ครึ่งปีผ่านไป เกิดอะไรกับธรรมชาติบ้าง ? - Urban Creature

ในที่สุดเราก็เดินมาถึงครึ่งทางของปี 2020 ตลอด 7 เดือนที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายคนคงผ่านอะไรมามากมาย โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากมนุษย์แล้วเรามาดูกันว่าตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา ‘ธรรมชาติ’ อย่างสัตว์น้อยใหญ่ หรือต้นไม้นานาชนิด รวมถึงดิน น้ำ และอากาศ เกิดการเปลี่ยนแปลงดีร้ายอะไรขึ้นบ้าง

องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ออกมาเตือนผู้คนทั่วโลกเกี่ยวกับภัยพิบัติว่า ในอนาคตภัยพิบัติซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศจะมีขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้คนเริ่มไม่กลัวหรือไม่ตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงเหตุการณ์ภัยพิบัติเหล่านี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งนักวิชาการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศในแต่ละปีอยู่ที่ 5.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 15 ล้านล้านบาทไทย 

จากรายงานการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประชากรโลกบอกว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มเป็น 6 ล้านราย ขณะที่ต้นทุนความเสียหายทั้งหมดจะพุ่งแตะ 4.35 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

01 | สัตว์โลก

จากรายงานประเมินสภาพธรรมชาติโลก โดยสหประชาชาติ (UN) เผยว่า ธรรมชาติในโลกกำลังเสื่อมสภาพไปอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยหลักส่วนใหญ่มาจากมนุษย์ ทำให้ในอนาคตอันใกล้สัตว์และพืชกว่า 1 ล้านสายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

‘โควิด’ ทำให้สัตว์น้อยใหญ่ปรากฏตัว

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างบางคนหันมาเก็บตัวอยู่บ้านมากขึ้น จนทำให้เมืองใหญ่หลายเมืองเงียบเหงาลง แต่สิ่งนี้สร้างประโยชน์ให้กับสัตว์ป่าน้อยใหญ่ได้ออกมาปรากฏกายเดินเฉิดฉายในเมืองใหญ่แทน เช่น 

  • ฝูงสุนัขวิ่งไล่หมูป่ากลางกลางถนนที่ว่างเปล่า ณ เมืองแห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย
  • ฝูงแพะภูเขาเดินอวดโฉมใจกลางเมืองแคว้นเวลส์ของประเทศอังกฤษ
  • เสือพูม่า สัตว์รักสันโดษยังออกมาเดินหากินในใจกลางเมืองซานติอาโก้ ประเทศชิลี
  • กวางป่าออกเดินหาอาหาร ที่ท่าเรือแห่งหนึ่งในประเทศศรีลังกา
  • นกเป็ดน้ำคู่หนึ่ง เดินข้ามถนนใจกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
  • กวางป่าออกมาเดินโชว์ตัว ณ วัดแห่งหนึ่งที่เมืองนาระ ประเทศญี่ปุ่น
  • นกยูงเดินโชว์ตัวกลางถนน ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

กำจัด ‘มิงค์’ ติดโควิดเกือบแสนตัว

ในขณะที่ไวรัสทำให้สัตว์ป่าปรากฏตัวในเมืองมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามก็เป็นสาเหตุให้ ‘ตัวมิงค์’ เกือบ 1 แสนตัวในสเปนต้องจบชีวิตลงเช่นกัน เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ทางการประเทศสเปนได้สั่งฆ่ามิงค์ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เกือบ 100,000 ตัว ในฟาร์มทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดมาสู่คน หลังจากที่พบว่าคนงานในฟาร์ม 7 คน ติดเชื้อไปแล้ว ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ฆ่ามิงค์ติดเชื้อโควิดในฟาร์มเกือบ 20 แห่ง รวมหลายหมื่นตัว

แรดและสัตว์ป่ากว่า 100 ตัวจมน้ำตายที่อินเดีย

ในขณะที่อินเดียก็เกิดน้ำท่วมอุทยานแห่งชาติคาซิรังกาครั้งใหญ่ ทำให้พื้นที่ของอุทยานฯ กว่า 85% ต้องจมอยู่ใต้น้ำ เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้สัตว์หายากกว่า 108 ตัวต้องจมน้ำตาย ในที่นี้มีแรดสายพันธุ์หายาก ควายป่า กวาง และตัวเม่น นอกจากนี้น้ำท่วมยังทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน และประชาชนกว่า 4 ล้านคนในอินเดีย บังกลาเทศ และเนปาล ต้องอพยพ

02 | อากาศ

ในแต่ละปีอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นประมาณ 0.51 – 0.96 องศาเซลเซียส ซึ่งมีตัวแปรสำคัญมาจากน้ำมือของมนุษย์นั่นเอง

อุณหภูมิแอนตาร์กติกสูงทะลุ 20 องศาฯ ครั้งแรก

เมื่อปี ค.ศ. 1982 เคยมีนักวิทยาศาสตร์วัดอุณหภูมิของเกาะซิกนี (Signy Island) ในทวีปแอนตาร์กติก ไว้ที่ 19.8 องศาเซลเซียส ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ‘กาโลส แชร์เฟอร์’ นักวิทยาศาสตร์ชาวบราซิลและทีมได้วัดอุณหภูมิที่เกาะซีมัวร์ (Seymour Island) อีกครั้งและพบว่ามีอุณหภูมิสูงถึง 20.75 องศาเซลเซียส ขึ้นมาเกือบ 1 องศาเซลเซียส สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของทวีป

แม้แชร์เฟอร์จะบอกว่า ปรากฏการนี้ ไม่สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลในระยะยาวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของขั่วโลกใต้ได้ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วก็หายไป แต่หลายคนก็มีความกังวลว่านี้อาจจะเป็นสัญญาณเตือนถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นได้

มีนาคม 2020 ร้อนสุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์

ในทุกๆ ปีเรามักจะค้นพบว่า ‘หน้าร้อนของโลกใบนี้ มันยังร้อนขึ้นไปได้อีก!’ สอดคล้องกับการรายงานของศูนย์วิจัยด้านสมุทรศาสตร์ ภูมิอากาศและภูมิศาสตร์สหรัฐฯ (NOAA) เผยว่าเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอุณหภูมิโลกสูงสุดเป็นอันดับ 2 ตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา 141 ปี

ความร้ายกาจของอุณหภูมิที่สูงขึ้น ไม่เพียงทำให้ทวีปเอเชียและบางประเทศในยุโรปเหมือนอยู่บนเตาย่าง มันยังทำให้ทะเลน้ำแข็งในอาร์กติกมีขนาดเล็กลงถึง 4.2 % ไม่เพียงเท่านั้นเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น ยังทำให้ปะการังหลายแห่งทั่วโลกเกิดการฟอกขาว (Coral Bleaching) หรือปรากฏการณ์ที่ปะการังมีสีซีดจาง เนื่องจากภาวะการสูญเสียสาหร่ายที่ชื่อว่า ซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) นั่นเอง

WMO เผยว่า สภาวะโลกร้อนจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

จริงๆ แล้วการรณรงค์เรื่องโลกร้อนนั้นเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ถ้าถามว่าวันนี้เราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หรือยังก็คงตอบว่า ‘ไม่’ เพราะจากรายงานการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2020 – 2025 ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) บอกว่า สภาวะโลกร้อนจะยังคงรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้เพิ่มขึ้นถึงระดับ 1 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว และคาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีแนวโน้มว่าอุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นถึง 0.91 – 1.59 องศาเซลเซียส ทะลุกรอบการควบคุมสภาวะโลกร้อนตามเป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ตั้งเป้าควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

03 | น้ำ

ปัจจุบันน้ำแข็งขั่วโลกละลายเร็วกว่าเดิมถึง 7 เท่า จากปี ค.ศ. 1990 นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังคาดการณ์ว่า ในอีก 80 ปีข้างหน้าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก 7 ซม.

‘น้ำมันรั่ว’ หายนะทางภัยพิบัติของรัสเชีย

ประมาณเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์น้ำมันดีเซลปริมาณ 20,000 ตัน รั่วลงแม่น้ำที่เมืองนอริลสก์ ในเขตวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) บริเวณเขตขั้วโลกเหนือส่วนที่เป็นของประเทศรัสเซีย ซึ่งเหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก จนประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว BBC รายงานว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พ.ค. โดยถังเก็บเชื้อเพลิงขนาดใหญ่ของโรงงานไฟฟ้าในเครือบริษัทนอริลสก์ นิกเกิล (Norilsk Nickel) หนึ่งในผู้ผลิตนิกเกิลและพาลาเดียมรายใหญ่ของโลกได้ถล่มลง โดยบริษัทอ้างว่า เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจเป็นสาเหตุการถล่มครั้งนี้นั่นเอง

เหตุการณ์นี้ถือเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ของรัสเซีย ว่าจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร เพราะองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ในรัสเซีย ระบุว่า เหตุน้ำมันรั่วครั้งนี้อาจต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี ในการทำความสะอาด

จีนเผชิญน้ำท่วมหนักในรอบ 30 ปี

มณฑลเจียงซีของจีน เจออุทกภัยรุนแรงสุดในรอบ 30 ปี ทำให้ทางการต้องอพยพประชาชนกว่า 654,000 คน ออกจากที่อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว ในขณะที่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือสูญหายแล้ว 141 คน

และเพราะมีระดับน้ำสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หน่วยงานทรัพยากรทางน้ำของจีนต้องประกาศเตือนภัยบริเวณใกล้เคียงกับแม่น้ำอีก 433 สาย ที่มีความเสี่ยงจะเอ่อล้นตลิ่ง อุทกภัยครั้งนี้ยังสร้างความเสียหายแก่โบราณสถานมากกว่า 500 แห่ง ล่าสุดเจ้าหน้าที่ของจีนได้ระเบิดเขื่อนในมณฑลอานฮุย ทางภาคตะวันออกของประเทศ เพื่อบรรเทาแรงกดดันจากอุทกภัย ขณะที่ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำไหลเอ่อล้นในแม่น้ำหลายสายของจีน

04 | ดิน

ปัจจุบันการเคลื่อนตัวของแผ่นดินนั้นมีอัตราเร็วอยู่ระหว่าง 0.66 – 8.50 เซนติเมตร/ปี

ดินถล่มที่เหมืองหยกในรัฐคะฉิ่น ประเทศเมียนมา 

‘รัฐคะฉิ่น’ เป็นเขตปกครองหนึ่งในจังหวัดปูเตา ทางตอนเหนือสุดของประเทศเมียนมาร์ นอกจากโดดเด่นเรื่องวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สวยงามแล้ว รัฐคะฉิ่นยังได้ฉายาว่าเป็น ‘ดินแดนแห่งหยก’ เพราะใต้พื้นดินแห่งนี้มีหยกคุณภาพดีที่สุดในโลก และปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการค้าหยกของเมียนมาร์ ที่มีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

เพราะใต้ดินเต็มไปด้วยอัญมณีอันล้ำค่า เมืองนี้จึงมีการทำเหมืองหยกขนาดใหญ่ แต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีรายงานว่าเกิดดินถล่มที่เหมืองหยกในรัฐคะฉิ่น มีผู้เสียชีวิต 126 ชีวิต และมีคนกว่าน้อย 200 คนยังติดอยู่ใต้ดินในขณะนั้น

เบื้องต้นกล่าวว่าเหตุการณ์ดินถล่มนี้มีสาเหตุมาจากฝนตกหนัก ในขณะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมในพื้นที่น้อยเกินไปและก็มีอำนาจไม่พอที่จะหยุดยั้งการทำเหมืองแบบผิดกฎหมาย

05 | ป่าไม้

ในปี ค.ศ. 2020 พื้นที่ป่าไม้หายไป 30,000 ตร.กม. (ณ วันที่ 24 ก.ค. 2020)

ในช่วงปี ค.ศ. 2019 เกิดไฟไหม้ป่าในหลายประเทศ แต่ที่กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกก็คือ ‘ไฟไหม้ป่าแอมะซอน’ ที่เกิดไฟไหม้กว่า 9,500 จุด ทำลายพื้นที่ไปประมาณ 8,000 ตร.กม. ความรุนแรงครั้งนั้นทำให้เกิดควันไฟจำนวนมากลอยปกคลุมทั่วภูมิภาคของป่าแอมะซอน จนมองเห็นได้จากดาวเทียมของ NASA ทั้งยังสร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล

ออสเตรเลียเผชิญวิกฤตไฟป่าครั้งใหญ่

มาปีนี้ออสเตรเลียก็เผชิญกับวิกฤตไฟป่าครั้งใหญ่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐวิกตอเรีย ทำให้พื้นที่ถูกทำลายไปกว่า 60,000 ตร.กม. บ้านเรือนเสียหายกว่า 1.3 พันหลัง มีผู้เสียชีวิต 20 คน และคร่าชีวิตสัตว์ป่าไปกว่า 500 ล้านตัว โดยในจำนวนนั้นมี ‘โคอาลา’ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้องจำพวกโอพอสซัมที่สังเวยชีวิตเกือบ 8,000 ตัว หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรโคอาลาในรัฐนิวเซาท์เวลส์

ไฟป่าออสเตรเลีย เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2019 ลากยาวมาถึงต้นปี ค.ศ. 2020 ซึ่งเกิดจากคลื่นความร้อนและภัยแล้งที่เป็นผลพวงมาจากโลกร้อน ตลอด 5 เดือน นอกจากสร้างความเสียหายให้กับที่อยู่อาศัย พื้นที่ป่า รวมทั้งสัตว์ป่าจำนวนมากแล้ว การเผาไหม้นี้ยังทำให้อุณหภูมิในออสเตรเลียพุ่งสูงขึ้นมากสุดถึง 48.9 องศาเซลเซียส ทั้งยังติด 1 ใน 10 อันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดในขณะนั้นอีกด้วย


Sources :
BCC | https://bbc.in/2EgOle3
Thai PBS | https://bit.ly/3hALbQP
Thairath | https://bit.ly/2E7QIzE
Greennews | https://bit.ly/32X2rvc
Posttoday | https://bit.ly/2ZTMUus
Thaipublica | https://bit.ly/3fRQBX3
BCC | https://bbc.in/2D2NZag
Thai PBS | https://bit.ly/32S8KQQ
Posttoday | https://bit.ly/30PiF72
Sanook | https://bit.ly/2EhaXLt
BCC | https://bbc.in/3g0djfK
Thairath | https://bit.ly/2WQPi2X
BBC | https://bbc.in/2E97Kxl
กรุงเทพธุรกิจ | https://bit.ly/2OU4hVF

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.