LEGO ยกเลิกการใช้ขวดพลาสติกในการสร้างวัสดุตัวต่อเลโก้รักษ์โลก หลังพบการปล่อยคาร์บอนที่มากขึ้น
เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ทาง ‘LEGO’ ได้เปิดตัววัสดุตัวต่อเลโก้ต้นแบบตัวแรกที่ใช้ PET รีไซเคิล (rPET) ในการผลิต เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการเปลี่ยนให้ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดทำจากวัสดุที่ยั่งยืนภายในสิ้นทศวรรษนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี 1963 เป็นต้นมา ตัวต่อเลโก้จำนวนหลายพันล้านชิ้นที่ผลิตในแต่ละปีล้วนทำมาจากพลาสติก ‘อะคริโลไนไตรล์ บิวทาไดอีน สไตรีน’ (ABS) หรือพลาสติกบริสุทธิ์ที่ทำจากน้ำมันดิบที่ปล่อยคาร์บอนมากถึง 1.2 ล้านตัน ทว่าเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ทาง LEGO ก็ออกมาประกาศล้มเลิกการใช้ขวดพลาสติกในการสร้างวัสดุตัวต่อเลโก้รักษ์โลกแล้ว หลังจากพบว่าการปรับโรงงานให้หันมาใช้พลาสติก rPET แทน ABS นั้นกลับก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นจนอาจได้ไม่คุ้มเสีย เพราะการขึ้นรูปเป็นตัวต่อจาก rPET จำเป็นต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการแปรรูปและทำให้แห้ง เพื่อที่ตัวต่อจากวัสดุใหม่จะได้คุณสมบัติความทนทานเทียบเท่าของเดิม ซึ่งในกระบวนการนี้เองที่ทำให้แม้เราจะเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่รักษ์โลกขึ้น แต่กลับปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ออกมาในปริมาณเท่าเดิมหรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ ปัจจุบันทาง LEGO จึงมองหาทางออกใหม่ในการมุ่งสู่การผลิตตัวต่อเลโก้จากวัสดุที่ยั่งยืน ด้วยการทดสอบและพัฒนาตัวต่อที่ทำจากวัสดุทางเลือกที่ยั่งยืนอื่นๆ กว่า 100 รายการ รวมถึงพลาสติกที่มาจากการรีไซเคิลและจากแหล่งทางเลือกอื่นอย่าง E-methanol ที่ผลิตจากก๊าซผสมระหว่าง Green Hydrogen และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการดักจับคาร์บอนในอากาศหรือโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อเข้าสู่ข้อบรรลุของบริษัทที่ต้องการให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 […]