7 ทัวร์สายดาร์ก เรียนรู้จากอดีตอันโหดร้ายทั่วโลก - Urban Creature

มนุษย์เรียนรู้จากความผิดพลาด แต่หลายครั้งประสบการณ์อันเจ็บปวดก็ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลย

ภาพถ่ายขาวดำบันทึกนาทีที่เด็กหญิงเนื้อตัวล่อนจ้อน วิ่งร้องไห้ตื่นตระหนกออกมากลางถนน ท่ามกลางเหล่าทหารถือปืนและเด็กน้อยที่กำลังหนีตาย ท้องฟ้าทะมึนไปด้วยหมู่ควันจากระเบิดนาปาล์มของสหรัฐฯ เป็นภาพถ่ายอันโด่งดังที่ถูกตีพิมพ์ไปทั่วโลกเมื่อปี 1972

“ใน​สงคราม​ไม่​มี​ผู้​ชนะ มี​แต่​ผู้​แพ้​เท่า​นั้น” แม้สงครามจบลงแต่บาดแผลที่ฝังลึกของผู้คนยังคงอยู่ ครอบครัวต้องพลัดพราก หลายคนต้องลี้​ภัยจากบ้านเกิดเมืองนอน เด็กๆ กำพร้าพ่อแม่ หรือพ่อแม่บางคนต้องฝังศพลูกตัวเอง ผู้รอดชีวิตต้องอยู่กับความทุกข์ทนทางกายและแผลเป็นในใจ

24 ปีหลังจากสงครามครั้งนั้น ‘Kim Phuc’ เด็กหญิงชาวเวียดนามในภาพ ขึ้นกล่าวในวันทหารผ่านศึกที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. “เราไม่สามารถเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ ฉันแค่อยากให้คุณระลึกถึงโศกนาฏกรรมที่เคยเกิดขึ้น เพื่อหยุดยั้งสงครามที่ปลิดชีวิตผู้คนซึ่งยังคงเกิดขึ้นบนโลก เราควรพยายามทำสิ่งที่ดีเพื่อปัจจุบันและอนาคต เพื่อสันติภาพ”

เราจะพาไปทัวร์ 7 สถานที่ชวนหดหู่ทั่วโลก ที่บอกเล่าถึงความโหดร้ายของสงครามและภัยพิบัติครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ อนุสรณ์สถาน ไปจนถึงสถานที่จริงๆ ที่เปิดให้คนทั่วไปได้มาสัมผัสและเรียนรู้ แม้เราจะเปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ แต่เราเรียนรู้จากอดีตเพื่อทำปัจจุบันและอนาคตให้ดีขึ้นได้

| 01 Memorial to the Murdered Jews of Europe

Berlin, Germany

อนุสรณ์สถานที่มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘Holocaust Memorial’ เปิดให้เข้าชมในปี 2005 ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ออกแบบโดยสถาปนิก Peter Eisenman แท่นคอนกรีต 2,711 แท่น ดูคล้ายโลงศพ บนพื้นที่ 19,000 ตารางเมตร สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซี ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีเหยื่อกว่า 6 ล้านคน แท่นคอนกรีตตั้งตรงเป็นตารางอย่างเป็นระเบียบดูเคร่งขัด ระหว่างแท่นคอนกรีตเว้นช่องทางเดินแคบๆ ให้ความรู้สึกอึดอัดสะท้อนถึงอิสรภาพที่ถูกริดทอน หากได้มาชมอนุสรณ์แห่งนี้แล้ว อย่างลืมแวะ ‘Jewish Museum’ พิพิธภัณฑ์ที่โดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรม ตัวอาคารออกแบบโดย Daniel Libeskind เจาะช่องแสงคล้ายกับรอยกรีด สื่อถึงรอยแผลจากการถูกเฆี่ยนตีทรมาน ถ่ายทอดเรื่องราวและความรู้สึกของชาวยิวทั้งร่างกายและจิตใจ

| 02 Auschwitz-Birkenau Memorial and Museum

Oświęcim, Poland

ค่ายกักกัน ‘Auschwitz-Birkenau’ เป็นค่ายกักกันนาซีที่ใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของโปแลนด์ ซึ่งยุคนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของนาซีเยอรมัน เปิดเป็นอนุสรณ์และพิพิธภัณฑ์ในปี 1947 หากใครเคยดูหนังเรื่อง ‘The Boy in the Striped Pajamas’ ต้องได้มาเห็นภาพถ่ายของเหล่านักโทษ ข้าวของที่ยังคงเหมือนเดิม และสถานที่จริงให้เห็นกับตา เหนือประตูทางเข้าทำจากเหล็กดัดเป็นภาษาเยอรมัน เขียนว่า “Arbeit Macht Frei” หมายถึง “การทำงานจะนำไปสู่อิสรภาพ” ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น ค่ายกักกันแห่งนี้ มีผู้ต้องขังทั้งชาวยิว ทหารรัสเซีย ไปจนถึงชาวโปแลนด์ที่ต่อต้านเยอรมัน นอกจากนี้ ยังมีทางรถไฟที่ขนชาวยิวมายังค่ายกักกันอีกแห่งชื่อ ‘Auschwitz II – Birkenau’ พื้นที่สังหารชาวยิวและนักโทษชาติต่างๆ ร่วม 1.5 ล้านชีวิต โดยรมแก๊สพิษจนตาย

| 03 Chernobyl

Pripyat, Ukraine

‘เชอร์โนบีล’ คือเมืองที่เกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดเมื่อปี 1986 การระเบิดทำให้สารกัมมันตรังสีคร่าชีวิตประชาชนกว่า 4,000 คน และต้องอพยพฉุกเฉินออกจากพื้นที่นั้นมากกว่า 3 แสนคน ถือเป็นโศกนาฏกรรมจากภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ที่รุนแรงที่สุดในโลก เมื่อปี 2010 ทางการยูเครนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเมืองเชอร์โนบิล เฉพาะโซนปลอดภัยที่มีที่รังสีอยู่ในระดับต่ำมากเท่านั้น โดยต้องปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามเดินเข้าป่า ห้ามออกนอกเส้นทาง ห้ามลงไปนอนกับพื้น และห้ามเก็บผลไม้ไปรับประทาน บรรยากาศเงียบเชียบชวนเศร้าหมอง ภายในเมืองมีชิงช้าสวรรค์ในสวนสนุกถูกทอดทิ้ง โต๊ะเรียนในโรงเรียนอนุบาลที่ว่างเปล่า  สระว่ายน้ำรกร้างภายในสปอร์ตคอมเพล็กซ์ ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ทรุดโทรม ไปจนถึงตุ๊กตาเด็กและหน้ากากป้องกันแก๊สพิษที่วางระเกะระกะ

| 04 Karosta Prison Hotel

Liepāja, Latvia

เรือนจำของพรรคนาซีและกองกำลังโซเวียตในเมืองลีพาจา ประเทศลัตเวีย ที่กลายมาเป็นโรงแรมตั้งแต่ปี 1997 โดยยังคงสภาพทุกอย่างไว้เหมือนเดิม เพื่อให้ทุกคนได้มาสัมผัสชีวิตแสนรันทดของเหล่านักโทษ เริ่มจากเช็คอินกับผู้คุมเรือนจำและเดินทัวร์คุกที่จะบอกเล่าประวัติอันน่าสะพรึงกลัวในแต่ละจุดของที่นี่ นอนบนฟูกเก่าๆ ในห้องขัง พร้อมเสิร์ฟมื้อเช้าแบบเดียวกับอาหารนักโทษ แน่นอนว่าพนักงานบริการจะน่าประทับใจเสมือนผู้คุมนักโทษตัวจริง หากขัดขืนหรือขัดคำสั่งก็จะมีการลงโทษ ไล่ไปทำความสะอาด หรือบำเพ็ญประโยชน์อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นคือประสบการณ์ชวนขนหัวลุก เพราะสถานที่แห่งนี้มีคนตายในคุกไม่ต่ำกว่า 100 คน บ้างก็ถูกสังหารด้วยการยิงเข้ากลางศีรษะ แถมมีตำนานเรื่องผีมากมาย เช่น หลอดไฟร่วงลงมาอย่างไร้สาเหตุ เสียงลากโซ่ตรวน ประตูห้องขังเปิดเอง หรือแม้แต่เสียงร้องโหยหวน

| 05 Tuol Sleng Genocide Museum

Phnom Penh, Cambodia

‘ตวลสแลง’ คือคุกในยุคเขมรแดงที่เข้ายึดกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และกวาดล้างชาวเขมรกว่า 3 ล้านคน เพื่อสังคมในอุดมคติที่ทุกคนต้องอยู่ในชนชั้นแรงงานด้วยอุดมการณ์สุดโต่ง ตวลสเลงเคยเป็นโรงเรียนที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นคุก ด้วยกฎเหล็ก 10 ข้อของผู้ที่ถูกคุมขัง เช่น ห้ามแสดงท่าทีหรือคำพูดที่แสดงถึงการต่อต้าน, ระหว่างทำโทษห้ามร้องไห้ ห้ามส่งเสียง, อย่าพยายามซ่อนความรู้สึกเพราะจะแสดงถึงการต่อต้าน หากฝ่าฝืนกฎเหล่านี้ จะถูกทรมานและนำไปฆ่าทันที ปัจจุบัน ตวลสเลงถูกบูรณะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ภายในห้องมีเตียงจริง ห้องเรียนที่ถูกแบ่งเป็นซอยคุมขังกั้นกรงติดๆ กันเหมือนคอกหมู และภาพที่แสดงถึงการทรมานอันโหดร้ายทารุณ รวมถึงรูปถ่ายของผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมาก แม้แต่หญิงสาวนักโทษที่กำลังอุ้มลูก หรือภาพของเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ

| 06 War Remnants Museum

Ho Chi Minh, Vietnam

พิพิธภัณฑ์สงครามตั้งอยู่ในอาคารเก่าของรัฐบาลอเมริกา ในเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เปิดให้ชมครั้งแรกในปี 1975 เพื่อรำลึกถึงผลพวงอันขมขื่นของสงครามเวียดนาม ในช่วงที่แบ่งประเทศเป็นเวียดนามเหนือหรือคอมมิวนิสต์ กับเวียดนามใต้ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ทำสงครามเผชิญหน้ากันเอง ภายนอกอาคารจัดแสดงอาวุธสงคราม ตั้งแต่เฮลิคอปเตอร์ ขีปนาวุธ รถถัง เครื่องบินจู่โจม ไปจนถึงระเบิดของกองทัพอเมริกันที่ฝ่ายเวียดกงยึดมาได้ ส่วนภายในอาคารจัดแสดงภาพถ่ายเหตุการณ์จริงของสงคราม และส่วนแสดงคุกที่จำลองมาจากคุกในเกาะ Côn Sơn โดยมีเครื่องประหารกิโยติน กรงเสือที่ใช้คุมขังนักโทษการเมือง นอกจากนี้ยังมีส่วนแสดงเกี่ยวกับอาวุธเคมีอย่าง ‘ฝนเหลือง’ สารกำจัดวัชพืชชนิดรุนแรงที่ทหารอเมริกันใช้ฉีดพ่นเพื่อทำลายป่าที่หลบซ่อนของทหารเวียดกง

| 07 Hellfire Pass Memorial Museum

Kanchanaburi, Thailand

พิพิธภัณฑสถานแห่งความทรงจำ ช่องเขาขาด จ.กาญจนบุรี ประเทศไทย เปิดครั้งแรกเมื่อปี 1996 เพื่ออุทิศให้กับเชลยศึกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นยกกองทัพเข้ามาประเทศไทย และเกณฑ์เชลยศึกมาสร้างทางรถไฟเพื่อส่งกองกำลังทหารของญี่ปุ่นเข้าประเทศพม่า เหล่าเชลยศึกและคนงานต่างทุกข์ทรมานและเสียชีวิตในระหว่างการสร้างทางรถไฟ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า ‘ทางรถไฟสายมรณะ’ บริเวณช่องเขาขาดหรือ ‘ช่องไฟนรก’ เป็นเส้นทางที่ก่อสร้างยากลำบากที่สุด เพราะต้องเจาะเขาที่มีความยาวกว่า 110 เมตร สูงชัน 17 เมตร ส่วนใหญ่เป็นเชลยศึกออสเตรเลียกว่า 400 คน ต้องทำงานวันละ 16-18 ชั่วโมง ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงเรื่องราวสงครามโลกครั้งที่ 2 ความทุกข์ยากของเชลยศึกผ่านข้าวของต่างๆ เช่น จดหมาย เสื้อผ้า แผนที่ และเครื่องไม้เครื่องมือในการสร้างทางรถไฟ

Content Writer : Angkhana N.
Grapher Designer : Sasisha H.

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.