The junk, the gems ธีสิสที่ว่าด้วยสิ่งของข้างทาง และไอเดียการประยุกต์แบบบ้านๆ ของคนไทย
นิสัยช่างสังเกตและความชอบในการเดินเมือง ทำให้ ‘ปิ๊ก-ชาคริยา เนียมสมบุญ’ บัณฑิตจากสาขาเครื่องเคลือบดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ ได้ไปเดินยังจุดต่างๆ ของเมือง และพบความสนใจในการสร้างเครื่องเคลือบดินเผาจากไอเดียที่พบเห็นสิ่งของข้างทาง จนทำให้เกิดเป็นงานธีสิสชิ้นนี้ขึ้นมา ‘จุดนำสายตา’ เป็นคำนิยามที่ปิ๊กรู้สึกต่อตะกร้าผลไม้ ยางรถยนต์ แกลลอน หรือข้าวของที่วางอยู่ระเกะระกะ ควบคู่ไปกับความเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นของคนไทย ที่มักหยิบจับสิ่งของที่ดูไม่เข้ากันมาประกอบเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ใหม่ งานประดิษฐ์เหล่านี้ไม่ได้สะท้อนแค่ไอเดียสร้างสรรค์ต่างๆ แต่ยังสะท้อนถึงวิถีชีวิตคนไทย ที่เมื่อปัญหาบางอย่างไม่สามารถแก้ไขอย่างถาวรได้ คนไทยก็มักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยไอเดียการประยุกต์ใช้สิ่งของบางอย่าง เช่น ถ้าไม่อยากให้ใครมาจอดรถหน้าบ้าน ก็เอาแกลลอนหรือสิ่งของมาประกอบกันแล้ววางขวางพื้นที่ไว้ รวมถึงสิ่งของบางอย่างที่อาจใช้ประโยชน์ในรูปแบบเดิมไม่ได้แล้ว อย่างตะกร้าพลาสติกที่แตกบริเวณฐาน พ่อค้าแม่ค้าก็ดัดแปลงด้วยการนำมาตั้งเรียงกันเป็นโต๊ะ เพื่อไม่ให้ตะกร้าเหล่านั้นกลายเป็นขยะพลาสติกเสียเปล่าไปเฉยๆ จุดเริ่มต้นของงานนี้เกิดจากการไปเดินย่านทรงวาดของปิ๊ก และพบเข้ากับเสาไฟที่มีแกลลอนขวดนมตั้งอยู่ตรงฐาน แต่เมื่อมองเข้าไปข้างในขวดนมจะพบปลั๊กพ่วงซ่อนอยู่ ซึ่งตัวปิ๊กเองคาดเดาว่าอาจจะใช้เพื่อกันน้ำฝน หรือป้องกันไม่ให้ใครเห็น เพราะถ้าจะต่อปลั๊กจากไฟเหล่านี้ต้องมีการขออนุญาตก่อน เสาไฟและขวดนมที่ทรงวาดจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ปิ๊กอัปสกิลการสังเกตของตนเองและค่อยๆ พัฒนามาเป็น ‘The junk, the gems’ ธีสิสที่บอกเล่าตามชื่อด้วยเรื่องราวของสิ่งของข้างทางที่เป็นขยะ แต่ถูกนำมาดัดแปลงจนเห็นถึง Gems ที่แทรกอยู่ในขยะเหล่านั้น โดยจุดสำคัญของผลงานชุดนี้คือ การนำเสนอไอเดียและการแก้ปัญหาของคนเมือง พร้อมสอดแทรกความเป็นตัวปิ๊กลงไป ด้วยความตั้งใจที่ไม่อยากเพียงแค่คัดลอกไอเดียที่เห็น แต่อยากจินตนาการเสียมากกว่าว่า ถ้าเธอเป็นคนทำงานชิ้นนี้ออกมา แต่ละงานจะออกมาหน้าตาแบบใด ปิ๊กเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ฟังว่า นอกจากย่านทรงวาดที่ทำให้ได้เจอกับเสาไฟที่จุดประกายไอเดียแล้ว […]