Universal Design การออกแบบที่ใส่ใจทุกคน - Urban Creature

คำที่ขึ้นมาเป็นเทรนด์ในตอนนี้ คงหนีไม่พ้น ‘Universal Design’ ที่เรียกว่าเป็นกติกาสากลของโลกปัจจุบันและอนาคต ในการออกแบบสิ่งใดก็ตามเพื่อให้ทุกๆคนสามารถใช้งานได้ร่วมกันได้ โดยไม่มีการแบ่งแยก เพศ อายุ หรือความแตกต่างทางกายภาพ ดังจะเห็นได้ว่าเมืองใหญ่ๆหรือประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องมีการออกแบบภายใต้แนวคิด ‘การออกแบบเพื่อมวลชน’ มารองรับ ไม่ว่าจะเป็นด้านสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก บริการต่างๆ การสื่อสาร ไปจนถึงการเรียนรู้

สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนดัชนีชี้วัดความเจริญของแต่ละประเทศในยุคปัจจุบัน เพราะนั่นสะท้อนให้เห็นถึงความเอาใจใส่ต่อผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก ไปจนถึงคนท้อง โดยการให้สิทธิและคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั่นเอง นอกจากนี้ยังเป็นการให้โอกาสกับคนที่ประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ได้มีอิสระที่จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ลดการพึ่งพาคนอื่น และสามารถไล่ตามความฝันหรือทำตามความต้องการของตัวเองได้มากขึ้น

What is Universal Design? อะไรคือ ‘การออกแบบเพื่อมวลชน’

ถ้าพูดถึง ‘Universal Design’ หรือ ‘การออกแบบเพื่อมวลชน’ หลายคนคงคุ้นหูกับคำนี้มาบ้าง แต่หากใครยังไม่ เข้าใจว่าจริงๆแล้วมันมีขึ้นมาเพื่ออะไร เราก็มีคำอธิบายง่ายๆมาบอกเล่าให้ฟัง รวมไปถึงตัวอย่างที่จะช่วยให้เห็นภาพ

Universal Design คือ การออกแบบเพื่อการใช้งานอย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกคน ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ผู้บาดเจ็บ รวมถึงคนที่มีข้อจำกัดด้านร่างกายต่างๆ แม้กระทั่งสตรีมีครรภ์ พร้อมทั้งเอื้อความสะดวกให้ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นและเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม สภาพแวดล้อมรอบตัว หรือ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งหัวใจสำคัญของ Universal Design มีอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ

1) ความเท่าเทียม (Fairness) ทุกคนในสังคมจะต้องได้ใช้งานกันอย่างเท่าเทียมแบบไม่มีการเลือกปฏิบัติ
2) ความยืดหยุ่น (Flexibility) สามารถใช้งานได้สะดวกทั้งซ้าย-ขวา และสามารถปรับระดับความสูงได้ตามความต้องการใช้งาน
3) ความเรียบง่าย (Simple and Intuitive) สามารถใช้งานได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ความรู้ หรือทักษะ
4) การรับรู้แบบเข้าใจง่าย (Perception Information) บอกข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำกัดสภาพแวดล้อม หรือประสาทสัมผัสในการรับรู้ของผู้ใช้งาน
5) ทนทานต่อความผิดพลาด (Tolerance for Error) มีความทนทาน และสามารถลดความอันตรายจากอุบัติเหตุหรือการกระทำที่ไม่คาดคิด
6) ใช้แรงน้อย (Low Physical Effort) ใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องออกแรงเยอะ
7) ขนาดและพื้นที่เหมาะสม (Size and Space for Approach and Use) มีขนาดและพื้นที่ที่เหมาะสมและพอดีต่อการเข้าใช้งาน ทั้งขนาดตัวบุคคล บุคลิกภาพ ท่าทาง การเคลื่อนไหว

For Who? : คนกลุ่มไหนที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

Universal Design เป็นการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคม เพราะไม่ว่าจะเพศไหน วัยไหน หรือสถานะอะไร การออกแบบเพื่อมวลชนก็ตอบโจทย์ได้ทุกความต้องการ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ

ยิ่งในตอนนี้ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยว่า ในปี 2560 เรามีจำนวนผู้สูงอายุถึง 11.35 ล้านคน จากประชากรรวมทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีผู้พิการถึง 18.02 ล้านคน ไทยแลนด์บ้านเราจึงยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อมวลชน

ถึงแม้แนวคิดนี้จะเริ่มต้นมาจากงานออกแบบสถาปัตยกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องโฟกัสไปที่ตึกรามบ้านช่อง หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงบริการที่จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ อย่างการเดินทางสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีหน่วยงานที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ และเข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

Public Transport For Everyone : เดินทางยังไง องค์กรไหนเข้ามาช่วย?

นอกจากสิทธิที่ควรจะได้รับไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ความเสมอภาคในการประกอบอาชีพ หรือปัจจัยในการใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป สิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการและผู้สูงอายุให้ดีขึ้นได้ ก็คือระบบคมนาคมขนส่งที่อำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิต่างๆได้อย่างเท่าเทียมกัน และลดอุปสรรคในการเดินทาง

กระทรวงคมนาคม ก็รับรู้ถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี อย่างปีที่ผ่านมามีการกำหนด “ยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ” ที่จะเป็นกรอบในการดำเนินงานแก่ทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” รวมถึงแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ฉบับที่ 5 ปี 2560-2564 และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ปี 2545-2564 ด้วย

โดยแนวทางในการดำเนินการแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบายและกฎหมาย ด้านการปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพ ด้านการฝึกอบรมบุคลากร และด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้นำร่องภายใต้แนวคิด Universal Design ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกตามสถานที่ให้บริการขนส่ง 5 แห่ง เช่น ป้ายรถเมล์อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีขนส่งสายใต้ ท่าเรือพระนั่งเกล้าเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีรถไฟความเร็วสูงที่ จ.นครปฐม และสนามบินดอนเมือง อีกทั้งยังมีแผนขยายไปยังสถานที่ให้บริการขนส่งอื่นๆอีกด้วย

Case Study : การขนส่งสาธารณะสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ในประเทศไทย

ถึงแม้ว่าการจราจรบ้านเราอาจจะยังดูงงงวย แต่ก็ยังมีพาร์ทของ Universal Design ให้ได้เห็นในแวดวงของการเดินทางอยู่บ้าง

ไม่ว่าจะเป็น ‘รถไฟไทย’ การรถไฟไทยเปิดบริการตู้โดยสารสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ที่ใช้ wheel chair ในสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขบวนรถไฟด่วนพิเศษที่ 1/2 กรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ และขบวนรถไฟด่วน 69 /70 กรุงเทพ-หนองคาย-กรุงเทพ ภายในมีพื้นที่จอด wheel chair อุปกรณ์ยึดจับล้อกันเคลื่อน ห้องน้ำ-ห้องสุขา และลิฟท์สำหรับยกขึ้น-ลง ที่ควบคุมผ่านระบบรีโมทคอนโทรล

‘BTS’ และ ‘MRT’ ก็มีบริการลิฟต์ (บางสถานี) บันไดเลื่อน ทางเข้า และพื้นที่บนตู้รถไฟสำหรับผู้ใช้ wheel chair ที่กว้างพอสำหรับตัวรถเข็น พร้อมอุปกรณ์ยึดจับ ป้ายสัญลักษณ์ผู้สูงอายุและผู้พิการ นอกจากนี้ยังมีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ

ไปจนถึง สายการบิน เช่น Bangkok Airway ที่มีบริการ wheel chair ของสนามบิน (หรือสามารถนั่งของตัวเองได้) โดยจะมีพนักงานคอยดูแล เข็นไปส่งที่หน้าประตูเครื่องบิน พร้อมนำรถเข็นไปเก็บใต้ท้องเครื่องบิน รวมถึงบริการไฮดรอลิคยกรถเข็นขึ้นไปเทียบประตูเครื่องบิน พร้อมเข็น wheel chair เข้าไปด้านใน นอกจากนี้สายการบินจะพยายามจัดให้ผู้สูงอายุ และผู้พิการได้นั่งแถวหน้าสุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสะดวกต่อการเข้าห้องน้ำ แต่ถ้าที่นั่งอยู่ลึกก็ไม่ต้องกังวล เพราะสายการบินมีรถเข็นเล็กเปลี่ยนให้นั่งเข้าทางเดินแคบๆได้สบาย

Case Study : เมืองโกเธนเบิร์ก, สวีเดน ต้นแบบขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคน

สวีเดนเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ คนพิการ ชาย หรือหญิง ก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ต่างกัน โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะในเมืองโกเธนเบิร์ก ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุและคนพิการสามารถเข้าถึงสถานที่ต่างๆในเมืองได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังมีทางเลือกหลากหลายตั้งแต่ รถราง รถบัส และเรือ

ในปี 2005 โกเธนเบิร์กจัดทำโปรเจ็ค KOLLA ซึ่งเป็นแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะสำหรับผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยอย่างผู้สูงอายุและผู้พิการ และได้รับรางวัล Europe’s Best Accessibility Project เมื่อปี 2014 โดยปรับปรุงรถรางแบบใหม่ให้มีพื้นรถต่ำ พร้อมเพิ่ม Flexline Bus รถบัสที่มีบริการพิเศษเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ มีการติดตั้งทางลาดอัตโนมัติที่สามารถกดปุ่มได้จากนอกตัวรถ ช่วยให้เคลื่อนย้ายรถเข็นขึ้น-ลงได้สะดวก รวมถึงมีราวจับให้เข็นผ่านช่องทางเดินบนรถได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบันมีรถบัสประเภทนี้ให้บริการมากกว่า 20 คัน ครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ในเมือง

นอกจากนี้ยังกำจัดสิ่งกีดขวางบนถนนและพื้นที่สาธารณะ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการสัญจรแก่ผู้ใช้รถเข็น เช่น สร้างแพลตฟอร์มที่กว้างขวางพอบริเวณป้ายหยุดรถเมล์ ปรับฟุตบาทให้เสมอกับพื้นถนนสำหรับทางข้ามและทางม้าลาย ย้ายเสาไฟบนฟุตบาทเพื่อขยายทางเท้าให้กว้างขึ้น เพิ่มราวจับบริเวณทางลาดและราวบันได ไปจนถึงทำสัญลักษณ์สีเพื่อบอกความต่างระดับบนขอบฟุตบาทและบันไดขั้นแรก-ขั้นสุดท้าย

Writer

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.