ทุกวันนี้การเดินทางข้ามประเทศกลายเป็นเรื่องยากราวกับย้อนไปยุคก่อนมีเครื่องบิน เพราะฉะนั้น เพื่อสลัดข้อจำกัดการข้ามประเทศ ทำให้ ‘Vaccine Passport’ หรือพาสปอร์ตวัคซีน กลายเป็นทางออกที่ ‘คาดว่า’ จะทำให้น่านฟ้ากลับมาคึกคักอีกครั้ง
แน่นอนว่า พาสปอร์ตวัคซีนนี้จะมาในรูปแบบ ‘ดิจิทัล’ สำหรับบรรจุข้อมูลจำเป็น โดยไม่ต้องหอบเอกสารพะรุงพะรังไปทุกที่ เพียงแค่กดเปิดแอปฯ บนโทรศัพท์ก็แสดงหลักฐานได้ทั้งหมด เช่น คุณได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วกี่เข็ม หรือผลตรวจโควิด-19 เป็นลบหรือไม่ เพื่อการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น
เช่น ‘CommonPass’ ไอเดียแพลตฟอร์มพาสปอร์ตออนไลน์ของ World Economic Forum ที่ร่วมมือกับ Rockefeller Foundation โดยมีแนวคิดที่จะนำเข้าข้อมูลระบุใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้ามาไว้ หรือ ‘Digital Health Pass’ ของ IBM (International Business Machines) ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และให้บริการด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ ก็ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อใช้สแกนเข้าโรงเรียน โรงแรม สวนสาธารณะ หรือห้องสมุด
โดยวิธีการทำงานของทั้งสองระบบอาศัยเทคโนโลยี 2 ประเภท จะใช้ ‘Cloud’ เป็นเซิร์ฟเวอร์กลางสำหรับจัดเก็บข้อมูลจากระยะไกล และใช้ ‘Blockchain’ จัดเก็บข้อมูลที่ซับซ้อนกว่า ทั้งยังใช้ปกป้องความเป็นส่วนตัวได้ดีกว่า นอกจากนี้ พาสปอร์ตวัคซีนยังคงเป็นที่จับตามองอยู่ในหลายประเทศ เพราะการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและอาจรุกล้ำความเป็นส่วนตัวมากเกินไป ซึ่งขัดกับ ‘กฎหมายความเป็นส่วนตัว’
หลังจากปล่อยแนวคิด ‘โมเดลพาสปอร์ตวัคซีน’ ก็ทำให้หลายประเทศเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น เพราะหากพาสปอร์ตนี้ ‘ใช้ได้จริง’ เชื่อว่าการค้าระหว่างประเทศจะกลับมาฟื้นเศรษฐกิจโลกได้อีกครั้ง โดยประเทศเดนมาร์กเตรียมใช้พาสปอร์ตวัคซีนภายในสิ้นเดือน ก.พ. 2021 และตั้งเป้าว่าประชาชนทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนภายในเดือน มิ.ย. 2021 นี้
ขณะที่ประเทศไทยยังชะลอการพัฒนาพาสปอร์ตวัคซีน เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่รับรองว่าวัคซีนโควิด-19 ป้องกันโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากมีข้อมูลยืนยันประสิทธิภาพมากเพียงพอ อาจให้ทางคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง