สายตาของคนนอกที่มองเด็กออทิสติก = เอ๋อ นั่งน้ำลายยืด ติงต๊อง ปัญญาอ่อน ล้วนเป็นสิ่งที่ มุ้ย-พิชชาภา จรีภรณ์พงษ์ เจ้าของศิลปนิพนธ์ ‘Savant Autism’ เห็นคนอื่นมอง ‘อิคคิว’ น้องชายออทิสติกมาตั้งแต่เด็กจนโต ทำให้เธอคิ้วขมวดสงสัยว่าเพราะอะไรสังคมถึงมองเด็กออทิสติกเป็นคนแปลกแยก ในเมื่อเธอใช้ชีวิตคลุกคลีกับน้องชายมาทุกวันทุกเวลามาตลอด 18 ปี และเห็นอิคคิวมีอารมณ์ ความรู้สึก การวิเคราะห์เหมือนคนปกติ อาจบกพร่องทางการสื่อสารบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าน้องชายของเธอ ‘บกพร่องความเป็นมนุษย์’
การไม่เข้าใจตัวตนและมองข้ามความสำคัญเด็กออทิสติกของสังคมไทย กลายเป็นแพสชันของมุ้ยตั้งแต่ยังเล็กว่าอยากสื่อสารให้เข้าใจ ‘เด็กออทิสติก’ เสียใหม่ ผนวกเข้ากับความฝันที่อยากมาทางศิลปะ และถูกใจสาขาออกแบบเครื่องประดับ เลยเป็นโจทย์ท้าทายว่าเธอจะใช้จิวเวลรี่เหล่านี้ถ่ายทอดเรื่องราวที่อยากสื่อสารออกมาอย่างไรดี
วันนี้ความตั้งใจของมุ้ยออกมาเป็นรูปเป็นร่างกับ ‘Savant Autism’ ธีสิสที่เธอออกแบบเครื่องประดับและอุปกรณ์เสริม ไม่ว่าจะเป็นกำไล สร้อยคอ แหวน เข็มกลัด หมวก เสื้อ และกระเป๋า เพื่อแสดงคุณค่าและความเป็นอัจฉริยะของเด็กออทิสติกผ่านปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและผู้อื่น
Savant Autism = อัจฉริยะออทิสติก
ถ้าใครเคยดูเรื่อง ‘Rain Man’ ตัวละครที่ชื่อว่า ‘เรย์มอนด์ แบทบิท’ เป็นชายออทิสติกที่มีความจำดีเกินเรื่อง เพราะท่องเบอร์โทรศัพท์ในสมุดจดเบอร์ได้ทั้งหมด และยังนับไม้จิ้มฟันได้ไวเหมือนเดอะแฟลชอีกด้วย ซึ่งความอัจฉริยะข้างต้นคือ ‘Autistic Savant’ เป็นกลุ่มอาการออทิสติกที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ศิลปะ การคำนวณ หรือความจำเป็นเลิศ แต่บกพร่องด้านการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แล้วยังเป็นคนที่ชอบแบบแผนซ้ำๆ นั่นคือสิ่งที่อิคคิวเป็นเหมือนกัน
- อิคคิว เป็นเด็กผู้ชายอายุ 18 ปี นิสัยดี ซื่อสัตย์ ตื่นตัว และเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ ไม่ชอบอะไรที่ผิดไปจากสิ่งที่เขาทำ มีสีแดงและสีม่วงเป็นสีโปรด และใจฟูทุกครั้งเวลามีคนชมว่า ‘หล่อเหมือนพระเอกลิเก’
- อิคคิว ชอบทุกสิ่งที่เป็นตาราง โดยเฉพาะตารางรายการทีวีซึ่งเขาจำได้ทุกช่อง ทุกรายการ ทุกเวลา ชนิดที่คนในบ้านแอบไปยกเลิก หรือลดแพ็กเกจเขาจะบอกทันทีว่าช่องไหนหายไปบ้าง! และยังเป็นเด็กที่สนใจเส้นทางรอบกรุงเทพฯ เคยสร้างวีรกรรมหนีออกจากบ้าน เพื่อเดินทางตาม Map จากความจำที่เขาเคยเห็นในมือถือ แถมเขาไม่หลงด้วย
- อิคคิวไม่ค่อยพูด สบตา และรู้สึกประหม่าเมื่อคนที่เขาไม่คุ้นเคยมาแตะเนื้อต้องตัว ซึ่งเป็นพื้นฐานของเด็กออทิสติกที่มีโลกอีกใบของตัวเอง แต่ถ้าเป็นคนในบ้านอิคคิวจะเข้าไปกอด หรือเข้าหาก่อน นั่นหมายถึงการบอกรักในแบบของเขา
- อิคคิวเรียกตัวเองว่า ‘ก้านกล้วย’ เรียกพี่สาวคนรองที่สนิทด้วยว่า ‘ชบาแก้ว’ ส่วนพี่สาวคนโตคือ ‘ทอม’ เพราะชอบเถียงกับพ่อผู้ที่ไม่ยอมใส่เสื้ออยู่บ้านจนเห็นเนื้อหนังสีน้ำตาลเหมือน ‘หนูเจอร์รี่’ ส่วนคุณแม่ เขาให้ฉายาว่า ‘มิกกี้เมาส์’ เพราะไรผมรูปหัวใจที่ถอดแบบออกมาจากการ์ตูนเป๊ะๆ
มุ้ยเล่าความน่ารักของน้องชายให้ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เพราะโมเมนต์ข้างต้น คือความทรงจำที่มุ้ยใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยความสนใจ ความชอบ และความสุข จนเป็นชีวประวัติฉบับย่อ ซึ่งมุ้ยเล่าต่อว่าเหตุผลที่ใช้ชื่อธีสิสว่า Savant Autism คือย้ำกับสังคมว่าเด็กออทิสติกมีความอัจฉริยะอยู่ข้างในและหลงใหลสิ่งต่างๆ ในแบบของเขา
Daddy – กำไลข้อมือช่วยเตือนให้เติมน้ำตาลใส่โหล
เครื่องประดับชิ้นแรกมุ้ยทำเป็น ‘กำไลข้อมือ’ ใช้เป็นตัวกลางเพื่อให้อิคคิวคอยเติมน้ำตาลใส่ขวดโหล โดยมุ้ยพัฒนาจิวเวลรี่ชิ้นนี้จากพฤติกรรม ‘การทำซ้ำ’ ของอิคคิว และนิสัย ‘ชอบดื่มกาแฟ’ ของคุณพ่อ ซึ่งมีโรคความดันโลหิตสูง ทำให้หมอต้องควบคุมปริมาณน้ำตาลว่าภายในระยะเวลา 7 วัน ควรทานได้เท่าไหร่ บวกกับอัมพฤกษ์ที่อาจเดินไปหยิบน้ำตาลในจุดที่ไม่สะดวกเลยต้องมีคนคอยเติมให้
“เริ่มจากมุ้ยไม่ได้อยู่บ้านตลอด อยู่หอบ้างหรือต้องออกไปทำธุระบ้าง และในอนาคตก็อาจจะต้องเป็นแบบนั้นอีก ทำให้มุ้ยอยากเอาศักยภาพของคิวที่เขาสามารถทำงานซ้ำๆ เป็น Routine ได้มากกว่าคนปกติเสียอีก แถมเขามีความจำที่ดีมากๆ เลยอยากให้คิวได้ใช้ศักยภาพของตัวเอง รวมถึงเป็นการฝึกพัฒนาการของคิวไปในตัว
“กำไลข้อมือมีซิลิโคนทั้งหมดเจ็ดสี แทนวันจันทร์-วันอาทิตย์ ในทุกวันคิวจะสวมซิลิโคนเพิ่มหนึ่งชิ้นในกำไลและเมื่อไหร่ที่ใส่หรือถอดครบเจ็ดชิ้น นั่นแปลว่าถึงเวลาเติมน้ำตาลใส่โหลให้คุณพ่อแล้ว ซึ่งขวดโหลมุ้ยออกแบบให้พ่อเปิดง่าย และมีลายมือคิวเขียนว่า ‘ป๊ากินน้ำตาลอร้อยอร่อย’ ซึ่งเป็นคำที่คิวชอบพูดอยู่บ่อยๆ”
Mommy – สร้อยคอเสริมสมาธิและนกหวีดเรียกรวมพล
‘กินข้าวพร้อมกัน’
ประโยคที่อยู่บนสร้อยคอเป็นคำที่อิคคิวชอบพูด หมายความว่า ‘ทุกคนลงมากินข้าวพร้อมกันได้แล้ว’ ซึ่งมุ้ยเล่าว่าเครื่องประดับชิ้นนี้เธอพัฒนามาจากพฤติกรรมของอิคคิวที่รอกินข้าวเป็นคนแรกเสมอ และคุณแม่ผู้รับบทเป็นเชฟประจำบ้านไม่สามารถเรียกสมาชิกที่กระจัดกระจายอยู่ตามมุมต่างๆ ของบ้านได้หมด แล้วตัวกลางแบบไหนที่ช่วยเสริมศักยภาพของคิวและช่วยแม่ไปด้วยได้
“มุ้ยดีไซน์เป็นสร้อยคอให้คิวเป็นของเล่นฝึกสมาธิ ใช้กดตามจำนวนครั้งตามที่แม่กำหนดในระหว่างรอแม่ทำอาหาร ซึ่งถ้าเขากดถี่ๆ จะใช้เรียกคนในบ้านได้ด้วย ส่วนกำไลเป็นนกหวีด เพื่อเรียกทุกคนในบ้านให้ลงมากินข้าว ซึ่งมุ้ยออกแบบนกหวีดให้เสียงต่างออกไปจากนกหวีดฉุกเฉินเล็กน้อย เพื่อที่เวลาคิวเป่าในบ้าน คนนอกจะได้ไม่ตกใจ”
Mint – เข็มกลัดจิ๊กซอว์ฝึกสมาธิ
เครื่องประดับชิ้นถัดมา มุ้ยออกแบบให้เป็น ‘เข็มกลัดจิ๊กซอว์’ ที่นอกจากใช้ติดเสื้อแล้วยังเป็นกิจกรรมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างอิคคิวและ ‘มิ้น’ พี่สาวคนโตได้ รวมถึงใช้การต่อจิ๊กซอว์ เพื่อฝึกฝนให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น โดยมีทั้งหมด 20 ชิ้น ซึ่งเหมาะกับพัฒนาการของอิคคิวที่อยู่ระหว่างวัย 4 – 6 ขวบ
นอกจากนี้ มุ้ยยังซ่อนกิมมิกเล็กๆ ที่ให้จิ๊กซอว์ ‘สีเหลือง’ เป็นตัวแทนของมิ้น และจิ๊กซอว์ ‘สีม่วง’ เป็นตัวแทนของคิว ทั้งยังออกแบบรูปร่างของจิ๊กซอว์ให้แตกต่างจากแพตเทิร์นเดิมที่ตลาดเคยมี เพื่อบอกเล่าในเชิงคอนเซปต์ว่าจิ๊กซอว์ที่ดีไม่จำเป็นต้องมีแพตเทิร์นเดิมๆ หรือหน้าตาเหมือนกันทั้งหมด เช่นเดียวกับความเป็นมนุษย์ ที่มีความหลากหลาย และไม่ควรตีกรอบว่ามนุษย์ทุกคนต้องเหมือนกันไปหมดถึงจะเป็นมนุษย์ที่ดี
Muy – แหวนตัวปั๊มฝึกกล้ามเนื้อมือ
ความซี้ปึ้กระหว่าง ‘ก้านกล้วย’ (อิคคิว) และ ‘ชบาแก้ว’ (มุ้ย) คือชอบทำกิจกรรมร่วมกันอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะ ทำ ‘การ์ด’ ในวันสำคัญต่างๆ ให้คนในครอบครัว มุ้ยเลยใช้ปฏิสัมพันธ์ตรงนี้มาพัฒนาเป็น ‘แหวนตัวปั๊ม’ ช่วยให้อิคคิวได้ฝึก ‘กล้ามเนื้อมัดเล็ก’ เพื่อเพิ่มแรงกล้ามเนื้อ เพราะพื้นฐานของเด็กออทิสติกจะหยิบจับไม่ถนัดและเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็กไม่คล่อง
“ปกติมุ้ยเรียนและทำงานด้านศิลปะอยู่แล้ว ซึ่งแหวนตัวปั๊มจะช่วยสอนคิวด้านศิลปะ และช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือ เพราะคิวจะได้ฝึกกำ ฝึกปั๊ม และฝึกต่อลวดลาย โดยเราทำลายพื้นฐาน แต่คิวสามารถต่อกันอย่างฟรีสไตล์ได้ นอกจากจะเล่นร่วมกันแล้ว ยังสามารถสร้างสรรค์เป็นผลงานอื่นๆ รวมถึงยังทำเป็นการ์ดในวันสำคัญได้ด้วย”
Accessory ที่อิคคิวเป็นคนรีเควส
หลังจากมุ้ยแนะนำเครื่องประดับแล้ว เธอยังออกแบบ Accessory อื่นๆ ให้ครบเซตด้วย ซึ่งลวดลายบนหมวก กระเป๋า หรือเสื้อ ล้วนแล้วมาจากฝีมือของคิวทั้งสิ้น โดยมุ้ยมีหน้าที่ปรับและทำกราฟิกเพิ่มอีกนิดหน่อย เพื่อให้ออกมาสมบูรณ์มากที่สุด
มุ้ยยังเล่าโมเมนต์น่ารักๆ ของน้องชายว่า “คิวรีเควสว่าเขาอยากได้กระเป๋ากับหมวก เพราะอยากถือและใส่เหมือนพี่ๆ ซึ่งเราเอาหมวกมาให้ลองหลายๆ แบบ แล้วให้เขาตัดสินใจเลือกทรงหมวกเอง เพราะพื้นเพที่บ้านให้คิวมีสิทธิ์ในการตัดสินใจว่าอันไหนเขาโอเคหรือไม่โอเค เราเลยทำออกมา 2 สี เพื่อให้เขาเลือกแมตช์กับลุคต่างๆ ได้
“อย่างกระเป๋าเราวิเคราะห์จากการใช้งานของคิว เขาไม่ได้ใส่อะไรเยอะแยะหรือแทบไม่ใส่เลย แต่การสะพายกระเป๋าทำให้รู้สึกมีส่วนร่วมกับคนอื่น ทำให้เราออกแบบเป็นใบกะทัดรัด เพื่อให้เวลาเล่นซนเขาคล่องตัวมากที่สุด การใช้งานต้องไม่ซับซ้อน และคำนึงวัสดุต้องกันน้ำให้ทำความสะอาดง่าย”
นอกจากนี้ มุ้ยยังเย็บ QR Code ติดกับหมวกด้านหลังไว้ด้วย ซึ่งคิวอาร์โค้ดจะลิงก์ไปยังเว็บไซต์ของอิคคิว ประกอบไปด้วยรูป วิดีโอ ข้อมูลส่วนตัว และช่องทางการติดต่อ เผื่อคนภายนอกเจออิคคิวในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเขาจะสามารถสแกนและติดต่อกลับมาได้
ซ่อนความพิเศษของเด็กออทิสติกในเสื้อยืด
“คิดว่ารอยยิ้มของคิวเป็นแบบไหน” คือโจทย์ที่มุ้ยกับน้องชายช่วยกันวาดรอยยิ้มของอิคคิว แถมเป็นเสื้อสีแดง สีโปรดของอิคคิวด้วย มุ้ยเล่าดีเทลของเสื้อทั้งหมด 4 ตัวว่าด้านข้างจะมีซิปที่รูดขึ้นจะเห็นประโยคต่างๆ ใช้ลักษณะการซ่อนข้อความไว้หลังซิป เพื่อเทียบเคียงกับความสามารถ หรือเนื้อแท้ของเด็กออทิสติกที่ถูกซ่อนไว้ภายใต้ข้อบกพร่อง โดยข้อความจะบ่งบอกลักษณะเกี่ยวกับเด็กออทิสติกที่สังคมไม่ค่อยรู้ อย่างเช่น ‘Good boy Good boy Good boy’ ‘I am cuter than you think’ ’I love everyone but are too shy’ และ ‘My talent is inside.’
ลายมือทั้งหมดที่เราเห็นในธีสิสของมุ้ย เป็นลายมือของอิคคิวทั้งหมด เธอให้เขาฝึกเขียนตั้งแต่ตัว ก-ฮ และตัว A-Z และนำมาพัฒนาต่อ ก่อนนำมาผลิตเป็นชุดฟอนต์ ‘Ikkhew’ ขึ้นมา ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นฟอนต์ที่เห็นในชิ้นงาน ดราฟต์แรกมีเส้นขาด เส้นเกิน อ่านไม่ออกบ้าง เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กของเขาทำงานไม่คล่อง โดยธีสิส Savant Autism นอกจากอิคคิวได้ฝึกพัฒนาการจากจิวเวลรี่แล้ว ระหว่างทางเขาก็พัฒนาไปพร้อมกับโปรเจกต์เช่นกัน
ตลอดระยะเวลา 1 ชั่วโมงกว่าๆ ที่วิดีโอคอลคุยกับมุ้ย เธอยิ้มแย้มพร้อมเล่าแพสชันที่มีอย่างไม่รู้สึกเหนื่อย และย้ำตลอดว่าเธอไม่เคยรู้สึกอายที่มีน้องเป็นออทิสติกและเธอรักเขาในแบบที่เขาเป็น ถึงแม้ธีสิส Savant Autism ถูกตั้งต้นมาจากคิว แต่มุ้ยไม่ได้หยุดให้มันเป็นแค่เพียงโปรเจกต์จบเท่านั้น เพราะในอนาคตเธออยากให้ธีสิสชุดนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจเพื่อนำไปต่อยอดให้เหมาะกับความหลากหลายของเด็กออทิสติกแต่ละคนได้
และทำให้คนหันมาคำนึงถึงการดึงศักยภาพของเด็กพิเศษว่าสร้างได้หลากหลายรูปแบบ เครื่องประดับหรืออุปกรณ์เสริมก็ทำได้เช่นกัน เพราะทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ แถมยังใช้ความสามารถของตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย
“ส่วนตัวเราอยากให้คนเปลี่ยนแง่มุมที่มีต่อเด็กออทิสติกว่าเขามีความสามารถหลากหลาย อยากให้ลบภาพจำเดิมว่าเอ๋อ ปัญญาอ่อน หรืออะไรก็ตาม และให้คนมองคุณค่าหรือศักยภาพในสิ่งที่เขาเป็นมากกว่า เพราะสังคมไทยมองข้อบกพร่องของเด็กออทิสติกเป็นอย่างแรก ทั้งที่จริงๆ ข้อบกพร่องมันแก้ไขได้น้อยหรือแทบไม่ได้เลย ซึ่งเราควรโฟกัสว่าจะพัฒนาศักยภาพที่มีอย่างไรให้ดีขึ้นอีกได้มากกว่า
“อีกอย่างมุ้ยไม่ได้ต้องการให้สังคมไทยมองเด็กออทิสติกด้วยความสงสาร หรือความเห็นใจ มันไม่ได้มีใครอยากถูกมองเป็นคนน่าสงสารหรอก ทุกคนอยากถูกมองว่าเขาเก่งเพราะเขาเก่ง ไม่ใช่อุดหนุนเพราะเขาน่าสงสาร ในสายตามุ้ยเวลามองงานสักชิ้นของเด็ก มุ้ยเห็นถึงความสามารถ ความพยายามของพวกเขา และมุ้ยคิดมาเสมอว่าอยากให้คนในสังคมมองเด็กออทิสติกด้วยความเข้าใจเช่นเดียวกับมุ้ย”
ในฐานะคนนอก ฉันเชื่อว่าธีสิสจิวเวลรี่ของมุ้ยไม่ได้ให้แค่ความเข้าใจต่อเด็กออทิสติกอย่างเดียว แต่การมองคนทุกคนให้เท่ากันต่างหากคือสิ่งสำคัญ
เข้าไปดูปริญญานิพนธ์เจ๋งๆ โดยฝีมือนักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ที่
อัลติ | Ultimate : DEC Art Thesis Exhibition 2021