‘แก๊สน้ำตา’ กลายเป็นภาพจำของการสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงทั่วโลกมาเนิ่นนาน แม้ว่าน้ำตาที่ไหลออกมาเมื่อแก๊สนี้สัมผัสเข้ากับจุดอ่อนของร่างกาย ใช้เวลาไม่นานก็เหือดแห้งหายเป็นปกติ แต่ก็ไม่สามารถลบเลือนร่องรอยของความทรงจำในเหตุการณ์นั้นได้อย่างแน่นอน Urban Tales จึงย้อนเวลามาเล่าเรื่องที่มาของแก๊สน้ำตาที่ปัจจุบันกลับกลายเป็นอาวุธทางเคมีที่ใช้ลิดรอนสิทธิ ลดทอนกำลัง และควบคุมกลุ่มคนที่มีความเห็นต่าง
| ย้อนรอยเรื่องราวแก๊สน้ำตา
หากย้อนเวลากลับไปท่ามกลางไฟสงครามและกำลังทหารจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์รุนแรงจนเหนือการควบคุม ‘แก๊สน้ำตา (Tear Gas)’ หรือ ‘CS gas’ คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหยุดความเคลื่อนไหวของฝั่งตรงข้ามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างความระคายเคืองต่อระบบหายใจ โดยเมื่อก่อนมีชื่อเรียกว่า CN Gas จนเวลาล่วงมาถึงช่วง ค.ศ. 1928 สองนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ‘Ben Corson’ และ ‘Roger Stoughton’ ได้คิดค้นและปรับสูตรแก๊สน้ำตาขึ้นใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่า CN gas ถึงสิบเท่า โดยหลังจากพัฒนาสูตรแล้วก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น CS gas จนมาถึงชื่อปัจจุบันอย่าง ‘แก๊สน้ำตา’ ซึ่งมีที่มาตามอาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อแก๊สน้ำตาสัมผัสกับจุดที่ระคายเคืองมากที่สุดในร่างกายอย่างดวงตานั่นเอง
เมื่อเวลาผ่านไป แก๊สน้ำตาถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอาวุธทางการทหารของหลายประเทศ ซึ่งแก๊สน้ำตาถูกเลือกให้กลายเป็นเครื่องมือลดความรุนแรงและการปะทะ โดยเมื่อเราโดนสารเคมีที่อยู่ในแก๊สน้ำตาแล้ว จะเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาและแก้วตาดำ ทำให้มีน้ำตาไหลออกมา เยื่อบุตาจะแดงและแก้วตาดำจะบวม ตามองไม่เห็น น้ำมูกน้ำลายไหล ไอ หายใจลำบาก ซึ่งส่วนใหญ่จะหายเองภายใน 1 ชั่วโมง
แต่หากได้รับในปริมาณที่เข้มข้นมาก หรืออยู่ในพื้นที่มิดชิดไม่มีอากาศถ่ายเท อาการจะยิ่งรุนแรงและเป็นอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นจึงกลายเป็นเส้นบางๆ ระหว่างความอันตรายและความปลอดภัยของแก๊สน้ำตา ที่แปรผันไปตามปริมาณที่ใช้และสถานการณ์ ณ ช่วงเวลานั้น
| แก๊สน้ำตาสู่คราบน้ำตา
ในประวัติศาสตร์สงครามโลกที่กินเวลายาวนานมาหลายยุคหลายสมัย ช่วงเวลาคับขันที่ต่างฝ่ายต่างต่อสู้กันเพื่อปลายทางของชัยชนะ อาวุธหนักๆ ที่ใช้อาจทำให้เกิดการสูญเสียของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้น จนกลายเป็นตัวเลขจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว แก๊สน้ำตาจึงถูกเลือกให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธที่ลดทอนกำลังของฝั่งตรงข้ามได้อย่างดีโดยลดจำนวนผู้เสียชีวิต ซึ่งแก๊สน้ำตาถูกนำกลับมาใช้อย่างแพร่หลายอีกครั้งในช่วงสงครามเวียดนาม จนกลายเป็นที่กล่าวขานของบรรดากองทัพทหารถึงประสิทธิภาพที่รุนแรง สามารถควบคุมฝูงชนได้เป็นจำนวนมาก
เพราะในระหว่างสงครามเวียดนาม แก๊สน้ำตาถูกนำออกมาใช้มากถึงพันตัน เพื่อขับไล่ทหารเวียดกงออกจากอุโมงค์และฐานลับ ซึ่งแม้ว่าแก๊สตัวนี้จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็อย่าลืมว่าในปริมาณที่มากขนาดนั้น รวมกับปัจจัยของพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด แถมยังไม่เอื้อต่อการถ่ายเทของอากาศ จึงทำให้ในเหตุการณ์นี้มีทหารเวียดกงเสียชีวิตไปหลายพันนายเลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทย แก๊สน้ำตาถูกแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ แบบลูกกระสุน แบบขว้าง และแบบสเปรย์พริกไทย โดยถูกนำมาใช้ครั้งแรกในการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยในเหตุการณ์ปิดล้อมรัฐสภาช่วง พ.ศ. 2551 โดยเจ้าหน้าที่ตํารวจได้ยิงแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชนที่มาชุมนุมในขณะนั้น ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจํานวนมาก รวมถึงมีผู้เสียชีวิตด้วย
| ลดทอนการปะทะหรือเพิ่มความรุนแรง
จากเหตุการณ์ในอดีต ยังคงเป็นคำถามว่าการใช้แก๊สน้ำตานั้นเหมาะสม และช่วยลดความรุนแรงในการปะทะของฝูงชน ลดอัตราการบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตได้จริงหรือไม่? เพราะหากไม่สามารถควบคุมปริมาณที่ใช้ในเหตุการณ์ต่างๆ ได้
‘แก๊สน้ำตา’ อาจกลายเป็นอาวุธสำคัญที่มีอานุภาพทำลายล้างผู้คนไม่แพ้กันกับอาวุธชนิดอื่นเลย
จนทำให้เหล่านานาประเทศพากันลงมติความเห็นร่วมกันกว่า 80 ประเทศ ให้ถือว่า ‘แก๊สน้ำตา’ เป็นอาวุธเคมีชนิดหนึ่งที่ถูกห้ามใช้ในสงคราม ตามสนธิสัญญาเจนีวา (Geneva Protocol) เพราะเหตุจากการยิงแก๊สน้ำตาจากฝ่ายหนึ่งแล้วเกิดการเข้าใจผิด จนตอบโต้กลับมาด้วยอาวุธที่มีลักษณะรุนแรงกว่า ก่อให้เกิดความเสียหายและมีจำนวนผู้บาดเจ็บมากขึ้น อย่างไรก็ตามแก๊สน้ำตายังถูกใช้สำหรับการสลายการชุมนุมในหลายๆ ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย
Photo Credits :
FoundSF | https://bit.ly/3g05qXI
The New York Times | https://nyti.ms/3f3cAc9
Verso | https://bit.ly/2WQejvi
Sources :
BBC | https://bbc.in/30ECYnS
Britannica | https://bit.ly/2D1dQiY
The Atlantic | https://bit.ly/2WRzSvp