ฝีมือช่างที่บรรจงเย็บลงบนผ้ากว่าจะออกมาเป็นสูทหนึ่งตัวนั้น ต้องผ่านกระบวนการสุดปราณีตที่ต้องใช้ความชำนาญและผ่านการฝึกฝน อาชีพช่างตัดเสื้อที่มีความเฉพาะตัวของครอบครัว “หอมศิลป์กุล” เริ่มต้นจากรุ่นทวดที่อาศัยครูพักลักจำและก้าวขึ้นมาเป็นช่าง ถ่ายทอดความพิถีพิถันกันมารุ่นสู่รุ่นจนเกิดเป็น “ห้องเสื้อบรอดเวย์” บนถนนตรีทองแถวโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง กลายเป็นตำนานห้องเสื้อที่เฟื่องฟูในยุคนั้น เมื่อผ่านกาลเวลาจึงเปลี่ยนทำเลที่ตั้งมาเป็นห้องเสื้อปัจจุบันบนถนนเพรชบุรี เรามีโอกาสได้ฟังเรื่องราวอันมีเสน่ห์ ผ่านคำบอกเล่าของ “คุณภูมินทร์ หอมศิลป์กุล” เจ้าของห้องเสื้อรุ่นที่ 2 โดยมีทายาทอย่าง “คุณป่าน-ภาวันต์ หอมศิลป์กุล” และ “คุณแพร-สิริชนา หอมศิลป์กุล” มารับช่วงต่อธุรกิจที่ถือเป็นมรดกของครอบครัว | สายใยครอบครัวสู่เส้นทางธุรกิจ จริงๆ แล้วอาชีพช่างโดยเฉพาะช่างตัดเสื้อสำหรับบ้านเราเนี่ย ไม่มีการสอนอย่างเป็นรูปแบบ ไม่มีตำรา หรือวิธีการทำ ซึ่งในสมัยก่อนต่างประเทศเขามีอยู่แล้ว แต่คนที่ประกอบอาชีพนี้ในบ้านเรา ส่วนใหญ่จะเรียนรู้จากครูพักลักจำ และประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง วิธีการสอนก็เลยเป็นวิธีถ่ายทอดจากประสบการณ์ ผมเองก็ได้รับการถ่ายทอดจากคุณพ่อเหมือนกัน สำหรับคุณพ่อผมถือว่าท่านเป็นคนที่เก่งมาก เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ด้วยตัวเอง ต่อสู้มาตั้งแต่สมัยเป็น ‘เด็กตึ๊ง’ หรือที่เข้าใจง่ายๆ ก็เด็กฝึกงานนั่นแหละ คอยรับใช้อาจารย์ไปซื้อข้าว ไปซื้อน้ำ ไปส่งของ ในเวลาเดียวกันก็เรียนรู้จากอาจารย์ จดจำรายละเอียด แล้วก็ไปฝึกเองตอนเลิกงาน เก็บกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าๆ เอามาฝึกสร้างแพทเทิร์น จนชำนาญก็ออกมาเป็นช่างเอง แล้วก็มาถึงช่วงรอยต่อระหว่างผมกับคุณพ่อ ซึ่งผมเองก็ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกเดินทางนี้ต่อจากท่าน แต่ว่าผมก็ทำไม่ได้ […]