‘เฮ็ดหยังอยู่’ โปรเจกต์จดหมายเหตุกรุงเทพฯ ในหัวข้อฉูดฉาด ‘สวัสดี ข้นE-3’
มีใครสงสัยเหมือนเราบ้างว่า ทำไมในกรุงเทพฯ ถึงมีร้านส้มตำอยู่ทุกหัวมุมถนน ทุกหนแห่ง แค่นึกอยากจะกินก็มีให้เลือกอยู่ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากที่ที่เราอยู่เสมอ ทำไมเนื้อหาของละครทีวีช่วงค่ำยุคปัจจุบันถึงได้เปลี่ยนจากเซตติงที่เป็นคุณหญิงคุณชายในรั้ววัง มาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคณะหมอลำซึ่งมีฉากหลังเป็นทุ่งนาต่างจังหวัดกันมากขึ้น มากไปกว่านั้นคือตัวละครทั้งหมดล้วนพูดภาษาถิ่นอีสานกันทั้งหมด ทั้งที่ฉายไปทั่วประเทศ ขยับเข้ามาในระดับที่แคบขึ้นอีกนิด ทำไมคนขับแท็กซี่มักเป็นคนร้อยเอ็ด ทำไมนางแจ๋วในละครถึงต้องเป็นคนอีสาน ทำไมถึงมีคำศัพท์ใหม่อย่าง ‘v้นE-3’ แพร่หลายเป็นมุกตลกทั่วไปของเด็กรุ่นใหม่บางกลุ่ม จนกลายเป็นชนวนของการทะเลาะใหญ่โตบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด วันเวลาผ่านไป ตั้งแต่ยุคที่คนกุลายังร้องไห้ จนมีลูกหลานเป็นสาวน้อยหัวใจติดดิน สวมกางเกงยีนส์เก่าๆ ใส่เสื้อตัว 199 มุ่งหน้าไปสู่การเป็นนางเอกละครเย็นในช่วงเรตติงดีที่สุด ประดับซับไตเติลเป็นภาษาไทยกลาง เพราะเว้าภาษาอีสานกันทั้งเรื่อง เกิดอะไรขึ้นกับคนอีสานอพยพใน ค.ศ. 2022 ตามมาเบิ่งปรากฏการณ์นี้ในหนังสือ ‘เฮ็ดหยังอยู่’ ธีสิสจบการศึกษาของ ‘ข้าวตัง-ศศิตา มณีวงษ์’ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขาวิชานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กันแหน่เด้อ เฮ็ดหยังอยู่ ก่อนจะพูดถึงโปรเจกต์ที่ช่วยไขสารพัดข้อสงสัยเรื่องคนอีสานอพยพ เราขอย้อนความก่อนว่า ศศิตาหรือผู้เขียนบทความนี้เป็นเด็กกรุงเทพฯ ที่มีตาเป็นคนอำนาจเจริญ และยายเป็นคนสุรินทร์ เติบโตมากับเรื่องเล่าของการถูกปลิงกัดเมื่อดำนา การซักผ้าด้วยขี้เถ้า และการเดินเท้าเกือบสิบกิโลเพื่อไป-กลับโรงเรียน ตายายหยิบเอาเรื่องราวการดำรงชีวิตอยู่ในอำเภอห่างไกลความเจริญเมื่อห้าสิบปีก่อนมาใช้แทนนิทานเรื่องเจ้าหญิงต่างๆ ก่อนจะเข้านอนทุกคืน ในวัยนั้นเราต้องยอมรับว่าเรื่องที่ทั้งคู่เล่าสนุกกว่านิทานพวกนั้นมาก แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่บันทึกมันไว้เมื่อยังมีโอกาส ไม่มีใครทราบได้ว่าโอกาสนั้นกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของการศึกษาศิลปะ […]