ปัจจุบันผ้าเหลือใช้จากอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีปริมาณค่อนข้างมากเราจึงเกิดความสงสัยว่าท้ายที่สุดแล้วปลายทางของผ้าเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหนเราเลยชวนคุณมาคุยกับ ‘คุณธนกรบินซายัน’ และ ‘ธนากรก๊กเครือ’ เจ้าของแบรนด์ ZAYAN ผู้ปลุกชีวิตให้กับผ้าเหลือใช้ (Deadstock) ที่กำลังจะกลายเป็นขยะที่ใช้เวลาในการย่อยสลายยาวนานแถมกระบวนการผลิตยังสร้างมลพิษในปริมาณมากด้วยทำให้เราตระหนักว่าการเลือกใช้ของแต่ละครั้งเราได้ย้อนกลับมาคิดถึงกระบวนการทั้งก่อนและหลังใช้บ้างหรือเปล่า ? มุมมองของคนที่อยู่ในวงการนี้จะเป็นอย่างไรนั้นลองนั่งพูดคุยกับพวกเขาไปพร้อมๆกัน
| ลดใช้ ไม่สร้างขยะเพิ่ม จุดเริ่มต้นของ ZAYAN
ZAYAN : ถ้าพูดถึงแบรนด์ Zayan (ซายัน) จุดเริ่มต้นเลยมันมาจากความชอบของเราสองคนนะ ซึ่งเอกลักษณ์ของซายันจะเป็นแอสเซสเซอรี่ซะมากกว่าไม่ได้เป็นแฟชั่นหลัก เหมือนเป็นออปชันเสริมที่สามารถใส่คู่กันกับชุดหรือเสื้อผ้าที่เขามีกันอยู่แล้วทำให้ลุคเขาชัดขึ้นดูมีอะไรมากขึ้น
แล้วที่เราเลือกนำผ้า Deadstock มาใช้เพราะเราเห็นว่าผ้าเหล่านี้สุดท้ายก็กลายเป็นขยะจำนวนมาก เราเลยเลือกจะนำสิ่งนี้มาสื่อสารว่าจะไม่ทิ้งอะไรไว้ข้างหลังหรือไม่ปล่อยให้มันสูญเปล่าไป แต่เราต้องบอกว่าแบรนด์ไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุด 100%
เราก็เอาเรื่องนั้นมาคิดอยู่ตลอดว่าจะมีส่วนช่วยหรือลดอะไรได้บ้างพยายามเป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่งที่จะทำให้มันดีขึ้นได้บ้างก็ยังดี
| ปลุกชีวิตใหม่ให้ผ้า Deadstock
ZAYAN : จริงๆ ผ้าที่เราเจอมันมีหลากหลายที่มาเลยนะ (หัวเราะ) ส่วนใหญ่เป็นผ้าเหลือใช้หรือเป็นพวกผ้าหางม้วนบ้าง ผ้าที่ขายไม่ออกบ้าง หรือผ้าที่เขาไม่ใช้กันแล้ว ช่วงแรกเราลองผิดลองถูกกันเยอะมาก ว่าจากผ้าที่เราได้มาเราสามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง ซึ่งสำหรับแบรนด์ซายันเราเน้นการทำแบบแฮนด์เมดซะส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นระบบอุตสาหกรรมขนาดนั้น ดังนั้นงานแต่ละชิ้นของเรามันเลยไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าใหม่เสมอ มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการนำผ้ามามาประกอบกันน่าจะตอบโจทย์เรามากกว่า
แต่เราก็ต้องยอมรับว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราเข้าใจเลยนะว่าทำไมคนในวงการอุตสาหกรรมไทยถึงไม่เลือกใช้ผ้า Deadstock เพราะว่าปริมาณโปรดักต์ที่ได้จากผ้าพวกนี้มันไม่ได้มีเยอะ สาเหตุก็มาจากผ้าส่วนใหญ่มันมีตำหนิเลอะบ้างหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งมันเลยเหมาะกับงานขนาดเล็กแบบเรามากกว่า เพราะเราสามารถคัดคุณภาพจากผ้าตรงนั้นมาใช้ได้ตามความต้องการของเราจริงๆ คือก็ต้องเข้าใจว่าวัสดุมันมาแบบนี้มันมีข้อจำกัดของมันอยู่ หน้าที่ของเราคือทำให้เกิดสิ่งใหม่ในแบบที่มันสามารถจะเป็นได้ดีที่สุด ต่างจากที่เราสร้างขึ้นมาใหม่แล้วทุกอย่างมันก็เป็นการทำตามแพทเทิร์นมาตรฐานที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมันก็จะไม่เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา
เรามองว่าคล้ายกับการรีโนเวทบ้านสักหลังหนึ่ง สมมติว่าบ้านมีโครงสร้างเสามาแบบนี้ เราไม่สามารถทิ้งโครงสร้างเดิมๆ ทั้งหมดได้อยู่แล้ว แต่เราจะทำให้บ้านหลังนี้มันสวยงามในแบบที่มันยังเคยเป็นอยู่ มีเรื่องราวรายละเอียดของบ้านหลังนั้นหลงเหลืออยู่บ้าง มันต่างกับการเอาพื้นที่เปล่ามาสร้างบ้าน ความหมายของการเลือกผ้า Deadstock มาใช้สำหรับเรามันเป็นแบบนั้นนะ
| ปะติดปะต่อเรื่องราวจากผ้าเหลือใช้
ZAYAN : เทคนิคที่ซายันเอามาใช้จะเรียกว่า Patchwork หรือ Boro หรือการปะผ้าที่อาจเคยเห็นกันมาบ้าง จริงๆ สำหรับเทคนิคนี้เสน่ห์มันอยู่ที่การจัดวาง และการผสมสีของผ้า ซึ่งลักษณะของผ้า Deadstock มันเหมาะมากเพราะตัวเลือกเยอะมาก หรือเมื่อก่อนเราเคยมีโปรเจกต์เสื้อยืดมือสองลองทำเป็นคอลเลกชันขึ้นมาด้วยวิธีการ Patchwork เหมือนกัน แต่อาจจะไม่เหมือนกับวิธีการทั่วไปๆ เพราะเรายังเก็บส่วนของเสื้อเอาไว้ เช่น คอเสื้อ สาปเสื้อ ตะเข็บเอาไว้อยู่มันคือเสน่ห์เลยแหละทำให้เราต้องทำเองซะส่วนใหญ่ ซึ่งพาร์ทเนอร์เราจบทัศนศิลป์มาเขาก็จะเอาเซนส์ในทางศิลปะ มันเหมือนการสร้างงานศิลปะออกมาเป็นผ้าหนึ่งผืนเเล้วค่อยเอาไปทำโปรดักต์ต่อ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละผลงานมันแตกต่างกันอยู่แล้ว
ท้ายที่สุดลัพธ์ของงานเรามันมีความคราฟท์ที่ไม่เหมือนใคร แถมยังได้ใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าตามที่เราตั้งใจไว้ด้วย
| มนต์เสน่ห์ผ้าพื้นเมือง
ZAYAN : ส่วนตัวเราค่อนข้างอินกับผ้าพื้นเมืองนะมันมีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก มันมีคาแรคเตอร์ มีความพื้นถิ่นชัดเจน อย่างเวลาที่เรามีโอกาสออกไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เราก็ตามไปดูว่าแต่ละที่แต่ละประเทศเขามีเอกลักษณ์อะไร ผ้าเขามีวิธีการทำแบบไหน เราสามารถเรียนเรื่องราวของสถานที่หรือประเทศนั้นๆ ได้จากพวกผ้าพื้นเมืองได้เลยนะ เช่น ญี่ปุ่นจะเน้นในเรื่องเส้นใย ลาวก็จะเน้นพวกงานหัตถกรรม พิมพ์ลาย ซึ่งจุดเด่นของแต่ละที่แตกต่างกันไป หรืออย่างผ้าไทยบ้านเราก็ไม่แพ้ประเทศอื่นเลยสำหรับเรา ดีไซน์เนอร์ไทยหลายๆ คนเขาพยายามกันมาก แต่เราก็ต้องทำความเข้าใจว่า กระบวนการกว่าจะเป็นผ้าสักหนึ่งผืนมันมีมูลค่า มีที่มาที่ไป ดังนั้นราคามันก็เลยแปรผันตามรายละเอียดเหล่านั้น
| ก้าวใหม่กับวิถี New Normal
ZAYAN : ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราเองก็เริ่มปรับตัวกันมากขึ้น สิ่งที่ไม่เคยทำอย่างการทำการตลาดออนไลน์ก็ทำหมด ล่าสุดที่เรากำลังทำมันเริ่มต้นจากวิเคราะห์การใช้งาน พอสถานการณ์มันเปลี่ยนยุค New Normal เริ่มเข้ามาทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน ระยะห่างการหยิบจับอะไรสักอย่างในที่สาธารณะกลายเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเมื่อเราออกแบบโปรดักต์ก็ต้องสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานได้จริงๆ ด้วย
เราเองก็เริ่มพัฒนาจากของที่เรามีอยู่ เช่น หมวกอาจจะเสริมอะไรที่มันปิดกั้นได้ หรือกระเป๋าที่สามารถมีมือที่สามออกมาได้ เพื่อเอาไว้จับเสาจับราวซึ่งโปรเจกต์นี้มันไปทำร่วมกับอีกทีมหนึ่งเป็นการรวมดีไซน์เนอร์ร่วมกับ TCDC แล้วก็พัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมา ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนโพรเสสอยู่นะ แต่ก็คิดว่าคงไม่นานน่าจะมีผลิตภัณฑ์ออกมาเร็วๆ นี้
| Fast Fashion การเปลี่ยนผ่านของวัสดุที่ใช้แล้วทิ้ง ?
ZAYAN : จริงๆ คิดว่ามันยังคงมีอยู่ต่อไปนะ เราพยายามเลี่ยงการสร้างโปรดักต์ Fast Fashion อยากให้คนที่ใช้ของของเราใช้มันซ้ำไปเรื่อยๆ สามารถเปลี่ยนลุคได้โดยเอามาแมทช์กับเสื้อผ้าของตัวเองที่มีอยู่ใส่แล้วสวย ทุกอย่างที่เรามีมันยังไปต่อ เรามองว่ามันก็ยังดีกว่าการใส่ครั้งเดียวหรือสองสามครั้งเดี๋ยวคนจำได้ก็ทิ้งไป คือมันอาจจะดูเล็กน้อยคงช่วยหยุดอะไรมากไม่ได้
แต่สิ่งที่เราพยายามทำมันก็อาจเป็นพลังเล็กๆ ที่สามารถช่วยลดขยะและพยายามที่จะไม่สร้างมันเพิ่มให้ได้มากที่สุด
| การเดินทางของซายันที่ขับเคลื่อนด้วยความรัก
ZAYAN : สิ่งที่ทำให้ซายันอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้คือความรัก และความสนุกที่เราได้อยู่กับมันแล้วเราก็ไม่เคยอยากหยุดทำในสิ่งนี้เลย เราทำมันไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งมันก็ดึงดูดคนที่มีมุมมองมีความคิดเดียวกันเข้ามาเจอกัน ผมคิดว่าตรงนี้มันคือความสุขในการทำงานจริงๆ
จากการเดินทางครั้งนี้อาจทำให้เราเห็นอะไรหลายๆอย่างได้กลับมาคิดถึงคุณค่าการใช้วัสดุให้คุ้มค่ามากที่สุดคิดถึงกระบวนการทั้งก่อนและหลังให้มากขึ้น