สัมผัสวิถีชนบทในเมืองหลวงที่ ‘ชุมชนวัดจำปา’
ภาพจำของหลายคนที่มองมายังกรุงเทพฯ คือเหล่าตึกสูงระฟ้า รถราติดหนึบ และมลพิษจากย่านใจกลางเมือง แต่จริงๆ แล้ว กรุงเทพฯ ยังมีส่วนของชานเมืองรอบนอกที่ยังคงสภาพวิถีชีวิตดั้งเดิม เป็นชาวสวนผลไม้ที่ผูกพันกับสายน้ำลำคลอง อากาศสดชื่น และบรรยากาศที่แทบไม่ต่างอะไรกับต่างจังหวัด ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ‘ตลิ่งชัน’ หนึ่งในเขตชานเมืองทางฟากตะวันตกของกรุงเทพฯ ที่หลายคนอาจคุ้นหูจากการเป็นทางผ่านลงภาคใต้ทางถนนเพชรเกษม หรืออาจพอได้ยินมาบ้างจากการเป็นแหล่งรวมคาเฟ่และร้านอาหารบนถนนบรมราชชนนีและถนนราชพฤกษ์ แต่ถัดเข้ามาจากถนนใหญ่หลายสายที่ตัดผ่านเขตนี้ ยังมีชุมชนเล็กๆ กลางสวนและบ้านจัดสรร ที่ยังคงเสน่ห์และวิถีชีวิตดั้งเดิมมากว่าร้อยปี จากเงาของตึกสูงที่ตกลงมาบนถนนใหญ่ใจกลางเมือง เปลี่ยนเป็นร่มเงาต้นไม้ที่ทาบลงบนถนนสายเล็กๆ ของชุมชนและบนผิวน้ำในคลองที่ใสสะอาด เรือหางยาววิ่งเสียงดังลั่นคุ้งน้ำเป็นสัญญาณต้อนรับ เหนือยอดไม้แทบไม่เห็นตึกสูง ฉากหลังของบ้านเรือนไทยเป็นท้องฟ้าสีสดใส ไร้ทัศนะอุจาดรบกวนเหมือนในเมือง ท่ามกลางเสียงจากธรรมชาติที่ได้ยินอยู่ตลอดเวลา เชื่อหรือไม่ว่าภาพเช่นนี้เห็นได้ด้วยการเดินทางจากในเมืองมาไม่นานนัก บรรยากาศของที่นี่ไม่ต่างอะไรจากสวนที่พบเจอได้ในจังหวัดอื่นๆ ผิดแต่ว่าที่นี่อยู่ในเขตของกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศที่นับวันจะหาพื้นที่สีเขียวได้ยากขึ้นทุกที หลักฐานความเจริญของย่านตลิ่งชันที่ ‘วัดจำปา’ เราเดินเข้าสู่รั้ววัดจำปา พบกับ ‘พี่ดุ่ย-ทวีศักดิ์ หว่างจันทร์’ ตามนัดหมาย ประธานชุมชนวัดจำปาต้อนรับขับสู้ด้วยไมตรีจิต ก่อนนำเราตรงไปยังอุโบสถวัดจำปา พร้อมทั้งเล่าสารพัดเรื่องราวของวัดโบราณคู่ชุมชนแห่งนี้ โดยเฉพาะเหล่าของดีมีราคา และของจากในราชสำนัก “หน้าบันอุโบสถประดับอ่างล้างหน้างานยุควิกตอเรีย สมัยรัชกาลที่ 4 ตอนนี้พบสองที่คือวัดจำปากับพระนครคีรี ที่นู่นสีเขียว ที่นี่สีชมพู อาจจะก่อนหรือหลังรัชกาลที่ 4” พี่ดุ่ยชวนเราเงยหน้ามองที่สิ่งอันซีนอย่างแรก เมื่อเข้าไปด้านในอุโบสถก็พบกับของอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือลูกกรงเหล็กสีทองด้านหน้าพระประธานในอุโบสถ […]