A Katanyu Comedy Club คลับของคนรักเสียงหัวเราะ - Urban Creature

‘อยากดู Stand-up Comedy ต้องไปที่ไหน’

สำหรับคำถามนี้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราคงหยุดคิดไปหลายนาที เพราะ ‘Stand-up Comedy Club’ ในไทยที่พอจะรู้จักหรือหาข้อมูลได้ส่วนใหญ่เป็นคลับที่แสดงโดยชาวต่างชาติอย่าง ‘The Comedy Club Bangkok’ หรือ ‘Khaosan Comedy Club’ นั่นแปลว่าถ้าคุณจะชมการแสดงประเภทนี้ ต้องฟังภาษาอังกฤษออก และเข้าใจมุกตลกของพวกเขา

แต่หลังจากวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา คงเป็นวันที่เราพูดได้เต็มปากว่าหากต้องการดูโชว์ตลกในรูปแบบ ‘Stand-up Comedy’ โดยนักแสดง Stand-up Comedian ชาวไทย ให้คุณเดินทางไปที่โครงการ Space & Co หลังห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ แล้วคุณจะพบกับ ‘A Katanyu Comedy Club’ คลับเล็กๆ ของคนรักเสียงหัวเราะที่ซ่อนตัวอยู่บนชั้น 2 โดยมี ‘ยู-กตัญญู สว่างศรี’ เป็นหัวหอกสำคัญในการเนรมิตขึ้นมา

A Katanyu Comedy Club

จากความตั้งใจเดิมที่แค่ต้องการย้ายทำเลร้านกาแฟ Katanyu Coffee กลับกลายเป็นการปรับคอนเซปต์ครั้งใหญ่สู่ A Katanyu Comedy Club สถานที่ที่เปิดพื้นที่ให้ Stand-up Comedian ในไทยที่ไม่ว่าจะเป็นหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ มีประสบการณ์หรือไม่มีประสบการณ์ ได้มีโอกาสส่งต่อความสนุกและเสียงหัวเราะไปยังผู้ชมกว่า 40 ที่นั่งในทุกค่ำคืนที่เปิดทำการ

จากร้านกาแฟ สู่คลับที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ

“จุดเริ่มต้นของที่นี่จริงๆ แล้วคือการปรับตัวของธุรกิจร้านกาแฟ”

ยูเริ่มต้นเล่าว่าแต่เดิมเขาไม่ได้ตั้งใจจะสร้างที่นี่ให้เป็น A Katanyu Comedy Club อย่างที่เห็นทุกวันนี้ แต่เป็นร้านกาแฟที่โยกย้ายจากถนนบรรทัดทอง เนื่องจากขาดทุนสะสมต่อเนื่องจากภาวะโควิด-19 เขาจึงตัดสินใจมองหาที่ตั้งร้านใหม่ที่ไม่ไกลจากเดิมมาก เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและรองรับลูกค้าที่มากขึ้น

จากการเสิร์ชหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ทำให้ยูพบเข้ากับที่นี่ ในตอนแรกเขาและบาริสต้าของร้านมองว่ามันเป็นทำเลที่ค่อนข้างไม่เหมาะกับการทำร้านกาแฟ เนื่องจากตั้งอยู่บนชั้น 2 ยากต่อการมองหาร้าน ทว่าสุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกที่นี่

“แม้ว่าทำเลที่ตั้งดูไม่ค่อยโอเคกับการเปิดร้านกาแฟเท่าไหร่ แต่ใจเราวนเวียนอยู่กับที่นี่แล้ว เพราะรู้สึกว่าบรรยากาศมันดี แค่เอาเก้าอี้มาวางก็น่าจะเล่น Stand-up Comedy ได้ ถ้าอยู่รอดคงเจ๋งไปเลย แต่ถ้าไม่รอดก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวค่อยปรับตัว ว่ากันใหม่” ยูเล่าถึงความรู้สึกในตอนนั้น


ด้วยเหตุนี้ จากแพลนที่แค่ย้ายทำเลร้านกาแฟ จึงจับพลัดจับผลูเปลี่ยนมาเป็นคลับที่พร้อมสร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้ผู้คนในทุกค่ำคืน ด้วยระยะเวลาการเตรียมร้านเพียง 22 วันเท่านั้น! 

“เราไม่ได้มีความฝันอะไรใหญ่โต เราแค่เคยดูหนังใน Netflix ที่มีซีนเป็นฉาก Comedy Club แล้วเรารู้สึกว่ามันโรแมนติก อยากเล่นตลกบนเวทีแล้วมีคนเฮ คนหัวเราะ เราอยากเห็นตัวเองเป็นแบบนั้นบ้าง”

พื้นที่ลองไมค์ของ Comedian รุ่นใหม่

แต่หากคุณสงสัยว่า แล้วทำไมต้องเป็น Stand-up Comedy Club ด้วยล่ะ?

เราคงต้องย้อนกลับไปที่ชั้นบนของร้านหนังสือเล็กๆ อย่าง Zombie Book ในปี 2016 ที่ยูได้มีโอกาสหยิบไมค์ลองเล่น Stand-up Comedy เป็นโชว์แรก

“ตอนนั้นพื้นที่เล็กกว่าที่นี่อีก นั่งเบียดๆ กันประมาณสามสิบสี่สิบคน พูดตรงๆ ว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเหมือนกัน มันทำให้เกิดอิมแพกต์บางอย่าง ที่สุดท้ายทำให้เราได้สร้างโชว์เพิ่มเติม”

จากพื้นที่เล็กๆ ที่เล่นเพียงคนเดียว กลายเป็นอีเวนต์ที่ใหญ่ขึ้น ยูเริ่มชวนพี่ๆ น้องๆ คนรู้จักที่สนใจศาสตร์การแสดงและเซนส์ความตลกแบบ Stand-up Comedy มาลองเล่นโชว์ดูบ้าง หนึ่งในนั้นคือ ‘แก๊ป-คณีณัฐ เรืองรุจิระ’ จาก G Village Co-Creation Hub ที่ได้กลายมาเป็นสหาย Stand-up Comedy คนสำคัญของยู

หลังจากแลกเปลี่ยนบทสนทนาและเล่นด้วยกันมา ทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันว่าในประเทศไทยควรมีพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ Stand-up Comedian รุ่นใหม่ได้แสดงออกในสิ่งที่เขาชื่นชอบได้แล้ว กลุ่ม ‘ยืนเดี่ยว’ จึงถือกำเนิดขึ้น กลายเป็นคอมมูนิตี้ของเหล่า Stand-up Comedian รุ่นใหม่ที่มารวมตัวกัน จนยูกับแก๊ปเริ่มเห็นว่าที่จริงแล้วมีคนให้ความสนใจวงการนี้ไม่น้อย 

หัวหอกของคลับเล่าว่า อาจเพราะมีสื่อต่างประเทศให้เสพเยอะขึ้น อีกทั้งผู้ชมก็เปิดใจมากขึ้นด้วย ทำให้ที่ผ่านมามี Comedian หน้าใหม่ที่เข้าร่วมกับยืนเดี่ยวเพิ่มขึ้นเกือบ 100 คน

“ถึงอย่างนั้น พอเราทำตรงนี้มาสักสองถึงสามปี แม้ว่ายืนเดี่ยวจะเป็นพื้นที่ที่เจ๋งมาก ด้วยความที่มันเป็น Event Based หนึ่งเดือนจะจัดงานสักครั้ง ก็ทำให้คนเล่นไม่มีโอกาสเล่นซ้ำๆ เพื่อฝึกฝนทักษะบ่อยๆ”

ประจวบเหมาะกับการเปิดเมืองหลังจากทุกอย่างหยุดชะงักเพราะโควิด-19 ไปนานกว่า 2 ปี การที่มีคนใหม่ๆ มาสนใจ Stand-up Comedy เยอะขึ้น แต่ไม่มีพื้นที่ฝึกซ้อมเท่าที่ควร บวกกับเหตุผลการปรับธุรกิจของตัวเอง ทำให้ยูตัดสินใจเปิด A Katanyu Comedy Club ขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ที่เหล่า Comedian ใช้ในการลับคมอาวุธของตัวเอง ในขณะที่ยังคงเป็น Co-founder ของ ‘ยืนเดี่ยว’ ไปพร้อมๆ กัน

“ยืนเดี่ยวยังเป็นอีเวนต์ที่ดีสำหรับการเล่น Stand-up Comedy แต่ A Katanyu Comedy Club จะเป็นเหมือนพื้นที่ซ้อมที่ Comedian มาเล่นได้ทุกคืน หรือกระทั่งเป็นจุดพบปะของคนที่สนใจคัลเจอร์แบบนี้” ยูกล่าว

เปิดเวที สร้างอาชีพ สร้างรายได้

อีกหนึ่งความพิเศษของ A Katanyu Comedy Club คือไม่มีการเก็บค่าเข้าชมในวันธรรมดา ขอแค่ซื้อเซตอาหารกับเครื่องดื่ม 1 เซตสนับสนุนร้านเสียหน่อย ก็นั่งดูโชว์จาก Comedian ที่หมุนเวียนกันขึ้นมาจับไมค์ได้ตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน 

ภายในโชว์มีตั้งแต่การเปิดให้ Comedian หน้าใหม่มีโอกาสลองไมค์ สลับกับการคัดเลือกคนที่น่าสนใจมาขึ้นแสดง และในแต่ละสัปดาห์จะมีโชว์พิเศษที่เก็บค่าเข้าชมผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป 

A Katanyu Comedy Club

“ถ้าคุณอยากเล่น เราก็เปิดให้เล่นฟรี เตรียมบทมาสักสิบถึงสิบห้านาที แล้วทักมาในเพจได้ เดี๋ยวจัดคิวให้ขึ้นเล่นเลย ส่วนวันอื่นๆ เราจะหาคนเก่งมาเล่น ให้เป็นเหมือนร้านเหล้าที่จ้างนักดนตรีมืออาชีพมาเล่น แต่เราไม่ได้จ้างนักดนตรี เราจ้างคนเล่น Stand-up Comedy มาเล่นแทน” 

ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังดูเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การแสดงแบบเดี่ยวไมโครโฟนกลายเป็นอาชีพหลักที่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากงานอื่นประกอบ แต่สิ่งที่ยูและ A Katanyu Comedy Club กำลังทำคือการพยายามทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงในอนาคต

“เราแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งจากการขายบัตรให้ Comedian สมมติบัตรราคาสามร้อยบาท เราจ่ายร้อยห้าสิบบาทให้ Comedian ที่มาแสดงเลย ที่เหลือค่อยเอามาจ่ายค่าอาหารเครื่องดื่ม ให้มีกำไรบางส่วนเข้าร้านบ้าง”

เพราะสุดท้ายแล้วความตั้งใจจริงของยูคือการสนับสนุนเหล่า Comedian ให้สามารถทำโชว์แบบเต็มชั่วโมงขึ้นมาได้ในอนาคต รวมถึงทำให้คนเลือกมาชม Stand-up Comedy เพื่อการผ่อนคลายไม่ต่างจากการออกไปชมหนังในโรงภาพยนตร์

ถึงตอนนั้นจริง เสียงหัวเราะคงดังลั่นเมือง

A Katanyu Comedy Club

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.