซลยังมีการจัดตั้งโครงการศิลปะร่วมกับองค์กรศิลปะ สถาปนิก โรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อคอยออกแบบ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะภายในเมือง ผ่านแนวคิด ‘Seoul is Museum’ (กรุงโซลคือพิพิธภัณฑ์) โดยเริ่มต้นในปี 2016 (พ.ศ. 2559) ที่ปรับพื้นที่สาธารณะให้กลายเป็นพื้นที่ติดตั้งงานศิลปะ ให้บุคคลทั่วไปเข้าชมและมีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างอิสระ
ไม่ใช่เพียงเมืองนี้หรือประเทศเกาหลีใต้เพียงประเทศเดียวที่งานด้านศิลปวัฒนธรรมได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเข้มข้น ยังมีเมืองอื่นๆ เช่น เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือเมืองลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร ที่สนับสนุนให้มีการติดตั้งงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะของเมือง กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่มีกฎหมายการติดตั้งงานศิลปะสาธารณะภายใต้กฎหมายการวางผังเมือง และเมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ก็มีการสนับสนุนการวาดสตรีทอาร์ตและจิตรกรรมบนผนัง เพื่อสร้างเมืองให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะนอกอาคาร
แม้ความเป็นจริงแล้ว การปรับภูมิทัศน์หรือทัศนียภาพของเมืองจะทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะไม่สามารถปรับไปถึงย่านเมืองเก่าที่คับแน่นหรือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตนเองไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่า แม้แต่การวางกฎหมายผังเมืองก็สามารถสนับสนุนอาชีพสร้างสรรค์และศิลปวัฒนธรรมในเมืองได้เหมือนกัน
เวลาผ่านไป เมืองและเศรษฐกิจต่างพัฒนาไปไม่หยุดหย่อน แต่จะดีกว่าไหม หากภาครัฐสามารถช่วยเหลือให้การพัฒนาเหล่านั้นเติบโตไปในทางที่ดี รวมถึงช่วยพาผู้คนในเมืองให้พัฒนาไปพร้อมๆ กัน
Sources :
Edge Effects | shorturl.at/e5nzB
HOUSING, EVICTIONS AND THE SEOUL 1988 SUMMER OLYMPIC GAMES | shorturl.at/wRj61
Korea Law Translation Center | shorturl.at/60FW1
MMCA Research Lab | shorturl.at/02Qz4
Problems and Solutions to the Regulation for Public Art Support: Case Study on the Artworks for Buildings Policy in South Korea | shorturl.at/mIBRf
World Cities Culture Forum | tinyurl.com/3t4deer4
หากคุณมีชุดภาพถ่ายที่อยากจะร่วมแชร์ในคอลัมน์ Urban Eyes สามารถส่งมาได้ที่