สตาร์ทอัปญี่ปุ่นเปลี่ยนขยะทะเลเป็น ‘HOTAMET’ หมวกนิรภัยจากเปลือกหอย เบา ทนทาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เปลือกหอยที่ถูกปล่อยทิ้งเอาไว้ แม้จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ แต่หากมีจำนวนมากจนเกินไป สสารที่เป็นของแข็งเหล่านี้ก็อาจกลายเป็นขยะในท้องทะเลได้ ตัวอย่างเช่น ในแต่ละปี หมู่บ้านซารุฟุสึ ประเทศญี่ปุ่น จะมีเปลือกหอยเชลล์ถูกทิ้งให้กองเป็นภูเขาปกคลุมหลุมฝังกลบประมาณ 40,000 ตัน โดยทั้งหมดมาจากกระบวนการแปรรูปหอยเชลล์ในอุตสาหกรรมอาหาร ก่อนหน้านี้ ขยะเปลือกหอยเคยส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใช้ใหม่ แต่หลังจากที่ญี่ปุ่นหยุดส่งออกเปลือกหอยไปยังประเทศอื่นๆ ในปี 2564 เปลือกหอยจำนวนมากจึงต้องมากองเกลื่อนหมู่บ้านแห่งนี้ เพราะปัญหาขยะล้นพื้นที่ Quantum บริษัทสตาร์ทอัปในประเทศญี่ปุ่นจึงปิ๊งไอเดียนำเปลือกของสัตว์น้ำกลุ่มนี้มารีไซเคิลเป็น ‘HOTAMET’ หมวกนิรภัยที่มีน้ำหนักเบา ทนทาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รูปทรงของ HOTAMET ถูกออกแบบให้มีหน้าตาคล้ายกับเปลือกหอย เพื่อบอกให้ผู้สวมใส่รู้ว่าหมวกใบนี้ผลิตมาจากเปลือกหอยเชลล์รีไซเคิล แต่การใช้เปลือกหอยมาเป็นวัสดุเพียงชนิดเดียวอาจจะไม่เหมาะสมที่จะผลิตหมวกสำหรับสวมป้องกันศีรษะเท่าไหร่นัก Quantum จึงเพิ่มวัสดุอย่างพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้ตัวหมวกมีความทนทาน แข็งแรง เหมาะสำหรับการสวมใส่ในสถานการณ์ต่างๆ ตั้งแต่กิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางด้วยจักรยาน ไปจนถึงการทำงานที่เสี่ยงอันตราย เช่น การตรวจสอบไซต์งานและการป้องกันภัยพิบัติ เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวที่นอกจากจะมีดีไซน์สวย ยังเหมาะกับการใช้งานที่หลากหลายด้วย Quantum จะเริ่มวางจำหน่ายหมวกเปลือกหอย HOTAMET ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ในราคาใบละ 4,800 เยน หรือประมาณ 1,200 บาท […]