ใครได้ชมพิธีเปิดโตเกียวโอลิมปิก 2020 เชื่อว่าต้องโดน Human Pictogram จอมทะเล้นตกแน่ๆ พวกเขาใช้เวลาไม่กี่นาทีขโมยซีนการแสดงอื่นๆ อย่างโดรนสุดล้ำไปได้อย่างง่ายดาย
ขนาดคนญี่ปุ่นที่ไม่อินกับพิธีเปิด ไม่อินกับเพลงจากเกม ยังบอกว่าพาร์ตนี้สนุกที่สุด และไม่ใช่แค่นั้นเพราะสื่อต่างชาติมากมายก็ให้ความสนใจโชว์นี้เช่นกัน ทำให้ Pictogram ของญี่ปุ่นกลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในชั่วข้ามคืน จุดนี้ Japanneed ขอโหนกระแสด้วยอีกคนก่อนตลาดวายกับ Fun Fact เรียบง่ายกระชับฉับไวแบบในโชว์
เป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้จัดโอลิมปิก ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิด Pictogram สุดซิมเปิล
อาร์ตไดเรกเตอร์หัวเรือใหญ่ Pictogram ของ Tokyo Olympics 1964 คือ Masaru Katsumie ส่วนกราฟิกดีไซเนอร์ผู้ออกแบบพิกโตแกรมกีฬาต่างๆ ทั้ง 20 ชนิดคือ Yoshiro Yamashita
Masaru ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Nihon Keizai ในปี 2016 ไว้ว่า International Olympic Committee (IOC) กำหนดว่าตามป้ายต่างๆ ให้ใช้ ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นหลัก ส่วนภาษาญี่ปุ่นคืออันดับ 3 ซึ่งเขามองว่าอย่าไปหวังให้คนญี่ปุ่นเข้าใจภาษาฝรั่งเศสเลย ภาษาอังกฤษยังต้องลุ้น คนต่างชาติก็ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นเหมือนกัน
แถมเป็นครั้งแรกที่จัดโอลิมปิกในเอเชีย กับประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ไม่มีใครนึกออกว่าจะเป็นยังไง ในเมื่อญี่ปุ่นคิดจะเดบิวต์เผื่อเพื่อนร่วมทวีปและสร้างภาพจำใหม่ในเวทีโลกหลังยุคสงคราม ภาระอันยิ่งใหญ่ในการป้องกันความสับสนอลหม่านจึงมาตกอยู่ที่การสื่อสารด้วยภาพที่เข้าใจง่ายที่สุด
Pictogram ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในโตเกียวโอลิมปิก 1964
คนเคลมเยอะมากว่า Pictogram หรือภาพกราฟิกอันเรียบง่ายที่ใช้สื่อสารแทนคำพูดได้อย่างสะดวกรวดเร็วนั้นมีโตเกียว 1964 เป็นผู้ให้กำเนิด แต่จริงๆ มันมีมานานแล้ว โดยเป็นสิ่งที่พัฒนาต่อมาจากระบบสัญลักษณ์ Isotype ของ Otto Neurath และ Gerd Arntz อีกที แค่อาจจะไม่ได้แพร่หลายให้คนทั่วโลกได้รู้จักทั่วถึงขนาดนั้น
Sport Pictogram ก็เคยถูกใช้ในโอลิมปิกมาแล้ว
จริงๆ แล้วการใช้ Pictogram ในโอลิมปิกจะถูกเข้าใจว่าเป็น Innovation ของญี่ปุ่นก็ไม่แปลกนัก เพราะในเว็บ olympics.com เองก็ยังสับสนเพราะมีทั้งที่เขียนว่าญี่ปุ่นเป็นและไม่ได้เป็นผู้บุกเบิก แต่ถ้าถามว่ามีการใช้ภาพกราฟิกแสดงชนิดกีฬาในโอลิมปิกมาก่อนหน้านั้นมั้ยก็ต้องตอบว่า มี! โดยไปปรากฏตัวอยู่ในหลายโอลิมปิกเช่น Stockholm 1912, Paris 1924, Berlin 1936
เพียงแต่รูปแบบต่างกันกับของโตเกียว 1964 ค่อนข้างมาก ภาพยังซับซ้อนไม่ได้เรียบง่ายสื่อสารชัดเจนเหมือนของญี่ปุ่นสถาบันสมิธโซเนียนมองว่า Infographic Design เริ่มใช้ในปี 1948 ที่ลอนดอนเป็นเจ้าภาพ พอไปหาอ่านสัมภาษณ์ทีมออกแบบสมัย 1964 เขาก็แบ่งรับแบ่งสู้ว่าผมว่าน่าจะมีมาก่อนแล้วนะ
แม้แต่ Japan Olympic Museum เองก็ยังเขียนไว้ชัดเจนว่า Sport Pictogram มีมานานแล้ว แต่เพิ่งมาถูกปรับให้เรียบกรุบในปี 1964 เฉยๆ (แต่ในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 23 ก.ค. เคลมว่าเป็นผู้ริเริ่มเลย อ๊ะ กลับมางงอีกครั้ง และเมื่อกลับไปเช็กที่พิพิธภัณฑ์อีกทีก็พบว่าข้อมูลนั้นถูกเก็บหายไปแล้ว ฮา)
(ภาพจาก Japan Olympic Museum ในปี 2019 ที่เขียนว่าพิกโตแกรมกีฬามีมาก่อนหน้าโอลิมปิก 1964)
ขอสรุปเองละกันว่าผลงานของญี่ปุ่นในปี 1964 นั้นดีไซน์ปังเลยดังไปทั่วโลก ทำให้โตเกียวได้แจ้งเกิดในฐานะเมืองเจ้าภาพผู้นำ Pictogram (สไตล์นั้น) มาใช้เป็นเจ้าแรก และพอไม่คิดตังค่าใช้ ดีไซน์หลังจากนั้นในโอลิมปิกก็มี Pictogram หน้าตาคล้ายๆ แบบที่ญี่ปุ่นบุกเบิกเอาไว้เรื่อยมา อาจจะแตกต่างบ้างตามสตอรี่ของแต่ละประเทศ เช่น ดีไซน์บูมเมอแรงของ Sydney 2000 และ Athens 2004 ที่มาแนว Traditional
ตัวอย่างรูป Pictogram ในโอลิมปิกก่อน 1964
https://www.theolympicdesign.com/olympic-design/pictograms/stockholm-1912/
https://www.theolympicdesign.com/olympic-design/pictograms/berlin-1936/
https://www.theolympicdesign.com/olympic-design/pictograms/london-1948/
งานออริจิจริงๆ ของญี่ปุ่นคือ Venue Pictogram
โอเค พิกโตแกรมกีฬาอาจจะเคลมความเป็นเจ้าแรกได้ไม่เต็มปาก แต่ถ้าเป็นงาน Venue Pictogram ละก็ ยืดอกรับคำชมได้เต็มที่
ตอนยุค 1964 Sport Pictogram ทำเสร็จก่อนเพื่อนประมาณ 1 ปี เพราะต้องดีไซน์ตั๋วชมกีฬาวางขายล่วงหน้า และอาจจะลืมกันไปเพราะพอเข้าสู่ปี 1964 เหลือเวลาประมาณครึ่งปีดันยังไม่มี Pictogram สำหรับ Facilities ต่างๆ เลย นักกีฬาในหมู่บ้านจะเข้าห้องน้ำถูกมั้ย จะงงวิธีใช้อะไรหรือเปล่า ร้อนถึงหัวหน้าทีมใหญ่อย่าง Masaru ต้องใช้กำลังภายในระดมทีมอเวนเจอร์กราฟิกดีไซเนอร์หนุ่มดาวรุ่ง 11 คนมาช่วยกันคิด หลายคนในนั้นคือเทพผู้โด่งดัง เช่น Ikko Tanaka อาร์ตไดเรกเตอร์ของ Muji ผู้ล่วงลับ
ตอนนั้นแต่ละคนก็งานยุ่งสุดฤทธิ์ แต่ก็ยังหาเวลามารวมตัวกันอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ตลอด 3 เดือน วิธีการทำงานคือจะลองวาดมาก่อนแล้วค่อยถกกันว่าจะใช้แบบไหน สุดท้าย Pictogram 39 ชนิด คืองานเผือกร้อนที่ต่อมากลายเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาให้ประเทศก็เสร็จสิ้นออกมาเป็นสื่อ และสิ่งพิมพ์ต่างๆ ภายใน 6 เดือน
กว่าจะเป็นมนุษย์ห้องน้ำ
หนึ่งในพิกโตแกรมที่สร้างชื่อให้ญี่ปุ่นและกลายเป็นมรดกตกทอดที่สำคัญจากโตเกียว 1964 คือพิกโตแกรมห้องน้ำชายหญิง
กว่าจะมาจบที่เราเห็นกันได้ เหล่าดีไซเนอร์ถกกันสนุกสนาน อุปสรรคแรกเริ่มตั้งแต่ห้องน้ำซึ่งสมัยนั้นยังเป็นแบบส้วมยองทั้งหมด ถ้าใช้รูปโถแบบนั้นเป็นสัญลักษณ์ห้องน้ำชาวต่างชาติต้องไม่เข้าใจแน่ๆ อีกทั้งแต่ละคนก็ถือเป็นดีไซเนอร์ตัวท็อปทั้งนั้น สไตล์ก็ไม่เหมือนกัน ว่ากันว่ามีไอเดียสำหรับห้องน้ำหลากหลายมาก ตั้งแต่เบสิกอย่างหมวกกับส้นสูง ไปจนถึงหมายกขาข้างเดียวยืนฉี่ สุดท้าย Ikko Tanaka ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเลยฟันธงให้ใช้รูปชายหญิงแทน โดยให้ผู้ชายใส่สูท ส่วนผู้หญิงใส่กระโปรง ซึ่งพัฒนาจากแบบที่เขาเคยใช้ดีไซน์ในการทำป้ายห้องน้ำที่อาคารอื่นมาแล้ว
11 ดีไซเนอร์ได้รับตั๋วชมพิธีเปิดแบบซูเปอร์วีไอพีเป็นค่าแรงในการออกแบบ
งานหนัก งานเร่ง งานระดับนานาชาติแท้ๆ แต่เงินไม่ถึงซะงั้น
ตอนจัดโตเกียวโอลิมปิก 1964 รัฐบาลอ้างว่าใช้งบในการสร้าง Facilities ต่างๆ และปรับปรุงอินฟราสตรักเจอร์ของประเทศเยอะมาก จนไม่เหลืองบให้งานฝั่งดีไซน์เท่าไหร่ เลยรบกวนให้มาช่วยกันทำงานฟรี กระทั่งเวลามาประชุมกัน ค่ารถยังไม่มีให้ แต่ได้ข้าวคนละกล่อง สินน้ำใจที่พอหยิบยื่นได้มีเพียงตั๋วที่นั่งระดับแพลตตินั่มสำหรับชมพิธีเปิดให้ดีไซเนอร์ทั้ง 11 คนเป็นการชดเชย (แต่ตั๋วดูกีฬาก็ไม่ได้ ค่าลิขสิทธิ์ก็ไม่ได้ 11 คนมีใครบ้างคนก็ไม่ค่อยรู้นะ เศร้าไปไหน)
การออกแบบ Sport Pictogram ต้องขออนุญาตสมาคมกีฬาด้วย
นอกจากจะต้องฝ่าด่านปกติ ซึ่งก็ลำบากอยู่แล้ว เมื่อต้องเพิ่มผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีสิทธิ์คอมเมนต์อีกนับสิบ งานของดีไซเนอร์จึงยุ่งยากกว่าเดิมมาก แต่ละสมาคมมีคอมเมนต์ลงดีเทลมากมายที่ดีไซเนอร์อาจจะไม่รู้เกี่ยวกับกีฬานั้นๆ เช่น ท่านี้ไม่ได้นะ องศาของมือผิดนะ ขาต้องก้าวแบบนี้ ฯลฯ ซึ่ง Masaaki อาร์ตไดฯ ของ Tokyo 2020 บอกว่าต้องแก้เยอะ แม้จะเป็นความยากในการทำงาน แต่คำแนะนำเหล่านั้นก็ทำให้ผลงานออกมาดีขึ้นจริงๆ และได้เรียนรู้หัวใจสำคัญของกีฬาแต่ละประเภทด้วย
Pictogram ของ Tokyo Olympics 2020 ใช้เวลาออกแบบถึง 2 ปี
ในปี 1964 ทีมดีไซน์ต้องออกแบบพิกโตแกรมทั้ง Sport และ Venue แต่โตเกียว 2020 นั้นออกแบบแค่กีฬาอย่างเดียวเพราะว่าทาง Geospatial Information Authority of Japan ได้พัฒนาสัญลักษณ์ของสถานที่ต่างๆ ไว้พร้อมอยู่แล้ว แต่กระนั้นก็ตามการออกแบบพิกโตแกรมกีฬาซึ่งนำทีมโดย Masaaki Hiromura ก็ยังต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าจะออกมาเป็น 55 พิกโตแกรมของกีฬาทั้ง 33 ชนิดสำหรับโอลิมปิกเกมส์ และ 23 พิกโตแกรมของกีฬาทั้ง 22 ชนิดสำหรับพาราลิมปิกเกมส์ที่สื่อสารถึงกฎการแข่งขัน การใช้ร่างกายของนักกีฬา และอุปกรณ์ที่ใช้อย่างถูกต้อง
ความแตกต่างของ 1964 และ 2020 คือกล้ามเนื้อของพิกโตแกรม
อย่างที่เห็นในรูป ว่าภาพร่างหลายแบบ แตกต่างกันไม่มากเช่น ส่วนโค้งที่ถูกเพิ่มเข้าไปตามข้อต่อต่างๆ เช่น ไหล่ ศอก เข่า และตามกล้ามเนื้อแขนขา ปรับให้ตัวเอียง 45 องศา ก่อนจะจบที่แบบ 4 ซึ่งปรับจาก 1 – 3 อีกที
Masaaki ให้ความสำคัญและเคารพตำนานแห่ง 1964 แต่ก็อยากยกระดับดีไซน์ด้วย ดูเผินๆ อาจจะไม่ต่างมากนัก แต่คุณพี่ Masaaki เคยให้สัมภาษณ์กับ Casa Brutus ไว้ในปี 2019 ว่าลองคิดหลายแบบมาก ทั้งการนำอักษร Hiragana มาเป็นเบส การใช้ดีไซน์บิตน้อยๆ ให้คิดถึงวิดีโอเกม แต่สุดท้ายแล้วก็กลับมามองที่พระเอกของงานคือ ร่างกายที่ผ่านการขัดเกลามาอย่างดีของนักกีฬา พอกำหนดทิศทางได้ว่าหัวกลม ตัวว่างๆ ปลายแขนขาโค้งมน (1964 เป็นปลายตัด) ก็ลุยออกแบบต่อโดยให้ความสำคัญกับเส้นโค้งเพื่อเน้นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและร่างกาย ซึ่งเขาบอกว่านี่แหละ Legacy ของพิกโตแกรมจากโตเกียว 2020
Sources :
Casa Brutus
Nikkan Sports
Nikkei
Tabizine
ภาพ :
Olympic Museum
Tokyo 2020 Official Shop