หน้าม่านผืนแรกของ เข็มอัปสร สิริสุขะ หรือ ‘เชอรี่’ คือการเป็นนักแสดงที่มอบความสุขให้ใครสักคนที่ดูเธออยู่
ใครสักคนที่ว่า มีตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงปู่ย่าตายาย คนหลากอาชีพ และหนึ่งในนั้นมี ‘ชาวนา’
เธอจึงเพิ่มม่านผืนสองให้ชีวิต ด้วยการตั้งโจทย์อยากช่วยเหลือปัญหาปากท้องของชาวนาในวันที่ราคาข้าวไทยตกต่ำ สนับสนุนเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมีในขั้นตอนการปลูกเพื่อลดผลกระทบทั้งคนปลูก คนกิน และสิ่งแวดล้อม เธอกลายเป็นผู้บริหารหน้าใหม่เจ้าของ ‘สิริไท’ แบรนด์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ด้วยวิถีธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์จากรุ่นบรรพบุรุษฝีมือชาวบ้านบ้านโคกสะอาด จังหวัดสกลนคร
ไม่ใช่ว่าเชอรี่เพิ่งมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในปีนี้ เพราะจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมจนอยากแก้ไขปัญหามีมาตั้งแต่ภัยแล้งปี 2559 และทำมาเรื่อยๆ จนพุทธศักราชนี้ ที่คนชอบกินข้าวอย่างเธอคัดสรรข้าวกว่า 20 สายพันธุ์ และลงไปดูให้เห็นกับตา ดำนาร่วมกับชาวนาเพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำมันปลอดเคมีทุกกระบวน จนรับรู้ปัญหาต่างๆ ที่ชาวนากำลังเผชิญ
อีกหนึ่งปัญหาที่น่าห่วงก็คือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่เชอรี่ยืนยันว่าต้องขับเคลื่อนเพื่อให้เกิด #คัดค้านCPTPP เพราะอนาคตข้าวไทยจะสูญเสียทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาอันดีงามของชาวนา
ไปคุยกับผู้บริหารหญิงคนนี้เรื่อง ‘ข้าวไทย’ และฝีมือของ ‘ชาวนาไทย’ ที่ประเทศควรให้คุณค่ามากกว่านี้กัน
หลายคนรู้ว่าคุณสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ไม่รู้ว่าคุณทำงานสิ่งแวดล้อมมาหลายปีแล้ว
ปี 59 ที่ไทยมีภัยแล้งหนัก พี่ขึ้นไปภูเขาหัวโล้นที่น่าน เจอคน สัมผัสพื้นที่ที่มีปัญหา และชาวบ้านแก้ไขด้วยภูมิปัญญาของเขาเอง เราพบปัญหาการทำลายป่าหนักมาก เลยรู้สึกว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมดูยังไกลตัวคนทั่วไปมาก ที่ผ่านมาได้แค่บ่น แต่ไม่รู้จะช่วยยังไง พอลงพื้นที่ก็เลยเริ่มโครงการ Little Forest กับ พี่โรจน์ (ภูภวิศ กฤตพลนารา) Issue และ อาจารย์อโนทัย ชลชาติภิญโญ แก้ปัญหาที่ปากท้องคนก่อนเลยถึงจะยั่งยืน ปลูกฝังจิตสำนึกให้คนเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่คนในพื้นที่เท่านั้น คนเมืองก็สำคัญ เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้กระทบเฉพาะพื้นที่
ยิ่งทำ ยิ่งต้องหาข้อมูล พอรู้เพิ่มขึ้น ก็เลือกการแก้ปัญหาที่เราน่าจะต้องทำและมีกำลังทำไหว คือการสร้างพื้นที่ป่าให้คืนกลับมาในอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ถึงแม้การปลูกป่าที่ดีที่สุดคือกันไม่ให้คนเข้าไปยุ่ง แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าจะดึงคนในพื้นที่และคนในเมืองมามีส่วนร่วมได้ยังไง ก็เลยปลูกป่าแบบเสริมสองหมื่นต้น ดูแลต่อเนื่องสามปีโดยผู้เชี่ยวชาญ ติดแทร็กต้นไม้ทุกต้น เรคอร์ดว่านี่คือต้นอะไรบ้าง อัตราการรอดตายเท่าไหร่ มีการปลูกซ่อมยังไง หาเงินมาดูแลพื้นที่ ระหว่างทำก็ดึงหน่วยงานรัฐ คนในชุมชน และคนเมืองร่วมด้วย และยังช่วยแก้ปัญหาปากท้องของชาวสวนด้วยการแก้ปัญหาให้กับพื้นที่ปลูกสวนส้มบริเวณป่าที่ปลูกด้วย
ปัจจุบันพี่ก็ทำ Little Big Green กับ ครูลูกกอลฟ์ (คณาธิป สุนทรรักษ์) และ คุณกอล์ฟ (รัฐวุฒิ ชัยวงศ์ขจร) เน้นการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม การพูดถึงประเด็นนี้ให้เป็นเรื่องปกติ และทำยังไงให้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะมันคือเรื่องสำคัญ เราจึงมีธีมว่า As green as you can คุณจะเขียวเบอร์ไหนก็ได้ ไม่บังคับ ช่วยได้ระดับไหนก็ทำ เราคุยประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีหลากหลายแง่มุมมาก สื่อสารผ่านเว็บ littlebiggreen.co มี Vlog วิดีโอ ไลฟ์ผ่านทางเฟซบุ๊กพูดคุยประเด็นต่างๆ
การเปลี่ยนแปลงมุมมองทางสิ่งแวดล้อมมันมาจากการได้รับข้อมูล และสังเกตพฤติกรรมของคน สิ่งที่พี่ต้องการสื่อสารคือทำให้คนรู้ว่าทำแล้วมีผลกระทบแบบนี้ มันก็จะมีการเปลี่ยนเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น Little Big Green เลยเป็นแหล่งข้อมูลที่ย่อยง่าย อ่านเข้าใจง่าย เพื่อให้คนที่อ่านได้มีการเปลี่ยนแปลง
ย้อนกลับไปก่อนปี 58 อะไรคือจุดเปลี่ยนที่หันมาสนใจเรื่อง Global Warming
พี่เคยดูหนังเรื่อง An Inconvenient Truth เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว หนังมันลั่นระฆังเลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับโลก Global Warming คืออะไร ภาคสอง An Inconvenient Sequel Truth to Power ก็เล่าต่อว่ามันยังมีผลกระทบอะไร ซึ่งผ่านมาสิบปีมีผลกระทบเกิดขึ้นมากมาย และรุนแรงขึ้นมา แต่เรายังไม่ได้ลงมือทำอะไรที่จริงจังมากพอ
บ้านอยู่รามอินทรา ไปดูบางนา เพราะไม่มีโรงอื่นแล้ว มีคนดูแค่สี่คนเอง เนื้อหาดีมาก พี่รู้สึกว่าคนต้องได้ดูดิ แล้วมาคุยกันเรื่องนี้ การพูดคุยถึงปัญหามันจะทำให้ฉุกคิด และการแก้ปัญหาจะเกิดขึ้น พี่เลยจัดรอบพิเศษปิดโรงหนังฉายเรื่องนี้ให้คนดู แล้วจัดเสวนาต่อหลังหนังจบ โดยเชิญพี่ๆ สื่อมวลชนมาร่วมด้วย
หนังเรื่องเดียวกันนี้ก็เทิร์นนางเอกสายกรีนเป็นเจ้าของแบรนด์ข้าวอินทรีย์อีก?
จริงๆ เป็นสิ่งที่พี่อยากทำมานานแล้วตั้งแต่เริ่มลงพื้นที่ที่จังหวัดน่าน และเดินทางไปเรียนรู้จากหลายพื้นที่ หลังจากเห็นพื้นที่ที่เขาทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้เรามองเห็นว่าการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนจริงๆ คือการทำให้เกษตรกรได้ใช้วิธีการปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธรรมชาติ
พี่เห็นศักยภาพของข้าวไทยที่เป็นที่ยอมรับ มีชื่อเสียงระดับโลก และในเมืองไทยก็ถือเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรไทย ถ้าเราทำเรื่องนี้มันน่าจะช่วยคนได้เยอะ พอมันมาประจวบกับช่วงที่เราเริ่มไม่มีภาระทางครอบครัวแล้ว และผ่านจากโควิดรอบแรกไป เริ่มเดินทางได้ เลยลงมือทำเลย
และที่สำคัญ ถามว่าทำไมต้องสร้างเป็นแบรนด์ด้วย เพราะว่าที่ผ่านมาพี่เคยทำโครงการอาสาสมัครแล้วเห็นข้อดีข้อเสียของมันในแต่ละมิติ ทำให้เห็นว่า การที่เราอยากจะทำอะไรสักอย่างให้ยั่งยืน มันต้องมี Commitment ก็เลยบังคับตัวเองด้วยการสร้างแบรนด์เลยละกัน เพราะถ้าสร้างแบรนด์มันก็จะเป็นข้อผูกมัดเราให้พยายามช่วยชาวนาต่อได้
ทำไมต้องขายข้าว
เพราะพี่ชอบกินข้าวมากมากกก และอย่างที่บอก ชาวนาคืออาชีพหลักของเกษตรกรไทย
ข้าว Lover อย่างคุณเลยถึงกับต้องใช้เวลาเลือกสรรข้าวกว่า 20 สายพันธุ์เพื่อให้ได้ข้าวที่ดีจริงๆ
ข้าว 20 สายพันธุ์ถูกส่งมาทดลองชิมก่อนหน้าจะลงพื้นที่ มาจากหลายที่ อุดรฯ สกลฯ เชียงใหม่ น่าน เชียงราย พี่ชิมและเลือกคัดสรรเฉพาะที่เขาปลูกด้วยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี บางอันอร่อยมากกก เราคิดว่าต้องขายได้ดีเลย แต่พอเช็กไป มันเป็นข้าวปลอดสาร เราก็ไม่เอา เพราะมันจะมีคำว่าข้าวปลอดสารกับข้าวอินทรีย์
ซึ่งเราในฐานะผู้บริโภคสมัยก่อนจะไม่ทราบความแตกต่างระหว่างสองอันนี้เท่าไหร่ เรานึกว่ามันคืออันเดียวกัน แท้จริงแล้วคำว่าข้าวปลอดสารมันอาจปลอดสารบางอย่าง แต่อาจมีสารบางอย่างทดแทน ซึ่งข้าวอินทรีย์คือข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีเลยและใช้วิธีการธรรมชาติ พอชิมแล้ว โอเค ข้าวอันนี้อร่อยและมีเอกลักษณ์ พออยากจะรู้ว่าข้าวอินทรีย์มันอินทรีย์แท้ๆ ไหม ก็ถึงเวลาที่ต้องไปดูว่าอินทรีย์จริงๆ เป็นอย่างไร
พอไปดูก็ทึ่งมากกกก ตอนนั้นพี่นั่งรถเก้าชั่วโมง เพราะยังไม่กล้าขึ้นเครื่องช่วงโควิด-19 สรุปก็คุ้มค่าการเดินทางมาก เพราะว่าวิถีของชุมชนที่มีแค่ยี่สิบสองครัวเรือนที่รวมกลุ่มกันปลูกข้าวอินทรีย์แท้ๆ คนในชุมชน รวมถึงผู้นำกลุ่มนี้ เขามีความเข้มแข็งในการทำวิถีแนวทางนี้
ต้องบอกว่า การทำเกษตรอินทรีย์ในโลกปัจจุบันที่เป็นอุตสาหกรรมการเกษตร ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งพอสมควร ต้องเสียสละบางอย่างหรือหลายๆ อย่างเพื่อให้การทำเกษตรอินทรีย์เกิดขึ้นจริง แล้วกว่าจะรวมกันเป็นกลุ่มก้อนที่แข็งแรงได้ มันใช้เวลา
วิธีการที่เขาใช้คือการเตรียมแปลงนา ใครจะมาเป็นสมาชิกจะต้องเตรียมแปลงอย่างน้อยสามปีขึ้นไป เพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่นี้ปลอดสารจริงๆ และวิธีการทำนาของเขาเป็นนาโคกที่รายล้อมไปด้วยผืนป่า ซึ่งพี่ชอบตรงที่มันเป็นที่นาของเขาเอง และแทนที่เขาจะปลูกข้าวเป็นพืชเชิงเดี่ยวทั้งหมด เขาแบ่งที่ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ปลูกข้าว ที่เหลือแปดสิบเปอร์เซ็นต์เป็นป่าผสมล้อมรอบนาข้าวนั้นไว้
พี่รู้สึกประทับใจที่เขาไม่ได้เอาแต่ประโยชน์รายได้สูงสุด เป็นความคิดที่น่ายกย่อง เพราะมันคือการรวมเอาต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเมินค่าแทบไม่ได้ ซึ่งเขาได้รักษาไว้ มาส่งเสริมข้าวในนาของเขาอีก รวมถึงวิธีการที่ทำให้มันเป็นธรรมชาติที่สุด ที่นาเป็นที่ดอนบ้าง ที่ลุ่มบ้าง น้ำเยอะน้ำน้อยบ้าง เขาก็จะเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ตรงนั้นว่าจะปลูกยังไงให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด ณ ช่วงเวลานั้นกับสภาพอากาศเวลานั้น
แต่ถ้าต้องเตรียมแปลงนาถึง 3 ปี รายได้ชาวนาก็หาย
คนที่จะปลูกวิถีนี้เขาต้องทำนาให้สะอาด รายได้จะหดหายไปสามปี มันไม่ใช่เวลาที่สั้นเลยสำหรับคนต้องทำมาหากิน ถ้าใจแข็งไม่พอเขาก็ก้าวข้ามผ่านตรงนี้ไปไม่ได้ แล้วกลับไปใช้สารเคมี แต่ชาวนาก็บอกพี่ว่า การใช้สารเคมีเร่งหรือป้องกันศัตรูพืชที่ดูเหมือนจะได้ผลผลิตที่มากขึ้น สุดท้ายหักลบต้นทุนทุกอย่าง ก็กลับไปเป็นศูนย์หรือแทบจะติดลบซะส่วนใหญ่ แต่เราก็ยังสวมแว่นที่มองว่าวิธีนี้มันดี แล้วก็ใช้กันในวงกว้าง โดยไม่ได้มองถึงผลเสียที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมันจะมีค่าใช้จ่าย แล้วก็ผลเสียที่กระทบต่อสุขภาพคนปลูกเองและคนกินด้วย มันมีต้นทุนสูงมาก
แต่ชาวบ้านที่นี่เขาปลูกพืชระหว่างนาเพื่อให้ยังมีรายได้ ซึ่งเป็นการบำรุงดินไปในตัวด้วย
ชักอยากรู้แล้วว่า ‘ที่นี่’ คือที่ไหน
คือบ้านโคกสะอาด พี่รู้จักบ้านโคกสะอาดได้เพราะเชฟโจ้ บุคคลสำคัญของแบรนด์สิริไท เขามีร้านอาหารที่อุดรฯ มีชื่อเสียงเรื่องการเลือกวัตถุดิบปรุงอาหาร เพราะเขาเลือกใช้วัตถุดิบอินทรีย์พื้นถิ่นจากวิถีชุมชนจริงๆ
และข้าวที่บ้านโคกสะอาดมีเรื่องราวน่าสนใจ พี่เลือกที่นี่เพราะเห็นศักยภาพข้าวของเขา ข้าวเขามีรสชาติโดดเด่น แล้วข้าวดีคืออะไร นอกจากความอร่อยของมัน ซึ่งมีความหลากหลาย บางคนชอบข้าวที่แฉะ หรือร่วน อันนั้นเป็นความชอบส่วนตัว แต่ข้าวที่นี่มี Texture ที่ไม่เหมือนใคร เวลาหุงแล้วมันหอมมาก เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่หายากแล้ว ปลูกโดยการดำนาด้วยมือทีละต้นๆ น้ำหล่อเลี้ยงมาจากธรรมชาติที่ไหลผ่านป่า นำพาสารอาหารที่มีประโยชน์ลงสู่นาข้าว และยังมีกระบวนการเพิ่มคุณค่าสารอาหารให้ข้าวด้วยภูมิปัญญาพื้นถิ่น ซึ่งหาได้ไม่มากแล้วในการทำนายุคปัจจุบัน เพราะการเกิดขึ้นของระบบทุนนิยม
ที่สำคัญคือ ข้าวที่ดีคือข้าวที่เรารู้แหล่งที่มา กระบวนการผลิต ว่ามันดีต่อสิ่งแวดล้อม คนปลูก คนกิน ยังไง น่าชื่นใจมาก ที่ชาวบ้านที่นี่บรรจงดำนาตามฤดูกาล และคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปในแต่ละปี และความชื้น ความแห้ง ของพื้นที่ก็เป็นส่วนสำคัญที่ชาวนาจะแบ่งพื้นที่ทดลองว่า นาผืนนี้เหมาะกับข้าวพันธุ์นี้นะ นาอีกผืนจะเหมาะกับอีกพันธุ์ ซึ่งแนวคิดแบบนี้ชาวนารุ่นนี้ ก็พยายามถ่ายทอดให้ไปถึงเด็กๆ ในชุมชนอีกด้วย
เหมือนได้เรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมจากนาข้าวบ้านโคกสะอาด แทนปริญญาโทที่อังกฤษซึ่งคุณเคยวางแผนไว้มั้ย
ใช่ค่ะ พอทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทุกครั้งที่ได้ไปพูดคุยกับคนหรือต้องหาข้อมูลอ่านหนังสือเพิ่ม มันคือการที่ทำให้ได้เรียนรู้มิติต่างๆ เยอะมากยิ่งขึ้น และเป็นการเรียนรู้ให้เห็นภาพจริงๆ จากการลงพื้นที่เลยค่ะ การสร้างแบรนด์ข้าวนี้ขึ้นมา สำหรับพี่คือการตั้งเป้าว่า ต้องแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อันนี้คือประเด็นหลัก และทำผ่านชุมชนอย่างไร
และเหมือนเป็นการทดลองในฐานะผู้ผลิต เราจะลดการสร้างขยะ หรือเลี่ยงการทำให้เกิดผลกระทบในแง่มุมต่างๆ ได้ยังไง เวลาที่มนุษย์ใช้ชีวิต บริโภค มันเกิดผลกระทบอยู่แล้ว จะทำยังไงให้เราย่อผลกระทบลงให้มากที่สุด เป็นความท้าทายเหมือนกันที่ได้เอาประเด็นสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้กับการสร้างแบรนด์
ขวดของเราเป็นพลาสติกชนิดหนา สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ จริงๆ แล้วการลดขยะที่ดีที่สุดก็คือการไม่สร้าง แต่เราไม่สร้างเลยก็อาจจะยากหน่อย แล้วเราลดหรือใช้ซ้ำยังไงได้บ้าง เราใช้ขวดเดิมซ้ำ อาจจะเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไป เอามาใส่น้ำ ใส่เมล็ดพันธุ์พืชใดๆ สิบครั้งก็ลดไปได้สิบขวด ร้อยครั้งก็ลดไปได้ร้อยขวด
วิธีการคิดของพี่คือ ปัญหาของการรีไซเคิลขวดคือบางอันสกรีนลงไปในขวด มันรีไซเคิลยาก หรือใช้ขวดพลาสติกที่เป็นสีในบ้านก็ยังรีไซเคิลไม่ได้ ทำให้ขายได้ราคาไม่ดี ไม่มีคนเก็บไปขายต่อ ก็จะไปจบที่บ่อขยะ
พี่ก็เลยใช้ฉลากที่ดึงออกง่ายๆ เอาให้ง่ายที่สุด เลือกกระดาษรีไซเคิล 100% ผลิตด้วยพลังงานลม พยายามใส่ใจทุกๆ รายละเอียด ต้นทุนมันก็สูง และทำให้ Margin เราต่ำ
แต่เราต้องถามตัวเองว่าทำเพื่ออะไร เราไม่ได้ทำเพื่อรวยจากการขาย แต่ทำเพื่อช่วยเกษตรกร ทำเพื่อสนับสนุนคนที่รักสิ่งแวดล้อม และทำให้คนอื่นเห็นว่าสิ่งนี้มันดี แล้วขยายวงกว้างได้มากขึ้นอีก ให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
คิดยังไงกับ AgriTech ต่องานหลักของบรรพชนไทยแต่โบราณอย่างการทำนา
เทคโนโลยีมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ถ้าเกิดเป็นเทคโนโลยีที่ลดผลเสียต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรบาลานซ์ให้เหมาะสม เพราะการที่จะเอาเทคโนโลยีมาทดแทนคนทั้งหมด สิ่งที่จะหายไปคือรายได้ของคน ความละเอียดในฝีมือมนุษย์ ที่เทคโนโลยียังไม่น่าจะแทนได้ เราเลยมองว่าการรณรงค์ให้คนไทยให้คุณค่าฝีมือชาวนานั้นสำคัญมาก เพราะพวกเขามีความใส่ใจ และรักในภูมิปัญญาพื้นถิ่น จุดนี้ทำให้เขาเหนือกว่าเทคโนโลยี
แต่การมีเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาบางจุด เราว่าโอเค เช่น สิริไท ใช้วิธีการไล่ความชื้นในบรรจุภัณฑ์ด้วยการอัดไนโตรเจนเข้าไปเพื่อทำให้ไม่มีเชื้อรา มอดไม่ขึ้น โดยไม่ต้องใช้น้ำยาเคมีอะไรเลย
ยอดการส่งออกข้าวไทยปีนี้ตกมาอยู่อันดับ 4 ของโลก คุณมีกลยุทธ์ชูข้าวไทยให้เด่นในสายตาโลกไหม
อันนี้พี่ยังไม่แน่ใจ อาจเป็นเพราะสินค้าล้นตลาด หรือสินค้าไม่ตรงกับความต้องการของตลาด พี่ยังต้องเรียนรู้อีกมาก เพราะเราทำมาไม่นาน อาจจะต้องเรียนรู้ต่อเชิงลึก ว่าทำไมข้าวไทยตกลง จากปีที่แล้วก็ตกลง 4 – 5 ปีที่แล้วก็ตกลงเยอะ อยากรู้เหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น
ข้าวไทยโดดเด่นเรื่องคุณลักษณะ ความหอม ความอร่อย อยู่แล้ว สิ่งที่พี่ว่าจะทำให้มันไปไกลได้และทำให้ราคาขึ้นด้วย คือการสื่อสารเรื่องเกษตรอินทรีย์ในวงกว้าง ให้กลายเป็น Stereotype ของข้าวไทย เวลาคนเห็นข้าวไทย ก็จะนึกถึงสิ่งนี้ว่ามันมีมาตรฐาน อันนี้มันน่าจะทำให้ข้าวไทยเป็นที่ยอมรับ ทำราคาในตลาดโลกได้มากกว่านี้
สิริไทเอง เราไม่ได้มีสัญลักษณ์ยอมรับความออร์แกนิกเลย เพียงแต่เรายึดมั่นในความจริงใจ ซื่อสัตย์ทั้งคนปลูกและต่อลูกค้า เราทำกับบ้านโคกสะอาดได้เพราะเขามีตรงนี้ มีความซื่อสัตย์ มีความจริงใจ ในการเป็นเกษตรอินทรีย์จริงๆ
ข้าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย แต่ราคาซื้อแสนต่ำ คิดว่าชาวนาควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐยังไงบ้าง
การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมันน่าจะเป็นนโยบาย เพราะหลายๆ ครั้ง พี่เห็นว่าชาวนาหรือเกษตรกรถูกเอาเปรียบทางราคา หรือตกเป็นเหยื่อเวลาที่ถูกส่งเสริมให้ปลูกจนล้นตลาด แต่ราคาตก ซึ่งถ้ามีนโยบายของรัฐมาช่วยมันจะแก้ปัญหาระยะยาวได้ หรือถ้ารัฐจะช่วย Subsidize มันก็อาจจะแก้ปัญหาได้ในระยะหนึ่ง
ชาวนาเก่งมาก มันดีแน่นอนถ้าราคาข้าวสูงกว่านี้ ต้องบอกว่าราคาข้าวที่เรารับซื้อจากที่บ้านโคกสะอาดสูงกว่าท้องตลาดหลายเท่าตัว พี่คิดไม่ออกว่าเขาจะอยู่ได้ยังไงถ้าขายตามราคาตลาด
พี่ๆ บ้านโคกสะอาดมีอิสระในการตั้งราคาขายข้าวเอง ซึ่งมันคือความภาคภูมิใจของเขา เขามีความสุขในการขายให้เราราคานี้ เราก็รับซื้อในราคานี้ มันคือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
คนที่คลุกคลีใกล้ชิดกับชาวนา ขายข้าวเอง และชอบกินข้าวด้วย อยากเห็นนโยบายเรื่องการเกษตรแบบไหน
ถ้าถามพี่ตอนนี้พี่คงอยากพูดเรื่องไม่เข้าร่วม CPTPP พี่มองว่า ถ้าเราเข้าไปเป็นสมาชิก สิ่งที่จะเป็นผลเสียต่อเกษตรกรทั้งประเทศมันมากกว่าผลดีที่จะได้รับ
พี่รู้สึกว่าเกษตรกรรายย่อยเขาควรจะมีสิทธิ์ในการได้ใช้เมล็ดพันธุ์ของเขา โดยที่เขาไม่ต้องซื้อ ถ้าเกิดว่าเขาต้องซื้อทุกๆ ฤดูกาลปลูก ต้นทุนยิ่งสูงไปกันใหญ่ และถ้าเราไม่สามารถประคองราคาได้ มันจะมองเห็นแต่ความยากลำบากของเกษตรกรไทย
อย่างบ้านโคกสะอาดที่มีวัฒนธรรมดั้งเดิม เขาอาจปรับปรุงสายพันธุ์ จากเดิมที่เขาถือครอง กลายเป็นว่าจะปรับปรุงก็ต้องขออนุญาต จะต้องแบ่งปันผลประโยชน์กัน แต่ถ้า CPTPP ผ่าน คนที่เอาไปวิจัยไม่ต้องขออนุญาต และเอาไปจดได้ กำไรก็ไม่ต้องแบ่งปันให้ชาวนาอีก พี่คิดว่ามันน่าจะกระทบต่อเกษตรกรในหลายแวดวง ไม่ใช่แค่การปลูกข้าว
ถ้าเสียงของคุณผลักดันเรื่องนี้ได้…
ฝากเรียนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ ทำให้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้ของคนในวงกว้าง เพราะประเด็นนี้มันจางไป เรามีการพูดถึงและมีคนออกมาคัดค้านเรื่องนี้กันเยอะอยู่แล้ว แล้วมันก็เงียบไป จนตอนนี้เราไม่รู้เลยว่ามันดำเนินการไปถึงไหนแล้ว คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการยื่นมติเรื่องนี้ยื่นไปหรือยัง เสนอไปยังไง
การทำให้ทุกคนรับรู้กันเป็นสิ่งสำคัญมาก แล้วอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญเลย คือการที่ตัดสินใจเรื่องนี้ ควรจะคำนึงถึงประโยชน์ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นหลัก ควรเอาตัวเลข และข้อมูลที่แท้จริงมาพูดคุยอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา จริงใจในการแก้ปัญหา หรือลองรับฟัง
คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือเกษตรกร เขาจะตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุด
เป้าหมายในอนาคตของเชอรี่ CEO สิริไทในโลกหลังโควิด-19 คืออะไร
พี่อยากไปช่วยชาวนาพื้นที่อื่นๆ อยากขยายพื้นที่เพิ่ม แต่อย่างที่บอกว่า ตอนนี้มันเริ่มจากพื้นที่ที่เขาทำอยู่แล้ว และเราสนับสนุนคนที่เขาทำดี ช่วยขยายตลาดเพื่อให้มีคนต้องการสินค้าเขามากขึ้น เขาก็จะหาครัวเรือนที่มาทำแบบนี้ในพื้นที่เขาได้มากขึ้น จากยี่สิบสองก็อาจเพิ่มไปเรื่อยๆ
แต่สิ่งที่อยากทำจริงๆ คือการเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยปลูกด้วยการใช้สารเคมี แล้วสนใจอยากปลูกด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง ถ้าอยากให้มีคนมาช่วย เรายินดีมากที่จะประสานความช่วยเหลือในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งที่เราทำได้ มันจะกลายเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการทำเกษตรอินทรีย์ และช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนมากขึ้น
ภาพ : Sirithairice