การเปลี่ยนคำนำหน้าในเอกสารราชการหรือบัตรประจำตัวต่างๆ ให้ตรงกับเพศสภาพแทนที่เพศกำเนิด หรือการเลือกที่จะไม่ระบุคำนำหน้าสำหรับการติดต่อราชการ เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงความเป็นไปได้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งในประเทศไทย ทั้งการจัดสัมมนาและล่ารายชื่อเพื่อร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพก็มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ
ถึงแม้จะมีคนบอกว่าประเทศไทยเปิดกว้างในเรื่องเพศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อเรียกร้องทางกฎหมายจากกลุ่ม LGBTQIA+ และผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศก็ยังไม่ได้การรับรองอยู่ดี
ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยรังสิตก็ได้ต้อนรับเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมอย่าง Pride Month ด้วยการออกมาประกาศยกเลิกการระบุเพศสภาพลงในบัตรนักศึกษา โดยต่อไปนี้จะไม่มีคำนำหน้า (นาย/นางสาว) มีเพียงชื่อของนักศึกษาภายในบัตรเท่านั้น
อีกทั้งทางมหาวิทยาลัยยังยอมรับในความหลากหลาย โดยให้อิสระกับตัวนักศึกษาสามารถแต่งกายด้วยเครื่องแบบได้ตามสมัครใจ ขอแค่เป็นเครื่องแบบของมหาวิทยาลัยก็พอ ส่วนสีผม ทรงผม หรือจะแต่งกายตามเพศสภาพใดก็จัดไปในแบบที่ชอบได้เลย เรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่แรกที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้
แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ เพราะก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้มีการปลดล็อกสิทธิทางเพศ ด้วยการอนุญาตให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพตนเองได้ รวมไปถึงสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่ประกาศยกเลิกการใช้คำนำหน้าระบุเพศ เพื่อเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศภายในองค์กรสภานิสิต หรืออย่างในประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็มีการยกเลิกการระบุคำนำหน้าในเอกสารแสดงตัวตนตั้งแต่ปี 2563 แล้วเช่นกัน
กระแสความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้ผู้คนในโลกออนไลน์ให้ความสนใจ และจับตามองการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในสังคมที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก เพื่อความหลากหลายและเท่าเทียมกันในสังคมไทย
Sources :
Facebook : Rangsit University | https://www.facebook.com/rangsituniversity
Matichon | https://www.matichon.co.th/lifestyle/news_2826545
MGR Online | https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000045421