ทุกวันนี้เราได้รับข่าวสารการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นสภาวะโลกร้อนน้ำท่วมครั้งใหญ่พายุพัดถล่มมลภาวะที่เพิ่มขึ้นไปจนถึงก๊าซเรือนกระจกที่ห่อหุ้มโลกหนาขึ้นทุกวันเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นด้วยจำนวนครั้งที่มากขึ้นเรื่อยๆโดยจากการวิจัยพบว่าภายในปีค.ศ. 2030 อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 1.50 องศาเซลเซียสและประมาณปีค.ศ. 2040 จะกลายเป็น 2 องศาเซลเซียส
คำถามคือเราจะอยู่บนโลกนี้ได้อีกนานแค่ไหน ? และอยู่อย่างไรโดยไม่ทำลายตัวเองและสิ่งแวดล้อม ? นั่นเพราะโลกนี้มีทรัพยากรอย่างจำกัดพลังงานต่างๆที่เราใช้ยังส่งผลกระทบต่อโลกโดยตรงการแก้ปัญหาด้วยวิธีการใช้พลังงานหมุนเวียนจึงเกิดขึ้น Urban Creature พาไปเปิดมุมมอง ‘พลังงานหมุนเวียน’ ของ ‘ผศ.ดร.ปริญญาเทวานฤมิตรกุล’ ผู้สร้างแนวคิด ‘Thammasat Smart City’ เพื่อพัฒนาคนและสังคมที่ยั่งยืน
ถึงเวลากู้โลก
ตอนนี้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1 องศา เมื่อเทียบกับ 100 ปีที่ผ่านมา 1 องศามันดูไม่มากนะ แต่สหประชาชาติออกมาเตือนว่า อุณหภูมิต้องสูงไม่เกิน 2 องศา เพราะถ้าเกิน 2 องศาเมื่อไหร่ มันจะเกินกว่าที่เราแก้ไขได้ ซึ่งถ้ามองชัดๆ เราจะเห็นว่า เพียงแค่ 1 องศา เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากแล้ว ภัยธรรมชาติมันเกิดขึ้นถี่มากทั่วโลก ไอ้ที่หนาวก็หนาวหนักขึ้น ไอ้ที่ร้อนก็ร้อนหนักขึ้น ไฟป่าก็เกิดถี่ขึ้น
อย่างแถบอเมริกาเหนือมันมีปรากฏการณ์ของ Bomb Cyclone เมื่อปีก่อน แล้วต้นปีนี้ก็เกิด Polar Vortex อีก ขณะที่ซีกโลกใต้อย่างออสเตรเลีย ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความร้อนทำลายสถิติร้อนที่สุดเท่าที่ออสเตรเลียเคยมีการบันทึกเอาไว้ อุณหภูมิสูงถึง 48 องศาเซลเซียส ลามไปจนถึงแถบยุโรปที่กำลังเผชิญความร้อนยิ่งกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทั้งในฝรั่งเศส และเยอรมัน แล้วด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลก็สูงขึ้น แต่จริงๆ มันมีผลมากกว่านั้น เพราะมันไม่ใช่แค่ระดับน้ำทะเล แต่มันคือไอน้ำในบรรยากาศที่เพิ่มมากกว่าเดิม ทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น เพราะฉะนั้น พายุทุกลูกมันใหญ่ขึ้น รุนแรงขึ้น ฝนตกถี่ น้ำท่วมรุนแรงขึ้น
อีกตัวอย่างคือ เขื่อนดินทั่วโลกกำลังจะพัง เพราะปริมาณน้ำฝนที่คำนวณไว้ในตอนสร้างกับปัจจุบันมันไม่เหมือนกัน เช่น กรณีของเซเปียนเซน้ำน้อยที่ลาวแตก ก็เกิดจากการที่ปริมาณน้ำฝนที่วิศวกรคำนวณไว้กับปริมาณที่ต้องรับมันมากเกินไป หรือในประเทศไทยปีที่แล้ว เขื่อนแก่งกระจานที่เพชรบุรี ก็เกือบรับไม่ไหว ต้องระดมเครื่องสูบน้ำขนาดยักษ์ เครื่องสูบน้ำพญานาคกว่า 30 – 40 ตัว เอามาสูบน้ำออกจึงรอดจากน้ำท่วมไปได้ แต่หากน้ำมาจากหลายที่พร้อมๆ กัน เราจะรับไหวเหรอ นี่แค่ 1 องศาเท่านั้นนะ ถ้าหากว่ามันมากกว่านี้ถึง 2 องศาจะเป็นอย่างไร
เมื่อปีที่แล้วคณะการทำงาน climate change เขาออกมาบอกแล้วว่า อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งตัวเลขนี้มันจะมาถึงในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 มันแค่ 11 ปีข้างหน้าเอง ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนแปลงอะไร เราจะเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ นั่นรวมถึงมนุษย์ด้วย ไม่ใช่แค่สัตว์ ซึ่งโลกเรามีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งก่อนๆ เกิดจากธรรมชาติ แต่ครั้งนี้จะเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์เอง
ถามว่าอะไรทำให้โลกมันสมดุล ทำให้เรามีออกซิเจนเพียงพอ แล้วคาร์บอนก็ไม่มากเกินไป คำตอบคือ ต้นไม้และระบบนิเวศของธรรมชาติ ใน 100 ปีที่ผ่านมา เราตัดต้นไม้ไปแล้ว 2 ใน 3 ของโลก ในนามของการพัฒนาและความเจริญ เราปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น แต่เรากลับทำลายเครื่องมือของโลกที่ช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร ซึ่งตอนนี้ เรากำลังรับผลการกระทำของตัวเองอยู่ เหมือนกับประโยคที่ว่า
“Because there is no Planet B.” – เราไม่มีโลกใบที่ 2
เรามีโลกใบเดียวเท่านั้น ต้องช่วยกันรักษาไว้ มันเป็นแรงบันดาลใจของธรรมศาสตร์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ให้ลุกขึ้นมาทำเรื่องพลังงานหมุนเวียน เราเริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อจะมาทดแทนพลังงานต่างๆ จากการใช้ไฟฟ้า ซึ่งโครงการของเราจะได้ไฟประมาณ 10 เมกกะวัตต์ เท่ากับ 25% ของไฟที่เราใช้ เรียกว่าเป็น 1 ใน 4 เลย ที่เปลี่ยนให้เป็นพลังงานหมุนเวียน เป้าหมายของเราไม่ใช่ทำให้ธรรมศาสตร์ใช้พลังงานฟอสซิลน้อยลง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยงลง แต่เป้าหมายคือการเปลี่ยนประเทศไทย
Thammasat Smart City
ภาพของธรรมศาสตร์ตอนนี้มีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือความยั่งยืนของพลังงาน สิ่งแวดล้อม และต้นไม้ ทั้งหมดนี้ทำให้มนุษย์เราใช้ชีวิตอยู่ได้ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งคนจำนวนมากอาจคิดว่า ต้นไม้ไม่สำคัญ ไม่ต้องมีก็ได้ อยู่ในห้องแอร์ก็ได้ นั่นคือความคิดที่ผิด เราอยู่ในห้องแอร์ไม่ได้ เราต้องมีต้นไม้ เพราะใช้ต้นไม้ฟอกคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายมาเป็นออกซิเจนให้เรา
เรื่องที่ 2 คือเรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัย ต้องเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ เช่น ในธรรมศาสตร์ ถ้าจะยืมจักรยานต้องใช้มือถือ ใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้าก็ต้องใช้แอปพลิเคชัน จ่ายเงินกินข้าวที่โรงอาหาร จะจองห้องเรียน ลงทะเบียน ก็สามารถทำทางมือถือได้ คือไม่ต้องเสียเวลาแล้ว ความสะดวกมากขึ้น มันจะช่วยทำให้ใช้พลังงานน้อยลง มันเกิดขึ้นโดยใช้ smart technology ระบบไร้สายที่มันเชื่อมต่อกันหมด เพราะจริงๆ แล้ว มนุษย์เชื่อมต่อกันอยู่แล้ว ไม่มีเส้นแบ่งประเทศในนี้ เพราะเทคโนโลยีเข้าถึงได้จากทั่วทุกมุมโลกหรือที่เรียกว่า Unification of Humankind
และเรื่องที่ 3 คือเรื่องของ Smart people, smart society เราต้องมีคนที่ดี และสังคมที่ดี มันต้องมาคู่กัน เพราะถ้าคนไม่มีคุณภาพ ก็จะทำลายทุกอย่างหมด และทำลายคนอื่น เอารัดเอาเปรียบกัน มันก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นคนต้องฉลาด ต้องคิดเป็น และเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมส่วนรวม ซึ่ง 3 อย่างที่พูดมาทั้งหมด คือส่วนหนึ่งของ smart city
ปัจจุบันและอนาคตของธรรมศาสตร์
เรื่องใหญ่ที่เรากำลังทำ คือเรื่องของ ‘พลังงาน’ ซึ่งไม่ใช่แค่พลังงานแสงอาทิตย์อย่างเดียว เรื่องต้นไม้ เรื่องขยะก็เป็นเรื่องใหญ่มาก ซึ่งที่ธรรมศาสตร์เรามีโครงการที่เป็นพลังงานหมุนเวียนอยู่ทุกที่ เริ่มที่รังสิต ตั้งเป้าไว้ที่ 10 เมกกะวัตต์ เราติดตั้งไปแล้ว 7 เมกกะวัตต์ เหลืออีก 3 เมกกะวัตต์ โดยจะเสร็จภายในปลายปีนี้ ฝั่งท่าพระจันทร์ จะได้พลังงานประมาณ 0.5 เมกกะวัตต์ ซึ่งจะเสร็จภายในปีนี้เหมือนกัน แล้วก็ที่ลำปางติดตั้งเสร็จแล้วนะ ได้พลังงานประมาณ 0.8 เมกกะวัตต์ เพราะมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ส่วนของพัทยาก็จะเป็นโครงการของปีต่อไป
ตอนนี้ธรรมศาสตร์กำลังศึกษาพลังงานลมอยู่ ซึ่งในประเทศไทยพลังงานลมไม่ค่อยแรงเท่าไหร่ อาจเป็นขนาดที่เล็กลงหน่อยสัก 500 วัตต์ เราเลยต้องมาศึกษาและประยุกต์กัน แล้วยังมีพลังงานจากคลื่น อย่างที่ท่าพระจันทร์ คลื่นจากเรือด่วนแรงมาก เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาสองฝั่งถูกกั้นเป็นเขื่อนปูน พอเรือด่วนวิ่งกันเยอะแยะไปหมด คลื่นในแม่น้ำมันก็สะท้อนไปสะท้อนมา เราจึงคิดว่าควรที่จะเอามาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ความจริงมันมีวิธีการอีกหลายอย่างในการสร้างพลังงานเลยล่ะ
การสัญจรรักษ์โลก
รถยนต์ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างมลภาวะ เราเลยเริ่มที่จะเปลี่ยนการสัญจรต่างๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ shuttle bus ก็เปลี่ยนให้เป็น solar bus ติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือใช้รถ EV แต่การเปลี่ยนมาใช้รถ EV ก็ยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ดี เพราะทุกครั้งที่เราชาร์ตไฟมันก็มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง แค่ตอนขับอยู่ไม่ได้ปล่อยเท่านั้นเอง แต่อย่างไรก็ตาม มันเป็นทางเลือกหนึ่งที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลง อีกอันคือวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ชอบใช้กัน เพราะมันสะดวก รวดเร็วดี เราเลยเริ่มทดลองใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แล้วก็ชาร์ตกับสถานีโซลาร์เซลล์ที่ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้ยังทำไม่เรียบร้อยทั้งหมดนะ กำลังทยอยทำให้สมบูรณ์อยู่
เป้าหมายมหาวิทยาลัยที่ผลิตพลังงานเองได้ 100%
เราตั้งเป้าไว้ 10 ปี ซึ่งถือว่าเร็วมากที่จะให้ภายใน 10 ปีมีพลังงานใช้เอง สร้างเป็น net zero หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า net zero คืออะไร จริงๆ แล้วมันคือการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งเราตั้งใจจะเป็นมหาวิทยาลัยที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ทั้งหมด ตอนนี้ทำได้แล้ว 25% ยังขาดอีก 75% ถ้าเราเปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งหมดเราจะประหยัดไฟได้ 30% ก็เป็น 55% แล้ว เหลือแค่ 45% เองมันก็ใกล้เข้ามาแล้ว
เรายังมีความคิดที่จะตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เคยมีแนวคิดที่จะทำโรงไฟฟ้าจากขยะ แต่โรงไฟฟ้าจากขยะ ถ้าจะให้คุ้มทุน ทำแล้วคุ้มค่า มันต้องมีขนาดใหญ่หน่อยแล้วมีขยะต่อวันสัก 100 ตัน ซึ่งที่ธรรมศาสตร์เรามีขยะต่อวันแค่ 13 ตันเอง ความจริงแล้วมันเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ขยะขนาด 100 ตัน ก็คิดว่ามันเยอะไปในการจัดการ ถ้าจะตั้งโรงไฟฟ้า เราต้องนำเข้าขยะ จากชุมชนรอบๆ ที่นี่ ซึ่งมันมีแนวโน้มที่จะต่อต้านแน่นอน เอาขยะเข้ามาในมหาวิทยาลัย รถขยะวิ่งไปวิ่งมากัน คงเป็นภาพที่ไม่ค่อยน่าดูเท่าไหร่
โรงไฟฟ้าไฮโดรเจนเป็นอีกสิ่งที่ธรรมศาสตร์กำลังคิดอยู่เหมือนกัน เพราะนำ้เป็นทรัพยากรพื้นฐานในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว มันเป็นของที่หาง่าย เอาน้ำมาสกัดไฮโดรเจนก็ได้ไฮโดรเจนที่จะนำมาเป็นพลังงาน ซึ่งมันเป็นพลังงานสะอาดด้วย เพราะมันไม่มีคาร์บอน เราได้ออกซิเจนด้วยซ้ำไปจากกระบวนการนี้ ยังมี mini-hydro energy นั่นคือการทำพลังงานน้ำขนาดเล็ก เพราะถ้าทำใหญ่มันต้องกั้นแม่น้ำ ผลกระทบมันมากกว่าประโยชน์ เช่น การกัดเซาะชายฝั่งที่เจ้าพระยา มันเกิดจากอะไร ที่ผ่านมาประมาณสัก 5,000 – 7,000 ปีที่แล้ว อ่าวไทยมันอยู่ตรงนครสวรรค์ แต่ตอนนี้มันกลายเป็นแผ่นดิน เพราะตะกอนแม่น้ำมันมาเติมเรื่อยๆ รวมถึงกรุงเทพฯ เมื่อก่อนก็เป็นทะเลมาก่อน เพราะตะกอนทับถม
ความจริงแผ่นดินไทยต้องงอกขึ้นทุกปี แต่ทำไมปัจจุบันมันกลับหดลงๆ เพราะว่าไม่มีดินใหม่ๆ มาเติมแล้ว รวมถึงสถานการณ์สภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น การกัดเซาะชายฝั่งก็เลยมากขึ้นด้วย ตอนนี้อ่าวไทยของเราหายไปแล้วกิโลฯ นึง เราเลยต้องเปลี่ยนแนวทางพัฒนาให้มันดีขึ้น รอบคอบขึ้น คิดถึงผลกระทบให้มากขึ้น เราควรที่จะหาทางที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และการใช้งานที่เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยระบบการจัดการที่มัน Smart ทำให้พื้นที่ 1,700 ไร่ เป็น smart city ได้อย่างสมบูรณ์
ประเทศไทยกับสภาวะโลกร้อน
คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อน ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันกำลังแย่ลง คิดว่าไม่เป็นไร อยู่ไปเรื่อยๆ แต่ความจริง มันต้องเปลี่ยน ต้องทำแล้ว รู้ใช่ไหมว่าถุงพลาสติกเป็นสาเหตุที่ทำให้วาฬตาย เต่าจำนวนมากในท้องทะเลลอยเกยตื้นให้เราเห็น และไม่เห็นอีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หลอดพลาสติกก็เป็นสาเหตุให้เต่าตายมาไม่รู้เท่าไหร่ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ยอมเปลี่ยนวิถีชีวิต ตัวอย่างการจัดการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราตั้งเป้าไว้ว่า ในเดือนสิงหาคม เราจะเลิกใช้แก้วพลาสติก กับหลอดพลาสติกให้หมด หรือแม้กระทั่งการเลือกร้านอาหาร ร้านกาแฟก็จะเลือกคนที่มีแนวคิดเหมือนกันกับเรามาทำด้วยกัน เพราะขยะที่เราผลิตออกมา ก็อยู่ในโลกเรานี่แหละ แต่เราก็ยังใช้อยู่ ซึ่งไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าการลงมือทำ
เปิดตำราวิชาพลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม
เราอยากให้วิชานี้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้าง smart people มันจะเกิด smart environment และ smart technology คนเหล่านี้คือพลังสำคัญที่จะเปลี่ยนโลกได้ เรามองว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรมหาวิทยาลัยจะสร้างคนที่ไม่ใช่แค่คิดอย่างเดียว แต่ลงมือทำเป็นด้วย ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2551 สถานการณ์วิกฤตต่างๆ เกิดขึ้นในบ้านเมือง พอดีผมเป็นอาจารย์สอนรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ผมก็ไปค้นดูว่าต่างประเทศเขาแก้ปัญหากันอย่างไร
รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องหนึ่ง แต่แค่รัฐธรรมนูญมันแก้ปัญหาไม่ได้หรอกถ้าคนใช้ไม่เป็น ซึ่งได้ไปเจอ key success หนึ่งคือ การสร้างคน เขาเรียกว่า Civic Education หรือ การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง เพราะในระบอบประชาธิปไตย มันคือการปกครองตนเอง ระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน ถ้าประชาชนไม่ยอมรับกฎกติกา แล้วมันจะปกครองตัวเองได้อย่างไร คนเราอยู่ด้วยกันมันต้องมีกติกา และมองคนทุกคนอย่างเท่าเทียม
เรามีความแตกต่างกันได้ ความคิดต่างกันได้ การอยู่ร่วมกันมันจึงต้องเคารพกัน แม้ว่าจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องยอมรับอย่างเสมอภาค มันคือความแตกต่างแต่เท่ากัน ไม่ได้แปลว่าเหมือนกันนะ คนชอบเข้าใจผิด แล้วไอ้ความเสมอภาคต้องเห็นคนเป็นแนวราบ ไม่ใช่แนวดิ่ง ซึ่งแนวดิ่งคือการยกย่องคนที่สูงกว่าแต่เหยียดหยามคนที่อยู่ต่ำกว่า สำหรับผมแม่บ้านคือเพื่อนร่วมงาน รปภ. คือเพื่อนร่วมงาน เราเสมอภาคกัน ผมในฐานะอาจารย์ก็ต้องเคารพนักศึกษา นักศึกษาเองก็ต้องเคารพอาจารย์ด้วย ในธรรมศาสตร์ไม่ใช่ว่ารุ่นพี่จะมาเรียกร้องให้รุ่นน้องเคารพ แต่รุ่นพี่ก็ต้องเคารพรุ่นน้องเช่นกัน จริงๆ เราเสมอกันแต่แตกต่างกันแค่บทบาทหน้าที่เท่านั้นเอง
“มันดูจะฝืนธรรมชาติไปสักหน่อยเพราะกฎธรรมชาติ
คือการใช้กำลังแก้ปัญหาปลาใหญ่กินปลาน้อยผู้อ่อนแอคือผู้ผ่ายแพ้ประชาธิปไตยมันจึงเป็นเรื่องฝืนธรรมชาติ
ก็แปลว่าต้องฝึกถึงจะทำเป็นซึ่งเป็นสิ่งที่เราขาดเลยเกิดวิชานี้ขึ้นมา”
ต่อมาเราคิดว่า การรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องลงมือทำด้วย เลยเปลี่ยนชื่อวิชาเป็น ‘Civic Engagement’ มันแปลว่าการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำอะไรก็ต้องคิด ไม่ว่าจะดีหรือร้ายมันส่งผลต่อสังคมเสมอ เลยเพิ่มเติมเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาในวิชาด้วย อย่างเรื่องการไม่ใช้ถุงพลาสติก การประหยัดพลังงานต่างๆ มันทำให้เห็นภาพว่า ถ้าพลเมืองในประเทศไม่ดี ไม่มีจิตสำนึก และไม่รู้หน้าที่ของตัวเอง ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น มันคือผลของการกระทำจากคนในสังคม ทุกเรื่องที่มันเกิดขึ้นในโลกไมว่าจะเป็น ขยะ พลังงาน หรือโลกร้อน จึงมารวมอยู่ในวิชานี้