หากมีคนโยนโจทย์มาให้หาจุดตัด ฉันจะนึกถึงแกน X แกน Y ในวิชาคณิตศาสตร์สมัยเรียนมัธยมฯ แต่โจทย์ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหนๆ เพราะสองตัวแปรที่ว่าไม่ใช่ตัวเลข แต่เป็น ‘ศิลปะ’ กับ ‘ดีไซน์’ ที่มาบรรจบกันเป็นจุดตัดบนพื้นที่สร้างสรรค์อย่าง Xspace
Xspace = Multiple Possible of Space
ถ้าวิชาศิลปะไม่มีอะไรถูกหรือผิด Xspace ก็ไม่มีคำตอบตายตัวว่าเป็นพื้นที่แบบไหน เพราะ Xspace เป็นการครอสกันระหว่างศิลปะกับดีไซน์ ที่นี่จึงเป็นพื้นที่จัดแสดงได้ทั้งงานศิลปะ งานดีไซน์ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ สถาปัตยกรรม ไปจนถึงเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมร่วมสมัย หรืออาจนิยามได้ว่า Xspace คือพื้นที่เปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์โดยไม่จำกัดรูปแบบ
| ทำความรู้จักก่อนเข้าชม
แม้ Xspace จะเป็นแกลเลอรีน้องใหม่ในวงการศิลปะ แต่ไม่ใหม่ในแวดวงดีไซน์ เพราะผู้อยู่เบื้องหลังที่ผลักดันให้เกิดพื้นที่นี้ คือทีมผู้บริหารแห่ง Wurkon ธุรกิจนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2015 และเจนจัดเรื่องดีไซน์
หลายคนอาจสงสัยเหมือนฉันว่า เพราะอะไรบริษัทที่ย่างเข้าปีที่ 7 จึงเลือกเนรมิตพื้นที่ทางศิลปะแทนที่จะเป็นโชว์รูมสุดอลังการ ฉันจึงนัด คุณแนน สิริมาดา, คุณหนู สุทธิลักษณ์ และ คุณป๊อป-ปิยะศักดิ์ ศุภองค์ประภา สามพี่น้องผู้บริหาร Wurkon ที่ควบตำแหน่งผู้ก่อตั้ง Xspace มาร่วมวงสนทนา พร้อมด้วย คุณภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ผู้ดูแลด้านมีเดีย
ก่อนลงลึกเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์ Xspace คงเกิดขึ้นไม่ได้หากวันนี้ไม่มี Wurkon คุณแนนเล่าถึงโจทย์แรกก่อนทั้งสามมาตั้งบริษัทว่า ทำอย่างไรจะสร้างวิถีการทำงานของคนยุคใหม่ จึงตั้งคอนเซปต์ ‘New Lifestyle of Work’ ขึ้นมา แล้วออกเดินทางเสาะหาแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ตอบโจทย์ จนไปเจอแบรนด์จากประเทศสเปน อย่าง Actiu ที่มีความโมเดิร์น พร้อมนำหลักสรีรศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการออกแบบ และ Andreu World ที่เน้นเรื่องไลฟ์สไตล์และรสนิยมในการอยู่อาศัย
“สมัยก่อนตอนที่เริ่มทำเฟอร์นิเจอร์เราจะชอบคุยกันเป็นสเปก ผลิตจากไม้อะไร หนาเท่าไหร่ เหล็กชุบอะไร หรือคุยกันเรื่องความคุ้มค่า แต่ถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นพื้นฐานที่ลูกค้าต้องวางใจได้อยู่แล้วว่า เฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้มีฟังก์ชันดี ใช้วัสดุดี ดังนั้น ถ้าจะทำอะไรที่แตกต่างมันต้อง ‘Add wow factor’ เข้าไป เราต้องทำให้เขาเห็นว่าเขาได้อะไรมากกว่าแค่เฟอร์นิเจอร์” คุณแนนพูดถึงแนวคิดแรกก่อนทุกอย่างจะเริ่มต้นขึ้น
จากความคิดที่ว่าฟังก์ชันต้องมาพร้อมดีไซน์ Wurkon จึงให้ความสำคัญกับการออกแบบมาตั้งแต่แรกเริ่ม รวมถึงใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียทำหน้าที่เป็นสื่อด้านศิลปะ
ด้วยความที่คุณหนูชอบเสพงานศิลปะอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และเป็นแฟนตัวยงของเพจ Share Chairs ที่นำเกร็ดสนุกๆ เกี่ยวกับการออกแบบเก้าอี้มาเล่าสู่กันฟัง คุณหนูจึงชักชวนเจ้าของเพจอย่างคุณภาณุ มาถ่ายทอดแง่มุมต่างๆ ของศิลปะและดีไซน์บนเฟซบุ๊กเพจ Wurkon จนมีผู้ติดตามถึงแสนกว่าคน ซึ่งการทำสื่อด้านศิลปะมาถึง 5 ปี เป็นใบเบิกทางที่ช่วยให้การเชิญศิลปินมาร่วมจัดแสดงงานนั้นง่ายขึ้น
“เราทำจากความรักความสนใจ เวลาเราทำคอนเทนต์เราก็ไม่ได้แทรกการขายลงไป มันเป็นเรื่องของความจริงใจ เพราะการขายมันสร้าง Awareness ให้แบรนด์ได้โดยไม่จำเป็นต้องขายตรง เราไม่ได้อยากทำเพื่อขายของ แต่เราเห็นความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์เลยนำเสนออย่างเต็มที่ ดังนั้น ศิลปินก็เชื่อมั่นในตัวเรา” คุณภาณุเล่าด้วยสายตามุ่งมั่น
| เปลี่ยนโฉมโกดังเป็นแกลเลอรี
งานศิลปะชิ้นแรกที่ใครมาถึงต่างก็สะดุดตา นั่นคือเปลือกนอกอาคาร Xspace ที่เกิดจากการชุบชีวิตโกดังเก่า ซึ่งหากมองไกลๆ จะเห็นเป็นแพตเทิร์นสีสันสดใส แต่เมื่อเขยิบมาใกล้ๆ แล้วแหงนหน้าขึ้นไป มันคือหน้าต่างบานเกล็ดที่ฉันสังเกตเห็นบางบานถูกเปิดไว้ให้ลมพัดผ่าน เรียกว่าเป็นฟังก์ชันอันชาญฉลาดของสถาปัตยกรรมไทยที่ออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เป็นเมืองร้อน
ออกแบบโดยสถาปนิก จูน เซกิโน่ แห่ง Junsekino Architect and Design ที่ต้องการนำเสนอความเป็นไทยร่วมสมัย เช่นเดียวกับนิทรรศการภายใน Xspace ที่จะจัดแสดงผลงานประเภท Contemporary Art
เมื่อเข้ามาด้านในจะพบห้องโล่งกว้างสีขาวขนาด 540 ตารางเมตร ด้านหนึ่งเปิดให้แสงธรรมชาติสาดส่องเหล่างานศิลปะที่เรียงรายอยู่เต็มห้อง ซึ่งอดีตห้องนี้เคยเป็นโกดังสินค้าของ Wurkon เมื่อมีโจทย์ให้เปลี่ยนโกดังแห่งนี้เป็นโชว์รูม การจะเอาเฟอร์นิเจอร์มาตั้งโชว์เฉยๆ คงน่าเบื่อไปหน่อย จึงเกิดไอเดียว่าหากนำศิลปะมาดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาชม แล้วได้แรงบันดาลใจกลับไปด้วยคงดีไม่น้อย
คุณภาณุพาฉันเดินชมนิทรรศการ XSPACE (RE)ARRANGE THE XHIBITION* ภาคต่อของนิทรรศการแรกอย่าง XSPACE THE XHIBITION ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่ด้วยไทม์ไลน์ที่คาบเกี่ยวช่วงโควิด-19 ผู้จัดจึงตัดสินใจขยายเวลาให้คนมีโอกาสมาชมงานมากขึ้น พร้อมจัดสรรพื้นที่ใหม่โดยเพิ่มเติมผลงานของศิลปินอีกหลายชิ้น
หนึ่งในชิ้นงานที่เตะตาเป็นพิเศษคือผลงานศิลปะจัดวางชุด Bangkok Journey Readymade ออกแบบโดยคู่หูดีไซเนอร์ไฟแรง คุณปิติ อัมระรงค์ และ คุณจุฑามาส บูรณะเจตน์ แห่ง o-d-a (Object Design Alliance) ที่หยิบเอาเฟอร์นิเจอร์ขายดีของ Wurkon อย่าง Wing by Actiu มาดัดแปลงให้มีกลิ่นอายไทยสตรีท
ภายใต้แนวคิดที่ว่าเก้าอี้อเนกประสงค์อันเปี่ยมสไตล์ตัวนี้เดินทางจากยุโรปมาถึง Xspace จึงหยิบแรงบันดาลใจใกล้ตัวอย่างสีสัน Two-tone ของแท็กซี่บนท้องถนนกรุงเทพฯ มาพ่นเก้าอี้ พร้อมใส่กิมมิกเลขทะเบียนไว้ด้านหลัง เรียกว่าเป็นงานศิลปะที่ใครเห็นก็เข้าใจได้ทันที แถมยังนำมาใช้งานได้จริงอีกด้วย
นิทรรศการนี้ยังแชร์พื้นที่ให้ผลงานศิลปะของศิลปินอีกหลายท่าน เช่น ผลงานออกแบบโปสเตอร์ โดย สันติ ลอรัชวี ผลงานสีน้ำมันในรูปแบบ Abstact โดย ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ผลงาน Art Installation โดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ แห่ง Sanitus Studio ไปจนถึงผลงานภาพวาดและวิดีโอจัดวาง โดย เมธี น้อยจินดา
นอกจากนี้ ยังมีโชว์รูมในรูปแบบ Working Space และ Living Space บนชั้น 1 ชั้น 2 ชั้น 5 และ ชั้น 6 ที่สอดแทรกงานศิลปะจากหลากหลายศิลปินไว้แทบทุกอณู เพื่อให้คนที่ตั้งใจมาดูงานดีไซน์ได้ชื่นชมงานศิลปะไปในตัว หรือคนที่มาเสพศิลป์โดยเฉพาะก็ได้ซึมซับงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์โดยไม่รู้สึกถูกยัดเยียด ถือเป็นการเปิดช่องให้ศิลปินได้มีพื้นที่โชว์ผลงานมากขึ้น
| ศิลปะกับดีไซน์มาบรรจบ ไอเดียจึงบรรเจิด!
ข้อดีของการเป็นแกลเลอรีกึ่งโชว์รูมทำให้ Xspace ไม่เหมือนทุกแกลเลอรีที่ฉันเคยไป เพราะเพียงก้าวเข้ามาก็จะเจอบรรดาเฟอร์นิเจอร์หลากดีไซน์ จัดวางคู่กับผลงานศิลปะเสมือนเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ซึ่งช่วยขับเน้นกันและกันได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ฉันเดาว่าการจัดวางงานศิลปะให้เข้ากับเฟอร์นิเจอร์คงเป็นงานที่ท้าทาย แต่คำตอบที่ได้จากคุณแนนกลับเป็นมุมที่ฉันคาดไม่ถึง
“เราพยายามทำให้งานศิลปะอยู่กับเฟอร์นิเจอร์ได้ลงตัว ซึ่งพอจับมาอยู่ด้วยกันแล้ว มันมีตัวเลือกในการจัดวางได้หลายแบบมากขึ้น บางทีเราตั้งใจจะโชว์ศิลปะแต่พอมีเฟอร์นิเจอร์เข้าไปปุ๊บ มันสวยขึ้น มีลูกเล่นขึ้น
“ในทางกลับกัน เรามีเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว พอเอางานศิลปะเข้ามาใส่ กลายเป็นพื้นที่นั้นมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที” คุณภาณุเสริม
ระหว่างพูดคุยฉันสงสัยในความแตกต่างระหว่างงานศิลปะกับดีไซน์ จึงได้มุมมองที่น่าสนใจจากวงสนทนาว่า หากลองสังเกตในชีวิตประจำวันเราจะเห็นงานดีไซน์อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ หรือแม้แต่ทางเดินเท้า ที่เน้นประโยชน์ใช้สอย ในขณะที่งานศิลปะมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งปัจจุบันเส้นแบ่งของสองสิ่งนี้ถูกเบลอเข้าด้วยกัน ศิลปะอาจไม่ใช่แค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว งานออกแบบเองก็มีความเป็นศิลปะเข้าไปผสมปนเปอยู่ในนั้น
แม้ฉันจะไม่ใช่คนทำงานศิลปะหรือมีหัวด้านดีไซน์ แต่ที่นี่ก็เปิดกว้างสำหรับทุกคนด้วยบรรยากาศสบายๆ ตอนที่คุณภาณุให้ฉันทดลองนั่งบนชิ้นงานศิลปะที่เป็นเก้าอี้ ฉันถามขึ้นอัตโนมัติว่า “งานศิลปะอนุญาตให้นั่งได้ด้วยหรือ” เมื่อได้ฟังคำตอบจากคุณภาณุจึงได้รู้ว่าบางครั้งงานศิลปะก็ไม่จำเป็นต้องทรีตให้ดูสูงส่ง เข้าใจยาก หรือน่าเกรงขามจนไม่กล้าแตะต้องเสมอไป
“ปกติแกลเลอรีมักเป็นห้องสี่เหลี่ยมสีขาวดูขึงขัง ทำให้งานศิลปะดูสำคัญมากๆ จนทำให้คนถูกลดความสำคัญลงไป หรือเกิดความยำเกรงที่เวลาเข้าไปแล้วต้องตัวลีบๆ ไม่กล้าแตะต้องอะไร แต่พอเป็นกึ่งโชว์รูมมันกลายเป็นไลฟ์สไตล์ที่เข้ามาแล้วคุณทำตัวตามสบายเหมือนอยู่บ้าน”
เรื่องนี้ถือเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับฉันในการชมงานศิลปะ และคุณหนูยังแชร์ให้ฟังอีกด้วยว่า
“การดึงเอาศิลปะเข้ามาก็ทำให้คนรู้สึกใกล้ชิดกับสถานที่นี้มากขึ้นด้วย เมื่อก่อนถ้าใครจะมาดูเฟอร์นิเจอร์แต่ไม่มีโปรเจกต์ก็ไม่กล้าเข้ามา เพราะรู้สึกว่าต้องมีการซื้อขาย แต่พอเป็นงานศิลปะปุ๊บ เขารู้สึกว่าพื้นที่มันเฟรนด์ลี่ ไม่ได้ต้องซื้ออะไรก็มาเดินเล่นได้”
ฉันเดินชมงานทีละชิ้นอย่างถี่ถ้วน ปล่อยสมองให้ลื่นไหลไปกับมวลความรู้สึก พลางคิดว่าศิลปะช่วยจรรโลงใจนั้นเป็นแบบนี้เอง มองในมุมคนซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือนักสะสมงานศิลปะก็ได้ไอเดียไปจัดมุมสวยๆ ที่บ้าน เพราะคนทั่วไปคงไม่ได้ซื้องานศิลปะไปทำแกลเลอรี แต่ซื้อไปเพื่อเติมเต็มสุนทรียะหรือแม้กระทั่งบ่งบอกความเป็นตัวเอง อีกทั้งงานศิลปะนั้นยิ่งเก็บยิ่งมีมูลค่า และมีคุณค่าทางใจแก่ผู้เป็นเจ้าของ
| พื้นที่ตรงกลางระหว่างศิลปินกับคนดู
หลังจากเดินทัวร์จนครบทุกชั้น ฉันดีใจแทนคนทำงานศิลปะและงานดีไซน์รวมถึงคนเสพงานศิลป์ ที่มีพื้นที่ซึ่งส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอีกแห่ง ความค้างคาใจที่ว่าบ้านเรามีคนทำงานศิลปะมากมาย แต่ทำไมเมืองไทยมีพื้นที่ให้แสดงออกน้อยเหลือเกิน ทำให้คุณหนูเกิดความคิดอยากสร้างพื้นที่แบบนี้ขึ้นมา
“รุ่นเราเหมือนเป็น Missing Piece เราโตมาในยุคที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ต้องขยันทำมาหากิน สมมติเราจะทำอะไร เขาก็ถามว่าจะเลี้ยงชีพยังไง กระทั่งความรู้พื้นฐานศิลปะพวกเราก็ไม่เคยมี บังเอิญว่าเรามีโอกาสไปทำงานเมืองนอกบ่อยๆ ก็ไปดูว่าเขาเที่ยวอะไรกัน อ๋อ ไปเดินมิวเซียม พอไปเดินดูเรื่อยๆ เราก็เริ่มเข้าใจว่าบ้านเราขาดสิ่งเหล่านี้ ตอนนี้สังคมต้องการสิ่งเหล่านี้มากๆ เด็กสมัยใหม่ก็เปิดกว้าง มีแกลเลอรีใหม่ๆ มีงานน่าสนใจ มีศิลปินรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก”
ไม่ต่างจากคุณแนนที่ตั้งใจเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันวงการศิลปะไทยให้ไปได้ไกลกว่านี้
“อีกความตั้งใจที่อยากทำ Xspace ขึ้นมา คือเราอยากรู้ว่าจะช่วยผลักดันวงการศิลปะได้อย่างไรบ้าง เมื่อก่อนเราไม่มีความรู้เรื่องการทำแกลเลอรีเลย ก็ค่อยๆ เรียนรู้จากลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร ศิลปินต้องการอะไร บางคนบอกว่า ทำไมการหาซื้องานศิลปะสำหรับเขามันยากจังเลย เราก็พยายามหาช่องทางต่างๆ ให้ศิลปินได้ประโยชน์ตรงนี้ อย่างน้อยก็เพิ่มช่องทางการซื้อขายให้สะดวกขึ้น ปลอดภัยขึ้น รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ศิลปินหน้าใหม่”
Xspace จึงเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินและคนที่อยากสนับสนุนศิลปินมาเจอกัน ลูกค้าที่เข้ามาไม่เพียงได้เลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกใจ แต่ยังสามารถอุดหนุนผลงานของศิลปินไปพร้อมกัน
นอกจากพื้นที่ Xspace แล้ว ยังมีเว็บไซต์ที่รวบรวมผลงานของศิลปินไทยอย่าง xspace.gallery ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างคนสร้างงานศิลปะกับคนซื้องานศิลปะทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
จากประสบการณ์ด้านธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มาจับงานด้านแกลเลอรี ฉันถามถึงมุมมองของแต่ละคนว่า แกลเลอรีที่ดีควรเป็นอย่างไร สิ่งที่คุณภาณุตอบกลับมา คือต้องจริงใจและเปิดกว้าง
“พูดตรงๆ ว่าเราเป็น Commercial Gallery เราขายงานศิลปะ แต่เราไม่ขายงานศิลปะที่ไม่มีคุณภาพ ไม่เอางานที่ไม่ดีมาหลอกว่าเป็นของดี ศิลปินที่เรานำผลงานมาจัดแสดงก็ตกลงกันด้วยความแฟร์ ไม่มีนอกมีใน และเราไม่ได้หวังงานขายอย่างเดียว เราทำในสิ่งที่มีคุณค่าเพราะเราทำด้วยความรัก ดังนั้น แกลเลอรีที่ดีต้องจริงใจ เพื่อให้ลูกค้า ศิลปิน ไปจนถึงผู้มาชมงาน เชื่อมั่นในตัวเรา
“นอกจากนี้ แกลเลอรีที่ดีไม่ว่าใครก็ควรเข้าถึงได้ บางครั้งพ่อค้าแม่ค้าหรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างเขาก็อยากชื่นชมงานศิลปะ ซึ่งพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน บ้านเรายังไม่ค่อยมี เราก็อยากเป็นพื้นที่แบบนั้นที่คนแถวนี้มาเดินดูงาน หรือมีกิจกรรมอะไรก็เข้ามาร่วมได้ เราอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ของชุมชน เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม อยากให้มันมีชีวิต”
| เมืองที่ดีต้องมีพื้นที่ให้คนแสดงออก
ก่อนจากกันฉันหยิบประเด็นพื้นที่ศิลปะกับเมืองมาเป็นหัวข้อสนทนา จึงโยนคำถามว่าพื้นที่สร้างสรรค์จำเป็นกับเมืองแค่ไหน คุณภาณุยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ที่สร้างรายได้จากเศรษฐกิจสร้างสรรค์
“ธุรกิจสร้างสรรค์เป็น Soft Power ของประเทศต่างๆ แต่ก่อนเกาหลีใต้ด้อยกว่าไทยทั้งในด้านภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ ประเทศไทยล้ำกว่าเยอะ ธุรกิจหนังเราโตมาก เราไปเทศกาลหนังเมืองคานส์ก่อนเขา เรามีหนังที่ได้ชิงรางวัลต่างประเทศเยอะแยะ ในขณะที่เกาหลียังล้มลุกคลุกคลานอยู่เลย แต่เขาใช้เวลาแค่ 20 ปี นำเราแบบไม่เห็นฝุ่น โดยใช้เงินทุนมหาศาลพัฒนาให้เกาหลีใต้เป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรม ทุกอย่างของเกาหลีใต้ขายได้หมด เผยแพร่เป็นฟีเวอร์ อย่างเพลงเกาหลี ซีรีส์เกาหลี มีงานศิลปะของศิลปินเกาหลีไปอยู่ในมิวเซียมทั่วโลก หนังเกาหลีได้รางวัลออสการ์ มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจากความบังเอิญ คุณไปเกาหลีมีมิวเซียมตั้งกี่แห่ง มีแกลเลอรีตั้งกี่ที่ มีเทศกาลหนังอีกกี่เทศกาล มีทุนสร้างหนัง ก็เท่ากับการเปิดโอกาส สิ่งเหล่านี้มันถูกสร้างขึ้น วัฒนธรรมมันเกิดจากการสั่งสมและทำให้คนมีพลัง”
ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจเพราะการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคน รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น
“ประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบนี้เป็นปกติ อย่างในยุโรปเขามีมิวเซียมทุกเมือง เมืองหนึ่งมีหลายมิวเซียม ไม่ต้องคนชอบศิลปะก็ไปดูได้ เด็กก็ไปดู นักศึกษาก็ไปเที่ยวดูงาน หรือแม้แต่คู่รักยังไปเดตกันในมิวเซียม สิ่งเหล่านี้มันปลูกฝังให้วัฒนธรรมประเทศเขาแข็งแรง คนจะมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถคิดอะไรใหม่ๆ รู้จักการคิดวิเคราะห์ และมีความคิดที่เปิดกว้าง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพื้นที่ศิลปะจึงสำคัญ สิ่งเหล่านี้พัฒนาความคิดของคนเสพ และคนเสพต่อไปก็จะกลายเป็นคนสร้างสรรค์” คุณภาณุอธิบายต่อ ก่อนที่คุณหนูจะขยายความให้เห็นภาพชัดเจน
“สำหรับพี่มองไปถึงการดีไซน์เมือง พี่คิดว่าการดีไซน์ที่ดีเป็นการปรับพฤติกรรมคน ถ้าคุณมีเมืองที่น่าเดิน คนก็จะเดินเยอะขึ้น สุขภาพก็จะดีขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดจากการดีไซน์ทั้งสิ้น นอกจากพื้นที่สร้างสรรค์จะเป็นการพัฒนาทางความคิด อีกส่วนหนึ่งมันคือการพัฒนาชีวิต คุณเอาดีไซน์ไปจับได้เยอะแยะเลย ถนนหนทาง ฟุตพาท สวนสาธารณะ รถเมล์ การเดินทางสัญจรในทุกวัน ต้องดีไซน์อย่างไรให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ที่รัฐต้องทำ”
การมาเยือน Xspace ครั้งนี้ทำให้ฉันมองศิลปะในมุมที่กว้างขึ้น พลางคิดในใจว่า หากบ้านเราส่งเสริมให้ศิลปะเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ ให้คุณค่ากับศิลปะมากกว่านี้ และมีนโยบายส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์ จะสามารถปลดล็อกความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการพัฒนาเมืองได้ไม่น้อยเลยทีเดียว เหมือนอย่างที่ Xspace อ้าแขนรับความคิดสร้างสรรค์อย่างไม่ปิดกั้น รวมถึงเป็นพื้นที่เปิดกว้างที่ไม่ว่าใครก็เข้าไปสัมผัสศิลปะได้
นิทรรศการ XSPACE (RE)ARRANGE THE XHIBITION
เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่ 30 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2564 (ไม่เสียค่าเข้าชม)
สถานที่ : Xspace
71/15 ซอยพัฒนเวศม์ 12 ถนน สุขุมวิท 71 แขวง พระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
วันและเวลา เปิด-ปิด : วันจันทร์-เสาร์ 10:00 – 17:00 น.