6 หนังสือเข้าใจความเป็นคน - Urban Creature

ความเสมอภาคและความเป็นธรรม คือสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนบนโลกควรได้รับ แต่น่าเศร้าเสียจริงที่ปัญหาสังคมหลากข้อกลับพรากสิ่งที่ประชาชนควรได้รับไป ทั้งการถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในฐานะประชาชน รวยกระจุกจนกระจายคือความเหลื่อมล้ำในแต่ละชนชั้น ผู้หญิงและ LGBTQ+ ยังถูกกดทับทางเพศ หรือแม้แต่เด็กๆ ก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ง่ายจากคนใกล้ตัว

6 หนังสือน่าอ่านที่เราจะแนะนำดังต่อไปนี้ อาจช่วยคุณตกตะกอนความคิด สะกิดความเข้าใจเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในการเกิดมาเป็นคนได้ไม่มากก็ (ไม่) น้อย


Common Sense สามัญสำนึก

ผู้เขียน : โธมัส เพน | ความเหลื่อมล้ำของชนชั้น

“ระบบคุณธรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะระบบอุปถัมภ์หนาแน่น ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จึงไม่อาจมีได้ เพราะผู้มีอำนาจส่วนน้อยครอบงำหมดแล้ว”

ประโยคในหนังสือ ‘Common Sense สามัญสำนึก’ ชวนเราขบคิดว่า แม้หนังสือจะตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1776 ในอเมริกา แต่ผ่านมาแล้ว 244 ปี กลับยังใช้ได้ในบริบทการเมืองบางประเทศ

หนังสือเล่มนี้ชี้ปัญหาความไม่ชอบธรรมช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เมื่ออเมริกาถูกปกครองโดยรัฐบาลภายใต้ระบอบกษัตริย์จอร์จที่ 3 ของอังกฤษ อันส่งผลกระทบด้านความเหลื่อมล้ำต่อชาวอาณานิคม และเกิดการตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่าควรปกครองเพื่อส่วนรวมมากกว่าอภิสิทธิ์ชน ดั่งเช่นประโยค “อังกฤษมีหนี้สิ้นท่วมหัวกว่าหนึ่งร้อยสี่สิบล้านปอนด์สเตอร์ลิง ทั้งต้องจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าสี่ล้านปอนด์ สิ่งที่ชดเชยแก่หนี้สิ้นก้อนนี้คือกองทัพนาวีขนาดมหึมา” หรือ “มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีมนุษย์คนไหนพึงมีสิทธิแต่กำเนิดในอันที่จะยกยอตระกูลของตนให้มีอภิสิทธิ์ถาวรเหนือคนทั้งปวงตลอดไป” ซึ่ง Common Sense สามัญสำนึก นับเป็นรากฐานให้คนอเมริกาตระหนักถึงสิทธิและความเสมอภาค ไปสู่การประกาศอิสรภาพจากอังกฤษจนเป็น ‘สหรัฐอเมริกา’ แต่นั้นมา


On People ว่าด้วยประชาชน

ผู้เขียน : ธเนศ วงศ์ยานนาวา | คำว่าประชาชนที่ไม่ได้รวมคนทุกคน

“โรมันจะใช้คำว่าเผด็จการ ขณะที่กรีกโบราณจะใช้คำว่าทรราช แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบใด ต่างก็สร้างความหวาดกลัวอย่างมาก เนื่องจากอำนาจการปกครองของเผด็จการนั้นตรวจสอบและถ่วงดุลไม่ได้”

ธเนศ วงศ์ยานนาวา คือเจ้าของประโยคเจ็บแสบนี้และอีกหลายประโยคสะท้อนการเมืองที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องยาวลงบนหนังสือ ‘On People ว่าด้วยประชาชน’ ที่อ่านจบแล้วอาจทำให้คุณเผลอพูดออกมาดังๆ ว่า “จริงด้วยว่ะ”

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สมมติ ที่หวังให้ผู้อ่านทุกท่านค้นหาความหมายที่แท้จริงของคำว่า ประชาชน ตั้งแต่ยุคโรมันโบราณ จนถึง เอ็มมานูเอล โจเซฟ ซีเยส โดยแต่ละหน้าของหนังสือจะค่อยๆ ชำแหละ จิกกัด ถึงความแตกต่างทางชนชั้นว่าทำไมผู้มีอำนาจ นักการเมือง หรือ รัฐบาล ถึงไม่อยากให้คนจนเลิกจน ทั้งๆ ที่ประกาศเสียงกึกก้องอยู่เสมอว่ามีหน้าที่ ‘ดูแลประชาชน’ ตั้งแต่หาเสียง ปราศรัย และดำรงตำแหน่ง เช่นเดียวกับในรัฐธรรมนูญคำว่าประชาชนก็ถูกเชิดชูว่าทุกสิ่งเป็นไปเพื่อประชาชน แต่ตลกร้ายไม่เบาที่ในอดีตจนถึงปัจจุบันคำว่าประชาชนก็ยังไม่ได้รวมคนจนหรือผู้หญิงเข้ามาด้วยในหลายเหตุการณ์


ห้องส่วนตัว A Room of One’s Own

ผู้เขียน : เวอร์จิเนีย วูลฟ์ | พื้นที่ของผู้หญิงที่หายไป

“ผู้หญิงไร้ตัวตน ยกเว้นในนวนิยายที่เขียนโดยผู้ชาย”

หากนึกไม่ออกว่ายุควิคตอเรียผู้หญิงไร้บทบาท ไร้พื้นที่ ไร้สวัสดิการ และไร้โอกาสในสังคมเพียงใด เวอร์จิเนีย วูลฟ์ จะพาคุณไปยืน ณ ช่วงเวลาเหล่านั้น ตั้งแต่บทแรกยันตัวหนังสือตัวสุดท้ายใน ‘ห้องส่วนตัว A Room of One’s Own’ เล่มนี้

หนังสือเล่มนี้ดำเนินเรื่องในยุคที่ผู้หญิงถูกตีกรอบไว้ โดยมีตัวละครหลักชื่อเดียวกัน ได้แก่ แมรี เบตัน, แมรี เซตัน และ แมรี คาร์ไมเคิล เพื่อสื่อว่ายุคนั้นมองผู้หญิงแค่แบบเดียว แม้พวกเธอจะต่างกัน โดยหนังสือจะค่อยๆ กระเทาะความรู้สึกให้เห็นถึงความยากจนของผู้หญิงตั้งแต่เกิด หรือผู้หญิงที่ต้องรอคอยมรดกจากฝั่งผู้ชายถึงจะอยู่รอด เพราะไร้สิทธิ์ในการเข้าถึงการเรียน ห้องสมุดก็เปิดให้แค่ผู้ชายและผู้หญิงนามสกุลคนรวย แม้แต่อาชีพก็ทำได้แค่ทำดอกไม้ประดิษฐ์ ทำความสะอาด หรือเป็นครูสอนเด็กอนุบาล ที่น่าเจ็บใจคือหากผู้หญิงคนใดมีโอกาสที่ดี ได้เป็นนักเขียน และออกมาพูดความจริงว่าผู้ชายกำลังกดขี่เธออยู่ จะโดนหาว่าหลงตัว และถูกแอนตี้ทันที

“ทนายความที่มีรายได้แสนๆ ปอนด์มีคุณค่ามากกว่าผู้หญิงรับจ้างทำความสะอาด” จากประโยคนี้ในหนังสือ พอเห็นภาพมากขึ้นไหม ว่าการลดทอนคุณค่าของผู้หญิงยุคนั้น ยังคงดังอย่างน่าเศร้าในยุคนี้


ผีเสื้อของตั๋วตั่ว

ผู้เขียน : ซิ่งเจียฮุ่ย | ปัญหาคุกคามทางเพศในเด็ก

“ตั๋วตั่วมักตกใจขึ้นกลางดึกพร้อมเสียงกรีดร้อง สัตว์ประหลาดที่ขโมยผีเสื้อก็ไล่ตามเธอมาในฝัน แก้มของเธอเปียก แต่เธอไม่กล้าบอกคุณแม่”

ในไต้หวันมีอาชญากรรมเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศในวงกว้าง ซิ่งเจียฮุ่ย นักสิทธิมนุษยชนเด็กในไต้หวัน จึงเขียน ‘ผีเสื้อของตั๋วตั่ว’ ให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองร่วมอ่านไปพร้อมๆ กัน เพื่อรู้เท่าทันและปกป้องเด็กทุกคนให้พ้นจากการถูกคุกคาม

นิทานภาพสำหรับเด็กเล่มนี้ เล่าผ่าน ‘ตั๋วตั่ว’ เด็กร่าเริง ชอบนั่งชิงช้า มองดูผีเสื้อ อาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยว จนกระทั่งวันที่ผู้ชายคนหนึ่ง เข้ามาเป็นพ่อเลี้ยงใจร้าย แอบลวนลาม แตะเนื้อต้องตัว และขู่ไม่ให้บอกแม่ ทำให้ความสดใสของตั๋วตั่วหายไปจนแม่ผิดสังเกต ต้องหาหนทางนำความสดใสของตั๋วตั่วกลับมา ซึ่งภายในหนังสือจะมีคู่มือการใช้แนบมา ได้แก่ ข้อมูลการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก นิยามการคุกคามทางเพศ การป้องกันและรู้เท่าทัน การเผชิญหน้าและการพูดคุยกับเด็กที่เป็นเหยื่อ ปฏิกิริยาทางร่างกาย การฟื้นฟูเยียวยา หรือ กิจกรรมเชิงโต้ตอบ สร้างสถานการณ์ฝึกเอาตัวรอด เพื่อให้ผู้ปกครองนำไปสนทนากับเด็กๆ และรับมือปัญหานี้ไปด้วยกัน


De Profundis ที่ใดมีความเศร้า

ผู้เขียน : ออสการ์ ไวลด์ | เกย์กับการถูกกดทับทางเพศ

“สังคมถือวิสาสะอ้างสิทธิ์ในการกำหนดบทลงโทษอันน่ารังเกียจให้กับปัจเจก ทั้งที่ตัวมันเองยังคงตื้นเขินฉาบฉวยเป็นบาปมหันต์ และไม่ตระหนักถึงสิ่งที่มันกระทำลงไป”

ออสการ์ ไวลด์ นักเขียนชาวไอริชผู้มีชื่อเสียงในอังกฤษ เขียนเรื่องราวแสนเศร้าขณะถูกคุมขังในเรือนจำด้วยข้อหามีพฤติกรรมอันเป็นการอนาจารกับผู้ชาย เพียงเพราะเขามีแฟนเป็นผู้ชาย

หนังสือเล่มนี้คือจดหมายที่ ออสการ์ ไวลด์ เขียนถึง ดักลาส ชายคนรัก ระหว่างจำคุกในปี 1897 ด้วยความรัก ความคิดถึง และความเจ็บปวดจากการถูกลงโทษ เพราะยุคนั้นการเป็นเกย์คือความผิดมหันต์ กลายเป็นตัวตลกที่ไม่คู่ควรกับการมีชีวิต ในขณะที่ผู้ชายทั่วไปบางคนทำผิดร้ายแรงกลับไม่โดนอะไร (เพราะมีอำนาจ) ซึ่งก่อนไวลด์จะเสียชีวิต เขามอบหมายให้บรรณาธิการส่วนตัวทำสำเนาขึ้นมา และตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1905 ซึ่งแม้เวลาจะผ่านมายาวนาน แต่หนังสือเล่มนี้กลับกลายเป็นคำถามที่วกกลับมาเตือนใจผู้คนในปัจจุบันว่า “ตอนนี้คุณเคารพความแตกต่างทางเพศ และยอมรับเกย์หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้วหรือยัง ?”


ยิ้มรับคนไม่ดีที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

ผู้เขียน : ชองมุนจอง | เมื่อคนเฮงซวยอยู่รอบเมือง

“บางครั้งเราก็พูดหรือได้ยินคำพูดทิ่มแทงอย่างกับมีหนามหรือกระดูกแหลมคม พลังงานที่คนเราให้และรับต่อกันนั้นหนักหน่วง ต่อให้พูดด้วยท่าทีล้อเล่น ก็ยังคงทิ้งความรู้สึกไม่ดีค้างในใจอีกฝ่ายอยู่ดี”

ตลอด 5 พาร์ทของหนังสือ ‘ยิ้มรับคนไม่ดีที่ผ่านเข้ามาในชีวิต’ ประกอบด้วย ไม่เห็นต้องแสนดี, โลกจะดีกว่าเดิมเมื่อเราเลิกมองข้าม, วิธีเพาะมัดกล้ามความเป็นตัวเอง, นิสัยไม่ปล่อยให้คำพูดลบอยู่เหนือกว่า และ วิธีรับมือคนทรามด้วยรอยยิ้ม ทำให้เราไม่แปลกใจว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงมียอดขาย 300,000 เล่ม ในเกาหลีใต้ และยังคงติดอับดับขายดีต่อเนื่อง

ชองมุนจอง สร้างหนังสือเล่มนี้ให้เป็นฮาวทูชั้นดีไว้รับมือกับคนไร้มารยาทที่ใครๆ ต้องเคยเจอไม่ว่าอยู่หนใดบนโลก พร้อมตีแผ่แนวคิดชายเป็นใหญ่ การเหยียด และการกดทับคนที่ด้อยกว่า ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดจนเห็นได้โดยปกติ ทั้งในครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ชนชั้นผู้นำ หรือผู้ที่มีอำนาจมากกว่าในแต่ละสถานการณ์ (บางครั้งคนพวกนั้นไม่ได้รู้จักความเป็นเราดีด้วยซ้ำ) จึงอยากชวนทุกคนให้เลิกแสนดีหรือยอมจำนนต่อการถูกกดขี่ แล้วตอบกลับอย่างมีชั้นเชิงกว่าที่เคย

“นาทีที่เราตัดสินใจเลิกหลับหูหลับตาใส่ธรรมเนียมปฏิบัติงี่เง่าไร้เหตุผล โลกจะดีกว่าวันวานได้จริงๆ”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.