“ยังมีคนที่ไม่มีสิทธิ์รักใครได้อย่างเป็นทางการ” คุยเรื่องสมรสเท่าเทียมกับคนจัดม็อบ LGBTQ+
แม้หลายคนพร่ำบอกว่าประเทศไทยเฟรนด์ลี่กับ LGBTQ+ มาก แต่เชื่อไหมผ่านมาหลายสิบปี รัฐไทยยังไม่เคยคุ้มครองสิทธิที่พวกเขาจะรักกันได้อย่างเท่าเทียมเลยสักครั้ง ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสองปีก่อนในวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 เรายังจดจำบรรยากาศและกิจกรรมของ ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ ได้ดี ในฐานะที่เป็นม็อบที่มีสีสันมากที่สุด มีลูกล่อลูกชนมากที่สุด และครีเอทีฟที่สุดในประวัติศาสตร์การชุมนุมของประเทศไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งการต่อบทหนังเรื่อง ‘หอแต๋วแตก’ ที่บิดเอารายละเอียดประเด็นปัญหาทางการเมืองไทยมาสื่อสารอย่างลงตัว การใช้เพลงฮิตในชุมชนคนที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การแสดงออกอย่างเสรีผ่านเสื้อผ้าหน้าผมของผู้ชุมนุมที่สดใสจัดจ้าน การปรากฏของธงรุ้งงขนาดใหญ่โบกสะบัดสง่างามกลางถนน รวมถึงการปราศรัยรสแซ่บถึงรากปัญหาเพื่อเรียกร้องสิทธิและเป็นปากเสียงสื่อสารปัญหาใต้พรมที่ LGBTQ+ ต้องเผชิญมาแสนนาน กิจกรรมทั้งหมดสร้างสรรค์ได้อย่างมีลูกเล่นชวนอมยิ้ม แต่ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำถึงหลักการอย่างหนักแน่น เพราะต้องการสนับสนุนจุดยืนของขบวนการประชาธิปไตยเต็มใบ รวมถึงต้องการเรียกร้องและผลักดันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นจริงสักที ทำให้ แรปเตอร์–สิรภพ อัตโตหิ และเพื่อนสมาชิกกลุ่มเสรีเทยพลัส หยิบเอาไอเดียที่ตัวเองเสนอในแฮชแท็กทวิตเตอร์ #ไอเดียออกม็อบ มาเดบิวต์จัดม็อบแรกในชีวิต ในเวลานั้นประเด็นเรื่องเพศและมูฟเมนต์ #สมรสเท่าเทียม เริ่มมีกระแสพูดถึงอย่างแพร่หลายแล้ว ทว่าเมื่อเกิดม็อบที่โฟกัสถึงสิทธิของคนเพศหลากหลายขึ้น ทั้งยังมี ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล ครั้งที่ 2 และอีกหลายๆ ม็อบตามมา ประกอบกับกลุ่มแอ็กทิวิสต์ที่ต่อสู้เรื่องเพศทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ที่เริ่มมีพื้นที่ เป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็ยิ่งเสริมพลังให้การต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และขอบเขตบทสนทนาเรื่องนี้ให้ไปไกลกว่าที่เคย ล่าสุดมูฟเมนต์ #สมรสเท่าเทียม ได้กลายเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมอย่างดุเดือดว่า ทำไมรัฐบาลไทยถึงยังไม่ให้ผ่านซะที (วะ) โดยที่แรปเตอร์เองก็ได้ร่วมจัดม็อบสมรสเท่าเทียมในนามเครือข่ายภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม […]