ย้อนดูวิวัฒนาการ 139 ปี ‘ศาลยุติธรรม’ ส่อง ‘ดัชนีนิติรัฐ’ ไทยอยู่อันดับเท่าไรของโลก
การอยู่ร่วมกันในสังคมย่อมต้องมีกฎที่ทุกคนใช้ร่วมกันเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง แต่กว่าจะเป็นตัวบทกฎหมายที่มีมากมายหลายมาตราอย่างทุกวันนี้ เราจะพาไปย้อนดูประวัติศาสตร์ของระบบยุติธรรมไทยในอดีต ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา ไล่เรียงมาจนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีวิวัฒนาการให้ทันกับยุคสมัยและปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม จนกระทั่งกลายมาเป็นศาลยุติธรรมซึ่งครบรอบ 139 ปี ‘วันก่อตั้งศาลยุติธรรม’ ในวันที่ 21 เมษายนนี้เอง เราขอย้อนจอภาพสีซีเปียกลับไปในสมัยกรุงสุโขทัย เชื่อว่าหลายคนคงจินตนาการภาพไม่ออกว่า ในยุคที่ศาลยุติธรรมยังไม่เกิด แน่นอนยังไม่มีใครรู้จักคำว่าผู้พิพากษา ดังนั้นใครกันจะเป็นผู้ตัดสินคดีความ หากจำได้ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ สมัยกรุงสุโขทัยมีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ยุคนั้นกษัตริย์เป็นผู้ทรงพระราชอำนาจชี้ขาดคดีความให้แก่ราษฎร โดยยึดหลัก ‘คัมภีร์พระธรรมศาสตร์’ ของอินเดียอันเป็นคัมภีร์สำคัญทางศาสนาพราหมณ์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมที่นับถือทั้งศาสนาพราหมณ์และพุทธ ในยุคนั้นไทยเราเป็นเมืองพุทธ การใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์จึงอยู่ภายใต้หลักธรรมของการปกครองแบบพุทธศาสนา กฎหมายมีลักษณะเป็นจารีตประเพณี มีความคาบเกี่ยวกับศาสนา จึงไม่เน้นการลงโทษที่รุนแรงแต่จะเน้นการสั่งสอนให้กลับตัวเป็นคนดีดำรงตนอยู่ในศีลในธรรม ต่อมาในสมัยอยุธยาไทยได้รับอิทธิพลจากลัทธิเทวราชาตามคติทางศาสนาพราหมณ์ ยุคนั้นพราหมณ์เริ่มเข้ามามีบทบาทในพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งมีความขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์ ตามมาด้วยแนวคิดว่ากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ ในระบบกฎหมายเองก็มีการปรับปรุงให้กษัตริย์ทรงมีพระราชอํานาจในการออกกฎเกณฑ์เพิ่มเติม เรียกว่า ‘ราชศาสตร์’ ซึ่งมีชื่อเรียกโดยรวมว่า ‘พระราชกำหนดบทพระอัยการ’ หรือ ‘พระราชกำหนดกฎหมาย’ ถึงอย่างนั้นกษัตริย์ก็ยังต้องออกกฎหมายที่สอดคล้องกับ ‘คัมภีร์พระธรรมศาสตร์’ โดยมีหลัก ‘จตุรธรรม’ 4 ข้อ ได้แก่ ผู้ปกครองไม่สามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ กฎหมายต้องสอดคล้องกับธรรมะหรือศีลธรรม จุดมุ่งหมายของกฎหมายคือประโยชน์ของประชาชน และกษัตริย์ต้องใช้อำนาจทางกฎหมายบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม นอกจากนี้ หากใครได้ดูละครไทยรีเมกเรื่อง ‘วันทอง’ […]