ศาลยุติธรรม ดัชนีนิติรัฐไทยอยู่อันดับ - Urban Creature

การอยู่ร่วมกันในสังคมย่อมต้องมีกฎที่ทุกคนใช้ร่วมกันเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง แต่กว่าจะเป็นตัวบทกฎหมายที่มีมากมายหลายมาตราอย่างทุกวันนี้ เราจะพาไปย้อนดูประวัติศาสตร์ของระบบยุติธรรมไทยในอดีต ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา ไล่เรียงมาจนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีวิวัฒนาการให้ทันกับยุคสมัยและปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม จนกระทั่งกลายมาเป็นศาลยุติธรรมซึ่งครบรอบ 139 ปี ‘วันก่อตั้งศาลยุติธรรม’ ในวันที่ 21 เมษายนนี้เอง

เราขอย้อนจอภาพสีซีเปียกลับไปในสมัยกรุงสุโขทัย เชื่อว่าหลายคนคงจินตนาการภาพไม่ออกว่า ในยุคที่ศาลยุติธรรมยังไม่เกิด แน่นอนยังไม่มีใครรู้จักคำว่าผู้พิพากษา ดังนั้นใครกันจะเป็นผู้ตัดสินคดีความ หากจำได้ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ สมัยกรุงสุโขทัยมีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ยุคนั้นกษัตริย์เป็นผู้ทรงพระราชอำนาจชี้ขาดคดีความให้แก่ราษฎร โดยยึดหลัก ‘คัมภีร์พระธรรมศาสตร์’ ของอินเดียอันเป็นคัมภีร์สำคัญทางศาสนาพราหมณ์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมที่นับถือทั้งศาสนาพราหมณ์และพุทธ 

ในยุคนั้นไทยเราเป็นเมืองพุทธ การใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์จึงอยู่ภายใต้หลักธรรมของการปกครองแบบพุทธศาสนา กฎหมายมีลักษณะเป็นจารีตประเพณี มีความคาบเกี่ยวกับศาสนา จึงไม่เน้นการลงโทษที่รุนแรงแต่จะเน้นการสั่งสอนให้กลับตัวเป็นคนดีดำรงตนอยู่ในศีลในธรรม

ต่อมาในสมัยอยุธยาไทยได้รับอิทธิพลจากลัทธิเทวราชาตามคติทางศาสนาพราหมณ์ ยุคนั้นพราหมณ์เริ่มเข้ามามีบทบาทในพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งมีความขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์ ตามมาด้วยแนวคิดว่ากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ ในระบบกฎหมายเองก็มีการปรับปรุงให้กษัตริย์ทรงมีพระราชอํานาจในการออกกฎเกณฑ์เพิ่มเติม เรียกว่า ‘ราชศาสตร์’ ซึ่งมีชื่อเรียกโดยรวมว่า ‘พระราชกำหนดบทพระอัยการ’ หรือ ‘พระราชกำหนดกฎหมาย’ 

ถึงอย่างนั้นกษัตริย์ก็ยังต้องออกกฎหมายที่สอดคล้องกับ ‘คัมภีร์พระธรรมศาสตร์’ โดยมีหลัก ‘จตุรธรรม’ 4 ข้อ ได้แก่ ผู้ปกครองไม่สามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ กฎหมายต้องสอดคล้องกับธรรมะหรือศีลธรรม จุดมุ่งหมายของกฎหมายคือประโยชน์ของประชาชน และกษัตริย์ต้องใช้อำนาจทางกฎหมายบนพื้นฐานของหลักทศพิธราชธรรม

นอกจากนี้ หากใครได้ดูละครไทยรีเมกเรื่อง ‘วันทอง’ ที่เพิ่งฉายตอนสุดท้ายและกำลังเป็นกระแสบนโลกโซเชียล ก็น่าจะติดตากับฉากจบที่ตัวละครวันทองถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยวิธีการบั่นคอ ก็น่าจะเชื่อมโยงกับกฎหมายในสมัยอยุธยาได้เป็นอย่างดี เพราะนอกเหนือจากจะมีการปรับสินไหมแล้ว ยังมีการกำหนดบทลงโทษต่อเนื้อตัวร่างกาย ต่างกับยุคสุโขทัยที่เน้นการสั่งสอนทางธรรม

ภาพ : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา parliamentmuseum.go.th
ภาพ : หนังสือ พระราชลัญจกร จัดพิมพ์โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2538

จนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อกฎหมายที่มีอยู่ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ และกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงบัญญัติทับซ้อนกัน สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงมีพระราชดำริว่ากฎหมายนั้นไม่เหมาะสม และโปรดเกล้าฯ ให้มีการตรวจชำระกฎหมายหลายครั้ง โดยครั้งหลังสุด เรียกว่า ‘กฎหมายตราสามดวง’ บังคับใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา

ภาพ : หนังสือ Journal of an embassy from the Governor-General of India to the courts of Siam and Cochin-China โดย John Crawfurd ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1828

กระทั่งมาถึงยุคทองของสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 สยามเริ่มมีการค้าเสรี ทำให้ความเจริญและวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามา ทั้งการขนส่งสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง รถราง โทรเลข ด้วยความที่ต้องติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ จึงเกิดกรณีการขึ้นศาลตัดสินคดีที่ไม่ให้ชาวต่างชาติขึ้นศาลไทย โดยตั้งศาลกงสุลพิจารณาคดีเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปฏิรูประบบกฎหมายให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมาย อีกทั้งทรงตั้งโรงเรียนกฎหมายและกระทรวงยุติธรรมอีกด้วย

ภาพ : mgronline.com

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่ยังคงมีให้ชมในพิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุ อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม คือ ‘หิรัญบัฏ’ แผ่นเงิน 4 แผ่น ความกว้าง 9.5 ซม. ยาว 37.2 ซม. ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้จารึก ‘พระราชปรารภในการจัดตั้งศาลยุติธรรม’ ลงไป แล้วฝังใต้อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรม ในโอกาสที่กรุงเทพมหานครครบรอบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2425 

แสดงให้เห็นถึงพระบรมราโชบายในการปกครองแผ่นดิน ว่ามีพระราชประสงค์ให้ตั้งศาลขึ้นเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดีหรือเรื่องที่มีการฟ้องร้องกันในศาล วันที่ 21 เมษายน ของทุกปีจึงถือเป็น ‘วันศาลยุติธรรม’ นั่นเอง

ภาพ : ศิลปวัฒนธรรม

ไม่เพียงการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้น ที่ทำให้ไทยมีการปรับปรุงระบบกฎหมายให้เป็นสากลมากขึ้น เพราะอีกช่วงเวลาสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ที่เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย แนวคิดเรื่องหลักนิติธรรมตามแบบตะวันตกจึงเข้ามามีอิทธิพลต่อระบบการปกครองและระบบกฎหมายของไทยมาจนถึงปัจจุบัน โดยพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และ ‘อำนาจอธิปไตยต้องมาจากประชาชน’

หลังจากนั้นใน พ.ศ. 2478 ได้มีการแบ่งแยกงานธุรการและงานตุลาการออกจากกัน โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการ ส่วนงานตุลาการคือการพิจารณาพิพากษาเป็นอำนาจของตุลาการโดยเฉพาะ 

จนกระทั่งได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 แยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้พ้นจากข้อระแวงสงสัยว่าศาลยุติธรรมอาจถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารและไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 5 บัญญัติให้มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2543 ศาลยุติธรรมจึงแยกออกจากกระทรวงยุติธรรมนับแต่นั้น

หากนับจากวันแรกที่ประเทศไทยมีศาลยุติธรรมจนถึงวันนี้ก็ผ่านมา 139 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมายที่เป็นธรรมจะต้องพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ถึงจะเป็นนิติรัฐอย่างแท้จริง จากผลการประเมิน ‘ดัชนีนิติรัฐ’ ปี 2020 เพื่อวัดระดับความเป็นนิติรัฐของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดย The World Justice Project (WJP) Rule of Law Index ซึ่งดัชนีนี้มาจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชน 130,000 ครัวเรือนทั่วโลก และผู้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายรวมถึงผู้เชี่ยวชาญกว่า 4,000 คน 

ภาพ : worldjusticeproject.org/rule-of-law-index

ประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และฟินแลนด์ ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 71 จากทั้งหมด 128 ประเทศ หมวดตัวชี้วัดที่ไทยได้คะแนนสูงสุด (เต็ม 1 คะแนน) คือ “ความมั่นคงและสงบเรียบร้อยในสังคม” (Order and Security) 0.71 คะแนน รองลงมา คือ “การมีรัฐเปิด” (Open Government) หรือ กระบวนการออกและบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งที่ประชาชนเข้าถึงได้ เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ 0.51 คะแนน 

ตามด้วย “การปลอดคอร์รัปชัน” (Absence of Corruption) 0.49 คะแนน “สิทธิขั้นพื้นฐาน” (Fundamental Rights) 0.49 คะแนน “ข้อจำกัดอำนาจของรัฐ” (Constraints on Government Powers) 0.48 คะแนน “ความยุติธรรมทางแพ่ง” (Civil Justice) 0.48 คะแนน “การบังคับใช้กฎหมาย” (Regulatory Enforcement) 0.47 คะแนน และหมวดที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ “ความยุติธรรมทางอาญา” (Criminal Justice) 0.43 คะแนน 

จากอันดับและคะแนนที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่าระบบยุติธรรมของบ้านเราในปัจจุบัน ค่อนมาทางอันดับท้ายๆ ของโลก ดังนั้น ไม่ว่าระบบยุติธรรมจะวิวัฒนาการเปลี่ยนผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ต้องมีหัวใจสำคัญเพื่อประโยชน์ของคนในประเทศ มีความเป็นสากลไม่เลือกปฏิบัติ และรักษาความยุติธรรมให้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม


Sources :
World Justice Project | https://bit.ly/3sCaKGe
พิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุ | https://bit.ly/3v1zkSg
ศาลรัฐธรรมนูญ | https://bit.ly/2QLMUdF

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.