ในวันที่โคโรนาไวรัสบอกกับเราว่า การเว้นระยะห่างกันและกันคือเรื่องที่ควรทำ และดูเหมือนจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันไปทั่วโลก ผู้คนเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียว มองหากิจกรรม ไปจนถึงสถานที่ที่ไปได้คนเดียวได้อย่างไม่เคอะเขิน คล้ายกับว่าเรามีพื้นที่ของการอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น
แต่เปล่าเลย เพราะมนุษย์ยังปรารถนาการเชื่อมต่อกันตามธรรมชาติของสัตว์สังคมที่หล่อหลอม ‘กิจกรรมทำคนเดียวแต่ร่วมกัน’ มากมายจึงเกิดขึ้น เช่น การร้องเพลงและเล่นดนตรีด้วยกันที่ระเบียงบ้านของแต่ละคนของชาวอิตาลี ไม่เพียงเท่านั้น ประโยคที่ว่า ‘ขออยู่เงียบๆ คนเดียวสักพัก’ ยังสื่อถึงความเหงา หรือโมเมนต์เศร้าที่ได้ยินจากเพลงช้ำรัก ถ้าอย่างนั้นว่ากันตามจริงแล้ว ‘เราสามารถนั่งเงียบๆ คนเดียวในห้อง โดยที่ไม่ทำอะไรเลยได้หรือเปล่า?’
“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับมนุษย์โลก เริ่มต้นจากการที่เราไม่สามารถนั่งเงียบๆ คนเดียวในห้องได้”
หนังสือ The Pensées (Thoughts) / Blaise Pascal นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส
อยู่คนเดียว (ไม่) ได้
การใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยเสียงต่างๆ นานาที่ฟังดูไพเราะ หรือน่ารำคาญบ้างบางที ทำให้เราเคยชินกับการอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายและมองข้ามช่วงเวลาไร้เสียง จนต่างรู้สึกกันไปว่า ‘เมื่อไหร่ที่เงียบ เมื่อนั้นความเหงาจะมาเยือน’ จนกลายเป็นอาการกลัวความเงียบไปโดยปริยาย แต่หนังสือเรื่อง เงียบ : Silence : In the Age of Noise ของ ‘Erling Kagge’ บอกไว้ว่า ที่เราไม่สามารถอยู่เงียบๆ คนเดียวได้นั้น เพราะกลัวว่าจะรู้จักตัวเองมากขึ้น เนื่องจากทุกครั้งที่ได้เงียบ นั่นคือช่วงเวลาที่ความคิดทำงาน เราจะคิดถึงอย่างอื่น คำถามมากมายมักเกิดขึ้นในสมอง นั่นจึงเป็นเหตุผลของการเลือกไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย หาอะไรทำสักอย่างเพื่อหยุดความคิดที่ดังในหัว เพื่อไม่ต้องคุยกับตัวเอง และไม่ต้องตั้งคำถามให้สับสน
.
คนเดียวในป่ามา 27 ปี
งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia) ประเทศสหรัฐอเมริกากล่าวว่า จากกลุ่มตัวอย่าง คนส่วนมากจะสามารถอยู่เงียบๆ คนเดียวโดยไม่ทำอะไรเลยได้เพียง 6 – 15 นาทีเท่านั้น ข้อมูลนี้เหมือนจะบอกกับเราเป็นนัยว่า การที่ใครสักคนจะนั่งเงียบๆ ในห้องคนเดียวได้เป็นเรื่องยาก แต่ก็ใช่ว่าไม่มีเลยเสียหน่อย
‘คริสโตเฟอร์ ไนต์’ คือชายชาวอเมริกันที่ตัดสินใจเข้าป่าไปใช้ชีวิตตามลำพังร่วม 27 ปีโดยไม่พูดคุยกับใคร และทำอะไรเลยสักอย่าง โดยใน ค.ศ. 1986 เขาขับรถเข้าไปในป่า แถบชนบทของรัฐเมน สหรัฐอเมริกา จากนั้นทิ้งรถและหยิบอุปกรณ์จำเป็นสำหรับการตั้งแคมป์ก่อนเดินเข้าไปใช้ชีวิตในป่าอย่างสันโดษ เขาดำรงชีวิตด้วยการขโมยของตามกระท่อม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เชื้อเพลิง เสื้อผ้า และหนังสือ มาเกือบ 3 ทศวรรษ
ท้ายที่สุดไนต์ก็ถูกจับ เพราะข้อหาลักขโมย ซึ่งวันที่เขาออกมาเจอโลกภายนอก มีสำนักข่าวมากมายเข้าไปพูดคุยว่าทำไมถึงเลือกที่จะเข้าป่าไปอยู่เงียบๆ คนเดียว และคำตอบที่ได้รับก็ทำให้นักข่าวในตอนนั้นเริ่มคิดถึงการอยู่คนเดียวเงียบๆ รวมถึงเราในตอนนี้เช่นกัน
“ผมเพียงอึดอัดที่จะอยู่กับผู้คน และการอยู่เงียบๆ คนเดียวมันห้ามไม่ได้เหมือนแรงโน้มถ่วงโลก ร่างกายบอกกับผมว่าสบายใจกว่าที่จะอยู่คนเดียว ทั้งยังรู้สึกเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับสิ่งรอบตัวและธรรมชาติ”
.
ห้อง เงียบ คนเดียว
เพราะการเงียบไม่ได้เท่ากับเหงา แต่คือช่วงเวลาที่เราได้หยุด และคิด ใช้เวลาทบทวนอย่างไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องสนเสียงใคร ไม่ต้องวิ่งตามกระแสสังคมให้เหนื่อย ทั้งยังได้ใช้ช่วงเวลานี้ทำความรู้จักตัวเองให้มากขึ้น ฟังเสียงของตัวเองให้มากขึ้น นอกจากนี้นักจิตวิทยายังบอกว่า ยิ่งเรานั่งเงียบๆ อยู่ในห้องที่ว่างเปล่าที่มีเพียงเราเท่านั้น ความคิดจะยิ่งเป็นอิสระ ทำให้ได้พบเจอแรงบันดาลใจ และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
ดังนั้นการนั่งเงียบๆ คนเดียวคือสิ่งจำเป็นที่เราควรเริ่มทำบ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้รักตัวเองมากกว่าเคย ได้เรียนรู้ที่จะนิ่งเฉย และปล่อยวาง แล้วจะรู้ว่า การนั่งเงียบๆ คนเดียวไม่ได้สื่อความหมายไปในทางน่าเฉาใจเหมือนในเพลงอกหัก แต่นี่คือสิ่งดี และเป็นประโยชน์กับตัวเองที่ใครก็ทำได้ และถ้าเราสามารถอยู่กับตัวเองอย่างเงียบๆ ได้แล้ว แน่นอนว่าความเหงาก็แทบจะไม่เข้ามาวนเวียนในชีวิต
มาลองเริ่มจับเวลานั่งเงียบๆ คนเดียวในห้องกันดูสิ ว่าได้นานแค่ไหน?
Sources :
BBC NEWS | https://www.bbc.com/thai/international-49387929
EurekAlert | https://bit.ly/2yclmFD
The Guardian | https://bit.ly/3fZTBkF
Psychology Today | https://bit.ly/2XaD6d3
Erling Kagge. วรรธนา วงษ์ฉัตร แปล. เงียบ : Silence In the Age of Noise. สำนักพิมพ์โอ้มายก้อด.